ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ชี้โควิด-19 ส่งผลบต่อสุขภาพจิตพร้อมเผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2021 | Techsauce

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ชี้โควิด-19 ส่งผลบต่อสุขภาพจิตพร้อมเผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2021

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป ชี้วิกฤตโควิด-19 เร่งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2021 ตั้งแต่การพัฒนาเพื่อบรรเทาสุขภาพจิตจากความเหงา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปในโลกการทำงาน ความปลอดภัยทางดิจิทัล และปัญหาโลกร้อน

คุณบียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นปีที่ต้องถูกจารึกว่าเป็น “ปีแห่งความท้าทายแห่งศตวรรษ”  แต่ยังเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ประชาคมทั่วโลกต่างรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ไม่อาจจินตนาการได้ ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างเร่งปรับตัวปรับพฤติกรรมสู่ “วิถีชีวิตใหม่” โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน

“วิกฤตโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวการทำงานและการดำรงชีวิตสู่ดิจิทัลในเกือบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกในอัตราเร่ง และในปี 2563 ที่ผ่านมา ยังได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการรับมือกับปัญหาทางสังคมต่างๆ ในปี 2564 นี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนในสังคม ไปจนถึงปัญหาโลกร้อน ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่เกิดอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ยังได้ทำให้ปัญหาสังคมเดิมประจักษ์ชัดขึ้น โดนเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความต้องการของผู้ใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดวิถีการทำงานแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์แห่งการทำงานไปตลอดกาล” คุณบียอน กล่าว

ปีนี้เป็นปี่ที่ 6 ที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ได้รวบรวมและวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2563 และคาดการณ์แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่

โควิด-19 ทำให้เกิดเทคโนโลยีคลายความเหงา

ด้วยโควิด-19 ทำให้มาตรการต่างๆ ถูกปรับใช้ เพื่อให้เกิดระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ตัวอย่างเช่น มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from home) แม้มาตรการเหล่านั้นจะช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพกาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผลกระทบทางสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลและอาการซึมเศร้าที่เกิดจากความเหงา

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์คาดว่า จะมีการพัฒนา eHealth หรือ การใช้เทคโนโลยีไอซีที เพื่อสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี AR และ VR ผสานกับเทคโนโลยีฮาโลแกรม เพื่อให้เกิดสัมผัสเสมือนเมื่อมีการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งต่างจากการวิดีโอคอลในปัจจุบัน นอกจากนี้ เราจะได้เห็นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อคลายความเหงามากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์ที่ว่านี้มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาประยุกต์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม การพูดคุย การสร้างความบันเทิง

โควิด-19 สร้างเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้คนในสังคมโลกตื่นตัวกับประเด็นด้าน “ความยั่งยืน” ของโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัญหาแห่งศตวรรษที่โลกกำลังเผชิญก็คือ “ภาวะโลกร้อน”

วิกฤตโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ลดการเดินทาง เกิด “วิถีชีวิตปกติใหม่” (New normal) ซึ่งศูนย์วิจัยเทเลนอร์ เชื่อว่า หน่วยงานรัฐจะอาศัยจังหวะนี้ในการสานต่อและผลักดันกระแสความยั่งยืน และเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น และนั่นจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ งานวิจัยของ World Economic Forum ระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกได้ถึง 15%

นอกจากนี้ เราจะเห็นการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งผสานการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาดอื่นๆ เข้าด้วยกันมากขึ้น สามารถพยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานของเมืองได้ ขณะเดียวกัน เราจะเห็นการใช้เทคโนโลยี TinyML หรือการเรียนรู้ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นจุดตัดของการเรียนรู้ของ IoT อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีศักยภาพในการปฏิวัติอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการประยุกต์ใช้ TinyMLในอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น เช่น โดรนถ่ายภาพเพื่อการสำรวจสภาพอากาศ ในภาคการเกษตร เราจะเห็นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยเกษตรกรทำงานได้อย่างแม่นยำ ลดการเกิดผลกระทบทางสภาวะแวดล้อม

Digital dementia ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล

ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอัตราเร่ง ทำให้เรามีการใช้บริการดิจิทัลต่างๆ ที่มากยิ่งขึ้นกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย จำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น ไฟล์ที่มากขึ้น นำมาสู่มาตรการความปลอดภัยทางดิจิทัลที่มากขึ้นเช่นกัน

ด้วยภาวะดังกล่าว ทำให้ผู้คนในปี 2021 จะเผชิญกับภาวะ Digital Dementia หรืออาหารสมองเสื่อมจากการใช้บริการดิจิทัลที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พาสเวิร์ด” ที่ปัจจุบันผู้ให้บริการต่างกำหนดให้พาสเวิร์ดต้องมีการประสมตัวเลข เครื่องหมายและตัวอักษรที่ซับซ้อนมากขึ้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 3 เดือน เพื่อเป็นการการันตีความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งความปวดหัวทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร

ดังนั้น ศูนย์วิจัยเทเลนอร์จึงคาดการณ์ว่า บริษัทหรือองค์กรต่างๆ จะมีการนำโซลูชั่นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เอื้อให้ผู้ใช้งาน ใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงระดับความปลอดภัยเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น โซลูชั่นที่ใช้สำหรับการจัดการพาสเวิร์ด (Password manager) หรือการใช้อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) เพื่อการยืนยันตัวเอง เช่น ลายนิ้วมือหรือการสแกนม่านตา แทนการจำตัวเลขพาสเวิร์ด ซึ่งโซลูชั่นต่างๆ จะได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัล

โลกการทำงานเข้าสู่ยุค Society-as-a-service

ในปีที่ 2563 ที่ผ่านมา มนุษย์ออฟฟิศต่างเผชิญกับเทรนด์สำคัญที่เรียกว่า Work From Home ซึ่งเกิดขึ้น “ทั่วทุกที่” และ “ทันทีทันใด” จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยมีปัจจัยด้าน “ความสามารถต่อการยืดหยุ่น” เป็นหัวใจสำคัญ

ดังนั้น ในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ คาดการณ์ว่า โลกแห่งการทำงานจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Society-as-a-service ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการอำนวยความสะดวกปัจจัยพื้นฐานในการทำงานให้แก่พนักงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้ ในอนาคต เราจะได้เห็นจุดให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ต ห้องประชุมงานในที่สาธารณะหรือร้านกาแฟมากชึ้น หน่วยงานรัฐท้องถิ่นจำเป็นต้องเสริมพื้นที่ที่ให้บริการดังกล่าวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดสาธารณะ ซึ่งในความเป็นจริง แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว แต่ให้บริการโดยเอกชน เช่น ร้านกาแฟ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนควรเพิ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) สุขอนามัยทางดิจิทัล (Digital hygiene) ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานแบบ Remote working อย่างไรก็ตาม การจะก้าวสู่โลกการทำงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น สิ่งสำคัญคือการปรับวิธีคิดหรือ Mindset ของพนักงานให้สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งบริษัทควรคำนึงถึงการเพิ่มพูนทักษะหรือ upskilling ทั้งในระดับองค์กรและบุคคล

โควิด-19 เร่งการมาของ EdTech

จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ยูนิเซฟ ระบุว่า เด็กนักเรียนทั่วโลกจำนวนกว่า 1,600 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมการระบาด โดยเด็กนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีจำนวนวันเข้าเรียนน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนต่างๆ ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทดแทน แต่ในขณะเดียวกัน การเรียนแบบออนไลน์ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศที่มีรายได้สูง มีสัดส่วนของเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ถึง 87% ขณะที่ ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้น ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะรุนแรงและดำเนินต่อเนื่องสู่ปี 2564

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ มองว่า โลกจะได้เห็นเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เข้ามาเติมเต็ม สร้างสรรค์ และทำให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้วิกฤตการณ์โควิด-19 จะยุติลงในอนาคต ทำให้ความต้องการในตลาดของผู้บริโภคมีมากขึ้น ทั้งยังเป็นตัวเร่งของการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์แห่งโลกการเรียนการสอนสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการอุบัติขึ้นของนวัตกรรมทางการศึกษาเปรียบเสมือนทางสองแพร่ง เมื่อ“การเข้าถึง” ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจะได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้างขึ้นไปอีกในอนาคตต่อจากนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จักเทรนด์ Brand Chem กลยุทธ์ TikTok 2025 การตลาดที่ต้อง ‘เป็นเพื่อน’ กับผู้บริโภค

สำรวจ TikTok What's Next Report 2025 และแนวคิด Brand Chem ที่เปลี่ยนการตลาดด้วยความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ครีเอเตอร์ และชุมชน TikTok พร้อมเทรนด์สำคัญที่ขับเคลื่อนปี 2025...

Responsive image

ชี้เป้า 5 เทรนด์การใช้ AI (Agent) พาธุรกิจโต ในปี 2025 โดย Salesforce

เผยแนวโน้มการใช้ AI เพื่อสร้างการเติบโตด้านรายได้ให้ธุรกิจ และอัปเดตความก้าวหน้าในการพัฒนา AI Agent ให้ทำงานได้อัตโนมัติ (Autonomous) โดย Salesforce...

Responsive image

‘ธนวัต สุตันติวรคุณ’ CEO ผู้ผันสู่โลกอนาคตจากระบบการเงินดั้งเดิม นำทีม Bitazza Thailand เสริมความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัล

คุณธนวัต สุตันติวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด หรือ Bitazza Thailand แพลตฟอร์มนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย มาเผยมุมมองเกี่ยวกับการบริหารธุร...