แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3 | Techsauce

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพที่อยากระดมทุน อาจกำลังหาคำตอบว่า นักลงทุนมองหาสตาร์ทอัพแบบไหนในปี 2024 ที่ดูทรงแล้วน่าจะ ‘อยู่ยาก’ และมีช่องทางระดมทุนตรงไหนที่ควรรู้อีกบ้าง มาดูคำแนะนำจากนักลงทุนและไกด์ไลน์เพื่อเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’ ใน 2 เซสชัน 'Trend 2024 นักลงทุนว่าไง?' และ 'ช่องทางใหม่ในการระดมทุน ปี 2024' ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2024 ณ สามย่านมิตรทาวน์ 

Session 1: Trend 2024 นักลงทุนว่าไง? 

KATALYST

KATALYST

ในเซสชันแรกนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมวงสนทนา ได้แก่ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร Executive Vice President, Digital Economy Promotion Agency (depa) คุณเปรมปรีดี กิติรัตน์ตระการ Investment director, PTT ExpresSo และ คุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช Executive Vice President at Muang Thai Life Assurance (MTL) & Head of Fuchsia Venture Capital โดยมี คุณฉวีวรรณ คงโชคสมัย Managing Director, rgb72 รับหน้าที่เป็น Moderator

KATALYST

คุณเปรมปรีดี กิติรัตน์ตระการ Investment director, PTT ExpresSo 

คุณเปรมปรีดีกล่าวถึงธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในไทยและหลายประเทศว่า ภาพรวมของตลาดตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การบริหารธุรกิจจึงต้องเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนเทรนด์ที่เห็นชัดคือ ESG ซึ่งเป็นสิ่งที่ PTT ExpresSo ให้ความสนใจ โดยเฉพาะในด้านใช้วิทยาศาสตร์และ AI เพื่อเข้ามาช่วยเรื่องความยั่งยืน

จากสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนจึงมีเกณฑ์พิจารณาการให้เงินทุนแก่สตาร์ทอัพเข้มข้นมากขึ้น สตาร์ทอัพจึงต้องให้มอง Short Term ให้ชัดเจนว่า บริษัทมีเงินพอที่จะอยู่ได้โดยไม่ล้มไปก่อนหรือมีเงินที่อยู่ในรูปของเงินกู้ แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้ธุรกิจเติบโตต่อได้ ไม่ล้มในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า 

ยกตัวอย่างปัญหาที่เคยพบ เช่น ผู้ก่อตั้งพูดคุยกับบอร์ดเหมือนเป็น ‘ผู้ใหญ่’ จึงเกิดความเกรงใจ ไม่กล้าคุยตรงๆ เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง บางสถานการณ์จึงนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งอันที่จริงนั้น ผู้ก่อตั้งควรพูดคุยกับบอร์ดเหมือนเป็น ‘พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ’ ที่เข้ามาช่วยทำงานได้ ขอคำปรึกษาได้ ช่วยแก้ปัญหาได้ และนอกจากนี้ ยังช่วยพาธุรกิจ Go-to-market ได้อีกด้วย

คำแนะนำสำหรับคนที่ไม่ได้ทำสตาร์ทอัพแต่อยากหาโอกาส : อยากให้มองเทรนด์ในระยะยาว เพราะบางเรื่องมี Cycle ยาว 30-50 ปี อาจจะหาโอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์ต่างๆ ก่อน แล้วค่อยบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ประเด็นนี้สำคัญมาก 

KATALYST TALK MEETUP #3ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร Executive Vice President at Digital Economy Promotion Agency (depa)

ดร.ชินาวุธกล่าวว่า แทบทุกเวทีที่พูดคุยเรื่องธุรกิจกล่าวถึง AI และ ESG ซึ่งเป็นเรื่องที่กลายเป็นเทรนด์โลก ปีนี้นักลงทุนก็จะลงทุนในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่ในประเทศไทย ปีที่แล้วที่ไทยมีดีลลงทุนในสตาร์ทอัพน้อยที่สุด จำนวนเม็ดเงินก็น้อย และด้วยจำนวนสตาร์ทอัพไทยที่มีไม่เยอะ ทำให้เห็นความชะลอตัวของตลาด

แต่ถึงจะชะลอตัวก็ไม่ใช่ไม่มีโอกาสใหม่ๆ เพราะสตาร์ทอัพบางรายที่เกือบไปไม่รอด เมื่อนำเรื่อง ESG มาอินทิเกรตกับธุรกิจ ก็กลับมาจับตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในระบบนิเวศสตาร์ทอัพก็มีการบ่มเพาะสตาร์ทอัพแบบใหม่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจเข้ามา และสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจ อยากให้เริ่มต้นจากการมีข้อมูล ทำรีเสิร์ช สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ และทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าไปอยู่ในระบบที่มีคนเห็นแล้วนำไปใช้งานได้

เพื่อร่วมด้วยช่วยสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี depa จึงปรับมาตรการโดยลงเม็ดเงินบางส่วน และจะเปิดตัวพาร์ตเนอร์ในปีนี้เพื่อทำ Accelerator โดยมองว่า depa เป็น ‘Government Angel’ ที่มี บัญชีบริการดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์มานำเสนอธุรกิจบริการบนแพลตฟอร์มนี้ได้ ซึ่งถ้าขายให้แก่ภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างก็ทำได้โดยไม่ต้องไปประมูลออนไลน์ (e-bidding) อย่างที่ผ่านมา หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการฝั่งฮาร์ดแวร์ depa ก็มี dSURE เป็นตราการันตีคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของไทย ซึ่งมี 300 ผลิตภัณฑ์จากราว 30 บริษัทที่อยู่ในระบบ และหากภาคเอกชนนำผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มของ depa ไปใช้ จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพ : ประเทศไทยมีนโยบายเกิดขึ้นมหาศาล เรื่อง Cloud First ก็เปิดโอกาสให้บริการด้านดิจิทัลไปอยู่บนคลาวด์ ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็เผชิญ เรื่อง Aging Society การขึ้นค่าแรง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร Digital Transformation ก็ต้องเกิด และจะทำให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตอนนี้บริษัทก็เริ่มพูดเรื่องระบบอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้น แต่ยังมีคนสร้างบริการด้าน Automation น้อยมาก ในขณะที่บางบริษัทก็อินทิเกรตเรื่อง ESG เข้าไปในการทำธุรกิจด้วยแล้ว ในฐานะตัวแทนของ depa จึงอยากให้สตาร์ทอัพไทยหรือผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไทยเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจไทยมากขึ้น อย่ารอใช้แต่แพลตฟอร์มต่างชาติหรือให้ต่างชาติมาแก้

KATALYST TALK MEETUP #3

คุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช Executive Vice President at Muang Thai Life Assurance (MTL) and Head of Fuchsia Venture Capital

คุณนาเดียกล่าวถึง Fuchsia Venture Capital ในฐานะที่เป็น CVC ว่า บริษัทโฟกัสเรื่อง Health กับ Insurtech ส่วนเทรนด์ AI ที่กำลังมาแรงนั้น มองว่าเป็นเครื่องมือ (Tool) สำคัญในการทำธุรกิจให้สำเร็จ 

ส่วนการที่ทุกคนพูดว่า ช่วงที่ผ่านมาเป็น Cycle ขาลงของสตาร์ทอัพ บางธุรกิจก็อยู่ไม่รอด อาจเป็นเพราะ Raisefund ไม่ได้ ยิ่งต้องทำให้ธุรกิจโตด้วยก็ยังยาก แต่ถ้าจะทำให้บริษัทอยู่รอดและอยู่ได้อย่างยั่งยืน (Sustainable) สตาร์ทอัพต้องมองเรื่อง ‘การควบคุมรายจ่าย’ ให้ดี 

อย่างตอนที่ธุรกิจสตาร์ทอัพบูมมาก บริษัทก็รับคนเข้ามามาก แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีหรือรันธุรกิจต่อลำบาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ให้พนักงานออกเพื่อลดต้นทุน โดยให้บรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของบัญชียังดีอยู่ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่สร้างความยั่งยืนให้บริษัทได้อย่างแท้จริง 

สตาร์ทอัพจึงต้องพิจารณาให้ดีว่า ทรัพยากรที่มีอยู่นั้นจำเป็นที่จะต้องใช้มากแค่ไหน บริษัทมีความสามารถในการรันธุรกิจและเติบโตด้วยตัวเองได้หรือเปล่า ที่สำคัญ มี Track Record เพื่อดูว่า บริหารจัดการเงินได้ดีหรือไม่ อย่างไร และถ้ามีปัญหาต้องบอก ขอคำปรึกษาบอร์ดหรือนักลงทุน แล้วหาวิธีแก้ไปด้วยกัน เช่น ทำเรื่อง Metrics ที่ใช้วัดผลต่างๆ ให้ชัดเจน จัด Board Meeting พูดคุยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักลงทุนและผู้ก่อตั้งทำงานไปด้วยกัน เห็นภาพไปด้วยกัน ช่วยให้รู้ปัญหาในเวลาที่ยังแก้ไขได้ ส่งผลให้ Fundraising รอบต่อไปทำได้ง่ายขึ้น

คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพ : ฝากเรื่องบริหารจัดการว่า การทำธุรกิจต้องมีจุดแข็งชัดเจน กับเรื่องเงินที่ใช้รันธุรกิจ เพราะสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมแล้ว การทำธุรกิจในยุคนี้ยากมากขึ้น ดังนั้น ให้ระวังค่าใช้จ่ายและทำความเข้าใจ Revenue Stream ที่ทำได้จริง ร่วมกับการเสริมสร้างทักษะเพื่อให้บริหารจัดการความท้าทายที่อาจตามมาอีก

KATALYST TALK MEETUP #3คุณธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC

ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยมีปัญหาหลักๆ คือ ขาดไอเดียใหม่ๆ ทำให้ไม่มีดีลใหม่ๆ ในระดับ Seed ส่วนสตาร์ทอัพที่มีอยู่แล้วก็เติบโตยาก ที่จริงถ้ามีความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพ (Collaborative) กันเอง ก็จะมีโอกาสเติบโตได้แต่ก็ไม่ค่อยเห็นความร่วมมือกัน และจากประสบการณ์การลงทุนในสตาร์ทอัพมากว่า 12 ปี คุณธนพงษ์บอกว่า ในปัจจุบันการระดมทุนจาก VC ยากมากขึ้น สตาร์ทอัพควรเน้นเรื่องการสร้างรายได้เป็นสำคัญ และควรมีรันเวย์ของเงินที่ใช้ทำธุรกิจให้ได้ไปอีก 2 ปี  ซึ่งหลังจากลงทุนไปหลายราย ก็มีทั้งธุรกิจที่ไปต่อได้สำเร็จและไม่สำเร็จ โดยเคสที่เฟลแบบอยู่ไม่ได้เลยก็เพราะ ‘ผู้ก่อตั้งทะเลาะกัน’ 

อันที่จริง การระดมทุนว่ายากแล้ว แต่การบริหารธุรกิจให้ไปต่อได้ เติบโตได้ตามที่คุยกับนักลงทุนเอาไว้นั้นยิ่งยากกว่า การที่มีผู้ร่วมก่อตั้งที่ดี เก่ง และร่วมกันทำงานได้ดี จึงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ถือได้ว่าเป็น Unfair Advantage ของสตาร์ทอัพรายนั้นเลยก็ว่าได้ และสำหรับสตาร์ทอัพที่มีผู้ก่อตั้งหลายคน ควรจัด Priority และให้อำนาจการตัดสินใจแก่ใครคนใดคนหนึ่งอย่างชัดเจน อาจช่วยลดปัญหาเรื่อง ผู้ก่อตั้งทะเลาะกัน ได้ 

อีกสิ่งที่กำลังทำเพื่อช่วยสตาร์ทอัพอยู่ คือ การเป็นอนุกรรมการแก้ไขกฎหมายฯ สตาร์ทอัพ ตอนนี้กำลังร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย โดยประเด็นสำคัญคือ แก้ไขกฎหมายที่มีข้อจำกัดซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพ พ.ร.บ. นี้จึงออกมาเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตในไทยได้ และเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เช่น สตาร์ทอัพที่เข้าเกณฑ์สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องเสีย Corporate Tax และยังมี Incentive อื่นๆ ให้ รวมถึงมีข้อยกเว้นจากข้อจำกัดจากกฎหมายแพ่งฯ โดยขณะนี้ขั้นตอนร่าง พ.ร.บ. ใกล้จะสำเร็จแล้ว และเตรียมเสนออนุมัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน พ.ร.บ. สตาร์ทอัพไทย จึงจะสามารถใช้งานได้จริง

เสนอโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพ : Beacon VC จัดทำโครงการ e-Learning ให้แก่สตาร์ทอัพมาแล้วหลายครั้ง สำหรับปีนี้จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นโครงการ Mentorship เน้นสเกลอัปจากฐานสตาร์ทอัพเดิม โดยคัดเลือกสตาร์ทอัพที่เคยเข้าร่วมโครงการที่ผ่านมาจำนวน 8 ทีม มาเรียนรู้จาก Mentor นาน 6 เดือน ทั้งด้านการทำธุรกิจ การลงทุน และการดำเนินชีวิต เพื่อช่วยให้ทำธุรกิจได้เก่งและเติบโตยิ่งขึ้น

Session 2: ช่องทางใหม่ในการระดมทุน ปี 2024

NIA

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ดร.กริชผกากล่าวถึงเทรนด์การลงทุนในสตาร์ทอัพว่า แตกต่างจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก และสถานการณ์ค่อนไปทางลบจนไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านี้แล้ว ดังนั้น หลังจากนี้จะเป็นช่วงขาขึ้น สตาร์ทอัพที่ต้องการการสนับสนุนและได้รับการสนับสนุน จะส่งเสริมให้ทั้งระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ระบบตลาด พาร์ตเนอร์ เติบโตยิ่งขึ้น โดย NIA เองก็พยายามสร้าง Pathway ให้ทุกธุรกิจสามารถเติบโตได้ และหากขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วยก็จะดีมาก 

“หลังๆ เรามาทำเรื่อง Go-to-Market มากขึ้น เพื่อส่งให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดในระดับ Growth Stage ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการต้องจ้างมืออาชีพมาให้คำปรึกษา แต่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นหลักล้าน NIA จึงทำโครงการช่วยจ่ายให้ 50% หรือไม่เกิน 1 ล้านบาท”

“นอกจากนี้ยังมี BOI เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย แต่เขาไม่ลงทุนในสตาร์ทอัพรายเล็กๆ เขาจะรอเก็บเกี่ยว คือ NIA ลงทุนก่อน หน่วยงานอื่นลงตาม สิ่งที่เราไปเชื่อมต่อคือ Corporate Matching Fund แล้วส่งต่อไปที่สภาอุตสาหกรรม ซึ่งได้เงินจากกองทุนอินโนเวชันวัน 1 พันล้านบาท ซึ่งถ้านำไปลงทุนในสตาร์ทอัพอาจได้มากถึงรายละ 100 ล้านบาท จากนั้นจึงส่งไปที่ BOI สเกลสูงสุดที่เป็นเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐ” ดร.กริชผกากล่าวเพิ่ม

KATALYSTในด้านเทรนด์การทำธุรกิจที่น่าจะไปได้ดี ดร.กริชผกากล่าวว่า มี 5 เทรนด์ ซึ่งตรงกับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ NIA สนับสนุน ได้แก่ 1. เกษตร-อาหาร-สมุนไพร-สารสกัด 2. อุตสาหกรรมการแพทย์และยา 3. ซอฟต์พาวเวอร์ 4. เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศและยานยนต์ไฟฟ้า และ 5. การท่องเที่ยว

ดร.กริชผกานำเสนอกลไกการสนับสนุนสตาร์ทอัพของ NIA หลายด้าน เช่น การสนับสนุนด้านการเงินของ NIA ในรูปแบบของ ‘ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ’ ซึ่งมีทั้งที่เป็นเงินให้เปล่า เงินอุดหนุนหรือสมทบบางส่วน กับ ‘ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบให้เปล่า (Grant) ในการพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยในมิติต่างๆ ร่วมด้วย

ตัวอย่างกลไกที่น่าสนใจภายใต้ ‘ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ’ 

1. กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND)

เป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อใช้จ้างที่ปรึกษา ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ เหมาะสำหรับวิสาหกิจฐานนวัตกรรมที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว โดยในปี 2024 กำหนดให้ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถขอทุนสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND) ได้ มีดังนี้ 

  • ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก (High-Value Food and Fruit for Export)    
  • ธุรกิจนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์กระบวนการผลิตและการบริหารจัดการพืชและสัตว์เศรษฐกิจหลักของประเทศตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain of Economic Plants and Animals)   
  • ธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)

2. กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate Co-funding)

เป็นทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ (recoverable grant) แก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะเริ่มต้นจนถึงระยะเติบโต (seed to growth stage) คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 10,000,000 บาท ต่อโครงการในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดย NIA จะสนับสนุนเงินลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชน ในอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่ม High Growth โดย NIA จะเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมากเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพระดับ Seed เติบโตได้เร็วขึ้น และจะไม่เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับหุ้นของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยในปี 2024 กำหนดให้ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ขอทุน Corporate Co-funding ได้ นั่นคือ 1) ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก (High-Value Food and Fruit for Export) และ 2) ธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nia.or.th/service/financial-support

3. โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ New S Curve เข้าสู่ตลาดทุน เตรียมพร้อมระดมทุนกับตลาดหลักทรัพย์ SET-mai-LiVEx 

เป็นโครงการที่ LiVE Platform จับมือกับ NIA พร้อมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และ KMPG ประเทศไทย เปิดให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่อยู่ใน C Level เช่น CEO CFO เข้าคอร์สเรียนเรื่องนวัตกรรม การบริหาร การทำบัญชี ภาษี กลยุทธ์ การเข้าตลาดทุน เพื่อเตรียมพร้อมธุรกิจและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในการเข้าระดมทุนผ่านกิจกรรม Workshop - Coaching - Networking โดยผู้เชี่ยวชาญที่มาพร้อมเนื้อหาสาระที่จะมาช่วยตอบโจทย์การเติบโต ได้แก่ Product & Service Development, Business Innovation & Growth, Business Strategy & Management และ Road to Capital Market ทั้งนี้ ตัวโครงการเปิดรับ 60 ธุรกิจที่เป็น New Economy และหลังจากเรียนจบหลักสูตร ส่งงานครบตามที่ได้รับมอบหมาย ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับเงินทุนรายละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 60 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 
https://techsauce.co/news/new-s-curve-capital-market-program-to-build-new-sme-startup

maiคุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์

เนื่องจากมีหลายบริษัทที่เข้าไปเพิ่มทุนหรือระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้วมีสภาพการซื้อขายผิดปกติจนกลายเป็นคดีโกงหุ้น ยกตัวอย่าง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีการโกงหุ้นโดยนำเงินจากการเพิ่มทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งยังเลื่อนการส่งงบการเงินหลายครั้ง คุณประพันธ์จึงยกประเด็นการปรับเกณฑ์การพิจารณาให้ธุรกิจที่จะยื่นจดทะเบียนเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มาให้สตาร์ทอัพรับรู้โดยทั่วกันว่า มีการปรับเกณฑ์ใหม่ในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเข้มข้นและเข้มงวดกว่าเดิมหลายด้าน เช่น บริษัทที่จะเข้าตลาด SET ได้ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท มีกำไรสุทธิในปีล่าสุดก่อนยื่นคำขอมากกว่า 75 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่จะเข้าตลาด mai ได้ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในปีล่าสุดก่อนยื่นคำขอมากกว่า 25 ล้านบาท ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป 

สำหรับเกณฑ์ใหม่ที่จะบังคับใช้ คุณประพันธ์บอกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพจะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเกณฑ์ที่สูงขึ้นจะทำให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ระดมทุนในตลาดทุนได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการสร้างการเติบโต ตลาดหลักทรัพย์จึงสร้าง ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้นของวิสาหกิจขนาดกลางหรือเอสเอ็มอี และวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เข้าไประดมทุนได้อีกทางหนึ่ง

“เรามี LiVEx เข้ามารองรับ เป็นเหมือนบันไดขั้นเล็กๆ ที่มีเกณฑ์คล้าย IPO Market เพื่อไปสู่บันไดขั้นที่ใหญ่กว่า ซึ่งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพเข้ามาระดมทุนก้อนหนึ่งไปสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ แต่เงินลงทุนจะไม่เยอะ แล้วอาจใช้เวลาอีก 2 ปี เพื่อเข้าไปอยู่ในตลาด mai ยกตัวอย่าง บริษัท สิทรอน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITRON22 บริษัทแรกที่เข้า LiVEx และกำลังเตรียมตัวเข้าตลาด mai” คุณประพันธ์กล่าวและเสริมว่า นอกจากนี้ยังมี LiVE Platform ที่ทำขึ้นเพื่อให้องค์ความรู้และเงินทุนอีกด้วยโดยอธิบายเกี่ยวกับความน่าสนใจของ LiVE Platform ว่า เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใครก็เรียนได้ฟรีๆ ซึ่งมี 3 ส่วน

  • Education Platform (e-Learning) มีคอนเทนต์ 870 คลิปให้เรียนเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างรอบด้านและได้อัปเดตเกี่ยวกับการทำธุรกิจในแง่มุมต่างๆ 
    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.live-platforms.com/th/education

  • Scaling Up Platform คอร์สเรียนออนไลน์ด้านระบบงานที่ผู้ประกอบการต้องใช้ เพื่อหนุนให้ธุรกิจเติบโตและเตรียมความพร้อมที่จะระดมทุนผ่านตลาดทุน
    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.live-platforms.com/th/scaling-up

  • LiVE Academy โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดทุนอย่างมีคุณภาพ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

    • 1) LiVE Spark โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการผ่านหลักสูตร e-Learning เหมาะสําหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาธุรกิจซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทจำกัด เมื่อเรียนจบตามหลักสูตร มีสิทธิ์ได้รับเงินลงทุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ไม่เกิน 25,000 บาท 

    • 2) LiVE Incubation Program โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตบนเส้นทางระดมทุนสู่ตลาดทุน เมื่อเรียนจบตามหลักสูตร ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ได้รับเงินทุนไม่เกิน 50,000 บาท 

    • 3) LiVE Accelerator Program โครงการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ต้องการเร่งผลักดันธุรกิจสู่การระดมทุนในตลาดทุน โดยการปรับปรุงและพัฒนาระบบงานสําคัญ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีแผนเข้าตลาดทุนอย่างชัดเจน 
      อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.live-platforms.com/th/scaling-up/academy

คำแนะนำเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ : 1) ทำธุรกิจให้อยู่รอดก่อน แล้วทำให้เติบโตอย่างแข็งแรง ยั่งยืน ด้วยโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ 2) ถ้าทำข้อ 1) ได้แล้วให้ปรับระบบภายในบริษัท เตรียมความพร้อม หาความรู้อยู่เสมอ เพื่อดึงดูดให้มีผู้ลงทุนเข้ามา

ปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศ Networking

Networking

KATALYST

KATALYSTKATALYST

หลังจากผู้เข้าร่วมงานรับทราบเทรนด์การลงทุนในเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และเข้าใจเรื่องแวดล้อมเกี่ยวกับการทำธุรกิจให้อยู่รอดแล้ว ก็เข้าสู่ช่วง Netwoking ซึ่งจำนวนผู้เข้าร่วมงานยังคงคับคั่ง ยิ่งเป็นที่ตอกย้ำว่า การจัดงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมีทั้งคนในและนอกวงการสตาร์ทอัพมาร่วมกิจกรรมที่ Beacon VC จัดขึ้น ภายใต้โครงการ KATALYST by KBank

..........................................

บทความนี้เป็น Advertorial

#KATALYSTbyKBank #BeaconVC #KBank #Startup

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดตัว 7 สตาร์ทอัพ FinTech ในงาน Money20/20 Asia เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาค

Money20/20 Asia ผู้จัดงานงานฟินเทคโชว์สุดยิ่งใหญ่เปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพทั้ง 7 ที่เชื่อว่าจะผลักดันพร้อมปฏิวัติโลกของการเงิน...

Responsive image

เจาะรากความสำเร็จ Samsung แชโบลตระกูลสำคัญ จากพ่อค้าปลาแห้ง สู่ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะว่าทำไมร้านของชำ Samsung ในเมืองเล็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้ แท้จริงแล้วมันมาจากความของเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเ...

Responsive image

บทสรุป Accelerate Impact with PRUKSA Season 2 สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม

บทสรุปสุดท้ายตลอดเส้นทาง ของโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA Season2 ที่สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม ในวัน Demo Day...