ทางเลือก Startup ฮ่องกง เมื่อสถานการณ์ประท้วงยังทวีความรุนแรง | Techsauce

ทางเลือก Startup ฮ่องกง เมื่อสถานการณ์ประท้วงยังทวีความรุนแรง

สถานการณ์ทางการเมืองของฮ่องกงที่ตึงเครียดอย่างไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งกับธุรกิจเล็กและใหญ่ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่หล่นฮวบในหลายเดือนที่ผ่านมา แน่นอนว่า Startup ที่ตั้งถิ่นฐานในฮ่องกงก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่มันรุนแรงขนาดเท่าที่เราเห็นจากในภาพข่าวหรือไม่ และผู้ประกอบการที่นั่นมีวิธีรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร

Techsauce ได้ชวน James Kwan ผู้บริหาร Jumpstart สื่อด้าน startup ของฮ่องกง มาพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงผ่านมุมมองของคนในประเทศ และคาดการณ์อนาคตของ Startup Ecosystem ในฮ่องกงหลังจากนี้ 

ฟัง Podcast ฉบับเต็มได้ที่:  
Spotify : https://spoti.fi/37JVmyg 
Podbean : https://bit.ly/2OOY24V 
SoundCloud : https://bit.ly/2KZ5HwD 

จิตวิทยาที่เปลี่ยนไปในฮ่องกง

การประท้วงบนถนนอย่างยาวนานและภาพความรุนแรงที่ปรากฎทางหน้าสื่อ ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกไม่กล้าเดินทางไปฮ่องกง ยอดขายของในร้านค้าต่างๆ ลดลงกว่า 25% จากปีที่แล้ว ซึ่งภาคท่องเที่ยวของฮ่องกงถึงกับกล่าวว่าสถานการณ์ในประเทศขณะนี้วิกฤตกว่าช่วงโรคซาร์สระบาดเสียอีก โดยโรงแรมในเมืองส่วนใหญ่มีห้องว่างถึง 70%

James Kwan กล่าวว่า สถานการณ์และภาวะด้านการท่องเที่ยวที่แย่มากแบบนี้ส่งผลตรงกับธุรกิจโดยเฉพาะกับร้านเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ย่าน Tsim Sha Tsui เป็นอย่างมาก

"ความรู้สึกของคนทำธุรกิจในฮ่องกงเปลี่ยนไปไปแล้ว มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเห็นว่าธุรกิจบางอย่างได้รับผลกระทบ คุณก็จะเริ่มระวังมากขึ้นในการใช้เงินหรือลงทุนทำอะไรที่ไม่สำคัญมากในตอนนี้" 

ในช่วง 11 ปีที่ James ทำงานและอยู่ในฮ่องกงมา เขายอมรับว่าไม่เคยเห็นสถานการณ์และระดับความเชื่อมันที่อยู่ในระดับต่ำขนาดนี้มาก่อน ซึ่งสิ่งที่แย่ที่สุดคือท่าทีที่ไม่มีวี่แววจะจบสิ้น และตัวเขาเองก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าสถานการณ์นี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ มันเป็นปัญหาหลักของภาคธุรกิจโดยรวม ล่าสุดมีบริษัทปิดกิจการไปแล้วกว่า 7,000 แห่ง 

Startup ฮ่องกง ปรับตัวอย่างไร?

Startup ecosystem ในฮ่องกงมีลักษณะที่ยืดหยุ่นและแข็งแกร่งพอสมควร ซึ่งก็เหมือนกับที่อื่นๆ ในโลกที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อให้อยู่รอด 

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อ Startup ในฮ่องกงเช่นกัน อย่างเช่น งาน RISE ที่เป็น Tech Conference ประจำปีของฮ่องกงก็เพิ่งประกาศงดจัดงานในปี 2020 ซึ่งแน่นอนว่านั่นส่งผลต่อ startup ที่ลงทุนเตรียมพร้อมไปร่วมงานหรือเตรียมออกบูธไปแล้ว จึงทำให้ startup บางเจ้าต้องหาหนทางอื่นในการเข้าสู่ตลาดเอเชียแทน 

จิตวิทยาของ startup ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน startup บางรายเริ่มมองหาทางหนีทีไล่ในตลาดต่างประเทศ "ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนกำลังจะย้ายไปกันหมด แต่ startup บางรายน่าจะมีการเริ่มพูดคุยถึงเรื่องนี้แล้วอย่างแน่นอน"  

James มองว่าความสามารถในการเอาตัวรอดของแต่ละ startup นั่นขึ้นอยู่กับทีมผู้ก่อตั้ง และจากที่ได้สัมผัสกับหลายๆ ทีมมา เขาคิดว่ามี startup ไม่น้อยที่กำลังมองหาโอกาสและทรัพยากรนอกฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง การตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่อื่น 

ตอนนี้ Startup ไม่สามารถหวังพึ่งนักลงทุนในฮ่องกงได้เท่าไหร่นัก เพราะทุกคนก็ระมัดระวังเรื่องการใช้เงินเป็นอย่างมาก พวก Angel ก็อาจจะหยุดการลงทุนในช่วงนี้ไปเลย ดังนั้น startup จึงต้องมองหาแหล่งเงินทุนอื่น อาจจะเป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป   

"ทางออกที่เซฟที่สุดอาจจะเป็นประเทศสิงคโปร์" 

ความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในยามวิกฤต

James กล่าวว่า ปกติแล้วรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือธุรกิจอยู่เสมอ แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนอะไรออกมาว่าจะช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง 

กลายเป็นว่าภาคเอกชนกลับมีส่วนร่วมและขยับตัวเพื่อยื่นมือมาช่วยเหลือเร็วกว่ามาก บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ New World Development ได้บริจาคที่ดินของบริษัทกว่า 20% เพื่อสร้างเป็นบ้านในราคาที่จับต้องได้สำหรับรองรับในอนาคต ส่วน Henderson ก็ได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างน่าเซอร์ไพรซ์สำหรับ James เขามองว่าปกติแล้วพวกบริษัทเหล่านี้ มักให้ความสำคัญแต่กับเรื่องการทำกำไรอยู่เสมอ แต่ในสถานการณ์นี้มันต่างออกไป

อย่างไรก็ตาม มันต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่ความช่วยเหลือจะลงไปถึงทุกภาคส่วนได้ ซึ่งทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต่างทราบดีถึงตัวเลข GDP ที่กำลังลดลงและกำลังเร่งหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไข 

นักท่องเที่ยวต้องติดตามสถานการณ์อย่างไร? 

สำหรับหลายคนที่จะเดินทางไปฮ่องกง สามารถใช้แอปที่เรียกว่า Telegram เพื่อติดตามสถานการณ์การประท้วงในแต่ละพื้นที่ เป็นแอปที่ผู้ประท้วงและคนฮ่องกงใช้อยู่ประจำ โดยการเข้ารหัสข้อความที่ส่งระหว่าง User และซ่อนเบอร์โทรศัพท์ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้เพื่อป้องกันการตรวจสอบจากรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ประท้วงจะประกาศสถานที่ในการรวมตัวครั้งต่อไปผ่านทางแอปนี้ 

James ย้ำว่านักท่องเที่ยวไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะภาพที่ออกไปทางสื่อคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแค่บริเวณหนึ่งในฮ่องกงเท่านั้น 

"ทุกอย่างยังดำเนินไปอย่างปกติในอีก 90% ของพื้นที่"

รัฐบาลมีการประกาศอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการประท้วงเกิดขึ้นที่บริเวณไหนบ้าง และในฝั่งของผู้ประท้วงเองก็มีความพยายามอธิบายสถานการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวเข้าใจ โดยไม่มีการทำอันตรายใดใดที่กระทบกับนักท่องเที่ยว

ซึ่งหากมองอีกด้าน James กล่าวว่านี้คือโอกาสที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวในการซื้อของราคาพิเศษ อย่างเช่น โรงแรมต่างๆ ที่ลดราคาลงและให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมมากมายเพื่อดึงดูดให้คนไปพัก 

James ปิดท้ายด้วยอารมณ์ขันว่า "นี้คือช่วงเวลาที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์ฮ่องกง หากมองในแง่ดีนี่คือโอกาสได้เห็นฮ่องกงราคาถูกลงบ้าง" 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...