ESOP การจัดสรรหุ้นให้พนักงาน ของ Startup ทำกันอย่างไร แชร์ประสบการณ์ตรงจาก Blockfint | Techsauce

ESOP การจัดสรรหุ้นให้พนักงาน ของ Startup ทำกันอย่างไร แชร์ประสบการณ์ตรงจาก Blockfint

Blockfint ฟินเทคสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชันแบบ System Software ด้วยเทคโนโลยี Blockchain นำระบบการจัดสรรหุ้นให้พนักงาน ที่เรียกว่า Employee Stock Ownership Plan  หรือ ESOP มาใช้ในองค์กร เพื่อให้พนักงานสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้

ESOP

จุดตั้งต้นของ ESOP ที่ Blockfint

คุณสุทธิพงศ์ กนกากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด เล่าถึงการให้หุ้นแก่พนักงาน เป็นสิ่งที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศที่รู้จักกันดีในชื่อ ESOP ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2517 และใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันมีประมาณ 11,000 บริษัทที่มีการใช้ ESOP และพนักงานกว่า 8 ล้านคนมีส่วนเกี่ยวข้อง และด้วยประสบการณ์ตรงที่ได้ทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์มากว่า 20 ปี แล้วได้รับประโยชน์จาก ESOP ว่าสามารถสร้างมูลค่าให้พนักงานได้ เลยนำวัฒนธรรมการถือหุ้นของพนักงานแบบอเมริกามาใช้กับบล็อคฟินท์

 “ผมไปทำงานอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์มาตั้งแต่ปี 2536 และได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง ESOP ที่ให้หุ้นแก่พนักงาน เพื่อดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้มาทำงานด้วย โดยการให้หุ้นกับพนักงานเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ร่วมกัน เพราะการแข่งขันของบริษัทที่นั่นมีสูงมาก บริษัทขนาดเล็ก ที่แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีดี ๆ แต่อาจจะสู้ค่าตอบแทนกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้ เลยมีแนวคิดเรื่อง ESOP นี้ออกมาซึ่งคนสมัครงานก็จะตัดสินใจเลือกว่าอยากจะรับเงินเดือนก้อนใหญ่ ๆ หรือเลือกรับเงินเดือนกับบริษัทขนาดย่อมลงมาที่จ่ายน้อยกว่า แต่มีโอกาสถือหุ้นในบริษัทที่กำลังเติบโตมี value สูง ๆ ที่อาจจะทำกำไรให้ได้ในอนาคต”

“การที่บล็อคฟินท์นำ ESOP มาใช้กับพนักงาน เพราะอยากให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัท ผมเชื่อในวัฒนธรรม sense of ownership อย่างมากว่าจะช่วยให้บริษัทเติบโตและประสบความสำเร็จ เพราะหากบริษัทเติบโต หุ้นที่พวกเขามีก็จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นไปด้วย  สิ่งที่ตามมาคือจะทำให้เขาตั้งใจทำงานมากขึ้น หรือช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง แล้วก็อยู่กับบริษัทนานขึ้นด้วย โดยไม่มีการจำกัดว่าหุ้นที่จะจัดสรรต้องเป็นเฉพาะผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น เพราะทุกคนในบริษัทควรจะได้มีสิทธ์ได้รับตามสัดส่วนในการทำงาน”

สำหรับ ESOP ที่บล็อคฟินท์ จะใช้วิธีให้ Stock Option ทุกปีกับพนักงานที่มีผลงานดี โดยราคาก็จะเป็นไปตามราคามูลค่าตามบัญชี (Book Value) ของบริษัท ซึ่งจะถูกกว่าราคาที่นักลงทุนจะจ่ายเงิน จำนวนของหุ้นที่ได้จะไม่เท่ากัน ขึ้นกับมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ขายให้นักลงทุนได้ในตอนนั้น  อีกทั้งยังเปิดให้พนักงานเลือกได้ด้วยว่าจะเอาเงินเดือนน้อยลง แล้วเอาหุ้นที่มีมาใช้เป็นราคาสิทธิ์ (exercise price) ที่มากขึ้นได้ โดยปริมาณหุ้นที่บล็อคฟินท์กันเอาไว้สำหรับพนักงานนั้นสูงสุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ 

“ผมมองว่า ESOP เป็นเครื่องวัดทัศนคติในการทำงานอีกแบบหนึ่ง เพราะบล็อคฟินท์ต้องการพนักงาน ที่รับความเสี่ยงได้บ้าง และรู้จักที่จะคำนวณความเสี่ยง มีความเข้าใจว่าต้องช่วยกันทำงาน เพื่อเป้าหมายในการเติบโตของบริษัท โดยผมตั้งเป้าไว้สำหรับ software engineer เก่ง ๆ ว่าอยากให้เขาได้จับเงิน 10 ล้านหรือมากกว่านั้นจาก Stock Option ในระยะเวลา 4-6 ปี ซึ่งผมก็หวังว่าถ้าเราประสบความสำเร็จขึ้นมา พนักงานเราจะเอาเงินที่ได้มาไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” คุณสุทธิพงศ์ กล่าวเสริม

ESOP

การสร้างบรรทัดฐานของเส้นทางอาชีพให้กับ software engineer 

คุณสุทธิพงศ์ ยังเผยถึงมุมมองเกี่ยวกับคนทำงานสาย Tech ซึ่งเป็นสายงานหลักของบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยว่า คนทำสายนี้ หรือคนเขียน Software อย่าง software engineer ที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทยยังขาดแคลน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาชีพนี้เท่าที่ควร ทำให้คนที่อยู่ในสายงานนี้ผลตอบแทนไม่สูง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนสายงาน บล็อคฟินท์จึงต้องการสร้างบรรทัดฐานให้สตาร์ทอัพในเมืองไทยให้คุณค่าแก่คนทำงานและสร้าง career path ที่ดีให้กับคนทำงานด้านนี้ ด้วยการนำระบบ ESOP มาใช้ เพื่อให้คนกลุ่ม Tech สามารถเติบโตในสายงานของตัวเองโดยไม่ต้องย้ายตัวเองไปทำงานอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 

“สิ่งที่ผมทำไป ไม่ใช่แค่เฉพาะบล็อคฟินท์เท่านั้น แต่ผมมุ่งหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานในประเทศไทยด้วย ผมอยากสร้างตัวอย่างให้ธุรกิจเห็นความสำคัญของคนทำงานสาย tech หรือ software engineer มากขึ้น หากบริษัทสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจอื่น ๆ นำ ESOP เข้ามาใช้ ก็จะสามารถช่วยดึงมาตรฐานของคนเขียนซอฟต์แวร์ และเพิ่มปริมาณคนด้านนี้ในระยะยาว  อีกทั้งจะทำให้คนเก่ง หันมาเขียนโค้ดมากขึ้น” คุณสุทธิพงศ์กล่าวสรุป


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...