พูดคุยกับ FavStay ผู้ให้บริการหาที่พักตากอากาศทางเลือกโดยคนไทย - Techsauce

พูดคุยกับ FavStay ผู้ให้บริการหาที่พักตากอากาศทางเลือกโดยคนไทย

Screen Shot 2560-04-12 at 1.00.21 PM

เราเชื่อว่าทุกคนชอบท่องเที่ยว การท่องเที่ยวมีปัจจัยหลายๆ อย่างในการพิจารณา หนึ่งในสิ่งที่ต้องเอามาคิดก็คือการหาที่พักเพื่อเข้าพัก ซึ่งก็มีบริการที่หลากหลายในการหาโรงแรม แต่จริงๆ แล้วโรงแรมอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับคุณ วันนี้เราจะมาคุยกับอีก 1 บริการของคนไทยที่จะช่วยให้คุณหาห้องพักที่เหมาะกับคุณและเพื่อนๆ มากขึ้นกับบริการที่ชื่อ FavStay

ผู้ที่จะมาพูดคุยวันนี้คือ คุณสุชาดา เตโชติรส CEO แห่ง FavStay ที่จะมาเล่าที่มาที่ไป รวมทั้งทิศทางของ FavStay ที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งน่าสนใจมากๆ

แนะนำหน่อยครับว่า FavStay คืออะไร

favstay logo

FavStay เดิมคือ PomPome เป็นไอเดียที่เกิดมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ตอนที่เกิดเหตุการณ์ Subprime Crisis หรือวิกฤติด้านสินเชื่อ ที่เรารู้จักกันดีในนาม Hamburger Crisis (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) ณ ตอนนั้นเรามีคอนโดตากอากาศอยู่แล้ว แล้วก็ไปพักอยู่เรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่า คอนโดตากอากาศที่มีในเมืองไทยมีคนซื้อเยอะนะ แต่ไม่ค่อยมีคนเข้ามาพักเลย ดังนั้นคนที่ซื้อไปแล้วมันก็เหมือนทิ้งเงินไว้ตรงนั้น ไม่มีเงินหมุนเวียนเกิดขึ้น เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คอนโดที่ไม่มีคนอยู่ที่ถูกทิ้งไว้มาสร้างรายได้ รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและท้องถื่นนั้นๆ ได้มากขึ้น

จากคอนโดตากอากาศ เราก็คิดว่าคอนโดและรูปแบบการพักผ่อนมันถูกออกแบบมาให้กับการพักแบบครอบครัว ซึ่งก็เป็นแนวของคนเอเชียอยู่แล้ว ด้วยการออกแบบห้องที่ห้องนึงเป็น Function ต่างๆ อย่างชัดเจน เลยคิดว่า น่าจะมีคนเข้ามาบริหารจัดการทำให้คนเข้ามาพักมากขึ้น ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จักว่า AirBnB คืออะไร ไม่รู้จักคำว่า Sharing Economy เลย รู้แค่ว่ามันเป็นหลักการที่น่าจะต้องมีใครทำ ก็เลยลองมาทำดู

การเริ่มต้นทำของเรา เริ่มที่การปล่อยห้องของเราก่อนและห้องของท่านอื่นๆ ที่เราคิดว่าน่าจะคุยได้ เพราะส่วนนึงเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว คอนโดตากอากาศยังไม่บูมมาก คนซื้อทิ้งไว้เพื่อเอามาพักเวลามาเที่ยว บางส่วนก็เริ่มซื้อไว้เพื่อลงทุนและต้องการผลตอบแทน ก็เลยลองไปคุยกับเจ้าของที่น่าจะอยากได้ผลตอบแทน แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ให้เสียเปล่ารวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าดูแลรักษา (Maintenance) ก็เลยหยิบจุดนี้มาทำ FavStay ขึ้นมา

จากคำตอบที่ได้ในคำถามแรกเกริ่นๆ มาว่ากลุ่มคนที่จะเข้ามาใช้ FavStay คือครอบครัว แต่จริงๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายของ FavStay ที่เราคาดว่าจะมาใช้บริการคือคนกลุ่มไหน

กลุ่ม Target เรานอกจากครอบครัวแล้ว เราเน้นกลุ่มที่อยากจะพักห้องเดียวแต่พักได้หลายคน มันไม่เหมือนโรงแรม เราคิดว่าคนไทยเวลาไปเที่ยวชอบไปอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน คือด้วยโรงแรมก็มีพื้นที่น้อยอย่างที่รู้ เวลาทำกิจกรรมก็คงไม่สะดวก ก็เลยคิดว่าคนไทยน่าจะชอบแบบนี้ พอเราได้มาลองทดลองตลาดแล้วก็พบว่าคนก็ชอบจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นครอบครัว มีคุณพ่อ คุณแม่ ลูกๆ ญาติๆ หรือกลุ่มเพื่อนที่ไปด้วยกันเขาก็อยากจะมีห้องที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้ คุยกัน หรือทำสิ่งอื่นๆ ร่วมกัน

เราใช้เวลาทดลองตลาดนานไหมครับ

ทำมาเรื่อยๆ ค่ะ คือคิดไอเดียได้ก็ลงมือทำเลยที่หัวหิน ณ ตอนนั้นเราก็ทำเป็น SME อยู่ ตลาดก็ตอบรับได้ดีอยู่ ปีละหลายพัน Night

ตอนที่เริ่มทำ มีห้องอยู่ในระบบของเรามากน้อยขนาดไหน

ตอนแรกมีอยู่ประมาณ 100 กว่าห้องส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหัวหิน แต่จุดที่ทำให้ขยายตัวได้เร็วมากก็คือช่วงที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม ตอนนั้นความต้องการมาเยอะมาก จนหาห้องไม่ทัน

ตอนนี้ทีมของ FavStay มีทั้งหมดกี่คน

ประมาณ 30 ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นโปรแกรมเมอร์ แล้วก็จะมีทีม Hotline, ทีม Content แล้วก็ทีมที่ดูเรื่องการถ่ายภาพและแก้ไขภาพด้วย ตอนนี้ดูแลหัวหินเป็นหลัก และจะเริ่มขยายการดูแลที่พัทยาและภูเก็ตด้วย

เมื่อสักครู่พี่ป้อมพูดถึง AirBnB มานิดนึง ทางผมสามารถบอกได้ไหมครับว่า FavStay ก็คือ AirBnB แบบไทยๆ ได้ไหม

จริงๆ แล้วเรามีความต่างนะคะ เราไม่ใช่ AirBnB โมเดลธุรกิจเราคิดขึ้นมารองรับกลุ่มคนไทยและคนเอเชีย เพราะเราเป็น Hybrid Model ที่ไม่ได้ก็อบเขามา เพราะเราคิดว่าเราจะทำแบบนี้ขึ้นมาเอง

FavStay ถือว่าเป็น Startup ในด้าน Travel ซึ่งถือว่าเป็นด้านที่ได้รับความสนใจในช่วงนี้ พี่ป้อมพอจะแชร์ได้ไหมครับว่า อุปสรรคที่ FavStay เจอมามีอะไรบ้าง

ถ้าย้อนกลับไปดูว่า Travel ในเมืองไทยมีอะไรบ้าง ที่พัก ไกด์/Local Guide ประเด็นหลักเลยคือการสร้างแบรนด์ เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่สนใจได้รู้ว่ามันมีที่พักอีกแบบให้ได้ไปพักกัน และก็มีเรื่องกฎหมายที่บางส่วนยังเป็น Gray Area อยู่ แต่เราก็คิดว่า พอกระแสโลกหรือคนเริ่มพูดถึงกันมากขึ้นสักวันจะต้องมีการปรับปรุงให้ถูกต้องมากขึ้น

การมาร่วมของพี่หมู Ookbee เป็นมาอย่างไรครับ

จริงๆ ไอเดียนี้ได้พูดคุยกับพี่หมูมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ ณ ตอนนั้นพี่หมูก็ยุ่งกับตัว Ookbee อยู่ แล้วพี่หมูก็เริ่มเรื่อง Investment ด้วยในนาม 500TukTuks ก็เลยเอากลับมาคุยกัน เพราะมีความรู้สึกว่ามันสามารถโตได้อีกเยอะหากมีการลงทุนจากนักลงทุน พี่หมูเลยขอกลับมา Join ด้วย

โดยพี่หมูมาอยู่ในฐานะ Co-Founder ของ FavStay ค่ะ

มองแผนการเติบโตของ FavStay จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างครับ

ถ้ามองในแง่ของจำนวนที่พัก ในเมืองไทยน่าจะทำได้อีกเยอะ ซึ่งน่าจะมีจำนวนที่สามารถสู้กับ AirBnB ได้ และจะไปประเทศอื่น ที่มองไว้ก็จะเป็น เวียดนาม, อินโดนิเซีย เน้น SEA เป็นหลัก ทั้งหมดจะเกิดขึ้นในปี 2559

ประเทศอื่นที่เราเล็งจะเข้าไปเปิดบริการ เขามีบริการอะไรแบบนี้แล้วหรือเปล่า

จากการเข้าไป AirBnB ที่เขาเริ่มธุรกิจไปแล้วแต่เจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่ง ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ที่เราอยากจะทำคือเราอยากจะทำแบบ Local คือเจ้าของบ้านและโฮสต์ เราอยากจะได้คนของที่นั่นเลย คืออยากจะก็อปปี้โมเดลเมืองไทยไปที่อื่นด้วยเลย อย่างโฮสต์ที่อยู่ในประเทศไทยก็จะเป็นโฮสต์ที่ไม่ได้อยู่ AirBnB อาจจะมีบ้างแต่มีไม่เยอะ อย่างโฮสต์ของ AirBnB เขาจะเน้นเรื่องการมี Service Mind  จะต้องบริการนั่นโน่นนี่ให้ แต่โฮสต์ที่เราดูแลอยู่จะไม่ใช่กลุ่มนั้น คือ เขาซื้อมาลงทุน เขาทำธุรกิจอื่นอยู่แล้ว เขาไม่มีเวลามาคอยดูแลเรื่องต่างๆ รับส่งกุญแจ อะไรอย่างนี้ เจ้าของอยากจะให้ทาง FavStay จัดการส่วนนี้ให้ทั้งหมด

ขยายความด้าน Service ของ FavStay หน่อยครับว่าครอบคลุมขนาดไหน

เราบริการให้ตั้งแต่การรับส่งกุญแจ, การทำความสะอาด, การตรวจเชคห้อง มีอะไรเสียหายเราจะแจ้งให้ รวมทั้งเรามีช่างที่จะมาคอยซ่อมแซมให้, ดูแลเรื่องการเข้าพัก ทุกอย่าง FavStay จะมีการติดต่อ 3rd Party เช่น ช่างข้างนอกเพื่อทำการเข้าไปซ่อมให้ในกรณีที่ทางนิติบุคคลไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมให้ได้

ทำไมภาษาบน FavStay ยังเป็นภาษาไทยอยู่?

ที่ผ่านมา FavStay ลูกค้าเป็นคนไทย ดังนั้นเราก็ทำเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยได้ใช้กันก่อน เสร็จแล้วเมื่อใช้ไปสักพัก เราก็จะมีลูกค้ากลุ่มที่ 2 ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีอยู่แล้ว ก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากกลุ่มลูกค้าเดิม หลังจากที่เรา Rebrand จาก Pompome เราก็เร่งมาทำให้เป็นภาษาอังกฤษให้เร็วที่สุด ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เราก็ Keep Contact กันตลอดอยู่แล้วเพราะเขาเคยมาใช้บริการกับเรา เขามาพักทีนึง 1-3 เดือน

จากที่ลองมองดูในที่ทำงานมี Post-it เกี่ยวกับงานเต็มไปหมด อยากรู้ว่าทำไมถึงเลือกวิธีการนี้ครับ

เราใช้วิธีนี้เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานและแอคทีฟ เขาจะรู้ตัวเองว่าตัวเองต้องทำอะไรผ่าน To-Do, Doing, Done เราจะติดตามกันทุกสัปดาห์เพื่อให้งานของทุกส่วนสอดคล้องและทำงานได้อย่าง Parellel กัน

คิดว่าประเทศไหนที่คิดว่าเข้าไปยากที่สุด

เมียร์มาร์, กัมพูชา, ลาว จริงๆ แล้วเป็นประเทศที่น่าเที่ยว คนไปเยอะ แต่โดยปกติเวลาเราไปทำ Local ที่นั่นเราก็ต้องหา Host ที่ดีที่เป็น Host ท้องถื่น ซึ่งตรงนี้ AirBnB เขายังไม่สามารถตีตลาดตรงนี้ได้ แต่เรา เราได้เปรียบว่าเราเข้าใจคนในแถบ SEA มากกว่าเขา ซึ่งก็จะทำให้มี Potential ในการเข้าไปทำตลาดนี้ แต่ก็อาจจะยากนิดนึงด้วยเหตุผลในการหาโฮสต์ที่ดี

พี่ป้อมได้ติดตาม Startup บ้างไหมครับ แล้วมองว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

พี่เริ่มติดตามปีนี้ มองว่าน้องๆ Startup ในเมืองไทยมีไอเดียดีๆ เยอะ มันเป็นอะไรที่ดี ที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะว่าเมืองไทยเรื่องนวัตกรรมไม่ได้มีคนที่มี Focus อย่างจริงจังมานานแล้ว

พี่ป้อมคิดว่าในเมืองไทยมีอะไรที่น่าทำ Startup บ้างเพื่อเอามาแก้ปัญหา

พี่คิดว่าระบบการเงินของเราล้าสมัย พี่ต้องการทำอะไรให้มัน Disrupt เลยน่าจะทำเป็น FinTech ค่ะ

สุดท้ายครับ พี่ป้อมมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ Startup ไทย หรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง

Startup ต้องมองภาพรวมว่าจากไอเดียที่เราจะทำ เราจะขยายตลาดไปได้มากน้อยขนาดไหน มันทำได้ใหญ่ขึ้นไปได้แค่ไหน เราสามารถขยายไปประเทศอื่นๆ ได้หรือเปล่า หรือก็อปปี้ไปยังประเทศอื่นได้ไหม เน้นว่าเป็นเรื่อง Scale ส่วน และสิ่งที่เราจะทำไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำเพื่อเท่แล้วจบ ตอนนี้ทิศทางของน้องๆ จบใหม่จะเป็นว่าอยากจะมีอะไรเป็นของตัวเอง แต่คนที่จะทำอะไรสำเร็จได้จะต้องมีการลองผิดลองถูก หรือจะต้องมีประสบการณ์อะไรมา Support ก่อนเพื่อเอามาต่อยอดในสิ่งที่จะทำค่ะ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...