เราจะใช้ Hook model ทำให้คนชอบซื้อขายบ้านได้หรือไม่ | Techsauce

เราจะใช้ Hook model ทำให้คนชอบซื้อขายบ้านได้หรือไม่

เนียร์ อียาร์ (Nir Eyal) ถูกกดดันในงานรวมตัวของเหล่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์

เนียร์ อียาร์เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีที่ชื่อว่า Hooked : How to Build Habit-Forming Products หนังสือเล่มนี้จะบอกเราถึงวิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้คนใช้ติดหนึบโดยเขานำหลักในการสร้างนิสัยมาปรับใช้เข้ากับการสร้างผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ เน็ตฟลิกซ์ ต่างก็มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ มันสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเราได้ ดังนั้นถ้าเราเข้าใจหลักการเปลี่ยนพฤติกรรม ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็นเฟซบุ๊กหรือไอโฟนตัวต่อไป 

หนังสือ Hooked ได้อธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนทำให้เรารู้สึกจับต้องได้และไม่น่ายากเกินไปที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน

เหล่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์ก็คิดแบบนี้เช่นกัน

พิธีกรเป็นคนทำให้คุณอียาร์เครียดจนเผลอหยุดหายใจ พิธีกรกล่าวเชิญเขาขึ้นเวทีแล้วเกริ่นกับทุกคนในงานประมาณว่าคุณอียาร์ผู้นี้เป็นผู้วิเศษที่จะทำให้ผู้คนมีนิสัยชอบซื้อขายบ้านเหมือนกับที่ชอบไถหน้าฟีดเฟซบุ๊ก 

ถ้าทำได้ขนาดนั้นคนเป็นนายหน้าฯคงได้นับเงินจนมือเป็นตะคริวกันแน่ๆ แต่จากที่คุณอียาร์เครียดขนาดนี้เราคงเดาได้ว่าเรื่องแบบนั้นมันเกินจริง คุณอียาร์จึงบอกไปตรงๆว่า "ผมต้องขอโทษด้วย”

"มันต้องมีการเข้าใจผิดกันแน่ๆ" คุณอียาร์กล่าวต่อ "ไม่มีทางที่ผมจะสอนวิธีการสร้างนิสัยชอบซื้อขายบ้านได้หรอกนะครับ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีโอกาสที่จะกลายเป็นนิสัยได้เลย"

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจคำว่านิสัยกันก่อน

นิสัยคือพฤติกรรมที่เราได้ทำลงไปโดยที่ไม่ต้องใช้หรือใช้ความคิดน้อยมาก แต่ในเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เราต้องผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดีแล้วทำการตัดสินใจซื้อขาย ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรียกว่านิสัย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการสร้างนิสัยตามแบบฉบับของ Hook model จะไม่มีประโยชน์กับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คุณอียาร์บอกว่ามันก็มีอยู่สองวิธีที่การสร้างนิสัยจะสามารถช่วยส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้ และไม่ใช่แค่อสังหาริมทรัพย์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ได้มีการซื้อหรือใช้กันบ่อยๆด้วย

สองวิธีนั้นก็คือ การสร้างเนื้อหา (Content) และการสร้างชุมชน (Community)

สร้างเนื้อหา

ในเมื่อเราไม่สามารถทำให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มีความถี่เท่ากับจำนวนครั้งที่เราเล่นเฟซบุ๊กได้ ดังนั้นการสร้างนิสัยจึงต้องใช้วิธีที่แตกต่าง

วิธีแรกที่คุณอียาร์แนะนำคือ สร้างนิสัยให้ผู้คนชอบบริโภคเนื้อหาชั้นยอด บริษัทที่มีเนื้อหาชั้นยอดออกมาอย่างสม่ำเสมอจะมีความโดดเด่นขึ้นมาในสายตาผู้บริโภค

นายหน้าฯสาวในงานคนหนึ่งแสดงความเห็นว่าเธอวางแผนจะสร้างเว็บไซต์และแอพลิเคชั่นที่มีเนื้อหาทั้งแบบบทความและวีดิโอพร้อมด้วยเครื่องมือคำนวณต่างๆ ที่จะมาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจซื้อขายบ้าน

คุณอียาร์เห็นด้วยกับวิธีนี้ ถ้าเธอสามารถสร้างนิสัยให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าเข้าเว็บไซต์เธอบ่อยๆ เธอก็มีโอกาสที่จะเป็นตัวเลือกแรกๆเวลาที่พวกเขาคิดจะทำการซื้อขายบ้าน ยิ่งเนื้อหาดีมากเท่าก็ไหร่ก็ยิ่งมีความน่าดึงดูด

Accelerator ชั้นนำอย่าง วายคอมบิเนเตอร์ (Y Combinator หรือ YC) ก็สร้างเสน่ห์ในช่วงแรกโดยการใช้เนื้อหา 

วายซีอยู่ในธุรกิจที่จะต้องเสาะหาธุรกิจที่พึ่งเกิดและช่วยพวกเขาให้กลายเป็นแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) หรือดร็อปบ็อกซ์ (Dropbox) ตัวต่อไป ความสำเร็จของวายซีขึ้นอยู่กับการค้นพบผู้ก่อตั้งชั้นยอดที่จะสามารถสร้างยูนิคอร์น (Unicorn) ได้ แต่วายซีเองก็ไม่มีทางรู้แน่ว่าสตาร์ทอัพตัวไหนจะเป็นยูนิคอร์น ดังนั้นวายซีจึงต้องพยายามให้ที่นี่รายล้อมไปด้วยเหล่าผู้ก่อตั้งไฟแรงอยู่เสมอและหวังว่าจะมีใครซักคนที่จะกลายเป็นระดับสุดยอด

แล้ววายซีจะดึงดูดผู้คนด้วยวิธีไหนกันล่ะ คำตอบก็คือ แฮคเกอร์นิวส์ (Hacker News)  

แฮคเกอร์นิวส์เป็นเว็บไซต์ของวายซีที่รวบรวมข่าวสารในวงการสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี เปิดตัวเมื่อปี 2007 ราวๆ 2 ปีหลังจากที่วายซีถูกก่อตั้งขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2016 มีผู้คนเข้าเว็บไซต์นี้ถึง 18.6 ล้านคน

แฮคเกอร์นิวส์ประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้ผู้คนเข้าร่วมในโปรแกรมของวายซี เหล่าผู้ใช้จะเข้าเว็บไซต์นี้กันทุกวันระหว่างเวลาที่เขียนโค้ดหรือไม่ก็ช่วงพักเบรกเพื่อหาข่าวล่าสุดของอุตสาหกรรมหรือสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้น ด้านล่างเว็บก็มีลิ้งค์ "Apply to YC" เพื่อชวนให้เข้าร่วมโปรแกรม นอกจากนี้วายซียังได้เพิ่มความเข้มข้นให้กับเนื้อหาด้วยการเปิดตัว The Macro แหล่งรวมคอนเทนต์ที่เขียนโดยทีมงานของวายซี

แฮคเกอร์นิวส์อาจจะไม่ใช่แกนหลักในการสร้างรายได้ของวายซีแต่มันทำให้ผู้คนต้องการบริโภคเนื้อหาจนเป็นนิสัยและจะเปลี่ยนให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้เข้าร่วมโปรแกรมต่อไป เรียกได้ว่าแฮคเกอร์นิวส์เป็นทรัพย์สินล้ำค่าของวายซีเลยทีเดียว

สร้างชุมชน

สินค้าอย่างเครื่องประดับวันงานคริสมาสต์อาจจะขายได้เพียงปีละครั้ง แต่ด้วยวิธีการสร้างชุมชนสามารถทำให้ฮอลมาร์ค (Hallmark) ที่ขายสินค้าแบบตามฤดูกาลมีคนอุดหนุนตลอดทั้งปี

Hallmark Keepsake Ornament Club เป็นแหล่งขายสินค้าตามฤดูกาล อย่างเช่น การ์ดวันเกิด ต้นคริสมาสต์ จุดเด่นของฮอลมาร์คนอกจากเรื่องตัวสินค้าแล้ว ความเหนียวแน่นของสมาชิกก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลายเป็นชุมชนที่แข็งแกร่ง

ฮอลมาร์คมีสาขาย่อยที่เป็นร้านท้องถิ่นกว่า 400 สาขาที่มีการบริหารจัดการโดยร้านฮอลมาร์คในระแวกนั้น ถ้าเป็นร้านค้าอื่นๆ การสมัครสมาชิกอาจจะทำให้คุณได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง แต่กับฮอลมาร์คนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้ได้รับสิทธิพิเศษ แต่ยังมีกิจกรรมที่จะเพิ่มความแน่นแฟ้นระหว่างสมาชิก

อย่างเช่นลินดาพนักงานร้านฮอลมาร์คใน Pleasanton, California เล่าว่าสาขาของเธอมีสมาชิกทั้งหมด 25 คนซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับสาขาอื่น แต่กลุ่มของเธอจะมีการพบปะและมีการแลกเปลี่ยนของระหว่างกันเสมอๆ

จุดเด่นอีกอย่างที่ช่วยส่งเสริมชุมชนก็คือตัวสินค้า ฮอลมาร์คจะมีสินค้าแบบใหม่ออกมาเสมอและสินค้าบางอย่างก็เป็นของน่าสะสมสำหรับเหล่าสมาชิก การที่สินค้าเป็นของน่าสะสมช่วยให้สมาชิกแต่ละคนมีความกระตือรือร้นที่จะทำการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนของกันมากยิ่งขึ้น

นายหน้าฯคนหนึ่งที่มาฟังคุณอียาร์ก็มีไอเดียในเรื่องนี้เช่นกัน เขาคิดจะรวบรวมอีเมล์หรือสร้างเว็บไซต์ให้กับผู้คนที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเขา

"ทุกๆ 2-3 วัน ผมจะทำให้ทุกๆคนรู้ว่ามีเหตุการณ์หรือกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้างบริเวณที่พวกเขาอาศัย มันอาจจะเป็นกิจกรรมชุมนุมหรือไม่ก็งานกีฬาของโรงเรียนมัธยมอะไรประมาณนั้น จากนั้นถ้าพวกเขาอยากเข้าร่วมด้วย พวกเขาก็สามารถทำได้ด้วยการเข้ากลุ่มออนไลน์ของเรา"

คุณอียาร์เห็นด้วยกับเขาและเชื่อว่าด้วยวิธีนี้น่าจะนำไปสู่การสร้างชุมชนได้และจะส่งเสริมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเขาไปได้สวย

===============

ยังดีที่เหล่านายหน้าฯเข้าใจว่าการทำให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้กลายเป็นนิสัยแบบที่คาดหวังตอนแรกเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และยังคงให้ความสนใจกับสิ่งที่คุณอียาร์เสนอ

คุณอียาร์แสดงให้เห็นว่าแม้บางครั้งเราไม่อาจนำวิธีการสร้างนิสัยมาใช้ได้โดยตรง แต่ถ้าเข้าใจหลักการสร้างนิสัยแล้วเราก็สามารถพลิกแพลงให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ของเราได้ 

การสร้างเนื้อหาและชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากับมัน มันเป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์กับคนที่จะเป็นลูกค้า เราจะไม่เห็นผลลัพธ์ในทันทีและอาจเกิดความสงสัยว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่ 

แต่ผลลัพธ์ของการสร้างความสัมพันธ์ก็คือรายได้ ลูกค้าจะซื้อของกับคนที่รู้สึกใกล้ชิดและใส่ใจ ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วการสร้างความสัมพันธ์จะนำมาซึ่งชื่อเสียง ความพึงพอใจ และยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 

===============

ข้อมูลอ้างอิง : 

https://medium.com/behavior-design/how-two-companies-hooked-customers-on-products-they-rarely-use-6bdfcb554c41

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...