หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของบรรดา Startup ก็คือการที่จะ Exit อาจจะด้วยวิธีการถูก Acquire จากบริษัทใหญ่ๆ หรือจะเป็นการออก IPO เข้าสู่ตลาดทุนอย่างเต็มรูปแบบ แต่แน่นอนว่าการที่จะไปสู่ในระดับนั้นได้ บริษัทของคุณคงต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องมีการเติบโต และสิ่งที่ต้องการก็คงเป็นเงินลงทุนซึ่งก็มีอยู่หลายระดับ และเราก็จะไปรู้จักกับขั้นต่างๆ เหล่านั้นให้ดีขึ้น ถึงความหมาย จำนวนเงิน และจุดประสงค์ของการได้รับเงินทุนเหล่านั้น
ระดับ Seed Fund – ค้นหาจุดที่ลงตัวระหว่างตัวผลิตภัณฑ์ หรือบริการของคุณกับผู้ใช้งาน
สำหรับทุนระดับ Seed Fund นั้น มักจะมีวัตถุประสงค์ไปสำหรับ บริษัท Startup ที่จะคิดออกผลิตภัณฑ์ หรือทำการสร้างตลาดเบื้องต้น โดยปกติรอบของ Seed Fund มักจะเหมาะกับบริษัทที่มีพนักงานไม่กี่คน และโดยมากจะเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท ที่เพิ่งเริ่มสร้างและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวแรกออกมา ซึ่งหากผลิตภัณฑ์นั้นได้รับความนิยมเพิ่ม ก็เป็นสัญญาณที่จะต่อในระดับ Series A ต่อไป
ซึ่งตัวเงินสำหรับระดับของ Seed Fund นั้นจะอยู่ในช่วงระหว่าง 2.5 แสน ถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 8 ล้านถึง 66 ล้านบาท) แต่ส่วนมากเรามักมีโอกาสเห็นการสนับสนุนในระดับ Seed Fund อยู่ที่เม็ดเงินไม่เกินหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 33 ล้านบาท) และคนที่มักจะมาสนับสนุนเงินทุนเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่ม Angel หรือกลุ่มที่เป็น Early Stage VC
ระดับ Series A – การปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อรับกับรูปแบบของธุรกิจที่เหมาะสม (กับตลาดจริงๆ)
สำหรับระดับการสนับสนุนรอบที่เรียกว่า Series A นั้น จะเห็นได้ในกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการด้านเงินทุนที่สูงขึ้น เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ อย่างเช่น Startup ต้องการที่จะออกผลิตภัณฑ์หรือขยายการกระจายตัวเข้าสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น หรือจะขยายตัวไปสู่ตลาดใหม่ รวมไปถึงการปรับรูปแบบทางธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับตลาดที่จะใหญ่ หรือกว้างขึ้นเป็นต้น
แน่นอนว่า Series A นั้นอยู่เหนือกว่าระดับ Seed Fund นั่นหมายถึงเม็ดเงินในการสนับสนุนก็จะสูงตามไปด้วย โดยเม็ดเงินก็จะเกินกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 66 ล้านบาท) ขึ้นไป จนถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 5 ร้อยล้านบาท) แต่ส่วนมากก็จะเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1-2.3 ร้อยล้านบาท) โดยมีตัวอย่างที่เราหลายๆ คนรู้จักเป็นอย่างดีที่เคยได้รับเงินสนับสนุนในรอบนี้อย่างครั้งที่ Benchmark ให้การสนับสนุนกับทาง Uber และ Instagram (ก่อนที่พวกเขาจะโดน Facebook ซื้อไปด้วยมูลค่าราวพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท)
และคนที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนด้วยเม็ดเงินระดับนี้ คงมิใช่เพียงแค่ Angel ธรรมดา เพราะเม็ดเงินดูเหมือนจะต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น กลุ่มบริษัท VC ใหญ่อย่าง Sequoia, A16Z, Benchmark, Accel, Greylock, Battery, CRV, Matrix และบริษัทอื่นๆ เป็นต้น แต่ใช่ว่ากลุ่ม Angel จะไม่มีสิทธิ์ที่จะมาสนับสนุนนะครับ การที่พวกกลุ่ม Angel ร่วมกันลงเงินสนับสนุนก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน เพียงแต่อำนาจในการต่อรองของกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มากเท่าบริษัทใหญ่เท่านั้น
ระดับ Series B – ถึงเวลาขยายบริษัทให้ใหญ่แล้ว
มาถึงระดับที่สูงขึ้นไปอีกขั้น อย่าง Series B ที่ด้วยเม็ดเงินมหาศาลขนาดเกินกว่าสิบล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 330 ล้านบาท) ขึ้นไป จุดประสงค์หลักๆ ก็คงเป็นไปเพื่อการขยายขนาดของบริษัทเมื่อถึงเวลาอันสมควร หรือบ้างก็อาจจะเป็นไปเพื่อการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตในระดับที่ใหญ่กว่าประเทศหรือภูมิภาค รวมไปถึงการต้องการที่จะนำเงินไปเพื่อเข้าซื้อบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับธุรกิจของบริษัทนั้นๆ
ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยเห็น Ookbee ที่ได้เม็ดเงินกว่า 200 ล้านบาทจาก Trancosmos หรือจะเป็นทาง Rovio เองที่เป็นเจ้าของเกมฮิตอย่าง Angry Birds ก็เคยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท Accel ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.3 พันล้านบาท) โดยกลุ่มที่ให้เงินสนับสนุนในระดับนี้นั้นยังมีไม่มากนัก ซึ่งก็จะมีบริษัทในกลุ่มเดียวกับที่สนับสนุนในระดับ Series A รวมถึงบริษัทอย่าง IVP, GVVC, Meritech, DAG และอีกหลายๆ บริษัทที่เริ่มจะมีข่าวในการสนับสนุนในระดับนี้ด้วยเช่นกัน
ระดับ Series C – ด้วยเม็ดเงินที่มหาศาลเพื่อการขยายตัวที่ยิ่งใหญ่
ในระดับ Series C มักจะถูกได้รับการสนับสนุนเพื่อที่จะเน้นการลงทุนที่เหนือกว่าในระดับ Series B ไปอีกขั้น เช่นเร่งการเติบโตของบริษัทให้มากขึ้น การมุ่งหน้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงการไล่ซื้อบริษัทอื่นๆ คล้ายกับ Series B แต่จะมีความเข้มข้นมากยิ่งกว่า
และเม็ดเงินก็อาจจะมีสิทธิ์สูงถึงหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.3 พันล้านบาท) ขึ้นไปได้เลยทีเดียว และบริษัทที่จะมาสนับสนุนเม็ดเงินระดับนี้ได้นั้น มักเป็นกลุ่มทุนที่มักจะลงทุนโดยองค์กรที่เป็น private equity firm กลุ่มกองทุนป้องกันความเสี่ยง ชื่อบริษัทที่เรามักจะคุ้นๆ หูก็อย่างกลุ่ม Goldman Sachs, Morgan Stanley, DST, Tiger และกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนต่างๆ
แม้ว่าตัวเลขอาจจะไม่ได้มีความแน่นอนถึงการสนับสนุนในระดับต่างๆ และในแต่ละภูมิภาคอาจมีการนิยามที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ทีมงานนำมาบอกเล่าให้บรรดา Startup ไทยได้มีข้อมูลไว้อ้างอิงเพิ่มเติม สุดท้ายทีมงาน thumbsup ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับ Startup ไทยทุกราย เราจะยังอยู่เคียงข้าง ขอเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่สนับสนุนเพื่อนำพาสู่ความสำเร็จร่วมกันต่อไปนะครับ
ที่มา: Elad Blog
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ thumbsup.in.th
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด