เมื่อตลาดเกม ได้กลายเป็นสมรภูมิใหม่ ของเหล่า Big Tech ระดับโลก | Techsauce

เมื่อตลาดเกม ได้กลายเป็นสมรภูมิใหม่ ของเหล่า Big Tech ระดับโลก

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดพฤติกรรม “Stay at Home” ส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านความบันเทิงอย่าง “เกม” ได้เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก  จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกมอย่าง Newzoo และ Roundhill Invetments ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 9% และอาจจะมีมูลค่าแตะ 196,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022  ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรวจความเป็นไปของอุตสาหกรรมเกมกันว่า Big tech ระดับโลกมีความเคลื่อนไหวอย่างไรกันบ้าง 

เมื่อตลาดเกม ได้กลายเป็นสมรภูมิใหม่ ของเหล่า Big Tech ระดับโลก

Tencent และ Sony เจ้าตลาดเกมระดับโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 

เจ้าตลาดเดิมในปัจจุบันที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด คือ Tencent และ Sony  

สำหรับ Tencent ได้มีการเปิดเผยรายรับรวมของบริษัทอยู่ที่ 142.4 พันล้านหยวน (22.2 พันล้านดอลลาร์) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นหน่วยธุรกิจที่ทำเงินได้มากที่สุดในเครือ รวมถึงเป็นผู้ผลิตเกมที่รายได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย

 ขณะที่ Sony ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องเล่นเกมอย่าง PlayStation ก็ได้มีการซื้อกิจการสตูดิโอที่พัฒนาเกมมาไว้ในสังกัดของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการเข้าซื้อสตูดิโอ Bungie ด้วยมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในธุรกิจเกม โดย Bungie ที่ในอดีตเคยพัฒนาแฟรนไชส์ใหญ่อย่าง Halo ก่อนที่ในภายหลังจะอยู่ภายใต้การดูแลของ Microsoft Gaming และต่อมา Bungie ก็ได้แยกออกมาเป็นอิสระ จนกระทั่งพัฒนา Destiny ซึ่งถือเป็นเกมที่มีชุมชนขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ Sony มีความแข็งแกร่งของเกม PlayStation เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าการที่เข้าไปเล่นในตลาดของเกม PC จะล่าช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นๆก็ตาม แต่ก็ยังสามารถทำรายได้ได้ โดยตัวอย่างเกมใต้การบริหารจัดการของ Sony อาทิ God of War 

อุตสาหกรรมเกม เค้กก้อนใหญ่ที่ Big Tech ต่างตบเท้าร่วมวง 

Microsoft กับดีลที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเกม

ล่าสุด Microsoft ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทเกมรายใหญ่อย่าง Activision Blizzard ด้วยมูลค่ากว่า 68,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นดีลใหญ่ขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเกม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การมุ่งสร้าง Metaverse เพื่อที่จะมาเสริมแกร่งในตลาดวิดีโอเกมที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต 

 ซึ่งจะทำให้แฟรนไชส์เกมชื่อดังอย่าง "Call of Duty" และ "World of Warcraft" รวมถึงผู้เล่นรายเดือนเกือบ 400 ล้านคน มาเสริมทัพให้กับทาง Microsoft ที่มีเกมนำทัพอย่าง "Halo" อยู่ก่อน จากกรณีดังกล่าวจะทำให้ Microsoft กลายเป็นบริษัทเกมที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกด้วยรายได้ รองจาก Tencent และ Sony ตามลำดับ

 ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไม Microsoft ถึงกระโดดเข้าสู่ตลาดเกมนั้น Satya Nadella CEO Microsoft มองว่า เกม จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา Metaverse ซึ่ง Microsoft ก็ได้ทุ่มเงินเพื่อเข้าซื้อกิจการต่างๆ นับไม่ถ้วน อย่างที่ผ่านมา ปี 2020 ก็ได้มีการเข้าซื้อบริษัท Bethesda ด้วยเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อครอบครองแฟรนไชส์ เกมแบบ Doom, Wolfenstein หรือ ซีรีส์เกม RPG Open World อย่าง The Elder Scrolls 

Amazon รุกลุงทุนสตูดิโอพัฒนาเกม ท้าชนคู่แข่งเจ้าตลาด

ส่วนทางด้าน Amazon เจ้าพ่อแห่งวงการอีคอมเมิร์ซ เรียกได้ว่าแทบจะทำทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่อีคอมเมิร์ซ Video OnDemand จนมาถึงด้านเกม ที่ได้มีการพัฒนาสตูดิโอพัฒนาเกม ของตัวเองชื่อ Amazon Game Studios รวมถึงเกมต่างๆ ขึ้น 

และเป็นที่รู้กันดีว่า Amazon เล็งบุกเข้าตลาดเกมมานานแล้ว ทั้งจากการตั้งสตูดิโอพัฒนาเกม และปัจจุบันมีเกมที่อยู่ในมือ คือ เกมออนไลน์ New World เกม MMORPG และเกมรถแข่ง The Grand Tour รวมถึงเกม Crucible ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ที่ผ่านมา Amazon ยังได้เปิดตัวเกม ที่ใช้ระบบ Cloud เรียกว่า Luna ซึ่งเป็นทั้ง software, และยังสามารถเชื่อมต่อ กับ TV, PC,MAC, iPhone,iPad,โทรศัพท์มือถือผ่าน Application ได้อีกด้วย 

หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า Amazon ได้มีการเข้ามาลงทุนในธุรกิจเกมมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งหลังเข้าซื้อกิจการ Twitch แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์คอนเทนต์เกม ด้วยเงินมูลค่า 29,000 ล้านบาท ก็ได้มีการสร้างทีมเพื่อบุกเบิกธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังมีธุรกิจชื่อว่า Amazon Web Services (AWS) ที่ให้บริการพื้นที่จัดเก็บฐานข้อมูลบนระบบคลาวด์ แก่ผู้พัฒนาเกมรายใหญ่ที่เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน อาทิ Bandai, Capcom, Epic Games, Supercell, Zynga  

ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาณจาก Amazon ที่จะบุกตลาดเกมอย่างจริงจัง เพื่อท้าชนกับคู่แข่งอย่าง Sony รวมถึง Microsoft 

Alphabet  (Google) เดินเกมรองรับการ Streaming

นอกจากนี้คู่แข่งอย่าง Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่ยังเป็นเจ้าของ YouTube แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ใหญ่สุดของโลก ซึ่งก็ได้มีการเปิดฟีเจอร์ YouTube Gaming เพื่อรองรับการสตรีมเกมโดยเฉพาะ 

โดยมีการเปิดตัวครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2015 เนื่องจากทาง Google ต้องการให้เป็นศูนย์รวมของวีดีโอ รวมถึงผู้สร้าง Content ที่เกี่ยวข้องกับเกม ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้วงการเป็นอย่างมาก แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการประกาศปิดตัว YouTube Gaming ไปเมื่อปี 2019 อย่างไรก็ตามวีดีโอและ Content จาก YouTube Gaming จะถูกย้ายไปอยู่ใน Gaming บนหน้าหลักของ YouTube แทน และต่อมาก็ได้มีการเปิดตัวธุรกิจแพลตฟอร์มเกมสตรีมมิ่งบนคลาวด์ ชื่อว่า Stadia เมื่อปลายปี 2019 ด้วยเช่นกัน

Apple ทำกำไรมหาศาลจาก App Store

ขณะที่ Apple ที่ผ่านมาก็ได้มีการเข้าสู่ตลาดเกมเช่นกัน โดยเกมได้สร้างรายได้ทางอ้อมให้กับ Apple จำนวนมหาศาล หากย้อนกลับไปดูในปี 2019 จะพบว่ามีคนใช้จ่ายในแอปพลิเคชันเกมบน App Store ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของแอปทั้งหมด จึงไม่แปลกที่จะเป็นเหตุผลให้ Apple ตัดสินใจบุกตลาดเกมเต็มตัว ด้วยการขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมเกมผ่านการเปิดตัวแพลตฟอร์มเกมออนไลน์ ชื่อว่า Apple Arcade แพลตฟอร์มรวมเกมแนว Arcade แบบบุฟเฟต์ 

เพราะด้วยความนิยมเกมแบบดั้งเดิมที่ App Store ให้บริการไม่สูงนัก ดังนั้น Apple จึงคาดหวังที่จะเปลี่ยนใจให้ผู้ใช้กลับมาชื่นชอบเกมออนไลน์ของ Apple ดังเดิม ด้วยการนำเสนอบริการเกมระบบสมาชิก Apple Arcade นั่นเอง 

รวมทั้งการสมัครสมาชิกครั้งเดียวจะช่วยให้สามารถเข้าถึงเกมได้มากกว่า 100 เกมที่เป็นเอกสิทธิ์ของ iOS สามารถเล่นเกมผ่าน Devices ของ Apple ทั้ง iPhone, iPad, Apple TV และคอมพิวเตอร์ Mac โดยที่จะมีการอัพเดตเกมใหม่อย่างสม่ำเสมอ และเกม Apple Arcade จะสามารถเล่นแบบออฟไลน์ได้ด้วยโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหลังจากดาวน์โหลดแล้ว 

Meta - Facebook รุก VR รองรับเกมอนาคต

ขณะที่เจ้าพ่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ก็ได้มีการเบนเข็มเข้าสู่ตลาดนี้เช่นกัน โดยได้เปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอออนไลน์เกี่ยวกับเกมอย่าง Facebook Gaming แอปไลฟ์สตรีมมิ่งเกมในรูปแบบสแตนด์อโลน เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อกับฐานผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถสตรีมสดเกม รวมถึงการสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเล่นเกมและคนดู โดยทั้งหมดนี้จะอยู่บนสมาร์ทโฟน ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และ IOS เพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้คนติดตามคอนเทนต์ได้ง่ายภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน รวมทั้งพัฒนาธุรกิจใหม่ เนื่องจากเพิ่งซื้อกิจการ PlayGiga บริษัทเกมยักษ์ใหญ่สัญชาติสเปน ด้านธุรกิจเกมผ่านระบบ cloud โดยดีลครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้หลังจาก Facebook Gaming ได้ประกาศขยายให้มีการเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์มาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2020 แต่ให้ใช้งานได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และขยายไปยังประเทศใกล้เคียงเช่น แม๊กซิโก และแคนาดา ซึ่งคาดว่าจะขยายไปยังยุโรปต้นปี 2022 นี้ 

นอกจากนี้ Facebook ยังมีการประกาศความร่วมมือจากทาง Ubisoft โดยจะมีเกมเข้ามาให้บริการ เริ่มแรกจากทาง Assassin’s Creed Rebellion ในเวอร์ชั่นมือถือ ทำให้ผู้เล่นเกมผ่าน Cloud นี้ปกติได้แล้วยังสามารถเล่นเกมผ่าน Apps Facebook หรือ ผ่านทาง Browser ได้เช่นเดียวกัน 

ปัจจุบัน Facebook Gaming มีเกมบนแพลตฟอร์มที่สตรีมบนคลาวด์มากกว่า 25 เกม   และที่มีการเพิ่มล่าสุด ได้แก่ Roller Coaster Tycoon Touch, Lego Legacy Heroes Unboxed และ Dragon Mania Legends เป็นต้น

รวมทั้งยังได้ทำการเข้าซื้อกิจการเกม VR เพิ่มอีกหนึ่งกิจการ นั่นคือ BigBox VR สตูดิโอผู้พัฒนาเกม Population: ONE เกม VR ซึ่งก็ได้รับความนิยมในหมู่ผู้เล่นเกม VR เป็นอย่างดี 

โดย Population: ONE ได้เปิดตัวออกมาหลังจากที่ Facebook เปิดตัว Oculus Quest 2 ได้ไม่นาน ทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมสูงมากในแพลตฟอร์มของ Oculus โดยผู้เล่นสามารถเล่นพร้อมกันได้ถึง 24 คน ลักษณะของเกมนี้จะมีความคล้ายคลึงกับ Fortnite ทั้งรูปแบบของเกมไปจนถึงการนำเอาเทคโนโลยี VR มาช่วยทำให้เกมเสมือนจริงนี้สนุกมากยิ่งขึ้น  

อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อบริษัทเกมต่าง ๆ ของ Facebook ก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ออกมาทั้งสิ้น โดยทาง BigBox VR สามารถระดมทุนไปได้ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก Shasta Ventures, Outpost Capital, Pioneer Square Labs และ GSR Ventures

ขณะเดียวกัน ภายใน Oculus Studios เอง ก็มีนักพัฒนาหลายคน กำลังพัฒนาเทคโนโลยี VR เพื่อให้ใช้งานได้บนเกมสตรีมมิ่งออนไลน์อย่างค่าย Valve ผู้พัฒนาเกมออนไลน์ระดับโลกทั้ง Dota 2 และ Team Fortress 2 ทำให้ตอนนี้ตลาดของเกมที่ไม่รองรับเทคโนโลยี VR ของ Facebook ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน และเมื่อเมษายน ปี 2021 ที่ผ่านมา Facebook ได้เข้าซื้อ Downpour Interactive ผู้ผลิตเกมยิง VR อย่าง Onward อีกด้วย

และหลังจากที่ Facebook ได้มีการประกาศรีแบรนด์เป็น Meta เพื่อเป้าหมายในการสร้างโลกความจริงเสมือน หรือ Metaverse ขึ้น ทางบริษัทก็ได้มีการเริ่มลุยงานอย่างจริงจัง พร้อมเข้าซื้อบริษัท Within ผู้พัฒนาแอปออกกำลังกายบน VR ชื่อดังเป็นที่เรียบร้อย

โดยบริษัท Within ได้พัฒนาแอปพลิเคชันออกกำลังกายสำหรับอุปกรณ์ VR ที่มีชื่อว่า Supernatural โดยแอปพลิเคชันนี้เสมือนการออกกำลังกายอยู่อีกโลกหนึ่ง ได้อย่างหลากหลาย ทั้งสถานที่บนโลกจนถึงพื้นผิวดาวอังคาร นอกจากนี้ตัวแอปยังมีโค้ชส่วนตัวเพื่อให้คำแนะนำในการออกกำลัง พร้อมด้วยเสียงเพลงเข้าจังหวะให้สามารถสนุกกับการออกกำลังกายได้มากขึ้น

โดย Meta มีเป้าหมายเพื่อให้ Within มาช่วยปรับปรุงฮาร์ดแวร์ใน Meta's Reality Labs เพื่อรองรับแอปฟิตเนส VR ในอนาคต 

ซึ่งหากใครติดตามข่าวก็จะรู้ว่าที่ผ่านมา Meta ได้เข้าซื้อสตูดิโอเกม VR มาหลายครั้ง เช่น Ready at Dawn, Beat Saber, BigBox VR, Unit 2 Games และ Beat Games 

Netflix ประกาศซื้อสตูดิโอเกม-ต่อยอดคอนเทนต์ Original จากแพลตฟอร์ม

สุดท้ายนี้ Netflix สตรีมมิ่งเจ้าดังที่ครองอันดับหนึ่งของวงการมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเกมเช่นกัน โดยการประกาศซื้อกิจการสตูดิโอเกมแห่งแรก ตามนโยบายการบุกเข้าตลาดเกมตามที่ประกาศไว้

ซึ่งสตูดิโอแรกที่ถูก Netflix ซื้อกิจการคือ Night School Studio บริษัทจากแคนาดา ผู้สร้างเกม Oxenfree เกมผจญภัย 2D โดยการตัดสินใจซื้อ Night School เพราะความโดดเด่นด้านการเล่าเรื่อง ซึ่งเหมาะสมกับแนวทางของ Netflix ที่พยายามทำงานกับครีเอเตอร์เก่งๆ ทั่วโลก และตอนนี้ทางสตูดิโอกำลังพัฒนา Oxenfree II อยู่ และจะพัฒนาต่อไปตามแผนเดิม 

ทั้งนี้ได้มีการทดลองกับวิดีโอเกมหลายชุดเพื่อประสบการณ์แบบอินเทอร์แอคทีฟ เนื่องจากมีแผนที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเกม และกำลังมองหาผลกำไรขั้นต้นจากอุตสาหกรรมวิดีโอเกม เพื่อความพยายามในการก้าวข้ามธุรกิจเดิม  โดยที่ผ่านมาได้นำร่องด้วยการเปิดตัวเกมในซีรีส์ Stranger Things ลงบนแพลตฟอร์มต่างๆ มาแล้ว โดยเป็นการเซ็นสัญญาลิขสิทธ์กับสตูดิโอเกม BonusXP Inc. ในการอนุญาตให้พัฒนาเกม “Stranger Things 3: The Game” 

ซึ่งมีเนื้อหาจากซีรีส์ Stranger Things ของ Netflix โดยตัวเกมมือถือมีราคา 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 164 บาท) และสร้างรายได้บน Apple App Store และ Google Play Store ร่วม 315,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ตั้งแต่เปิดตัวไปในปี 2019 ในภายหลังทาง BonusXP ก็ลงเกมดังกล่าวในแพลตฟอร์มหลักอื่นๆ อย่าง PC, Nintendo Switch, PlayStation 4 และ Xbox One อีกด้วย 

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากนัก แต่ Bloomberg ก็ได้มีการรายงานว่า Netflix จะพัฒนาเกมผ่านช่องทางแพลตฟอร์มสตรีมมิงเดิมของตัวเองเป็นหลัก และมีแนวโน้มที่อาจจะใช้เนื้อหาคอนเทนต์จากออริจินัลคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมาต่อยอดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ Netflix ได้มีการเตรียมตัวเข้าสู่วงการวิดีโอเกมอย่างจริงจังภายในปี 2565 พร้อมกับยืนยันการเพิ่มบริการเกมให้แก่สมาชิกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการเน้นพัฒนาเกมบนมือถือเป็นส่วนใหญ่ 

 อ้างอิง The Wall Street Journal , Republicworld , Economictimes , The Verge1 ,The Verge2

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...