โอกาสของ SMEs ร่วมค้นหาโซลูชันที่ใช่ในการทำงานยุคดิจิทัล | Techsauce

โอกาสของ SMEs ร่วมค้นหาโซลูชันที่ใช่ในการทำงานยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีงานแถลงข่าวกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs ด้วยความร่วมมือระหว่าง ETDA และ Techsauce พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์บริษัทเทคโนโลยี เพื่อเชิญชวน Service Provider มาร่วม แฮกไอเดีย สู่การเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้าน e-Solution ที่จะเข้ามายกระดับธุรกิจ SMEs ไทย ให้พร้อมรับมือกับการทำงานยุคดิจิทัล ปรับตัวให้อยู่รอดในยุคโควิด

โอกาสของ SMEs ร่วมค้นหาโซลูชันที่ใช่ในการทำงานยุคดิจิทัล

บทความนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาสำคัญใน Session แรกของงานแถลงข่าวดังกล่าว ซึ่งมีการพูดคุยถึงความท้าทายที่ SMEs ต้องเผชิญในการปรับเปลี่ยนการทำงานเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงโอกาสที่เหล่าผู้ประกอบการ SMEs จะได้พบกับ e-Solution ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง ผ่านการพูดคุยภายใต้หัวข้อ “Bounce Back Stronger: SMEs with e-Solutions นำธุรกิจปรับตัวสู่อนาคต สร้างโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยี”

โดย

  1. คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

  2. คุณศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ รองประธาน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

  3. คุณชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจดิจิทัล ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank)

  4. คุณปรัชญา ไพโรจน์กุลมณี ผู้อำนวยการกองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (DBD)

ความช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญ ในยุคที่เต็มไปด้วยอุปสรรค 

การปรับเปลี่ยนการทำงานเข้าสู่ยุคดิจิทัลแน่นอนว่า SMEs จะต้องพบกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทุน หรือโอกาสการเข้าถึงข้อมูลความรู้ในการจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้กับธุรกิจ จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ของคุณวรพจน์ พบว่า วิกฤตคราวนี้ค่อนข้างหนักและแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง เพราะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดไปทั้งหมด ซึ่งในอดีตยังไม่มีวิกฤตครั้งไหนที่ทำให้การไหลลื่นของเศรษฐกิจหยุดชะงักได้ขนาดนี้ และแน่นอนว่าได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ เงินทุน ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก 

ขณะเดียวกัน SMEs หลายรายก็ได้ปรับตัวรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่หันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น คุณวรพจน์มองว่า ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการว่ามีหน่วยงานหรือภาคส่วนใดที่จะสามารถเข้ามาช่วยพาพวกเขาผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้ 

และในส่วนของผู้ประกอบการเอง ที่อาจจะยังไม่มีความชำนาญหรือขาดความรู้ความเข้าใจ จนทำให้การปรับตัวเป็นไปอย่างยากลำบากนั้น การได้รับคำแนะนำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทาง สสว. เอง ก็มีโครงการที่ชื่อว่า “Coach SMEs” ที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาและยกระดับทางธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความช่วยเหลือ ที่จะเข้ามายกระดับ SMEs ให้รอดในยุคนี้

ฝั่งคุณศักดิ์ชัย มองว่า ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มีทั้งผู้ที่สามารถปรับตัวได้ มีความรู้ และเงินทุนที่พร้อม ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็น SMEs ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มักจะปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้ดี ขณะที่ SMEs ของกลุ่มคนรุ่นเก่ากลับไม่สามารถที่จะนำโซลูชันต่างๆ เข้ามาช่วยธุรกิจของตนเองได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่รู้จักหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับโซลูชันนั้นๆ และอีกส่วนคือขาดโอกาสในการเข้าถึง ซึ่งหากผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในกลุ่มหลังนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่าง การนำระบบ หรือโซลูชันตามโครงการต่างๆ ของภาครัฐเข้ามาช่วย ให้พวกเขาได้นำมาปรับใช้ ก็จะสามารถเกิดการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้ไปต่อได้ดีในช่วงวิกฤตนี้

หาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และกล้าที่จะปรับเปลี่ยน

คุณชัยณรงค์ แชร์มุมมองว่า ปัจจุบันหากธุรกิจไม่ปรับตัวนำเอาโซลูชันหรือเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ยาก หรืออาจจะไม่เติบโตหรือไปต่อไม่ได้เลย ในสถานการณ์โควิด-19 บังคับให้เราต้องใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก สิ่งที่เราต้องคำนึง คือ บุคลากรมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนหรือไม่ กระบวนการทำงานในองค์กรจะต้องไม่เยิ่นเย้อ ไม่สร้างต้นทุน และสิ่งสำคัญคือจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม เพราะถ้าเลือกผิดก็จะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งทาง SME Bank เองก็ได้ร่วมมือกับ สสว. ในการจัดทำโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อสนับสนุน SMEs ในเชิงรุกมากขึ้น พร้อมขยายวงเงินในการช่วยเหลือ SMEs มากขึ้นด้วย ซึ่ง SMEs ก็ควรนำโซลูชันหรือวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการปรับตัวท่ามกลางธุรกิจในโลกยุคใหม่ 

นอกจากความช่วยเหลือเพื่อให้ SMEs รู้ว่าควรจะปรับใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางใด อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่คุณปรัชญาแนะนำไว้ คือ “ความกล้า” เพราะคุณปรัชญามองว่า ผู้ประกอบการบางคน ไม่รู้ Know-how ในเรื่องของความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จาก e-Solution เพื่อการปรับตัวเข้าสู่การทำงานระบบดิจิทัล และความไม่รู้นี้ได้กลับไปกระทบกับความกล้า ที่ควรจะมี โดยอาจจะเป็นเพราะความกังวลเรื่องผลกระทบที่ตามมา หรือยังไม่รู้ว่าโซลูชันเหล่านั้นจะทำให้ธุรกิจของตนเองดีขึ้นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงแนะนำว่า เมื่อมี e-Solution มากมายออกมาตอบสนองความต้องการแล้ว SMEs ต้องกล้าใช้ เพื่อจะได้ทราบว่าโซลูชันเหล่านั้นดีจริงหรือไม่ หรือช่วยให้ธุรกิจเรามีประสิทธิภาพ ดีขึ้นได้อย่างไร

Finding The Best Enabler: โอกาสสำคัญที่จะทำให้ SMEs ค้นพบโซลูชันตอบโจทย์ธุรกิจ

สำหรับ คุณวรพจน์ มองว่ากิจกรรม Hackathon: Finding The Best Enabler ภายใต้โครงการ e-Solutions: Opportunity enabler for SMEs ของ ETDA มีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วย Matching ให้ SMEs ได้เข้ามาเลือก e-Solution เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ และกิจกรรมนี้ยังจัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากอยู่ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ธุรกิจต้องการโซลูชันที่จะสามารถช่วยยกระดับการดำเนินงานให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ 

พร้อมกันนี้คุณวรพจน์ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการมีความกล้า เพราะสำหรับธุรกิจในอดีต การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ หรือทำอะไรที่แปลกแหวกแนวจะมีค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเห็นว่าจริงๆ แล้วมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ธุรกิจอาจไม่ดีไปกว่าเดิม ดังนั้น น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการที่จะให้ผู้ประกอบการได้มาทดลองใช้โซลูชัน ซึ่งทาง สสว. เองก็กำลังมีนโยบายในการผลักดันจุดนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนคุณศักดิ์ชัย มองว่า SMEs ในส่วนที่เป็นองค์กรขนาดเล็กนั้นมีข้อดีคือ จะสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว และถ้าหากคนทำโซลูชันกับ SMEs มาเจอกันโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนดังเช่นที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ ส่วนตัวมองว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหากถามว่า SMEs ต้องเตรียมตัวยังไง คุณศักดิ์ชัย บอกว่า เพียงเตรียมหัวใจกับความกล้าและความคล่องตัว เท่านี้ SMEs ก็สามารถพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว

การรวมตัวครั้งสำคัญที่จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

สำหรับสิ่งที่กลุ่ม SME Bank จะได้รับจากงานนี้คือ ประโยชน์จากการร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐที่มีการรวบรวม Digital Tools หรือตัว Software ขณะที่ทาง SME Bank เองก็มี MOU กับบริษัทที่ทำ Software หรือ Digital Tools มากกว่า 120 บริษัท และมีเครื่องมือออกมา 170 กว่าตัว ซึ่งก็ได้มีการเผยแพร่ให้ SMEs ใช้งาน พร้อมกับจะช่วยทาง สสว.ในเรื่องการออกนโยบายส่งเสริม SMEs ซึ่งทรัพยากรที่ทางแบงก์มีนั้นหลากหลาย โดยมีทั้งแบบทดลองใช้ ใช้ฟรี เช่าใช้อยู่บนคลาวด์ ทำให้ไม่ต้องลงทุนในอุปกรณ์เยอะ และในกรณีที่มีการ Matching กันทางแบงก์ก็ยินดีสนับสนุนในเรื่องการลงทุน และยังพยายามทำให้ SMEs เข้าระบบเพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และการวางแผนในอนาคตที่ดีก็จะช่วยในการปรับตัวสำหรับธุรกิจที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้

“ขอบคุณในส่วน Bussiness Matching เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ผู้พัฒนาและทางผู้ใช้เองได้มาเจอกัน บางทีมันกลายเป็นว่าคนที่พัฒนาอาจจะไม่รู้ว่าลักษณะการทำธุรกิจเป็นยังไงแต่พอจะรู้ว่ามันมี Pain Point ยังไงบ้างเลยทำอันนี้ขึ้นมา แต่พอบางคนใช้จริงๆ แล้วมันยังมีติดนู่นติดนี่อยากเพิ่มอะไร หากมีลักษณะของการ Matching กัน ผมว่ามันมีสิทธิ์ทำให้อุดช่องโหว่ในโปรแกรมของพวก e-Solution ต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ผมว่าก็เป็นเวทีที่ดีที่ทำให้สองฝ่ายได้เจอกัน” คุณปรัชญากล่าวเสริม

เหตุผลที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรพลาดงานนี้

ทางคุณชัยณรงค์ได้เชิญชวน SMEs ให้มาร่วมติดตามกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs เพราะจะมีเทคโนโลยีหลากหลายซึ่งจะมีส่วนช่วยต่อขยายกิจการในอนาคตได้ และสามารถเข้าไปดู  e-Solution ในเบื้องต้นก่อนได้ที่แอปพลิเคชัน ‘SME D Bank’ อีกทั้งคุณปรัชญาเองก็มองว่าทุกๆ หน่วยงานมีกิจกรรมและโครงการดีๆ หลายตัวอยู่แล้ว จึงอยากให้เหล่าผู้ประกอบการมาลองพิจารณา และเข้าร่วมโครงการของแต่ละหน่วยงานพร้อมกับสามารถเข้าไปพิจารณาโครงการอีกมากมายได้เพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ของ DBD 

ในช่วงสุดท้ายของการเสวนาคุณวรพจน์ได้ฝากถึง SMEs ว่าโครงการนี้ถือเป็นหนึ่งโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาทดสอบและทดลองใช้ e-Solution ที่จะสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่หาได้ยากในการที่จะมีผู้รวบรวม e-Solution เข้ามาพร้อมความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำได้ คุณวรพจน์จึงอยากให้ทุกคนเข้ามาคว้าโอกาสครั้งนี้ไว้ และนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับรู้เทรนด์ในอนาคต ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วเราจะต้องปรับธุรกิจของเราอย่างไรต่อไป

ผู้อ่านสามารถรับชมเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/techsauceTH/videos/425698858910222

และพลาดไม่ได้ ขอเชิญ Service Provider ระเบิดไอเดีย ร่วมเฟ้นหาสุดยอด e-Solution ปลดล็อกธุรกิจ SMEs ไทยกับกิจกรรม "Hackathon: Finding the Best Enabler" ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs โดย ETDA ร่วมกับ Techsauce พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์เทคโนโลยี 

ที่จะเปิดเวทีให้บริษัทของคุณ ร่วมแชร์ไอเดีย นวัตกรรม โซลูชัน ด้าน e-Office สู่การเป็นนวัตกรรมที่มาช่วยยกระดับธุรกิจ SMEs ไทย 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้

  • โอกาสจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง

  • Exclusive Workshop ด้าน Customer Insight, UX Design, Data Management (Data Privacy)

  • Exclusive Workshop จาก AWS

  • Mentoring sessions พบผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงธุรกิจต่างๆ เช่น Software/ Service Reliability Expert, Data Management, Security & Data Privacy และอื่นๆอีกหลากหลายวงการ ตบเท้าเข้าร่วมให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรมในกิจกรรมครั้งนี้

  • ผู้ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 300,000 บาท พร้อมสิทธิในการเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมกับ ETDA Sandbox  ด้วย

เปิดรับสมัครแล้ว วันนี้ - 10 พฤศจิกายน 2564

สมัครที่ https://bit.ly/3uF8tN8

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...