สัมภาษณ์พิเศษ CEO ไทยพาณิชย์และคุณธนา กับกองทุนสนับสนุน Fintech Startup ไทย | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ CEO ไทยพาณิชย์และคุณธนา กับกองทุนสนับสนุน Fintech Startup ไทย

SCB CEO interview

หลังจากที่มีการเปิดเผยถึงทิศทางการสนับสนุน Fintech Startup ซึ่งเป็นที่ฮือฮาไม่น้อยในวงการธนาคาร ทั้งตัวเลขการลงทุนและการดึงตัวคนดังอย่างคุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ เข้ามานั่งเป็นบอร์ด วันนี้เรามีบทความสัมภาษณ์พิเศษประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา และคุณธนา ที่จะมาแชร์ถึงรายละเอียดและก้าวต่อไปของกองทุนดังกล่าว

ที่มาของการแยกองค์กรเพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุน Fintech Startup

คุณอาทิตย์ : กองทุนนี้จัดตั้งและมีทีมงานที่บริหารแยกออกจากธนาคาร เพราะเราเป็นธนาคาร เราต้องคิดอยู่นานว่าถ้าเราจะทำเรื่องพวกนี้ เราจะทำภายใต้ธนาคารหรือเราจะทำภายนอกธนาคาร สิ่งที่สำคัญพอๆ กันกับการตั้งกองทุนที่ว่านี้ กระบวนการที่เราจะทำอะไรให้เร็ว ลองถูกลองผิดเร็วๆ มันต้องทำภายใต้สภาพแวดล้อมยังไงดี เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนตัวเราเองภายใต้ตัวเราเองได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาว่า เราคิดว่าจำเป็นที่จะต้อง spin off ออกไป ไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ สภาพแวดล้อมที่มันเอื้อให้กระบวนการตัดสินใจ ลองผิดลองถูกมันเกิดขึ้นได้

โดยโครงการนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุน อีกส่วนหนึ่งเป็นการสร้างห้องแลป การลงทุนก็อยู่ในรูปแบบของ Venture Capital ซึ่งคิดว่าโดยวัตถุประสงค์หลักของเราที่ตั้งขึ้นมา ต้องบอกตามตรงว่า ณ จุดแรกเรามีความกลัว กลัวที่จะล้าสมัย เรากลัวที่จะเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน ยังไม่ได้เกิดจากความที่เรารู้สึกว่าเราเก่งแล้วเราจะไปช่วยใคร สุดท้ายแล้วเราก็อยากจะช่วยทุกคนที่ทำได้ แต่ว่าเราต้องเอาตัวเองให้แข็งแรงก่อน เพราะธนาคารก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ถ้าธนาคารเกิดล้าสมัยแล้ว ก็จะไม่สามารถช่วยลูกค้าได้ เพราะฉะนั้นการตั้งกองทุน วงเงินประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะไม่ใหญ่มากแต่ก็ถือว่าไม่เล็ก ขอบเขตของการลงทุนนั้นก็เน้นด้านเทคโนโลยี และตัวหลักๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องของ Fin Tech

สำหรับการลงทุนของเรา ในตอนนี้เรื่องของผลตอบแทนเป็นเรื่องที่มาทีหลัง แต่เราต้องการพาตัวเราเองเข้าไปอยู่ใน Ecosystem ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธนาคารและลูกค้า ซึ่งเป็นความตั้งใจหลัก โดยการที่เราจะเข้าไปลงทุน เราสร้างเงื่อนไขว่าจะต้องมีทีมงานใหม่ที่เราจะคัดเลือก เป็นคนละสายพันธุ์กับ Banker ที่เรามีอยู่ ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ว่ากระบวนการสร้างหรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือกระบวนการคิดที่จะทดลอง หรือการที่จะมองเห็นว่าในโลกที่เป็นผู้นำด้านนี้ เขาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างไร แล้วนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมา มันสามารถเอามาต่อยอดหรือเปลี่ยนขีดความสามารถขององค์กรเราได้อย่างไร

แบ่งสัดส่วนการลงทุนในประเทศและต่างประเทศอย่างไร

คุณอาทิตย์: ก็คิดไว้กว้างๆ นะครับ เพราะต่างประเทศมันใหญ่ ฉะนั้นก็คงเป็นสัดส่วนที่มาก แต่ถ้าเกิดในประเทศมีอะไรที่น่าสนใจให้ซื้อเลย ก็ไม่มีปัญหาที่จะปรับสัดส่วนได้ แต่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้าถึงเวลาแล้วมันเกิดฮิตมาก ใช้หมดอย่างรวดเร็วภายในปีสองปี ก็เพิ่มเงินทุนได้ เราเองไม่มีความคาดหวังอย่างที่เรียนไว้ตอนต้นว่า ลงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วต้องได้ผลตอบแทน เราไม่ได้คาดหวังแบบนั้น แต่เราคาดหวังว่าถ้าดีเราจะได้ไปลงทุนในเทคโนโลยีเปิด ซึ่งก็จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเอามาใช้กับสังคมของเรา หรือระบบธนาคารพาณิชย์ของเรา อันนี้ก็เป็นความตั้งใจ

คุณธนา: การลงทุนต่างประเทศ เราจะเป็น Fund of Fund ก่อน โดยจะลงกับกองทุนในยุโรปและในเอเชียก่อน โดยจะเข้าไปเรียนรู้วิธีการ ได้ Connection และ Deal Flow เพราะต่อให้ทีมเราดีขนาดไหน ก็ยังไม่มีประสบการณ์ขนาดนั้น เราต้องสร้างทีม Core ที่จะมีความสามารถในการตัดสินใจเองได้ คือมีความเข้าใจในตลาดโลก

ส่วนในไทยเองก็คงต้องมีอีกแบบนึง อาจจะต้องมีตั้งแต่รอบ Pre-Seed บางทีต้องจัดประกวดแล้วให้เงินไปก้อนนึงโดยไม่ต้องถือหุ้นเลยด้วยซ้ำ แล้วมันก็ต้องเชื่องโยงกับธนาคารด้วย เพราะทำงานกับธนาคารนี่ไม่ง่ายนะ เวลามีไอเดียแต่ต้องมาเจอ Security เข้าไปก็ล้มเลิกแล้ว ตัวธนาคารเองก็ต้องแก้อะไรบางอย่างที่จะทำให้คนที่มีไอเดีย หรือคนภายนอกสามารถเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อทำบางอย่างได้, ทำ Simulation ได้ หรือแม้กระทั่งเอาคนจากธนาคารมาสอนด้วย เพราะที่เราเจอคนที่จะเข้ามาช่วยธนาคาร ก็จะตายตรงเจาะไม่ได้

เพราะในที่สุด Statup ก็ยังต้องการ Banking อาจจะไม่ใช่เครื่องเทคโนโลยีนะ แต่ต้องการลูกค้าของธนาคารทำให้เริ่มธุรกิจได้เร็วขึ้น ถ้าธนาคารเปิดส่วนนี้ได้มันก็จะ Win-Win สมมติว่าทำ Peer-to-Peer Lending หรือระบบการกู้ยืมเงินแบบบุคคลต่อบุคคล ในฝั่งคนขอยืม (Borrower) ก็อาจจะมีระบบ Crowd Judging หรือระบบรีวิวอะไรก็ได้ซึ่งก็จะมีคนมาดู หรือจะทำแบบ Offline ที่แบบเมืองจีนทำ โดยที่ต้อง Pre-Approve ฝั่ง Borrower บางส่วนก่อน ซึ่งถ้าเป็น Startup มันก็ไม่รู้จะ Pre-Approve อย่างไร แต่ธนาคารสามารถไปที่สาขาได้ เป็นต้น

และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นโรงงานหรือแลปของเรา เสมือนปลูกต้นไม้เป็นการบ่มเพาะ (Incubation) ผลิตเอง สร้างทีมกันขึ้นมาเอง สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญของ startup ก็คือคน เวลาที่เขา pitch ปัจจัยครึ่งหนึ่งที่ดูก็คือทรัพยากรบุคคล เราอยากได้คนที่มีองค์ประกอบครบทั้งธุรกิจ, การออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นทีมที่สามารถผลิตและพามันเติบโตไปได้

กองทุนนี้สนับสนุน Startup ในระดับไหนบ้าง

คุณอาทิตย์: การลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็น Series ไหน เราคิดว่าไม่สำคัญ ถ้าตัวไหนที่สามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจของทางธนาคารได้ หรือสามารถสร้างเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ได้เราก็สนใจ

แล้ว E-commerce เข้าค่ายที่ทางนี้สนใจในการลงทุนหรือไม่

คุณอาทิตย์: แน่นอนครับ E-commerce จะเป็นหนึ่งในตัวหลักที่เข้ามาแน่นอน แต่ว่ากำลังจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เพิ่งเริ่มธุรกิจ เริ่มมาสักพักหรือกระทั่งมี proven cases แล้ว ได้หมด จะเป็นทั้งการลงทุนหรือพาร์ทเนอร์กันก็ได้ เราเปิดหมด

เราจะได้เห็นโครงการนี้เปิดตัวเมื่อไหร่?

คุณอาทิตย์: เราต้องการจะทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด จุดที่ทำให้ช้าก็คือความเป็นธนาคาร ก็จะมีเรื่องของกฎเกณฑ์เข้ามาเกี่ยว ซึ่งขณะนี้ก็เป็นไปได้ด้วยดี ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตื่นตัวมาก แล้วให้การสนับสนุนเราอย่างดี เมื่อผ่านช่วงนี้แล้ว ที่เหลือทางคุณโจ้เองก็จะต้องมีทีมที่ดี เราไม่อยากได้คนที่มาจากธนาคาร เพราะทางธนาคารก็มีคนไม่พอ เราก็อยากจะได้ทีมใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ๆ กันเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาระดับนึง นอกเหนือจาก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว เรายังกันเงินประมาณปีละ 500 ล้านบาท จากกำไรของธนาคาร เอาเข้าไปเป็นงบพัฒนาและวิจัย (Research & Development) ให้ห้องแลปสามารถจะมีงบที่ดูแลเรื่องคน ดูแลเรื่องการทดลอง เพราะเราจะสร้างหลายๆ ทีม

คุณธนา: ผมเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในด้านนี้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือหาคนเก่งๆ นิสัยดี มี passion สูงๆ มาทำงานเป็นทีมร่วมกัน โดยไม่จำกัดกรอบความคิดอะไรไว้ตั้งแต่ต้น ผมเติบโตมาจากวิธีการทำงานในความเชื่อว่า ถ้าได้ทีมงานที่เก่ง มีทัศนคติที่ดีแล้ว อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น งานของผมในตอนนี้ก็คือพยายามเชื่อมโยงคนที่ควรจะเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ฝั่งธนาคาร พาร์ทเนอร์ต่างๆ และการหาคนสนุกๆ มาทำงานด้วยกัน ช่วงนี้เราก็คุยกับคนเยอะทั้งพาร์ทเนอร์ทั้งคนที่จะมาทำงาน ซึ่งต้องพิถีพิถันนิดนึงเวลาคุยกับคน โดยน่าจะใช้เวลาประมาณเดือนนิดๆ ทีมงานที่มาเริ่มกันจริงๆ ก็น่าจะพฤษภาคม ที่จะเริ่มรับเคสได้ ถ้าฟูลทีมจริงๆ ก็น่าจะกรกฎาคม  

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะเบื้องหลังดีล Zipevent และ Link Station Group สู่การขยายธุรกิจอีเวนต์ในภูมิภาค SEA

การเข้าซื้อกิจการระหว่าง Zipevent แพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์และจำหน่ายบัตรออนไลน์ในประเทศไทย กับ Link Station Group บริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายบัตร (Ticketing System) ถือเ...

Responsive image

KBank x Orbix Technology x StraitsX สาธิตการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยบล็อกเชนที่ SG FinTech Festival 2024

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Orbix Technology และ StraitsX เปิดตัวนวัตกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย e-Money on Blockchain ในงาน Singapore FinTech Festival 2024 ชูศักยภาพฟินเทคไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...