บทความเจาะเบื้องลึกความสำเร็จของการพัฒนาระบบหลังบ้าน ‘ธนาคารกสิกรไทย’ โดยการผสานพลังทีม KBTG (บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป) กับทีม KBank เป็น 'ONE KBTG' ที่ร่วมสร้างการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2020 และปรากฏผลลัพธ์อย่างชัดเจน เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย เก็บ ‘สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการ ปี 2024' แล้วพบว่า แอป K PLUS มีความเสถียร ให้บริการลูกค้าได้โดยไม่ติดขัดและไม่ล่ม!
วันที่ 30 มกราคม 2025 ถือเป็นการรวมพลังที่ไม่ธรรมดาในวันธรรมดาของผู้บริหารและทีมงาน KBTG ที่มาร่วมล้อมวงเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานร่วมกันภายใต้ ‘Core Banking Horizontal Scale Project’ โปรเจกต์ขยายระบบหลังบ้านเพื่อการใช้งานทุกแอปพลิเคชันของ KBank ได้อย่างลื่นไหล ไร้รอยต่อ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์สุดหิน เพราะมีการย้าย Data Center ต้องลิงก์ทั้ง 183 ระบบของธนาคารให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ และต้องดึงบุคลากรนับพันคนมาทำงานร่วมกันแบบเต็มกำลัง โดยใช้เวลายาวนานถึง 22 เดือน!
สำหรับผู้บริหารระดับแม่ทัพ KBTG ที่มาร่วมให้ข้อมูล ได้แก่ คุณเรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman, KBTG คุณวรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman, KBTG คุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ Vice Chairman, KBTG คุณนพวรรณ ปฏิภาณจำรัส Managing Director, KBTG คุณแก้วกานต์ ปิ่นจินดา Deputy Managing Director - IT Service Availability, KBTG และ คุณภูวดล ทรงวุฒิชโลธร Assistant Managing Director - Project Management, KBTG
โดยเหล่าแม่ทัพจาก KBTG มาเผย Key Takeaways รวม 6 ข้อ ดังนี้
KBank เติบโตอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2020 โดยมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 37% และมีการทำธุรกรรมด้านเงินฝากเพิ่มมากกว่า 3 เท่า
การขยายระบบธนาคารหลักของ KBank ใน Core Banking Horizontal Scale Project เพื่อรองรับการเติบโตของลูกค้า เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญมากของ KBTG เทียบได้กับ ‘การผ่าตัดหัวใจ’
โปรเจกต์ Core Banking Horizontal Scale Project ใช้เวลา 22 เดือนจึงแล้วเสร็จ ด้วยแรงกายแรงใจของบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจจาก KBank และบุคลากรด้านไอทีจาก KBTG รวมแล้วมากกว่า 1,000 คน
KBTG สามารถส่งมอบ ‘หัวใจดวงใหม่’ ให้ทุกคนใช้งานได้โดยไม่มีการหยุดให้บริการและไม่มีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นกับลูกค้า
โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จได้ด้วยหลัก 3Cs คือ Commitment - Communication - Collaboration (ความมุ่งมั่นทำให้บรรลุผล - การสื่อสารที่ชัดเจน และการร่วมมืออย่างแข็งขัน)
KBTG ดีไซน์ระบบหลักของธนาคารใหม่เพื่อรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 50% และลูกค้าจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สูงสุดถึง 60 ล้านบัญชีในช่วงเวลาเดียวกัน
คุณวรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman, KBTG สรุปภาพความเปลี่ยนแปลงของ KBTG ยุค 1.0 - 3.0 ดังนี้
KBTG 1.0
ปี 2016 - 2018 เป็นช่วงการสร้างรากฐานให้บริษัท KBTG
KBTG 2.0
ปี 2019 - 2023 เป็นช่วงเวลาของการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล มีการเปลี่ยนโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินให้ทันสมัย พัฒนาทักษะดิจิทัลให้บุคลากร ฝ่ากระแสดิสรัปชัน และการใช้ M.A.D. (Machine Learning - AI - Data) ขับเคลื่อนองค์กร เพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยี ทำให้ได้ผลลัพธ์เร็วขึ้น โดยใช้วันทำงานน้อยลง
KBTG 3.0
ปี 2024 เป็นปีแห่งการใช้กลยุทธ์ Human-First x Al-First Transformation และการพัฒนาระบบธนาคารเป็น Double Core Banking เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
จากนั้นคุณวรนุชกล่าวถึงความสำเร็จที่เห็นได้จากการเติบโตในมิติต่างๆ ของ KBank ในปี 2024 อันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรในยุค 1.0 - 3.0
ปี 2024 มีผู้ใช้งานแอป K PLUS 23 ล้านราย และมีจำนวนการทำธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transactions) บนแอปมากกว่า 11.6 พันล้านรายการ เมื่อเทียบกับปี 2019 พบว่า จำนวนการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 5.4 เท่า
สำหรับแอป MAKE by KBank มีจำนวนการทำธุรกรรมบนแอปเติบโตขึ้น 12 เท่า จากปี 2021
ด้านจำนวนเงินฝากอยู่ที่ 2,719 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2020
จำนวนสินเชื่ออยู่ที่ 2,505 พันล้านบาท เติบโตกว่า 11.5% เมื่อเทียบกับปี 2020
ปี 2024 KBank มีกำไรสุทธิ 48,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 6,193 ล้านบาท หรือ 14.6% ฯลฯ
คุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ Vice Chairman, KBTG กล่าวถึงการเปลี่ยน Data Center ครั้งใหญ่ หลังจากธนาคารกสิกรไทยใช้งานมานานถึง 20 ปี เก็บเซิฟเวอร์สำหรับให้บริการและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ราว 8,000 ตัว จนไม่มีพื้นที่ที่จะเพิ่มเซิฟเวอร์ได้อีก
“เราเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยในวันที่ 23 ตุลาคม 2024 เราเพิ่ม Core Banking เข้าไปอีกตัวเป็น Double Core Banking ให้มันรันด้วยกันเพื่อเพิ่ม Capacity (ความสามารถในการทำธุรกรรม) อีกเท่าตัว ซึ่งตลอดระยะเวลา 22 เดือนที่ใช้ในการเปลี่ยน Core Banking เป็นช่วงที่ท้าทายมาก เพราะต้องทำงานร่วมกับ 183 ระบบที่อยู่รอบๆ เช่น ระบบ Payment ระบบ ATM ระบบสาขา โดยมี Core Banking อยู่ตรงกลาง แต่เราก็ทำสำเร็จ เพราะเราทำงานร่วมกันเป็นพันคน ใช้เงินไป 4,500 ล้านบาท และตั้งเป้าให้ระบบอยู่รอดปลอดภัยใช้งานได้ถึงปี 2031”
คุณจรุงให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา KBank มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นราวปีละ 3 ล้านราย เมื่อรวมกับลูกค้าเดิมที่มีการเปิดบัญชีใหม่อีกราว 2 ล้านราย จึงมีการเปิดบัญชีใหม่ปีละประมาณ 5 ล้านบัญชี จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น จำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ Transactions เพิ่มตาม และในแต่ละปี ประมาณการได้ว่า มีการทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารกสิกรไทยมากกว่า 2,000 ล้าน Transactions ธนาคารจึงต้องพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน ขยายระบบให้ทันสมัยและทำงานร่วมกันได้ทั้ง 183 ระบบ เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำธุรกรรมพีคสุดถึงวันละ 260 ล้าน Transactions!
คุณนพวรรณ ปฏิภาณจำรัส Managing Director, KBTG เล่าย้อนไปที่ช่วงทำ K-Transformation ยุคแรก ซึ่งมีการแจ้งปิดระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการในปี 2015 "ธนาคารกสิกรไทยแจ้งปิดระบบ 17-19 กรกฎาคม แต่เบื้องหลังเรายังทำงานอยู่ ตอนที่เราขึ้นระบบใหม่ น้องบางคนอาจจะกำลังโอนเงินอยู่ โดยไม่รู้ว่าเรากำลังเพิ่ม Core Banking เข้าไป"
ต่อมา คุณนพวรรณกล่าวเปรียบเทียบการทำงานของ Core Banking กับการทำงานของร่างกายให้เห็นภาพชัดขึ้น "ถ้าเทียบ Core Banking เป็นหัวใจ อีก 183 ระบบเป็นอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เส้นเลือดที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงร่างกายก็เปรียบเหมือนอินเทอร์เฟซที่อยู่รอบๆ Core Banking รอบนี้พอเราผ่าตัด เอาหัวใจทั้งสองใส่เข้าไป สิ่งที่เราต้องทำคือ ตัดต่อเส้นเลือด แล้วต่อเส้นเลือดเข้าหัวใจดวงที่หนึ่ง แล้วโยกมาต่อเส้นที่สองเพื่อให้มันทำงานคู่กัน สิ่งที่ทำต่อมาคือ ติดเครื่องมือพิเศษเข้าไปเป็นกลไกสมองสำหรับสั่งการ นั่นคือ Core Bank Gateway เพื่อให้รู้ว่า ต้องส่งให้หัวใจดวงไหนทำงานต่อ"
แต่ในการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงรอบนี้ (Change Management) ไม่สามารถหยุดให้บริการเพื่อทดสอบระบบใหม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้งานแอป ความไว้วางใจของลูกค้า ตลอดจนความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ทีมงานจึงวางแผนรันระบบเดิมร่วมกับการซ้อมใช้ Core Banking 21 รอบ เรียกว่าเป็นช่วง Deployment โดยทำงานตอนกลางคืน และไม่หยุดแม้เป็นวันเสาร์ - อาทิตย์
ที่เราบอกว่าซ้อม (Mock up) 21 รอบ เราเริ่มซ้อมเหมือนจริงตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2567 ทีมไอทีกับทีมธุรกิจทำงานทุกวัน แล้วเราทำงานตอนกลางคืน ตี 1 ตี 2 ตี 3 ตี 4 และทุกๆ สเต็ปที่เราจะทำ เราทำเหมือนจริงทุกช่วงเวลา โดยให้ไอทีซ้อมก่อนล่วงหน้า ผ่านแล้วค่อยให้ฝั่งธุรกิจเข้ามาร่วมซ้อม เขาก็จะรู้สึกว่ามันสมูท
เมื่อถึงวันขึ้นระบบจริง ทีมก็แบ่งการขึ้นข้อมูลเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ แล้วเทสต์ระบบ 8 รอบ เป็นการแบ่งรอบทยอยโหลดสิ่งต่างๆ ขึ้นระบบใหม่ เทียบได้กับการผ่าตัดหัวใจ คือ 2 รอบที่นำหัวใจเข้าไปใส่ เปลี่ยนหลอดเลือด ใส่หลอดเลือดใหม่เข้าไป นำสมองขึ้นไปเก็บ รอบที่ขึ้นข้อมูลแอปอีก 4 รอบ เช่น K PLUS, MAKE by KBank, K-Cyber Banking และรอบขึ้นข้อมูลสาขาอีก 2 รอบ "รอบสาขาเป็นรอบที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะมีลูกค้าอยู่ตรงหน้า หากเกิดปัญหา คนที่มารอที่สาขาอาจได้รับผลกระทบ เราจึงมีการเทสต์เยอะมาก และเมื่อเราเทสต์ 8 รอบก็พบว่า เป็นการขึ้นระบบที่สมูทมาก” คุณนพวรรณกล่าว
คุณแก้วกานต์ ปิ่นจินดา Deputy Managing Director - IT Service Availability, KBTG เล่าถึงการเตรียมความพร้อมต่อ Incident ใดๆ คือ ตั้งรับปัญหาหรือสถานการณ์ และเตรียมแผนรองรับหากเกิดเหตุ โดยคาดการณ์ถึงเหตุเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้
“เทียบกับไฟไหม้ก็ต้องดับไฟแล้วพิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุ หากระบบเกิดปัญหาก็ต้องกอบกู้ระบบให้เร็วที่สุด โดยเรากำหนด Initiative ตั้งแต่การดีไซน์ระบบ หาทางกอบกู้ หาสาเหตุ นอกจากนี้เรายังทำงานแบบ Proactive หาทางป้องกัน เตรียมการล่วงหน้า มีไกด์ไลน์ไว้ให้หากเกิดปัญหา แล้วก็คอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา หากเห็นสัญญาณของปัญหา เราก็จะเข้าไปแก้ไขก่อนที่ลูกค้าจะเข้ามาใช้บริการ การซ้อมทำให้เราเห็นวิธีการ เห็นปัญหา และหลังจากฝึกซ้อม ตอนเทสต์ทั้ง 8 รอบ เราก็ทำได้ตามแผน ไม่มี Downtime ไม่มี Customer Incident” คุณแก้วกานต์เล่า
คุณภูวดล ทรงวุฒิชโลธร Assistant Managing Director - Project Management, KBTG เล่าถึงการใช้กลยุทธ์ 3Cs - Communication, Collaboration และ Commitment ขับเคลื่อนจนทำโปรเจกต์นี้สำเร็จ
Communication หรือ การสื่อสารที่ชัดเจนต้องสื่อสารให้ทีมที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจจาก KBank และทีมไอทีของ KBTG เข้าใจตรงกัน เห็นภาพและเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนงาน ความซับซ้อนของโปรเจกต์ เกี่ยวข้องกับใครบ้าง > นำไปสู่ความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งกันและกัน
Collaboration หรือ การร่วมมืออย่างแข็งขันต้องติดต่อ/ประสานงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือ เช่น โอเปอเรเตอร์ เปลี่ยนเน็ตเวิร์ก > นำไปสู่การปฏิบัติงานจริง (Action)
Commitment หรือ ความมุ่งมั่นทำให้บรรลุผล โดยผู้รับผิดชอบต้องระบุวันส่งงานที่ชัดเจน เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปทดลอง/ทดสอบ แก้ไขปัญหาหรือเก็บงานจนมั่นใจได้ว่า ระบบนั้นๆ สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น > นำไปสู่ผลสำเร็จหรือผลลัพธ์ (Result) ที่ตั้งไว้
โปรเจกต์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายด้าน การประชุมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์จึงถูกจัดขึ้นมากกว่า 2,000 ครั้งในช่วง 22 เดือน “ด้วยโซลูชันของโปรเจกต์ที่เราออกแบบ ฝั่งปลายทางต้องให้ Commitment เรามาว่า จะทำให้เสร็จภายในสองสัปดาห์ ซึ่งเขาก็มีงานของเขาอยู่แล้ว แต่ก็ยินดีมาช่วยพัฒนาให้ระบบ Core Banking ของเราดีขึ้น และพอเขาส่งงานปุ๊บ หลังจากนั้นก็ต้องมาทดสอบเพื่อเป็นการ Make Sure ว่า ระบบทำงานได้ถูกต้อง ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ต้องสื่อสารไปยังโอเปอเรชันอื่นๆ เช่น Call Center หรือพนักงานที่หน้าสาขาด้วย ดังนั้น ตลอดทางของเราก็จะมี Commitment เป็นระยะ และต่างก็ต้องทำให้เสร็จ เพื่อซัพพอร์ตผู้ใช้งานปลายทางได้อย่างสมบูรณ์” คุณภูวดลกล่าว
คุณเรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman, KBTG สรุปในตอนท้ายว่า KBTG ขยายระบบธนาคารโดยใช้เงินลงทุน 4,500 ล้านบาท และทำเรื่อง Cost Optimization บริหารจัดการงบได้อย่างคุ้มค่า กล่าวคือ ทำให้ระบบรองรับ Transactions ได้มากที่สุด ด้วยต้นทุนเฉลี่ยต่อการทำธุรกรรมต่ำที่สุด (Cost Per Transaction) จึงเป็นการใช้งบได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
และเนื่องจาก KBTG ซัพพอร์ตด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้ธนาคารกสิกรไทย แน่นอนว่า ‘การสร้าง Trust’ ให้คนไว้วางใจและใช้บริการนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การขยายระบบจึงต้องซ้อมและทดสอบการใช้งานจนมั่นใจ แล้วทีมไอทีก็จะเพิ่มระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ปกป้องระบบในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ ท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI คุณเรืองโรจน์บอกว่า ในกรณีการใช้ AI ในทางที่ผิดหรือเป็นภัยไซเบอร์ องค์กรที่โฟกัสในการสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้า ยิ่งต้องพัฒนา AI เพื่อมาตรวจจับ Deepfake หรือ AI Scam ในโลกดิจิทัล
ยิ่ง AI ก้าวหน้ามากเท่าไหร่ Digital Trust ก็ยิ่งสำคัญมากเท่านั้น แต่ก่อนที่จะทำเรื่อง AI ต้องทำเรื่อง Digital ให้ดีก่อน
“อย่างที่ KBTG ทำเรื่อง M.A.D. : Machine Learning - AI - Data ทำเรื่อง Modernized Data Platform ต่อด้วยการนำ Machine Learning มาทำ Predictive AI ตั้งแต่ปี 2017 ถัดมาเป็น Generative AI โดย KBTG ทำ AthenaMind เป็นแพลตฟอร์มสร้าง AI Agents ที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) และแยกเป็นส่วนๆ ได้ (Modular) เพราะใช้ LLMs (Large Language Models) หลายตัว ซึ่งสามารถถอด LLM หรือใส่ LLM ตัวใหม่ที่ดีกว่าเข้าไปให้บริการที่ดีกว่าเดิมได้
“ด้วยโปรเจกต์ Horizontal Core Banking ที่เราทำนั้นตอบโจทย์ Digital Trust เราจะเป็นธนาคารที่ Most Trustworthy (เชื่อถือได้มากที่สุด) และการวางรากฐานนี้จะทำให้เรายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งไปอีก 6 ปี ด้วยเทคโนโลยี Core Banking ระบบใหม่ ด้วยสถาปัตยกรรมทางการเงินที่มีความเสถียร และด้วยโอเปอเรชันที่รันได้โดยไม่โดนดิสรัปต์”
ยิ่งไปกว่านั้น คุณเรืองโรจน์บอกว่า ปีนี้ทีม KBTG เริ่มคิดกันแล้วว่า อีก 6 ปีข้างหน้าจะต้องทำอะไร “เพราะเราเป็น 'One Step Ahead Forever' เราหยุดไม่ได้และต้องคิดต่อว่า Next Generation ของ Core Banking จะเป็นอย่างไร”
คุณเรืองโรจน์กล่าวอีกว่า การเป็นผู้นำในด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ไม่สามารถหยุดพัฒนาได้ เหมือนกับการที่หัวใจ ปอด ตับ ไต และอวัยวะต่างๆ ต้องทำงานต่อเนื่อง ร่างกายจึงจะดำรงอยู่ได้ และความสำเร็จที่เห็นกันในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งสเต็ปของ KBTG เท่านั้น
บทความนี้เป็น Advertorial
#KBank #KBTG #HorizontalCoreBanking
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด