กลั่นความคิด ‘ExpresSo’ ทีมสร้างนวัตกรรมจากคนภายใน ออกแบบธุรกิจใหม่ให้ ปตท. | Techsauce

กลั่นความคิด ‘ExpresSo’ ทีมสร้างนวัตกรรมจากคนภายใน ออกแบบธุรกิจใหม่ให้ ปตท.

เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ปตท. ปั้นทีมสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Express Solutions’ หรือ ‘ExpresSo’ หน่วยงานที่มี ‘ต้อง - กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร’ เป็น Team Lead (หัวหน้าทีม) ซึ่งเขาเปิดเผยถึงชื่อทีมว่า สมาชิกทีมช่วยกันตั้งขึ้นมา เพราะต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Express) และคำว่า ExpresSo ก็คล้ายกับกาแฟ Espresso ซึ่งสอดคล้องกับอเมซอน คาเฟ่ หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของ ปตท. บ่งบอกถึงความเข้มข้น ตื่นตัวในการทำงานอยู่เสมอ

ฟอร์มทีมใหม่ จากพนักงานรุ่นใหม่

ด้วยเป้าหมายของการก่อตั้งทีม ExpresSo คือ หาธุรกิจใหม่ให้ ปตท. ซึ่งเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง หนักหนาเอาการ การก่อตั้งทีมพิเศษนี้จึงเลือกพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ 10 คน จากหลากหลายหน่วยงานในบริษัท ให้มาร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยกัน ซึ่งครึ่งหนึ่งของทีมเป็นคนที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ อีกครึ่งหนึ่งมีความสามารถด้านบริหารธุรกิจ แล้วใช้หลักการของ Design Thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) กับ Lean Startup (การสร้างสตาร์ทอัพโดยให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้ใช้จะได้รับ และมุ่งลดขั้นตอนที่จะทำให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์) มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อทดลองแนวคิดในการสร้างธุรกิจใหม่

ในฐานะหัวหน้าทีม กวีวุฒิ ทำงานด้านกลยุทธ์มากว่า 10 ปี เป็นนักเรียนทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีโอกาสไปเรียนเรื่อง Design Thinking ที่ Stanford d.School สหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันสอนเรื่อง Design Thinking ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกวีวุฒิเล่าย้อนถึงตอนเรียนให้ฟังว่า

“ที่น่าสนใจคือคนที่ไปเรียนที่ d.school ส่วนมากไม่ใช่สตาร์ทอัพ แต่เป็นองค์กรใหญ่ ผมก็เรียนอยู่ปีหนึ่งเต็มๆ ในระหว่างที่เรียน MBA ควบคู่กันไป ประเด็นคือเราทำเรื่องนี้ให้กับบริษัทหลายบริษัทมาตั้งแต่ตอนอยู่ที่โน่น ตอนที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ยังไม่มีใครรู้จัก แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีคนพูดคุยเรื่อง Design Thinking กันมากขึ้น” กวีวุฒิกล่าว

ในด้านการทำงาน สมาชิกทีม ExpresSo จะมี Project Lead ที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ แยกกันไป ซึ่งจะเป็นการทดลองการทำงานที่ ปตท. สร้างขึ้นมาจากคนในองค์กร (Internal) โดย

  • ใช้วิธีการบริหารทีมแบบ Autonomy คือ การให้ทีมคิดและทำอย่างมีอิสระ แล้วดูที่ผลงาน
  • มุ่งให้สมาชิกทีม คิดให้เร็ว  มีการตัดสินใจที่เร็ว ลงมือทำให้เร็ว เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรเป็น Failure อะไรเป็น Success ให้เร็วที่สุด เพื่อสร้าง Learning Curve ให้องค์กร
  • ให้ทุกคนร่วมทีมกันแบบ Cross Function แสดงความเห็นกันได้อย่างเต็มที่

ลักษณะที่เปิดกว้างข้างต้นนี้ ปตท. เปิดโอกาสให้ทีมงานได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากธุรกิจปัจจุบัน โดยในเรื่องของสร้างนวัตกรรมนั้น จะคาดการณ์ถึงผลที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนกับการทำ M&A ผ่านทีม Business Development ทั่วไปที่บริษัทใหญ่ๆ คุ้นเคย

“Business Development Team คือการหาธุรกิจใหม่ที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิม ก็จะเป็นการลงเงินแบบ M&A วิธีการทำงานคือดูตัวเลขทางการเงินซึ่ง Assumption จะค่อนข้างเคลียร์ เราสามารถประเมินได้ผ่านประสบการณ์ของคนทำงาน แต่ถ้าเราพูดถึง Innovation ที่เป็นของใหม่ Assumption ต่างๆ จะไม่มีอะไรชัดเจน เพราะฉะนั้นเราต้องนำเรื่อง Lean/Agile เข้ามาจับ Design Thinking ก็เป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งเน้น Validate กับ User ให้เร็วก่อน โดยเราใช้ Design Process ตั้งแต่วันแรก เพราะฉะนั้น จึงเหมือนการทำสตาร์ทอัพโปรเจกต์ภายในองค์กรตั้งแต่วันแรก

อธิบายการสร้าง Innovation ตามสไตล์ ExpresSo

ภาพจาก dius.com.au

“ของที่จะเกิดเป็น Innovation ได้ต้องเกิดจาก 3 สิ่งตัดกัน Desirability คนอยากได้, Feasibility ทำได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน และ Viability ทำเงินได้ ความยากของการสร้าง Innovation คือทำ 3 อย่างนี้พร้อมๆ กัน ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจเดิมจะโฟกัสที่ทำเงินหรือ Viability และใช้ข้อมูลตัวเลขทางการเงินมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์กันไป แต่ถ้าเป็นของใหม่ ต้องมี 2 ตัวตัดกันก่อนคือ Desirability และ Feasibility ดังนั้น การ Proof of Concept คือการทดสอบสองแง่มุมนี้ซึ่งไม่ได้ใช้เงินเยอะเพราะนำเรื่อง Lean มาจับ นี่คือกระบวนการที่เราใช้อยู่”

โดย ExpresSo แบ่งคนทำงานออกเป็นสองส่วน ที่ต้องทำงานสอดประสานซึ่งกันและกัน

“เรามี Venture Builder (VB) และ Venture Capital (VC) ทำงานร่วมกัน โดย VB คือคนที่ทำโครงการใหม่ๆ หาโอกาสในการทำธุรกิจ โดยเริ่มจากหาปัญหาที่ใหญ่ VC คือคนที่ไปเสาะหาเทคโนโลยีมาเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ผ่านการลงทุนและเครือข่าย เป็นสองอย่างที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกลชิด โดยเราพยายามจะทำ Proof of Concept ให้ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว”

ส่วนการวัดผล Innovation นั้น ในช่วงแรกพิสูจน์กันที่ Progress ในด้านแอ็คชัน

“คุณมีจำนวน Proof of Concept เยอะแค่ไหน เพราะถ้าคุณทำ Double Rate of Failure คุณก็ Double Rate of Success” กวีวุฒิกล่าว

แผนรองรับด้านพลังงานแห่งอนาคตของ ปตท. และความเห็นเกี่ยวกับ Energy Tech

สิ่งหนึ่งที่เห็นกันทั่วโลกคือ หลายองค์กรธุรกิจหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตหรือประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้ากับสิ่งต่างๆ มากกว่าใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปอย่างน้ำมัน ซึ่งพลังงานที่จะตอบโจทย์ชีวิตมนุษย์ได้นั้น กวีวุฒิบอกว่า ต้องทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น ต้องมีราคาเหมาะสม ใช้งานได้อย่างทั่วถึง เป็นพลังงานสะอาด และมีให้ใช้ตอนที่ผู้คนต้องการ ซึ่งในอนาคต ทุกบ้านอาจจะผลิตพลังงานไฟฟ้าเองได้ อาจจะขายไฟให้กันได้ มี Smart Grid, Smart City อย่างแท้จริง เกิดเป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการด้วย Data ฯลฯ

ภาพโดย Viktor Kiryanov on Unsplash

โลกเคลื่อนไปเร็วเกินกว่าองค์กรหนึ่งๆ จะทำได้เองในทุกเทคโนโลยี ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงาน ExpresSo ก็เป็นหัวหอกในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital ของ ปตท. มูลค่า 1.6 พันล้านบาท โดยมุ่งเน้นลงทุนในกลุ่มพลังงาน ดิจิทัล และสาย Robotics ร่วมลงทุนกับกองทุนด้านเทคโนโลยีพลังงาน โดยมุ่งค้นหานวัตกรรมรูปแบบใหม่ในการต่อยอดธุรกิจ และปัจจุบันก็ได้เข้าไปร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ที่มีชื่อว่า Energy Impact Partners (EIP) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินการโดยผู้บริหารเก่าของบริษัท GE โดยเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ ปตท. สามารถจะเข้าถึงเทคโนโลยีทางด้านพลังงานระดับโลกได้ และหลังจากนี้ ปตท. ก็จะพิจารณาเรื่อง Direct Investment มากขึ้น ซึ่งไม่ได้พิจารณาแต่ฝั่งตะวันตกเท่านั้น แต่รวมถึงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ประโยชน์จากการลงเงินในกองทุน VC

  • Deal Flow - จะทำให้ ปตท. ได้เห็นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหา ซึ่งกองทุนที่ดีจะนำเงินไปลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ดี สตาร์ทอัพที่ดีก็จะขอเงินจากกองทุนที่ดี เป็นแม่เหล็กดึงดูดระหว่างกัน
  • VC Capability -  เรื่องการบริหารจัดการกองทุนในรูปแบบ VC เป็นเรื่องใหม่สำหรับ ปตท. โดยบริษัทต้องการจะเรียนรู้จากมืออาชีพที่มีประสบการณ์ ซึ่งการลงทุนในกองทุนจะทำให้ทีมงานมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับมืออาชีพ เป็นเหมือนการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการกองทุนของทีมเองด้วย
  • Financial Return แม้จะไม่ใช่จุดประสงค์หลักในการลงทุน แต่ถ้าบริษัทเลือกกองทุนที่ลงเงินในสิ่งที่ดี เทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าได้จริงๆ ผลตอบแทนการลงทุนก็ควรมีอย่างสมเหตุสมผลด้วย

สำหรับประเทศไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ExpresSo ยังได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยสองราย คือ Omise และ Hiveground ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจในด้าน AI และ Robotics โดยมีการทำ Proof of Concept ร่วมกันในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว และทีมพิเศษที่เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่นี้ก็เตรียมสร้างแพลตฟอร์มของ ปตท. ให้พร้อมที่จะทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพอย่างจริงจังอีกด้วย

และเมื่อถามถึง Energy Tech, Energy Startup ทั้งในระดับโลกและในไทย กวีวุฒิบอกว่า

“สตาร์ทอัพด้านพลังงานเป็นเรื่องท้าทายมากครับ ในเมืองนอกมีน้อยมากที่ประสบความสำเร็จ เพราะไทม์ไลน์ของการลงทุนทำสิ่งนี้ยาวมาก VC Fund ที่เกี่ยวกับ Energy หรือที่เรียกว่า CleanTech ซึ่งทำเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ผลประกอบการก็จะไม่ได้สวยหรูนัก ที่เห็นจะมีดีก็อาจจะมีแค่ที่ไปลงกับ Tesla สตาร์ทอัพในเมืองไทยที่จะเริ่มดูในด้านนี้ เราก็อยากให้เกิดขึ้นเช่นกัน แต่คงต้องทำงานใกล้ชิดกับนักลงทุนอย่าง ปตท. ที่มีประสบการณ์ เพราะเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็แลกมาด้วยตลาดที่ใหญ่มากเช่นกัน”

เรื่องของ Innovation ในองค์กรใหญ่ เริ่มอย่างไร

“ผมว่าเรายังห่างไกลคำว่าสำเร็จนะครับ แต่มีคอนเซ็ปต์นึงที่เราใช้ตลอดในการทำงานตรงนี้คือ Think Big, Start Small  มองอะไรใหญ่ได้ มองไปให้ไกล มีจินตนาการ แต่เราจะคิด จะพูดคุย ประชุมกันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำด้วย ไม่ต้องทำใหญ่ ทำเล็กๆ ทดลองเล็กๆ แต่ทำอย่างรวดเร็ว ผิดเล็กๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อความสำเร็จที่ใหญ่ในภายหลัง

ซึ่งหลายครั้ง องค์กรใหญ่หาสูตรสำเร็จโดยหาคนนอก หาที่ปรึกษาเข้ามาช่วยทำอะไรใหญ่ๆ เราก็จะพบว่ามันไม่ค่อยได้ผล แถมเสียเงินมาก มันก็จะวนอยู่ในอ่าง เพราะคนข้างนอกไม่ได้เข้าใจองค์กรเพียงพอ คือมีแผนที่ดี แต่ Implement ไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ การเปิดโอกาสให้คนภายในที่เข้าใจวิธีการทำงานแบบใหม่ด้านนวัตกรรม เช่น Design Thinking, Lean Startup ได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ อีกส่วนที่สำคัญคือ คนที่ทำงานด้านนี้ต้องเข้าใจในวัฒนธรรมและบริบทขององค์กรด้วย เราไม่ได้ทำสตาร์ทอัพ ไม่ใช่เงินเราเอง ต้องมีความอดทนต่อองค์กรที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน”

ภาพจาก Cireson.com

“ส่วนองค์กรก็คงจะต้องปรับตัวที่จะสามารถ ‘ลองผิด’ ได้ด้วย เพราะส่วนใหญ่ในองค์กรจะมีระบบที่ทุกคน ‘ต้องทำถูกอย่างเดียว’ ซึ่งมันถูกต้อง ถ้าเป็นของเดิมที่คุณเคยทำมานานแล้ว เราไม่ควรทำผิด แต่ถ้าเป็นของใหม่ ตามความหมายของมันคือ เราไม่มีความรู้มากนัก จะทำให้เรารู้มากขึ้นได้ก็ต้องลงมือทำเสียหน่อย แน่นอนก็ต้องทำผิดบ้าง เพราะถ้าคุณทำถูกเสมอ คือรู้ทุกอย่างแล้ว มันก็น่าจะยากที่จะเรียกสิ่งนั้นว่า Innovation

กล่าวโดยสรุป การนำ Design Thinking มาใช้กับการทำงานนั้น ไม่ได้โฟกัสที่กระบวนการทำงานอย่างเดียว แต่มันคือ ‘การสร้าง Mindset ที่ถูกต้องในการทำงานด้านนวัตกรรม แล้วค่อยนำเครื่องมือมาจับให้มันเป็นระบบมากขึ้น’ โดยหัวหน้าทีม ExpresSo เน้นให้ทีมเรียนรู้ให้เร็ว แล้วมอง Innovation ที่ทำว่าเป็น Learning ไม่ใช่ Failure

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ExpresSo และ ข่าวอื่นๆ ของ ปตท.

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...