คุยเรื่อง 'Deep Tech' กับ 'ดร.วิไลพร' ผู้ขับเคลื่อน SCG ด้วยนวัตกรรม | Techsauce

คุยเรื่อง 'Deep Tech' กับ 'ดร.วิไลพร' ผู้ขับเคลื่อน SCG ด้วยนวัตกรรม

การจะเปลี่ยนองค์กรใหญ่ที่อยู่มายาวนานหลายสิบปีให้คงความทันสมัย และยังอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ฟันเฟืองส่วนสำคัญคือนวัตกรรมในการขับเคลื่อน และหน่วยงานที่  Techsauce จะพาไปรู้จักกันในวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้กับบริษัท SCG วันนี้เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงอย่าง ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ ผู้ขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมต่างๆ ใน SCG มาอย่างยาวนาน

ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลอยู่ รับผิดชอบเกี่ยวกับอะไรบ้าง?

หน่วยงานที่ดูแลอยู่เรียกว่า Corporate Technology Office (CTECH) คือหน่วยงานที่ดูแลนวัตกรรมในภาพรวมของ SCG ตั้งแต่การวางแนวทางเรื่อง Innovation Portfolio ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เรื่องการออกแบบตัวชี้วัดความสำเร็จของการวิจัยและพัฒนา รวมถึง Innovation Management System ทำให้ทราบว่า มีโครงการด้านนวัตกรรมกี่โครงการ และได้ผลิตภัณฑ์ประเภทไหนบ้าง อยู่ใน Stage ไหน ใช้เงินไปเท่าไหร่ นอกจากนี้ เรายังมีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกใดบ้าง

CTECH  สร้างระบบการดูแล Innovation Management มา 9 ปีแล้ว นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว เรายังดูแลไปถึงระบบการบริหารจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ว่าอะไรที่ควรได้รับความคุ้มครอง แล้วเลือกที่จะคุ้มครองอย่างไร หรือสามารถสร้าง Value เพิ่มได้หรือไม่

SCG  มีพนักงานกว่า 53,000 คน เป็นองค์กรขนาดใหญ่มาก มีหลายธุรกิจทั้ง Chemical, Cement Building Material และ Packaging การสร้างนวัตกรรมต้องมีระบบการจัดการเข้ามารองรับ หน้าที่ของเราก็คือ ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยี ช่วยสร้าง Partner เพื่อการวิจัยและพัฒนา ช่วยวางแผนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา  ทางธุรกิจ (BU) จะโฟกัส Core-Technology ของตัวเอง เช่น ถ้าเราต้องการระบบการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งหมดในบ้านเราต้องทำอย่างไร หน้าที่ของ CTECH ก็จะช่วยเสริมจาก BU ว่ามีความต้องการอะไรเพิ่มเติม ที่เราจะเสนอให้กับผู้สูงอายุได้อีก โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสินค้าของ SCG โดยหาเครือข่ายพันธมิตรที่มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคโดยองค์รวม นี่คือการมองแบบ Total Integrated Solution

Open Innovation Center

ในขณะที่ Open Innovation Center เป็นเสมือน Gateway กับพันธมิตรข้างนอกที่สนใจจะใช้ หรือสนใจในการสร้างนวัตกรรมร่วมกับ SCG ยกตัวอย่างหน่วยงานที่มาเยี่ยมชม Open Innovation Center เช่น ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัย สภาอุตสาหกรรม หรือ Startup พอมาเห็นสินค้าหรือเทคโนโลยี ที่เราจัดแสดงไว้งาน ก็อาจทำให้เกิดไอเดียและต่อยอดสร้างความร่วมมือกันได้ ตัวอย่างเช่น  Startup ที่ทำด้าน DeepTech เช่น สาย Material เราก็เปิดให้มีการมาทำ Pilot Test ได้ โดยSCG ก็เป็นเสมือน Accelerator ให้

นอกจากนี้เรายังมีกลุ่มงานที่เรียกว่า New Growth Initiative Support คือธุรกิจที่อาจไม่เกี่ยวกับธุรกิจของ SCG โดยตรง แต่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต เราก็ให้ความสนใจ และอีกกลุ่มที่เรากำลังให้ความสนใจคือธุรกิจ Well-being, CleanTechnology ตลอดจน Sensor and IoT

อะไรคือความท้าทายที่สุดในการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

ขอแบ่งออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ นะคะ

  1. เรื่อง Technology Change - เมื่อก่อนเทคโนโลยีเปลี่ยนช้า แต่พออินเทอร์เน็ตเข้ามา การสื่อสารเร็วขึ้นมาก Big Data เข้ามามีผลกระทบกับทุกธุรกิจ ความท้าทายก็คือ พอตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไว มันก็กระทบไปหมด องค์กรจะมีความสามารถในการเรียนรู้ และปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม อย่างไร
  2. เรื่องคน เราจะทำอย่างไร ให้คนของเราเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน เพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาตอบโจทย์ธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทัศนคติ หรือ Mindset นั้นสำคัญมาก อย่างแรกคือ Mindset ที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และอย่างที่สอง คือ ความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship mindset) ที่พร้อมจะรับผิดชอบและผลักดันให้แต่ละโครงการเกิดขึ้นได้จริง

ในอดีต แต่ละหน่วยงานใน SCG ต่างก็โฟกัสเฉพาะงานของตัวเอง แต่เราพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สามารถ Cross กันให้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2009 เราได้จัดให้มีการทำ Cross Tech โดยให้ทุก BU ช่วยกันคิดว่ามีอะไรที่จะพัฒนาต่อยอดร่วมกันได้ เช่น ทุก BU ต้องใช้พลังงาน และพบว่าเรามีเป้าหมายร่วมกันในเรื่องการช่วยกันลดการใช้พลังงานและเรื่อง zero waste management เราจึงมาร่วมระดมสมองช่วยกันหาคำตอบ เราสังเกตเห็นว่าแต่ละธุรกิจมีการคุยกันมากขึ้น และก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบเปิด ทำให้คนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหาและทำงานร่วมกัน

อีกหนึ่งการสร้างวัฒนธรรมในองค์กรที่สำนักงานเทคโนโลยีได้นำเสนอ เรียกว่า 4C ประกอบด้วย

  1. Clear Goal เป้าหมายต้องชัด
  2. Communication สื่อสารให้ตรงกัน
  3. Collaboration สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม
  4. Commitment การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ทุกอย่างต้องโฟกัสและทุ่มแรงลงไป ต้องมี commitment จึงจะสำเร็จ

โดยเรานำเสนอ 4C นี้เข้าไปอยู่ในกระบวนการของการทำงานเลย

ยกตัวอย่าง DeepTech ที่น่าสนใจในองค์กร

  • Dental Series

หลายคนสงสัยว่าทาง SCG ทำไมอยู่ดีๆ ทำเรื่องนี้ ที่มาที่ไปก็คือ เราเล็งเห็นความสำคัญของ Well Being คนจะอายุยืนขึ้น เรามองว่าอะไรที่ประเทศไทยเรายังไม่มีใครตอบโจทย์ เราจะช่วยแก้ปัญหาได้ไหม เรามองว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถพัฒนาวัสดุทางทันตกรรมที่สามารถยับยั้งการติดเชื้อจากผู้ป่วยมาสู่พนักงานทันตกรรม (antimicrobial) นอกจากตอบโจทย์ตลาดในไทยแล้ว ยังครอบคลุมถึงระดับเอเชีย และทั่วโลกได้ด้วย

ทาง SCG  เองถนัดเรื่องปูน Plaster แต่ไม่มีความรู้เรื่องฟัน ทำอย่างไรให้เกิด Product เร็วที่สุด ถ้ามาเรียนรู้เองก็ต้องใช้เวลานาน เราก็จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ นั่นคือ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เราร่วมกันพัฒนา จนทำให้เกิดการ commercialize ได้ ขั้นตอนถัดไปเราก็ต้องไปขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานยุโรป หรือ CE Mark ซี่งได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก นั่นหมายความว่าเราต้องมีโรงงานผลิต ถ้าจะให้เราตั้งโรงงานเองต้องใช้เวลาอีก 2 ปีเลย ดังนั้นเราต้องค้นหาโรงงานที่มีความสามารถที่จะผลิต ในแง่การขายเราก็หาพันธมิตรอย่างบริษัท DKSH มาช่วย

จะสังเกตเห็นว่านวัตกรรมสำหรับโครงการหนึ่งนั้น อาจไม่ได้เกิดจากรายใดรายหนึ่ง แต่เกิดจากการหาความร่วมมือ ใครถนัดอะไรก็ทำเรื่องนั้น ที่สำคัญต้องสามารถต่อจิ๊กซอตลอดทั้ง Supply chain และการทำโครงการนี้เราต้องมองเป็น Series ของสินค้า นอกจากปูนปลาสเตอร์หล่อแบบฟันแล้ว ยังมีฐานฟันปลอม และปูนอุดฟัน ซึ่งจะทำให้สามารถตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรมได้ครอบคลุมมากขึ้น ดังนั้นเราต้องมี Clear Goal มองภาพใหญ่ให้ออกและชัดเจน โครงการนี้เรายังได้รับรางวัล SCG The Power of Innovation Award และ SET Award ในด้านของผลิตภัณฑ์อีกด้วย

  • Ecobrick Technology

โครงการนี้มีที่มาจากการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เมื่อเผ่าถ่านหินก็จะทำให้เกิดเถ้าลอย (Fly Ash) และเถ้าหนัก (Bottom Ash) ซึ่งโดยทั่วไปก็จะนำไปถมถนน หรือทำเกาะ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อใช้ถ่านหินมากขึ้น ก็จะมีเถ้าเหลือเยอะมากขึ้นนอกจากใช้ถมทำเกาะแล้ว ก็เริ่มเอามาขายต่างประเทศ ตรงนี้เราเห็นว่าถ้าสามารถนำเอาเถ้าขยะเหล่านี้ไปต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เราจึงสร้างนวัตกรรมจากของเหลือทิ้งพวกนี้ ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนากลายเป็นวัสดุก่อสร้างอย่าง อิฐก่อสร้าง อิฐรับแรง อิฐตกแต่ง ซึ่งนอกจากจะขายเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเริ่มมีอีกหลายประเทศที่มีความสนใจ นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้

  • Silo Monitoring

ปกติพวกไซโลใส่ซีเมนต์ผง หรือไซโลใส่ผงพลาสติกเอง จะต้องมีพนักงานกะเช้ามาคอยตรวจว่ามีปริมาณอยู่ในไซโลเท่าไหร่ เดิมทีใช้คนเคาะบ้าง ใช้ลูกดิ่งวัดบ้าง นอกจากไม่ปลอดภัยแล้ว ยังต้องให้คนโทรแจ้งศูนย์ ให้คนมาคอยจด ซึ่งเสียเวลามาก เราจึงมองว่าทำอย่างไรให้การวัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็ว ขึ้น และข้อมูลสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการนำเซนเซอร์และ IoT แพลตฟอร์มมาใช้วัดระดับและแจ้งข้อมูลแบบเรียลไทม์  ถ้ารู้ว่าขาดอะไรเท่าไหร่ ที่ไหน ก็ขนไปส่งให้ถูกจุด ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง รู้ว่าต้องขนไปปริมาณเท่าไหร่ และสามารถวางแผนได้ว่าจะต้องผลิตเท่าไหร่ ซึ่งทำให้สามารถวางแผนได้ทั้ง Supply Chain เลยทีเดียว โครงการนี้เราได้รับ Intel Award สาขา Industrial Implementation ซึ่งนอกจากจะใช้ภายใน SCG แล้ว นวัตกรรมนี้ ยังสามารถเอาไปใช้ต่อยอดกับไซโลอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นไซโลใส่ของแข็ง เช่น อาหารสัตว์ หรือของเหลวก็ได้

คนไทยขาดทักษะอะไร Know-how ประเภทไหน ในการทำ Deep Tech?

นี่คือคำถามยอดฮิต หลายคนมองว่าบริษัทใหญ่ๆถึงจะทำได้ แต่หากดูอย่าง Microsoft หรือ Facebook บริษัทระดับโลกไม่ได้เริ่มจากใหญ่ๆ แต่ประเด็นคือว่าถ้าทำแล้วมันตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และมีผู้ต้องการใช้มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเรื่องของ Dental Series ที่ SCG ทำ เดิมทีมันก็เริ่มต้นจากคนๆเดียว คิดแบบ  Entrepreneur

ประเทศไทยมีคนเก่ง มีความรู้หลากหลาย ในต่างประเทศเช่น NASA , 3M ก็มีคนไทยเป็นนักวิจัยอยู่ แต่พอกลับมาประเทศไทยต้องถามว่าคนเหล่านั้นมีพลังมากพอไหม การที่คนไทยจะทำเรื่องพวกนี้คือต้องสู้ไม่ถอย

ในประเทศไทย องค์กรที่สนับสนุนคนที่ทำตรงนี้อย่างจริงๆจังๆยังมีไม่มาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีเทคโนโลยีดีๆที่เป็นที่ต้องการ สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาได้ คุณไปเสนอในอังกฤษ หรืออเมริกา คุณอาจจะได้เงินแบบง่ายๆ แต่ในไทยมันยังไม่มีคนที่ให้เงินตรงนี้แบบง่ายๆ เหมือนต่างประเทศ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การได้รับเงินทุนในเมืองไทยมันยากกว่า ส่วน Start-up Ecosystem เริ่มมีแล้วแต่ก็ยังน้อยมากๆ ฉะนั้นการที่คุณจะทำ Deep Tech มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว อย่าง SCG ก็ต้องคิดว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่นหลังจากได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้องคิดว่าจะให้ใครผลิต ต้องขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ไหน อย่างไร ใครจะให้ใครช่วยขาย

การที่เราจะทำ product หรือ service ออกมาได้ มันคือการต่อจิ๊กซอว์อย่างสมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วก็ยังจะต้องเจอด่านต่อๆไปอีก จะทำอย่างไรให้ยอดขายมันโตขึ้นอีก

ฝากคำแนะนำถึงรุ่นน้องใหม่ๆ ที่จะเข้ามา

พี่ว่ามีคนอื่นที่เก่งกว่าพี่เยอะแยะ อยู่ที่ว่าเขาได้เข้ามาอยู่ในเวทีนั้นๆหรือเปล่า แล้วสุดท้ายเขาเลือกที่จะทำหรือเปล่า พี่จบกลับมา งานแรกทำแค่ 3 เดือน แล้วก็ต้องเปลี่ยน เวลาเราทำงานพี่มองว่า เราจะไปกับองค์กรได้ไหม และองค์กรจะไปกับเราไหม ถ้าองค์กรไม่ไปกับเรา เราก็ต้องถอย

บริษัทต่อมา พี่ถามเขาว่าอยากให้ทำอะไร ตำแหน่งตอนนั้นคือ New Product Development Manager เขาบอกว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันถึงรับเรามา นี่คือคำตอบจริงๆ ณ วันนั้น สิ่งที่พี่เสนอจะทำให้บริษัทตอนนั้น เมื่อ 27 ปีที่แล้ว มี 3 เรื่อง เรื่องแรก พี่บอกว่าเดี๋ยวไม้มันจะขาดแคลนทั่วโลก ฉะนั้นพี่จะทำไม้พลาสติก (Wood Composit) เรื่องที่สองคือเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นมันเป็นขวดแก้วหมด  น้ำหนักมันเยอะ พี่จะทำเป็นขวดพลาสติก ขวดน้ำปลา ขวดซอส ตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มีเลย แต่ปัจจุบันเป็นพลาสติกเกือบหมดแล้ว  เรื่องที่สามคือ การทำโครงด้านนอกของเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ พี่จะทำเป็นพลาสติกผสม (Polymer Blends) ซึ่งในปัจจุบันทั้งสามเรื่องนี้ ก็ใช้กันทั่วโลกแล้ว หลังจากเสนอโครงการว่าจะทำเรื่องอะไร ก็ต้องเสนอแผนว่าจะใช้เงินเท่าไร ต้องการคนกี่คน  เพราะเราคิดแบบ Entrepreneur แล้วก็ร่างโครงการ บริษัทก็อนุมัติให้คนเข้ามาช่วย

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว มาที่ SCG มีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งเงิน ทั้งคน ก็เริ่มสร้างระบบ Innovation Management System ซึ่งครอบคลุมเรื่องงาน เรื่องคน เรื่องเงิน เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนเรื่องเครือข่ายทางเทคโนโลยีและการหา Technology และ Business Trends นอกจากนี้ ยังต้องเสนอโครงการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับบริษัท ล่าสุด เช่น โครงการสร้าง Open Innovation Center  ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดว่าจะช่วยตอบโจทย์กับ SCG ในอนาคต กว่าจะได้รับอนุมัติก็ยังต้องใช้เวลานานพอควร

พี่ว่าเราต้องสู้ไม่ถอย ต้องทำต่อเนื่องแล้วคนอื่นจะเห็นเอง อย่าหมดกำลังใจ ถ้าคิดว่ามันดีจริง เจ๋งจริง ได้ประโยชน์กับองค์กรหรือประเทศชาติ ต้องสู้ไม่ถอย กัดไม่ปล่อย ในเมืองไทยมีคนเก่งเยอะ พี่ไม่เคยทิ้งเรื่องเทคโนโลยี ต้องตามว่ามันมีอะไรใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา

น้องๆ ควรมุ่งไปทางไหน พัฒนาตัวเองไปทางไหนดี?

จริงๆ ตอนนั้นพี่ไม่รู้ว่า Career Path มันเป็นยังไง แต่พี่ชอบที่จะหาอาวุธมาให้ตัวเองตลอด เมื่อประมาณปี 1995  พี่ขอไปเรียนที่สิงคโปร์เรื่อง Innovation Management throughout Supply Chain หลังจากไปเรียนมา ก็เริ่มนำการวัด Return on R&D Investment มาใช้และเริ่มสอนน้องๆนักวิจัย ทำ Project Feasibility   ดูความน่าจะเป็นไปได้ทั้งด้าน ตลาด เทคโนโลยี และความคุ้มทุน

ถ้าเรายังไม่รู้อะไร เราต้องหาความรู้ให้กับตัวเอง หรือเราอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติม นอกจากนั้นแล้วควรเปิดโอกาสให้ตัวเองเยอะๆ  ในเรื่องนี้ SCG สนับสนุนให้พนักงานได้มีการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่  พี่ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา น้อยคนมากที่จะรู้ว่าชอบอะไร อยากเป็นอะไร สิ่งที่สำคัญคือ ต้อง Explore เยอะๆ ดูว่าเราชอบอะไร ชอบจริงๆไหม ถ้าบริษัทเขาให้โอกาสเรา เช่น ถ้าเราทำงานนี้มา 3 ปีแล้วอยากลองเปลี่ยน ก็คุยกับเขาว่าอยากลองไปทำงานอื่นได้ไหม ไปตาม step ถ้าเราอยู่ในหน่วยงานที่เปลี่ยนตลอดเวลาก็ถือว่าโชคดี เพราะได้ลองของใหม่ บางคนอาจจะเปลี่ยนแล้วชอบก็ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริษัทเล็กๆ ที่ทำอย่างเดียว ต้องถามว่าคุณกล้าที่จะไปคุย เพื่อขอโอกาสในการทำตำแหน่งอื่นๆไหม  ที่สำคัญคือต้องสู้ไม่ถอย ถ้าคิดว่ามันเป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์กับทั้งองค์กรและประเทศ ก็เสนอไป หูตาต้องกว้างไกล เพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งเร็วมากขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องศึกษาหาความรู้ และเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...