FINNOMENA ชื่อสะดุดหู ที่ผสมมาจาก FINANCE (การเงินการลงทุน) + PHENOMENA (ปรากฏการณ์)เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความตั้งใจของพวกเขา ที่จะสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในโลกการเงินการลงทุน Startup รายนี้เป็นอีก FinTech ที่น่าจับตามอง เพราะเกิดจากการรวมตัวกันของกูรูด้านการเงินการลงทุน หลายๆ ท่านเชื่อว่าพอได้เห็นชื่อแล้วต้องร้องอ๋อเลยทีเดียว ความน่าสนใจนอกจากเรื่องของทีม ยังมีเรื่องแนวคิดเรื่องการบุกด้วย Content ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้น่าสนใจมาก
ทีม FINNOMENA ได้ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Techsauce ถึงสี่คน เราได้พบกับ Co-founder คุณเจท เจษฎา สุขทิศ, Managing Director คุณพง พงษ์ธร ถาวรธนากุล, Chief Technology Officer คุณโอห์ม อัฐพงศ์ รัตนวีระชานน และ Chief User Experience Designer คุณแก๊บ ณพวัฒน์ มุกตพันธุ์ ทั้งสี่คนมาพร้อมกับเรื่องราวมากมายที่อยากจะแชร์ให้พวกเราฟัง
เจท: ผมเป็น Co-founder ร่วมกับคุณแบงค์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา Mr. Messenger ส่วนตัวผมมีนามปากกาว่า FundTalk เป็นบล็อกเกอร์สายการเงินมานาน โดยเคยทำเว็บชื่อว่า FundManagerTalk.com เมื่อก่อนผมทำอาชีพเป็นผู้จัดการกองทุน งานสุดท้ายก่อนลาออกคือ Chief Investment Officer ที่บลจ. CIMB-Principal จากนั้นผมได้ออกมาตั้งบริษัทหลักทรัพย์ชื่อ INFINITI Global Investors ทำด้านที่ปรึกษาการลงทุน ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดพอร์ต ตอนนี้ดูแลลูกค้าเกือบร้อยราย และมูลค่าพอร์ตทั้งหมดกว่าสามพันล้านบาทครับ
โอห์ม: ผมรับหน้าที่เป็น CTO ครับ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ เคยทำงานที่ Thomson Reuters และ Kimberly-Clark ซึ่งได้รับโอกาสไปทำงานที่อเมริกา โดยรับหน้าที่เป็นผู้นำทีมในการพัฒนาซอฟแวร์ ผมมีความสนใจใน Startup อยู่แล้ว และมีความสนใจในสาย Finance ด้วย พอได้พบกับพี่เจท จึงรู้สึกยินดีมากๆ ที่จะได้มาร่วมสร้าง FinTech
แก็บ: ผมรับหน้าที่เป็น Lead UX Designer ครับ หลังจากจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็ไปเรียนต่อสาย Human-Computer Interaction (UX) โดยเฉพาะ เคยทำงานที่อเมริกาในบริษัท Startup ชื่อ Mango Language และเคยทำงานในบริษัท SAP ที่ซิลิคอนวัลเลย์ ถึงแม้จะเป็นบริษัทใหญ่ แต่ข้างในก็มีการทำ Startup กันเป็นว่าเล่นเลยครับ ซึ่งผมชอบบรรยากาศแบบนั้นมากๆ
เจท: และเรายังมีคุณพง เป็น Managing Director คุณพงมาจากสายการเงิน เคยเป็นผู้จัดการกองทุนเช่นเดียวกับผม ตอนนี้ทีมงานทั้งหมดมีประมาณสิบคน ทุกคนทำกัน Full time ครับ นอกจากนี้เรายังมีเหล่ากูรูด้านการเงินที่ร่วมเข้ามาเป็น Contributor ให้กับเรา ได้แก่ คุณเอ A-Academy, คุณเก่ง Thailand Investment Forum, คุณพีร์ Wizard Kid Trader, คุณนัท คลินิกกองทุน, คุณจุ๊บ คุณต้าร์ Mao Investor และคุณเฟิร์น Wealth Me Up
พง: ผมเป็นผู้จัดการกองทุนมาก่อน แล้วเราก็เห็นว่า การบริหารเงินลงทุนแบบเดิมยังไม่ตอบโจทย์สำหรับคนหมู่มาก ที่ FINNOMENA เป้าหมายคือ เราอยากเป็นเรื่องการลงทุนสำหรับทุกคน ในทุกๆ องศา
เราคือทีมคน Finance ที่ลุกขึ้นมาทำ Tech โดยเริ่มจากการเอา Content บุกเข้าไป เพราะกับเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษา หรือคนที่มีความรู้แล้ว ทุกคนก็ล้วนแต่มีความต้องการหาข้อมูลอยู่เสมอเพื่อช่วยในการตัดสินใจ หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ของเรา ตอนนี้จะมีเนื้อหาต่างๆ ได้แก่
โดยเราจะเป็น Content provider ให้กับนักลงทุนในทุกๆ ขั้น หมายความว่าในทุกๆ ครั้งที่พวกเขาคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น อยากวางแผนเงินเพื่อการศึกษาลูก วางแผนเตรียมเกษียณ หรือจะเป็นในมุมในก็ตาม FINNOMENA จะเป็นแหล่งที่ให้คำตอบเขาได้ว่าวันนี้เขาควรจะทำอะไร
เจท: โดยเรามี Content ทั้งในรูปแบบ Blog, Forum, YouTube Live และ Offline seminar ครับ
พง: ใช่แล้วครับ
พง: เราคือทีม Tech Startup แน่นอนครับ เพียงแต่พวกเราเลือกที่จะทำ Content ก่อน เรามองว่า Content ต้องมาก่อน เพราะเราต้องการดึงดูดผู้ใช้ และทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมั่น เพราะเรื่อง Investment ไม่ใช่เรื่องจะ Disrupt ได้ง่ายๆ เราต้องให้เขาค่อยๆ ลองก่อน ลองอ่าน ลองทำตาม แล้วให้เขาเห็นว่าคำแนะนำของเราเวิร์คจริง แต่ไม่ใช่ใบ้หวยนะครับ จะเป็นการสอนวิธีการคิดในการลงทุน ถ้ามันเวิร์ค เขาจะอยู่กับเรานานๆ แล้วเขาก็ต้องเข้ามาอัปเดตเรื่อยๆ ว่ากูรูคิดอย่างไร
ถามว่าเป็น Content provider ใช่ไหม? ใช่ ใน Stage แรก หลังจากนั้นจะมีฟังก์ชั่นต่างๆ และแอปพลิเคชั่นเพิ่มเข้ามา ที่จะมาตอบโจทย์ว่า หลังจากคุณตัดสินใจได้แล้ว คุณจะลงทุนให้ง่ายที่สุดได้ยังไง คุณจะ Monitor การลงทุนของคุณได้ยังไง และจะนำฟังก์ชั่นต่างๆเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงของคุณได้ยังไง
เจท: จากการที่เราลองตลาดด้วย Content ตอนนี้เราทำออกมาสองร้อยกว่าชิ้นงาน ครอบคลุมหลากหลายระดับ แล้วพบว่าเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุด กลับเป็นเนื้อหาสำหรับกลุ่ม Beginner
คนไทย 65 ล้านคน มีพอร์ตหุ้น 1 ล้านบัญชี ลงทุนแอคทีฟจริงๆประมาณ 4-5 แสน แปลว่ายังมีคนไทยอีกมากที่ยังไม่ได้เข้ามาในอุตสาหกรรม และต้องการความรู้ เนื้อหาของเราที่มีคนแชร์สูงสุดก็เป็นเนื้อหาพื้นฐาน ชื่อว่า “ออมเดือนละห้าร้อย อยากเกษียณมีเงินล้าน ต้องทำอย่างไร” มีคนแชร์ถึงกว่าสองหมื่นคน เราจึงมองว่าฟังก์ชั่นแรกที่เราจะทำจะไปสอดคล้องกับส่วนความรู้พื้นฐาน เริ่มต้นลงทุนอย่างไร วางแผนการเกษียณคืออะไร ทำอย่างไร
ฟังก์ชั่นแรกที่เราจะทำ จึงจะเลือกที่ Financial Planning หรือตัวช่วยวางแผนทางการเงิน ผมอยากเห็นคนที่ไม่เคยลงทุน เมื่อมีลูก แล้วเกิดค่านิยมในการใช้ FINNOMENA NTER โปรดักส์แรกของเรา ในการวางแผนการเงินตั้งแต่ลูกเกิด ยังส่งเรียน ดูแลเรื่องการเงินต่างๆ ในชีวิต
มีน้องที่รู้จัก ได้เข้ามาลองวางแผนจริงๆ เขาแทบช็อคไปเลย พอได้รู้ว่าถ้าอยากเกษียณตอน 45 ต้องมีเงิน 40-50 ล้าน แล้วผมก็จะทำเป็นแพคเกจให้เลยว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็ call for action เลย ผมเองตั้งบริษัทหลักทรัพย์อันนึงไว้ทำงานร่วมกับ FINNOMENA ในวันที่ต้อง call for action แทนที่จะต้องโทรหามาร์ แต่คุณสามารถ Action ได้เลย ผ่านทางแพลตฟอร์มของเรา สโลแกนของพวกเรา FINNOMENA คือ “Unlock Your Investment Potential” นั่นคือคุณจะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ด้วยตัวคุณเอง โดยพึ่งพาคนอื่นๆ น้อยลง
เจท: ผมเชื่อว่าองค์ประกอบของ FinTech Startup ที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมี Traction + Trust + Trigger ยิ่งสำหรับเรื่องการเงิน Trust สำคัญมาก เพราะเราพบว่าขั้นตอนการตัดสินใจซื้อหรือลงทุนอะไรก็ตาม คนเรามักจะเช็คกับคนรอบข้างที่เขาเชื่อถือด้วยเสมอ เช่น ถามว่า ขายหุ้นตอนนี้เลยดีไหม เป็นต้น
Traction คือที่พวกเราทำกันอยู่ ที่ผ่านมาเรา Launch เว็บมาประมาณสี่เดือน มี Unique visitors หกแสน มีสมาชิกประมาณสองหมื่น เป้าหมายของผมที่เชื่อว่าเราไปได้คือ Unique Visitors 5-10 ล้านคน Trust คือ เรารวมกูรูที่ได้รับการยอมรับ กูรูชุดก่อตั้งรวมกันมี Followers ล้านกว่า ภายในเดือนสองเดือนนี้จะเริ่มเห็นนักเขียน และสถาบัน เข้ามาจอยในการทำ Content มากขึ้น และ Trigger คือการให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับพวกเราคือการให้กูรูช่วย Trigger ทั้ง Online และ Offline เช่น เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราจัดอีเวนต์ “FINNOMENA First Class บินให้เป็นเห็นเงินล้าน” ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย Target นักลงทุนรายย่อย เราต้องสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นให้ได้ และเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะจัดอีกครั้ง ในอีก Target หนึ่ง คือคนที่เริ่มลงทุนเป็นแล้ว
เจท: สำหรับ Feedback งาน FINNOMENA First Class "บินให้เป็น เห็นเงินล้าน" ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเกือบพันคน และเราได้มีการเปิดตัว FINNOMENA NTER (Beta) "เครื่องมือวางแผนการเงินแห่งอนาคต" ซึ่งก็ได้รับความสนใจดีกว่าที่คาด โดยในรอบนี้เราได้เปิดให้ทดลองใช้เพียง 100 รายแรก และได้รับการแสดงความจำนงค์ในการลงทุนจริงแล้วประมาณ 140 ล้านบาท โดยเราจะนำ Feedback จากผู้ทดลองใช้ไปพัฒนา NTER ให้ตอบโจทย์มากขึ้นก่อนที่จะเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบเร็ว ๆ นี้ โดยเราตั้งเป้าเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนในปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท
นอกจาก FINNOMENA NTER แล้วทางทีมงานยังมีแผนงานที่จะเปิดตัวอีกหลายฟังก์ชั่นที่น่าสนใจ ซึ่งไม่นานเกินรอน่าจะได้เห็นครับ
พง: ผมคิดว่าเรายังไม่มีคู่แข่งที่ชนกันตรงๆ จริงอยู่ที่มี FinTech ที่ช่วยด้านการตัดสินใจลงทุนอยู่แล้ว แต่ที่มีอยู่แล้วจะเน้นที่ตลาดหุ้นมากกว่า ในขณะที่ของเราจะเป็นการลงทุนแบบกว้างขวางหลายอย่าง ไม่เฉพาะตลาดหุ้น นอกจากนี้คำแนะนำของเราไม่ใช่คำแนะนำในเชิงคะแนนตัวเลข (quantitative) แต่จะเป็นคำแนะนำแบบ qualitative ที่เป็นลักษณะข้อมูลความรู้ และคำแนะนำจากกูรูมากกว่า
เจท: ที่จริงแล้ว เราอาจจะสามารถเป็น Partners ร่วมกันกับ FinTech รายอื่นๆ ก็ยังได้
พง: สำหรับพวกเรา เรื่องการหารายได้ จึงเป็นเรื่องที่พวกเรารอได้ การสร้าง Trust จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะเรื่องลงทุนเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง Sensitive อาศัยความเชื่อใจ ที่พวกเรายังไม่ห่วงเรื่องรายได้ในตอนนี้ เพราะเราเห็นธรรมชาติอยู่แล้วว่า เดิมทีคนที่ลงทุนต้องเสียค่า Commission รายทางเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่า Marketing ค่า Incentive สำหรับนักลงทุนเรื่องการยอมจ่ายส่วนหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เป็นสิ่งที่เขาโอเคอยู่แล้ว
เจท: มีโมเดลที่มีความเป็นไปได้หลายรูปแบบมาก แต่พาร์ทเนอร์ของผม คุณแบงค์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเปรียบเทียบเป็นงานปาร์ตี้ ตอนนี้เราเพิ่งจะอยู่ในช่วงสามทุ่มครึ่ง ถ้าตำรวจมาสี่ทุ่มครึ่ง ปาร์ตี้ก็จะไม่สนุก ดังนั้นเราจึงยังไม่คิดเรื่องการหารายได้มากนักในตอนนี้ เรามีการ Bootstrap ผ่านการจัดงานอีเวนต์ อย่าง FINNOMENA DAY เพราะฉะนั้นเรื่องการหารายได้อาจจะยังเป็นเรื่องรอง แต่ที่สำคัญกว่าคือการสร้าง Traction, Trust และ Trigger พฤติกรรมคน อย่างที่ผมได้เล่าไว้
และทั้งหมดนี่คือเรื่องราวของ FINNOMENA กับคีย์เวิร์ด 3T: Traction, Trust และ Trigger ที่ทีมนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Startup ไม่จำเป็นต้องเกิดจาก Innovation ตั้งต้นเสมอไป แต่การสร้าง Content และ Community ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด