ปัจจุบันเราได้เห็นสองยูนิคอร์นอย่าง Grab และ Gojek (หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ GET ในประเทศไทยและเวียดนาม) ที่ขึ้นมาผงาดอยู่ในตลาดผู้ให้บริการ Ride-hailing ของเอเชีย และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็น ‘Super App’ ซึ่งแน่นอนว่าการขยายตัวของพวกเขาล้วนใช้งบประมาณมหาศาลในการพัฒนาองค์กรและบริการ โดยมีหลากหลายข่าวที่เรามักเห็นผ่านตาถึงการเข้ามาลงทุนของเหล่านักลงทุนรายใหญ่
นอกเหนือจากการหาผู้ร่วมลงทุนแล้ว แน่นอนว่า Data ที่ทั้ง 2 ยูนิคอร์นนี้ครอบครองก็มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้กัน ทำให้ Grab และ Gojek เป็น Startup สุดฮอตที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย
Techsauce จึงจัดทำแผนภาพให้เห็นผู้ลงทุนภาคธุรกิจรายใหญ่ที่บุกเข้าสู่ตลาด Ride-hailing ในเอเชียของ 2 แบรนด์นี้กัน ซึ่งนี่จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่างๆ และภาพการเติบโตของ 2 ยูนิคอร์นได้ดียิ่งขึ้น
กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินและธนาคารจัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เราได้เห็นกระโดดเข้าไปลงทุนในตลาดใหม่นี้อย่างชัดเจน ด้วยกระแส Disruption ที่เข้ามา ทำให้ธนาคารรายใหญ่ซึ่งเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีต้องรีบปรับตัวให้ทัน ในขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินหน้าใหม่ก็คว้าโอกาสไว้เช่นกัน
การเข้าลงทุนนี้ก็เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านกลยุทธ์และเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ทั้งฝั่งผู้ใช้งานในการอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงิน และสำหรับฝั่งผู้ให้บริการทั้งด้านความสะดวกในการรับเงินและเก็บข้อมูลธุรกรรมไว้ใช้ขอสินเชื่อต่างๆ ในส่วนของร้านค้าและบริษัทก็ได้รับผลประโยชน์เช่นกันในการช่วยดำเนินให้ธุรกรรมและการชำระเงินเป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
KBank ธนาคารระดับแนวหน้าของไทย ได้เข้าลงทุนใน Grab เป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์ใน Series H ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อดำเนินการจัดทำ GrabPay by KBank ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ KBank ที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมากในบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจหลักอยู่นอกประเทศ
HSBC - Grab
ในฝั่งของธนาคารรายใหญ่จากฮ่องกงอย่าง HSBC ก็ได้ลงทุนใน Grab เป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านดอลลาร์
หลังจาก KBank ได้ลงทุนไปใน Grab ทาง SCB ก็ได้เผยก้าวสำคัญตามมาติดๆ ด้วยการลงทุนครั้งสำคัญใน GOJEK พร้อมผนึกพันธมิตรทางธุรกิจกับ GET ในประเทศไทย การร่วมงานครั้งนี้ก็เพื่อสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนขับ ร้านค้า และผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน และเราจะได้เห็นการใช้ GET PAY ผ่านทางแอปพลิเคชัน SCB EASY
Mitsubishi UFJ Financial Group - Gojek Series F
Mitsubishi UFJ Financial Group หนึ่งในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นก็ได้ลงทุนใน Gojek เช่นกัน โดยความร่วมมือครั้งนี้ก็เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการของทั้งสองบริษัท
ผู้ให้บริการชื่อดังทางการเงินอย่าง VISA ได้ลงทุนในระดับ Series F แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยจำนวนของเงินลงทุนออกมาให้ทราบ โดยมุ่งเน้นไปที่การผลักดัน Cashless Payment ผ่านระบบ Ewallet GoPAY
Tokyo Century - Grab
Tokyo Century ผู้ให้บริการทางการเงินสัญชาติญี่ปุ่น ก็คืออีกหนึ่งผู้ลงทุนที่เข้าลงทุนใน Grab มาโดยตลอด ซึ่งจำนวนเงินล่าสุดคือ 175 ล้านดอลลาร์ใน Series H
***อัปเดตข้อมูล
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ประกาศว่ากรุงศรี ฟินโนเวต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ได้ลงทุนใน Grab Holdings Inc. หรือ Grab ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซุปเปอร์แอป (Super App) ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อนหน้านี้ MUFG ได้ประกาศถึงการลงทุนใน Grab ด้วยจำนวนเงินสูงสุดถึง 706 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านธุรกิจการเงินในเครือข่าย ได้แก่ MUFG Bank MUFG Innovation Partners และกรุงศรี ฟินโนเวต
เมื่อธุรกิจค้าปลีกก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลนี้ การเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ใช้ใหม่ๆ และออกแบบผลิตภัณฑ์บริการที่ตอบโจทย์ ล้วนเป็นปัจจัยที่น่าสนใจในการจะร่วมลงทุนไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกันในรูปแบบอื่นๆ
Central Group ผู้นำค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ลงทุนใน Grab ไปกว่า 2 ล้านดอลลาร์ การลงทุนนี้ก็เพื่อผลักดัน Central Group ให้ก้าวขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ New Central, New Economy และตั้งเป้ามุ่งผลักดัน 3 บริการหลัก
ด้วยความเกี่ยวข้องในด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว การลงทุนใน Startup ที่มีอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกันจึงเป็นการร่วมงานที่คุ้มค่า เราจะได้เห็นแพ็กเกจการท่องเที่ยวและการลดราคาต่างๆ ในแพลตฟอร์มของทั้งสองฝั่งนี้ แลกเปลี่ยนการขายสินค้าและบริการเพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้า
อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง โดย Booking Holding บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มบริการจองโรงแรมที่เราคุ้นเคยอย่าง Agoda KAYAK และ Booking.com ได้ลงทุนใน Grab เป็นจำนวน 200 ล้านดอลลาร์ ใน Series H การลงทุนครั้งนี้จะสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnership) โดยจะมีการพัฒนาให้เรียกใช้บริการในเครือ Booking Holdings เช่น จองที่พัก ผ่านแอป Grab และชำระเงินผ่าน GrabPay ได้ในอนาคต
Qunar.com - Grab
Qunar.com เว็บไซต์ผู้ให้บริการจองที่พักและแพ็กเกจท่องเที่ยวรายใหญ่ในจีน เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มของจีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่ง Qunar.com ก็เข้าร่วมลงทุนกับ Grab ใน Series C เช่นกัน
กลุ่มยานยนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับ Startup สาย Ride-hailing ทั้งในทางตรงอย่างการที่บริการขนส่งนั้นต้องมียานพาหนะในการบริการ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจยานยนต์ในการผลิตรถยนต์ที่เหมาะสมกับการให้บริการ และสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีร่วมกันซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Autonomous Vehicle หรือรถยนต์ไร้คนขับซึ่งน่าจะเป็นเทรนด์ที่จะกำลังจะมาในอนาคตนี้
Yamaha Motor ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ลงทุนใน Grab เป็นเงินจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ใน Series H การร่วมมือกันนั้นก็เพื่อขยายฐานตลาด Ride-hailing ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Honda Motor - Grab
นอกจากนี้ยังมี Honda Motor ที่ร่วมลงทุนเช่นกัน โดยล่าสุดอยู่ใน Series F ซึ่งการลงทุนมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกันเชิงกลยุทธ์ และเพิ่มประโยชน์ให้กับผู้ใช้ GrabBike ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Toyota Motor Corporation - Grab
ฝั่งของ Toyota Motor เรียกได้ว่าลงทุนไม่อั้น เพราะล่าสุด ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และเข้าไปจับมือพัฒนาหลากหลายบริการร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือการขยายบริการร่วมโดยสาร
ด้านยานยนต์จากเกาหลีใต้อย่าง Hyundai Motor อีกหนึ่งผู้ลงทุนใน Grab ซึ่งได้เข้าลงทุนไปด้วยจำนวนเงิน 25 ล้านดอลลาร์ ใน Series G โดยความร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ให้สามารถใช้ได้จริงในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเริ่มต้นในประเทศสิงคโปร์ รวมถึงสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าให้มีความครอบคลุม
Mitsubishi Motor - Gojek
Mitsubishi Motors ธุรกิจสายยานยนต์ ได้เข้าลงทุนใน Gojek เช่นกันและปัจจุบันอยู่ในรอบ Series F สำหรับเป้าหมายการลงทุนก็เพื่อพัฒนาบริการขนส่งอาหารและบริการ Ride-hailing ในอินโดนีเซีย
เช่นเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงิน การลงทุนและร่วมมือกันจะช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลในการนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ได้อีกด้วย
Ping An Capital - Grab
Ping An Capital คือหนึ่งในผู้นำธุรกิจประกันภัยรายใหญ่ ที่ลงทุนใน Series H ด้วยจำนวนเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ร่วมกับ Naver ยักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้
Allianz X - Gojek
Alianz X บริษัทย่อยของ Alianz บริษัทด้านการเงินและการประกันภัยจากเยอรมนี เข้าลงทุน Gojek ใน Series E ซึ่งการลงทุนก็ได้เน้นไปที่ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์
เมื่อเป็นธุรกิจประเภท Startup คงหลีกหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยี ความล้ำหน้าและนวัตกรรมคือปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการ อีกทั้งข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันนั้นจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เราอาจจะได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตนี้
Experian Venture - Grab
บริษัทด้าน IT Solution ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยยีมาอย่างยาวนาน ก็ได้ร่วมลงทุนในรอบ Series H
Microsoft - Grab
Microsoft เองก็ได้มีการลงทุนกับ Grab โดยที่การลงทุนมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันไม่ว่าจะเป็นด้าน Big Data หรือ AI ซึ่งปัจจุบันก็มีการลงทุนอยู่ในรอบ Series H
Emtex Group - Grab
บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่แห่งอินโดนีเซีย โดยจากรายงานล่าสุดได้เผยถึงการเข้าสู่หุ้น 0.003% ใน Grab
Google เป็นอีกหนึ่งผู้ลงทุนใน Gojek ที่ถูกจับตามอง ด้วยการมองเห็นฐานผู้ใช้งานจำนวนมากในอินโดนีเซีย และรวมไปถึง Startup ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจำนวนมากในอินโดนีเซีย ซึ่งนี่อาจหมายถึงโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและนวัตกรรมอีกมากมายในอนาคต
Tencent คืออีกบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนอย่างแท้จริง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่คุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง WeChat, Sanook และ JOOX เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่ครองตลาดเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ เพราะเราได้เห็นการลงทุนของ Tencent ในหลากหลายบริการและผลิตภัณฑ์ และหนึ่งในนั้นก็คือ Gojek ล่าสุด ได้มีการเข้าลงทุนใน Series F
JD.com - Gojek Series F
JD.com บริษัทแพลตฟอร์ม E-Commerce รายใหญ่อันดับต้นๆ ในจีน และยังเปิดบริการอื่นๆ อีกมากมายคืออีกหนึ่งผู้ลงทุนที่เข้ามาร่วมใน Gojek และล่าสุดในลงทุนอยู่ใน Series F
Rakuten - Gojek Series D
Rakuten แพลตฟอร์ม E-Commerce จากฝั่งญี่ปุ่น ได้ลงทุนใน Gojek โดยล่าสุดอยู่ใน Series D
Didi Chuxing - Grab
แพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Ride-hailing ยักษ์ใหญ่จากจีนที่เอาชนะ Uber มาแล้ว คืออีกหนึ่งในผู้ลงทุนใน Series G ซึ่งเป้าหมายก็เพื่อร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมและขยายตลาดให้กว้างขึ้น
นอกเหนือจากกลุ่มภาคธุรกิจหลักต่างๆ แล้ว ยังมีนักลงทุนอีกหลากหลายรายอย่างเช่นกลุ่มบริษัทในเครือต่างๆ ที่มองเห็นการเติบโตของสองยูนิคอร์นนี้ และได้เริ่มมีการเข้าลงทุน
SoftBank บริษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารสัญชาติญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งองค์กรใหญ่ที่เราได้เห็นข่าวของการลุงทุนใน Grab มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด SoftBank ได้มีข่าวการลงทุนใน Grab เพิ่มเป็นจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์
PT Astra Otoparts Tbk - Gojek
PT Astra Otoparts Tbk คือกลุ่มธุรกิจส่วนประกอบยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่ยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทได้มีธุรกิจในเครืออยู่เป็นจำนวนมาก ได้เข้าลงทุนใน Gojek และล่าสุดอยู่ในรอบ Series E
นอกจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เราได้นำมาจัดเข้ากลุ่มเพื่อให้เห็นภาพแล้วยังมีอีกหลากหลายนักลงทุนอย่าง Openspace ventures, Sequoia Capital India ลงทุนใน GoJek และ CGV Capital, 500Startups, Vertex Venture ที่เข้าลงทุนใน Grab
โดยข้อมูลที่นำเสนอไปนั้นไปเพียงกลุ่มผู้ลงทุนตัวอย่างที่ทาง Techsauce ได้เลือกมาจัดกลุ่มให้เห็นภาพอย่างชัดเจนขึ้นเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม : ย้อนรอยธุรกิจยักษ์ใหญ่จีนกับการขยายสู่ตลาด SEA ใครซื้อใคร ใครลงทุนในใคร
อ้างอิงข้อมูล:Crunchbase1, Crunchbase2, Asia.nikkei.com, Inc42.com, Reuters.com
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด