ทำความรู้จัก STO คืออะไร? ทำไมถึงมาแทน ICO | Techsauce

ทำความรู้จัก STO คืออะไร? ทำไมถึงมาแทน ICO

จากบทสัมภาษณ์ คุณหนูเนย โปรแกรมเมอร์และบล็อกเกอร์ NuuNeoi.com ได้กล่าวถึงเทรนด์สำคัญในปีหน้า กับการเข้ามาของ STO หรือ 'Security Token Offering' รูปแบบการระดมทุนบน Blockchain แบบใหม่ที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ STO ให้ลึกซึ้งมากขึ้น STO คืออะไร ทำไมจึงมาแทนที่ ICO และทำไม STO ถึงมีสิทธิเติบโตได้จริง

ICO กับกระแสตีกลับ

การระดมทุนผ่าน ICO เติบโตตั้งแต่ปี 2017 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2018 ด้วยยอดระดมทุนบนแพลตฟอร์มกว่า 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายงานของ PwC

แต่ความจริงเบื้องหลังตัวเลขนี้ คือ ICO ที่ขาย pre-sale เป็นส่วนมาก โดยที่ยังไม่เกิดการนำไปใช้งานจริง เนื่องจากจุดมุ่งหมายสำคัญของ ICO ก็คือการระดมทุนเพื่อนำไปบริษัทพัฒนาธุรกิจต่อ แต่เมื่อโปรเจคไม่เกิดขึ้น จึงทำให้ token ไร้ค่า ไม่มีหลักฐานอะไรบ่งบอกว่าจะมีการนำ utility token ไปใช้จริงในอนาคต นอกจากคำสัญญาปากเปล่าจากเจ้าของโปรเจคเท่านั้น

Ernst & Young เผยแพร่การศึกษาเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนผ่าน ICO เมื่อเดือนมกราคม 2018 ว่ามีเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์ที่ถูกโกงจากการระดมทุนด้วย ICO

ดังนั้น ความท้าทายสำหรับรัฐบาลก็คือ การพยายามทำให้ ICO มีความโปร่งใส เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO ที่ต้องผ่านขั้นตอนการกรอกข้อมูลบริษัท ผ่านการตรวจสอบและลงทะเบียนต่างๆ ให้ครบถ้วน รวมถึงมีหนังสือชี้ชวนการซื้อหุ้นที่แสดงข้อมูลทางการเงินของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกลงทุนได้

แต่เมื่อมองมาฝั่ง ICO กลับมีกฎข้อบังคับเพียงน้อยนิด มีแค่การนำเสนอข้อมูลบริษัทผ่าน whitepaper ที่มักระบุปัญหา เสนอแนวทางแก้ไข อธิบายวิธีการนำ token ไปใช้ และแนะนำทีมงาน เท่านั้น ด้วยความหละหลวมของระบบความปลอดภัยและข่าวการโกงมากมาย ทำให้ความน่าเชื่อถือใน ICO ลดน้อยถอยลงในเวลาเพียงไม่นาน จนเกิดกระแสตีกลับ เริ่มจาก Facebook ประกาศแบนโฆษณาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ ICO บนแพลตฟอร์ม ต่อมา Google ก็ประกาศแบนเช่นเดียวกันในเดือนมีนาคม ตามด้วย Twitter ในเดือนมิถุนายน

การก้าวเข้ามาของ STO

STO หรือ Security Token Offering คือไอเดียใหม่แห่งการระดมทุนด้วยเหรียญ crypto บน blockchain โดยมีการลอกเลียนลักษณะการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำ token ให้เป็นหลักทรัพย์ ที่ต้องผ่านการลงทะเบียนและตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศ โดยผู้ที่จะสามารถลงทุนได้ คือ นักลงทุนที่จะได้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น หุ้นบริษัท การปันผล หรือรูปแบบใดแล้วแต่ตกลง

เหตุผลที่ทำให้ STO มีสิทธิไปต่อได้และน่าจะเกิดความนิยมในตลาดจริง คือระดับความปลอดภัยและสิทธิประโยชน์ที่การันตีให้กับผู้ลงทุน อีกทั้งแนวทางของ STO ยังตอบโจทย์ทั้งเจ้าของบริษัท นักลงทุน และรัฐบาลไปพร้อมกัน

คุณหนูเนยให้ความเห็นว่า STO จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงต้นปีหน้า โดยอาจจะเริ่มจากประเทศไทยเป็นแห่งแรก “STO ค่อนข้างใหม่และยังไม่ชัดเจนมาก ดังนั้นกฎหมายรองรับตอนนี้จะมีอยู่แค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ซึ่งก็คือประเทศไทย แม้จะยังไม่พร้อมตอนนี้ แต่น่าจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกเลยที่พร้อม แต่ด้วยความที่มันยังใหม่ ถ้าจะออกกฎตอนนี้มันอาจจะมีความผิดพลาดในระยะยาวได้ เชื่อว่าต้นปีหน้าน่าจะเริ่มเห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น”

มีการคาดการณ์ว่า STO จะมีมูลค่าตลาดแตะ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2020 กลายเป็นที่น่าจับตามองมากทีเดียวว่าในปี 2019 STO จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจริงหรือไม่ เพราะหาก STO สามารถดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาบนแพลตฟอร์ม ก็มีโอกาสเร่งการเติบโตของ Security Token ให้แพร่หลายได้เช่นกัน

อ้างอิงเนื้อหา Techsauce, ICOAlert, Hacker Noon

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...