Flipper Zero โปรเจคที่เปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2020 และได้รับการระดมทุนสูงถึง 4.8 ล้านเหรียญผ่าน Kickstarter จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นกระแสโด่งดังในช่วงปีที่ผ่านมาเพราะมีผู้ใช้งาน TikTok หลายคนออกมาแชร์ความเจ๋งของเจ้าอุปกรณ์ตัวจิ๋วนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรถ เปิดบ้าน (ที่ใช้คีย์การ์ด) เปิดทีวี เปิดแอร์ หรือกระทั่งเปิด ตู้เซฟ! (ที่ใช้ระบบ RFID) Flipper Zero ก็ทำได้หมด คำถามคือทำได้ยังไง? ของเล่นอะไรจะทำได้ขนาดนั้น? เรามาทำความรู้จักของเล่นชิ้นนี้กันครับ
Flipper Zero เป็นโปรเจคโดย Pavel Zhovner ได้รับแรงบรรดาลใจจาก Pwnagotchi โปรเจค open-source ที่ทำให้เรื่องของการทดสอบระบบ WiFi Network เป็นเรื่องสนุกโดยได้แรงบรรดาลใจมาจากของเล่นญี่ปุ่นยุค 90 อย่างทามาก็อตจิ อุปกรณ์จำพวกนี้เรียกว่า penetration test (ทดสอบการเจาะระบบ) เรียกสั้นๆ ว่า “pentester” ข้อดีของ pentest คือการทำให้เรารู้ว่าอุปกรณ์ที่เราใช้งานมีช่องโหว่อะไรบ้าง เพื่อที่จะได้อุดช่องโหว่เหล่านั้น เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน
จุดเด่นของ Flipper Zero คือการทำให้เรารู้สึกเหมือนเล่นเกมทามาก็อตจิ โดยสิ่งที่เราเลี้ยงก็คือโลมาไซบอร์กที่มีความสามารถในการ hack อุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีการตอบสนองกับผู้เล่น เช่น ถ้าเราทำเมิน น้องก็จะงอน พร้อมเปลี่ยนสีหน้าท่าทาง รวมไปถึงตอนใช้งานน้องก็จะทำท่าเหมือนใช้พลัง
เจ้าโลมา Flipper Zero จะเน้นไปในเรื่องของการทดสอบระบบจำพวก RFID (Radio-Frequency Identification), NFC (Near Field Communication) แบบทั้งความถี่สูง (13.56 MHz) และต่ำ (125 kHz) ประตูโรงรถก็เปิดได้ด้วย Sub-1 GHz module, Infared เทคโนโลยีเหล่านี้คือสิ่งที่เราใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ส่วนมากจะเป็นเครื่อง “ติ๊ด” ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น คีย์การ์ดคอนโด บัตรโดยสารสาธารณะ บัตร NFC ต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้อินฟาเรดอย่าง ทีวี แอร์ เจ้าโลมาตัวนี้ก็สามารถที่จะ อ่านค่า และบันทึกค่า เพื่อเลียนแบบการใช้งานได้ แถมยังเขียนข้อมูลขึ้นมาเองได้อีกด้วย (Read, Write, Clone, Emulate) จะใช้ผ่านโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ เรียกได้ว่าครบครันต่อการใช้งาน
Flipper Zero ยังสามารถทำหน้าที่เป็น BadUSB ได้ด้วย คือการที่เราเขียนสคริป (DuckyScript) แล้วเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่าน USB เพื่อให้ทำตามสิ่งที่เราเขียน ตัวอย่างเช่นเขียนสคริปให้ เสียบคอมปุ๊ปเปิดเว็บ Teachsauce.co ปั๊บ
มากไปกว่านั้นคือสามารถใช้เป็น U2F (Universal 2nd factor) เพื่อใช้งานเหมือนเป็น YubiKey กุญแจที่ใช้ยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบัญชี
ถ้าแค่นี้แล้วคุณยังไม่หนำใจก็สามารถหาอุปกรณ์มาเชื่อมต่อเพื่ออัพเกรดความสามารถผ่าน GPIO (General Purposes Input Output) อย่างเจ้า Flipper Zero นั้นมีแค่บลูทูธ ไม่มีไวไฟมาให้ ก็ต้องซื้อบอร์ดมาต่อแยกเอาเอง
คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งานของคุณเพราะคุณสามารถดัดแปลง firmware เพื่อเอาไปใช้ในทางที่ผิดได้และมันจะเป็นความรับผิดชอบของคุณเองล้วนๆ ส่วน firmware ที่ติดมากับตัวเครื่องไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายทำให้สามารถซื้อได้อย่างสบายใจ
การทำให้การศึกษาเป็นเหมือนการเล่นเกมคือหัวใจหลักของ Flipper Zero ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีจากอุปกรณ์รอบตัวเราในชีวิตจริง มากไปกว่านั้นคือความเป็น open-source firmware ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้มากๆ เพราะมันทำให้เราสามารถออกแบบหรือดัดแปลงการใช้งานให้เป็นแบบไหนก็ได้ตามแบบที่เราต้องการ หนึ่งในตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์คือมีผู้ใช้งานนำเกม Doom มาใส่บนอุปกรณ์ตัวนี้ บางคนก็ออกแบบฟังค์ชั่นไว้แกล้งเพื่อน
ขอบเขตการเรียนรู้ที่ไม่มีสิ้นสุดคือประโยชน์ของการใช้งาน Flipper Zero (อย่างถูกกฎหมาย) นี่อาจจะเป็นของเล่นยุคใหม่แบบ game-to-learn ถึงจะเป็นของเล่นที่เอาไปใช้ในทางที่ผิดได้ แต่ประเด็นเหล่านั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้งานมากกว่าเครื่องมือ ถ้าคนจะทำผิดอะไรก็ใช้ไปในทางที่ผิดได้หมด
ส่วนในเรื่องของราคาตอนนี้ก็ถือว่าแรงพอสมควรเพราะของหมดสต็อคเนื่องจากติดปัญหาเรื่องการขนส่งบวกกับขายดีมาก แต่ราคาจริงจากโรงงานอยู่ที่ $169 (~5,600 บาท)
Funfact: เจ้าของ Flipper Zero ได้บอกว่าต้นแบบของโลมานั้นมาจาก “โจนส์” โลมาไซบอร์กในหนังแนว cyberpunk เรื่อง Johnny Mnemonic (1995) ซึ่งในเนื้อเรื่องน้องโจนส์ถูกดัดแปลงให้มีความสามารถในการ hack จากระยะไกลได้
อ้างอิง
Hands On With Flipper Zero, the Hacker Tool Blowing Up on TikTok
The Flipper Zero is a Swiss Army knife of antennas
Flipper Zero: Geeky toy or serious security tool?
FLIPPER ZERO BLASTS PAST FUNDING GOAL AND INTO OUR HEARTS
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด