แชร์ประสบการณ์ตรงคนไทยคนแรกใน Credit Karma บริษัท Fintech ระดับ Unicorn ที่มีผู้ใช้กว่า 50 ล้านคน | Techsauce

แชร์ประสบการณ์ตรงคนไทยคนแรกใน Credit Karma บริษัท Fintech ระดับ Unicorn ที่มีผู้ใช้กว่า 50 ล้านคน

เป็นอีกครั้งที่ techsauce มีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทยที่ทำงานในซิลิคอนวัลลีย์ และครั้งนี้พิเศษ เพราะเราจะพูดคุยกับคนไทยไม่กี่คนที่ได้ทำงานสายธุรกิจที่บริษัท Startup โดยที่ไม่ได้เรียนหรือมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมแต่อย่างใด มาโนช หรือ ไมค์มีประสบการณ์ตรงในบริษัท Fintech ชื่อดังระดับโลกอย่าง Credit Karma ธุรกิจด้าน Credit Scoring ที่เป็น Unicorn ไปเสียแล้ว ด้วยมูลค่าบริษัท 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท Credit Karma เป็นหนึ่งใน Startup ที่มาปฎิวัติวงการธุรกิจสายการเงิน จากเดิมการเช็ค Credit ของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับ Credit Karma แล้ว เขาเปิดให้ผู้ใช้มีสิทธิเข้าถึงของมูล Credit ของตัวเองได้ฟรี ปัจจุบัน Credit Karma มีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคน

ตำแหน่งที่ไมค์ทำที่Credit Karma คือ Senior Revenue Analyst เขาจะมาแชร์ประสบการณ์ในการทำงานกับ Fintech แห่งนี้เป็นครั้งแรกกับ Techsauce

Manoje

เส้นทางจากไทย สู่ซานฟรานฯ

สวัสดีครับ ผมเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบก็ได้ทำงานกับบริษัท consult แห่งหนึ่ง ทำมาได้ 2 - 3 ปี รู้สึกว่าอยากได้ประสบการณ์ใหม่ ช่วงที่ทำบริษัท consult ก็ได้ทำ Facebook เพจ กับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ผมคิดว่าอยากจะเปลี่ยนจากสายงาน consult มาทำพวกเทคโนโลยีบ้าง ผมอยากจะเปิดโลกของตัวเอง ผมได้อ่านเรื่องราวของพี่กระทิง จึงได้แรงบันดาลใจอยากไปทำงานที่ซิลิคอนวัลลีย์ ตัวผมนั้นไม่ได้เรียนมาทางด้านการเขียนโปรแกรม หนทางที่ดีที่สุดก็คือเข้าเรียนที่โรงเรียนบริหารธุรกิจชื่อดังในอเมริกา ผมเลยตั้งใจสมัคร ในที่สุดได้มาเรียน MBA ที่ Kellogg School of Management

ในระหว่างที่เรียนอยู่ ผมได้ไปฟังบริษัทอย่าง Apple หรือ Amazon พูดถึงงานของเขา ก็มีความรู้สึกชอบมากขึ้น เป็นบริษัทที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายให้กับโลกนี้ ผมเลยเลือกลงวิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการเป็นส่วนมาก

ในตอนนั้นหางานยากพอสมควร เพราะเราต้องการหางานในอุตสาหกรรม สายงาน ประเทศ และภาษาที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน เราต้องเปลี่ยนตัวเองเยอะมาก

คือมันค่อนข้างยากมากนะครับ ไม่ค่อยมีใครทำกัน แต่ด้วยผมเรียน MBA ที่อเมริกาเป็นเวลา 2 ปี ผมเลยเชื่อว่าเป็นไปได้ มี role model คือพี่กระทิง ที่ทำสำเร็จมาแล้ว ผมจึงทุ่มเทใช้เวลาเกินครึ่งไปกับการพัฒนาด้านภาษาและทักษะการสัมภาษณ์งาน ด้วยตำแหน่งงานด้านธุรกิจที่เราสนใจสมัคร  เราต้องสามารถสื่อสารและทำให้คนเชื่อถือเราเวลาที่เราพูด ภาษาอังกฤษถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ไม่ใช่แค่พูดสื่อสารได้แต่ต้องสื่อสารได้ชัดเจนมีประสิทธิภาพ เราจึงพยายามใช้เวลาอยู่กับเพื่อนอเมริกัน เรียนรู้วัฒนธรรมและซึมซับสำเนียงวิธีการออกเสียงและการพูดของพวกเขา จากวันแรกที่เวลาเราพูดกับใคร เพื่อนก็จะฟังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะสำเนียงยังไทยมาก ฮ่าฮ่า ต้องให้พูดใหม่ เป็นช่วงที่อึดอัดแต่ก็ต้องพยายาม เพราะเรามีความฝันแล้วว่าเราจะหางานที่นี่ให้ได้

การผลักดันตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่เพื่อนอเมริกันก็ช่วยได้มาก เพื่อนเริ่มเข้าใจเวลาคุยกับเรามากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ เราจึงตัดสินใจจ้างติวเตอร์ที่เขามีประสบการณ์ช่วยปรับสำเนียงของนักเรียนต่างชาติ เราเจอเขาทุกวันวันละชั่วโมง เขาจะคอยฟังเราพูดแล้วคอยบอกว่าคำไหนเสียงไหนที่เราออกเสียงไม่ถูก มันเป็นการฝึกที่ทรมานมาก เพราะเราต้องเปลี่ยนวิธีที่เราพูดเราออกเสียงมากว่ายี่สิบปี ไม่ใช่แค่ฝึกเวลาเจอติวเตอร์ เราต้องฝึกตลอดเวลา

สิ่งที่ฝึกไปลงทุนไปก็เริ่มได้ผล ตอนปิดเทอมฤดูร้อนปีหนึ่ง ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัท Trip Advisor ซึ่งเป็นบริษัท online travel ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  ผมทำงานอยู่ในฝ่ายของ SEO (Search Engine Optimization) เพราะว่าเรามีประสบการณ์อยู่ใน Online Marketing ที่เกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์ แต่เราก็รู้ว่างาน intern ไม่ได้มีตำแหน่งที่ทำงานประจำ พอผมกลับมาที่มหาวิทยาลัยก็เลยเริ่มหางานประจำใหม่ ซึ่งการหางานประจำยากมาก ผมเลยต้องพัฒนาทั้ง resume และทักษะการสัมภาษณ์งานและภาษาให้ดีขึ้นอีก ผมใช้เวลาสองวันต่ออาทิตย์ไปฝึกงานกับบริษัท startup ระหว่างเรียนไปด้วย แน่นอนว่าผมอยากมาทำงานในสายของเทคโนโลยี ผมเลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ซานฟรานฯ

ภายในเวลา 2 ปี ผมสมัครงานไปกว่า 3000 งาน เพราะบริษัทเทคโนโลยีมีเยอะมากและเราไม่มีประสบการณ์ตรง ผลที่ได้ก็คือ โดนปฏิเสธไปกว่า 3000 ครั้ง สิ่งล้ำค่าสิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการทำตรงนี้คือ ความสามารถในการรับมือและจัดการกับความล้มเหลว

สุดท้ายแล้วผมก็ได้งานที่ Credit Karma ซึ่งเป็นบริษัท Fintech startup ด้านการเงินขนาดใหญ่ครับ ผมพูดได้เลยว่านี่คือสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตที่ทำมา ไม่เคยต้องเหนื่อย ต้องทุ่มเท ต้องเปลี่ยนตัวเอง ต้องพัฒนาตัวเองอย่างเร่งด่วนอย่างนี้มาก่อน แต่รางวัลที่ได้รับมาก็คุ้มค่ายิ่ง ได้มาทำงานที่เมืองในฝัน และที่สำคัญคือมันทำให้ผมเรียนรู้และพัฒนาตัวเองขึ้นเยอะมาก

การทดสอบช่วงสัมภาษณ์งานมีอะไรบ้าง

จาก 3000 กว่างานที่สมัครไป ผมได้สัมภาษณ์จริงๆ ก็เกือบ 100 บริษัทครับ การสัมภาษณ์งานที่นี้อาจจะต่างจากที่ไทย เพราะที่นี้เขาจะดู passion เป็นหลัก เราต้องสามารถแสดง passion ของเราให้เขาเห็น ส่วนมากแล้วคนไทยจะเป็นคนที่พูดค่อยๆ และไม่ค่อยแสดงให้เห็นถึงอารมณ์เท่าฝรั่ง ผมก็ต้องฝึกพูดให้เสียงดังขึ้น พูดให้น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งก็เปลี่ยนไปเยอะ เพราะเวลาทำงานที่เก่า ผมได้ถูกสอนว่าถ้าเวลาทำงานกับผู้ใหญ่ เวลาพูดจะต้องนิ่งๆ ไว้ถึงจะดูน่าเชื่อถือ

อย่างที่สองเขาจะถามคำถามที่เกี่ยวกับพฤติกรรม โดยจะให้โจทย์เป็นสถานการณ์แต่ละอย่าง ซึ่งวัดจากความสามารถในการสื่อสาร และทำงานร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี เราแก้ปัญหาเก่งไหม ในบางบริษัทก็จะมีการวัดระดับความสามารถด้านความคิดและ Technical ด้วย  

อีกแบบหนึ่งก็คือเขาจะส่งงานมาให้เราทำเลย เราก็ต้องทำและส่งกลับไปให้เขา ในส่วนของตำแหน่งที่ผมสมัครคือ Product Management ซึ่งก็คล้ายๆ กับเป็น CEO ย่อยๆ ของทีม เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยี เพราะต้องคอยกำหนดว่าเราจะสร้างผลิตภัณฑ์อะไร เราจะแก้ปัญหาลูกค้าอย่างไร ก็เหมือนเป็นคนคอยนำทีมที่ต้องประสานงานกับวิศวกรและฝ่ายธุรกิจ

นอกจาก Product Management แล้วผมได้สมัครไปในส่วนของ Marketing และ Analytic ไปด้วย เนื่องจากว่าผมไม่ได้มีประสบกาณ์โดยตรง จึงต้องสมัครทุกตำแหน่งที่ประสบการณ์เราพอจะมีอยู่บ้าง ถ้าเราสมัครตำแหน่ง Product Management เขาจะถามว่าคุณชอบอะไรในผลิตภัณฑ์ของบริษัทเขาบ้าง มีไอเดียอะไรที่อยากจะทำ และจะวัดผลได้อย่างไร ถ้าเป็นตำแหน่งของ Marketing เขาจะให้โจทย์มาว่าเราจะเจาะกลุ่มลูกค้าอย่างไร หรือว่าใครควรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และในตำแหน่งของ Analytic เขาจะถามคุณเกี่ยวกับความสามารถในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ บริษัทส่วนใหญ่ที่นี่จะเผื่อเวลาก่อนจบสัมภาษณ์ไว้ประมา 5 - 10 นาที เพื่อให้ผู้เข้าสัมภาษณ์ได้ถามคำถามต่างๆ โดยเขาจะดูว่าเราศึกษาเกี่ยวกับบริษัทเขามามากแค่ไหน รวมไปถึงความสามารถในการตั้งคำถามอีกด้วย

ทำอะไรใน Credit Karma บ้าง

ผมทำงานในทีม Revenue Analytics บทบาทก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้ revenue สำหรับภาคธุรกิจที่ผมดูแลอยู่โตขึ้นเรื่อยๆ เวลาฝ่ายอื่นจะทำอะไรที่มีผลกระทบกับ Revenue เขาต้องมาคุยกับเรา เพราะเราคือทีมที่มี data

ผมต้องประสานงานกับฝ่าย Business Development ซึ่งเป็นฝ่ายที่สำคัญมาก ด้วยรูปแบบธุรกิจของ Credit Karma ที่จ่ายเงินให้กับเครดิตบูโรเพื่อดึงข้อมูล credit score และ credit report มาให้กับผู้ใช้ได้เข้าถึงฟรี และแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับ credit report ของผู้ใช้แต่ละคน เราจึงเป็นเหมือนช่องทางในการหาลูกค้าของสถาบันการเงินและบริษัท fin tech และเป็นเหมือน marketplace และ recommendation site สำหรับผู้ใช้

ทีม Revenue Analytics จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลว่า financial product แต่ละตัวนั้น perform อย่างไรบน Credit Karma และวางแผนร่วมกับทีม Business Development เพื่อไปต่อรองกับสถาบันการเงินและบริษัท fin tech ว่าเขาควรจะจ่ายให้ Credit Karma เท่าไร นอกจากนี้เราก็จะคอยวิเคราะห์ประเมินผลกระทบที่เกิดกับพาร์ตเนอร์แต่ละราย เวลาทางทีม product หรือ data science พัฒนาเวบไซต์หรือโมเดล

อีกทีมหนึ่งที่ผมต้องประสานงานด้วยก็คือทีม product เวลาที่เขาจะออกผลิตภัณฑ์ เราต้องคอยวิเคราะห์ข้อมูลว่าควรจะไปในทิศทางไหน เขาควรจะออกแบบ AB test อย่างไรเพื่อสามารถวัดผลและเรียนรู้ได้ดีที่สุดแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดแล้ว เราก็ต้องคอยติดตามวิเคราะห์ผลลัพธ์ของ product ที่มีต่อ revenue

ทีมสุดท้ายที่ผมทำงานใกล้ชิดคือทีม Data Science ทีมนี้จะคอยสร้าง personalized predictive model วิเคราะห์ user behavior และ credit report ของผู้ใช้แต่ละคนว่าควรจะโชว์ financial product ตัวไหนที่โชว์แล้วผู้ใช้จะเลือกสมัครและมีโอกาสได้รับอนุมัติสูงสุด ทางทีม Revenue Analytics จะวางแผนการพัฒนา model กับทีม Data Science ออกแบบ AB test และวิเคราะห์ผลลัพธ์

เครื่องมือที่ใช้ในงานประจำวันก็คือ SQL ในการดึงข้อมูล Excel ในการวิเคราะห์ และ Email ในการสื่อสาร

Screen Shot 2559-06-26 at 9.53.56 AM

สถานการณ์ Credit Scoring ที่นั่น

ต้องอธิบายก่อนว่าที่อเมริกา credit scoring เป็นเสมือน identity ที่สำคัญมาก เวลาเราจะสมัครงาน เขาก็จะดู credit score ของเราเพื่อดูว่าเราชำระเงินที่กู้มาตรงเวลาไหม ทำให้เห็นว่าเรามีความน่าเชื่อถือด้านการเงิน แม้กระทั่งเวลาจะกู้เงินซื้อบ้านที่นี้ เขาก็จะดูสิ่งนี้เป็นหลักเหมือนกัน เพราะจะเป็นตัวชี้วัดหลายๆ อย่าง ซึ่งธนาคารทุกแห่งก็จะมีการดึงเอา credit score มาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจต่างๆ เขาให้ความสำคัญว่าคุณมีหนี้เท่าไหร่ และคุณทำอย่างไรกับมัน

การมีระบบ credit score ที่เข้มแข็งทำให้เวลาไปขอสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัท fin tech กล้าที่จะอนุมัติโดยที่ไม่ได้ขอคนหรือสินทรัพย์มาค้ำประกัน เพราะถ้าลูกค้าผิดนัดชำระ สิ่งเหล่านั้นก็จะปรากฎบน credit report ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

ก่อนที่จะมี Credit Karma คนทั่วไปจะไม่รู้ว่า credit score ของตัวเองเป็นอย่างไร จนกระทั่งไปสมัครแล้วถึงจะรู้ว่า credit score เรามีเท่านี้ หรือถ้าอยากรู้ก็ต้องจ่ายเงินให้ทางเครดิตบูโร

ทาง founder ของ Credit Karma ก็เห็นว่ามันควรจะเป็นอะไรที่เราสามารถ disrupt มันได้ ก็เลยสร้าง Credit Karma ขึ้นมาเพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ สร้างความโปรงใสในข้อมูลและกระบวนการสำหรับลูกค้า ในตอนนี้เรามีผู้ใช้งาน Credit Karma กว่า 50 ล้านคน ซึ่งบริษัทของเราเป็นบริษัทที่สร้างความแตกต่างให้กับ personal finance อย่างแท้จริงครับ

จากนั้น Credit Karma ก็จะช่วยแนะนำ financial product ที่เหมาะสมกับ credit report ของผู้ใช้ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆอย่างเข้าใจง่ายและรู้ถึงโอกาสที่จะได้รับอนุมัติหากตัดสินใจสมัคร เราช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจว่า financial product แต่ละอย่างต่างกันอย่างไรและตัดสินใจเลือกสมัครได้อย่างเหมาะสม

Screen Shot 2559-06-26 at 9.54.06 AM

 

วัฒนธรรมการทำงานเป็นอย่างไร

ผมชอบ culture ที่ Credit Karma มาก ทาง CEO และผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง  วัฒธรรมของ Credit Karma ก็คือ No Jerk ที่นี่จะรับแต่คนที่พร้อมจะทำงานเป็นทีม ไม่มีการเมือง เราให้ความสำคัญกับการรับคนเข้าทำงานมาก อย่างที่สองเราเป็น mission driven company CEO จะมี town hall meeting กับพนักงานทุกเดือน เขาจะย้ำเสมอเกี่ยวกับ mission ที่ต้องการช่วยให้ผู้ใช้มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ผมรู้สึกว่าทุกๆ คนในองค์กรสามารถเข้าถึงในจุดนี้ได้ เพื่อนร่วมงานของผมทุกคนเชื่อใน mission บริษัท อีกอย่างก็คือเราเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในองค์กรเป็นคนที่เก่ง เราอยากให้ทุกคน take action บริษัทจะไม่มีระบบ hierarchy ทุกๆ คนสามารถใกล้ชิดกับ CEO และพูดคุยถึงอะไรหลายๆ อย่าง ทุกๆ benefit ของบริษัทถูกออกแบบให้เข้ากับวัฒธรรมอีกด้วย เรามี social event พุธเว้นพุธ และ party ทุกๆ ไตรมาส อยู่มา 8 เดือนผมไม่แปลกใจเลยที่ Credit Karma ได้รับรางวัล Best place to work จาก Glassdoor

มองย้อนกลับมาที่บ้านเรา ปัจจุบันเรายังไม่มี Credit Scoring กลาง คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง

ที่ประเทศไทยที่ผมเข้าใจคือเรามีเครดิตบูโรที่คอยเก็บประวัติการใช้บัตรเครดิต การจ่ายเงินกู้ของแต่ละคน ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะเอาข้อมูลตรงนี้ไป underwrite และดูเงินเดือนและเงินฝาก แต่ละธนาคารจะไม่เหมือนกัน

ถ้าเรามี credit score กลาง คนไทยก็จะรู้ได้ว่าประวัติการเงินเราโดยรวมแล้วเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายเวลาจะไปกู้เงินหรือสมัครบัตรเครดิต ก็พอประเมินโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติได้บ้าง ถ้าเราทั้งประชาชน ภาคธนาคาร ภาครัฐ และเครดิตบูโรให้ความสำคัญจริงจังกับ credit score ตัว credit score เองก็จะทำหน้าที่เหมือนบทลงโทษสำหรับคนที่ไม่ชำระหนี้ ทำให้ต้นทุนของการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น คนก็จะเกรงกลัวการผิดนัดชำระหนี้ ถ้าเราไปถึงวันนั้นได้ การสมัครผลิตภัณฑ์การเงินในอนาคตคงง่ายขึ้นสะดวกขึ้น ไม่ต้องขอเรียกดูเอกสาร ไม่ต้องขอคนหรือสินทรัพย์มาค้ำประกัน

ทิศทางของ fintech อะไรกำลังมาแรงที่นั่น

กระแสของ fintech ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ในอเมริกาก็มีหลายอัน

  • Alternative Lending ที่ใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้สามารถปล่อยกู้ได้ง่ายกว่าสะดวกกว่าเร็วกว่าและถูกกว่าธนาคาร ที่สำคัญคือช่วยให้คนที่ไม่สามารถขอกู้เงินผ่านธนาคารได้มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีทั้งด้าน Personal Loans, SME Loans, Auto Loans, Mortgage Loans สตาร์ตอัพหลายที่ใช้วิธีการวิเคราะห์ที่ไม่ได้ดู credit score ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารพิจารณา อย่างเช่น Sofi
  • Personal Finance ที่ช่วยให้คนจัดการเงินและหนี้สินของตัวเองได้ดีขึ้นมีวินัยมากขึ้นสตาร์ตอัพที่น่าสนใจก็เช่น Digit ที่คอยจะบริหารเงินเก็บของเราไปลงทุน ซึ่งเขาก็จะคอยรายงานให้ฟังอยู่เรื่อยๆ ว่าเรามีเงินอยู่เท่าไหรแล้ว โดยจะดึงเอาเงินจากบัญชีเราทุกวัน วันละนิดหน่อย เพื่อเอาไปเก็บและลงทุน ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราสามารถจัดการกับเงินที่มีอยู่ รวมไปถึงหนี้ต่างๆ ได้
  • Insurance มีการใช้เทคโนโลยีมาทำให้ insurance ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย ทำให้ขั้นตอนการสมัครง่ายขึ้น มีสตาร์ตอัพที่สร้าง hardware และใช้ Internet of Things เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้ เช่น Metromiles ที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับรถของเรา เพื่อจะได้นำเสนอ insurance ที่มี benefits และ fees ที่เหมาะสมกับการใช้งานของเรา คุ้มค่ากว่าการซื้อ insurance แบบดั้งเดิม

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากมาทำงานที่อเมริกา

ถ้าคุณเขียนโค้ดเป็น ในการหางานที่นี่ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน เพราะคนไทยเขียนโค้ดเก่งอยู่แล้ว ในทุกๆ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจะมีคนไทยอย่างน้อย 1 คนที่ทำงานเป็น Software Engineer อยู่ ตำแหน่งงานด้านนี้ที่นี่ถือว่าคลาดแคลนอยู่ อุปสรรคสำคัญคือ เขาไม่รู้จักบริษัทที่ไทยและไม่รู้จักมหาวิทยาลัยในไทยมากนัก เส้นทางที่คนไทยที่เป็น Software Engineer ที่ซิลิคอนวัลลีย์ทำคือ มาเรียนต่อปริญญาโทเป็นเวลาหนึ่งหรือสองปี การที่มาเรียนต่อก็มีข้อดีในเรื่องของวีซ่าอีกด้วย เพราะถ้าต้องรอวีซ่าทำงานก็คงจะลำบาก

สำหรับคนที่เขียนโค้ดไม่เป็นแต่มีความฝันอยากมาทำงานที่ซิลิคอนวัลลีย์ ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ครับ ผมก็แนะนำเหมือนกันคือให้มาเรียนต่อ ป.โท ในมหาวิทยาลัยดังๆ ติด 1 ใน 50 จะเป็นด้านธุรกิจ ด้านการตลาด หรือด้านการออกแบบ ก่อนมาเรียนและระหว่างเรียนก็ฝึกพัฒนาภาษาอังกฤษ ถ้ามีโอกาสก็ลองสมัครงานหรือสมัครฝึกงานที่บริษัทสตาร์ตอัพที่ไทยก่อนมา ก็จะช่วยได้มากบริษัทเทคโนโลยีที่นี้ค่อนข้างเปิดกว้าง คุณไม่จำเป็นต้องเคยทำงานในบริษัทเทคโนโลยีมาก่อน ขอแค่มีความฝัน ความตั้งใจจริง และมีpassion ด้านเทคโนโลยี คุณก็มีโอกาสได้งาน

----------------------------------------------------------------------------------------

มาโนช จะมาแชร์เรื่องราวกับเราเชิงลึกมากขึ้นที่งาน Techsauce Summit 2016 ในวันที่ 23 กรกฏาคม 2559 ที่ Fintech Stage กับหัวข้อ "How Fintech can help improve people's financial lives" สามารถลงทะะเบียนเพื่อจับจองที่นั่งกับงาน International Tech Conference ครั้งใหญ่สุดของไทยได้แล้วที่นี่

#updatelogo_banner728

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...