มองแนวโน้ม FoodTech ผ่านงาน Food Innopolis International Symposium 2018 | Techsauce

มองแนวโน้ม FoodTech ผ่านงาน Food Innopolis International Symposium 2018

ผ่านไปแล้วกับงาน Food Innopolis International Symposium (FIIS) 2018 ระหว่าง วันที่ 5-7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดเวทีอัพเดทความรู้และเทรนด์นวัตกรรมอาหารและการเกษตรระดับสากล  งานจัดโดยความร่วมมือระหว่าง สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)

ภายในงานมีประเด็นน่าสนใจมากมายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ ทั้งนักวิชาการและนักธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น แนวโน้มนวัตกรรมอาหารโลก, Internet of Food, การพัฒนาคนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร 4.0, โลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร, ความปลอดภัยอาหารและมาตรฐานอาหาร, การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร บนฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy), เทรนด์นวัตกรรมเครื่องเทศและสมุนไพร แหล่งโปรตีนใหม่ อาหารกับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

Techsauce มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ถึงความตั้งใจและที่มาของการจัดงาน FIIS ในครั้งนี้ รวมถึงเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ปักธงประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน Food innovation

“นวัตกรรมอาหารและการเกษตร ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหารเยอะมาก และยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารมากติดอันดับโลก เราจึงอยากปักธงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คุณวรรณวีรากล่าว

ความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจของทั้งสององค์กรที่อยากผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารและการเกษตร ด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิจัยและนวัตกรรมอาหารของ Food Innopolis ที่เชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ และความเชี่ยวชาญของ TMA ที่อยู่ในภาคธุรกิจ การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดประตูให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในแง่มุมของอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการและนักธุรกิจในระดับสากล ส่งเสริมให้เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจ (business matching) และต่อยอดความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาระหว่างองค์กรของไทยกับต่างประเทศ  ตลอดจนสร้างโอกาสให้ Food Innopolis เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในระดับภูมิภาคอาเซียน เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ-ภาคการศึกษา-ภาคเอกชน

คุณวรรณวีรา กล่าวว่า “การทำการเกษตรในอนาคต ต้องอาศัยเทคโนโลยีและความรู้ที่จะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ช่วยลดค่าแรง และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ดังนั้นหากมีคนที่ต้องออกจากโรงงานเมื่อมีระบบ Automation มาทดแทน จะต้อง Reskill ให้มีความรู้สำหรับการทำการเกษตรให้มากขึ้น รวมถึงต้องมีการช่วยในเรื่องของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับคนที่ต้องออกจากโรงงานกลับไปทำการเกษตรในท้องถิ่นของตนเอง”

แนวโน้ม FoodTech

ส่วนด้านบนเวที มีการบรรยายแลกเปลี่ยนเนื้อหาต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ รวมถึงเทรนด์ของนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innovation ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมีเทรนด์หลักๆ ดังนี้ :

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ (Automation Technology) กระบวนการผลิตและการทำการเกษตรจะเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, Big Data และ 3D Printing เข้ามาใช้ นอกจากนี้ยังมีระบบ sensory สำหรับใช้จับอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) สิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป คือการสร้างโปรตีนทดแทน โดยสังเคราะห์โปรตีนขึ้นมาในศูนย์วิจัยเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อวัวและเนื้อสัตว์อื่นๆ เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นการทำให้ศูนย์เสียพลังงานและไม่เป็นผลดีต่อความยั่งยืนของโลก บริษัทเนื้อหลายแห่งจึงได้เปลี่ยนเป็นบริษัทวิจัยโปรตีนแทน อีกทั้งยังมีการศึกษาเรื่อง Plant-based protein ที่ทำจากพืชอีกด้วย

การทำเกษตรกรรมในเมือง (Urban Farming) ภายในปี 2050 คนทั่วโลกกว่า 2 ใน 3 จะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ การรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ปลอดภัย และคงไว้ซึ่งความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจจึงกลายเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน มีหลายเมืองที่เริ่มทำการเกษตรบนหลังคาหรือปลูกผักในแนวตั้ง ตามการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

การเปลี่ยนแปลงด้าน Food Service ผู้บริโภคจะมีปัจจัยในการเลือกทานอาหารเพิ่มขึ้น มากกว่าเรื่องของรสชาติ แต่จะคำนึงถึง เวลา (ความช้า-เร็ว) ในการให้บริการและความน่าเชื่อถือของร้านอาหารด้วย เช่น ใน Hema Cashless Supermarket ของอาลีบาบา มีการนำอาหารทะเลที่ลูกค้าเป็นคนเลือกเอง มาปรุงให้แบบสดๆ ทำให้สามารถเชื่อใจได้ว่าอาหารสดและสะอาดจริง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถจ่ายเงินผ่าน mobile wallet เพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า

การ Customize อาหารให้เหมาะสมกับร่างกายและความชอบของผู้บริโภคแต่ละคน เช่น ผู้บริโภคที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เน้นอาหารสุขภาพ ก็จะมีอาหารที่จำเพาะและอุดมด้วยสารอาหารมากขึ้น รวมถึงการเกิดขึ้นของ Community ต่างๆ ที่มีความชอบคล้ายคลึงกัน

แนวโน้มต่างๆ ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อนวัตกรรมอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นักวิทยาศาสตร์การอาหารหรือ คนทำอาหารเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลากหลายสาขา ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวทันและเป็นผู้นำในด้านนี้ได้

ปัจจุบันมีนวัตกรรมหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้นของทั้งผู้คนในชนบทและเมืองใหญ่ จากการร่วมสร้าง Ecosystem อันแข็งแกร่งด้วยภาคอุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตร รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนร่วมกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...