ผู้อ่านหลายท่านในวงการ Startup น่าจะพอทราบว่าดาราชื่อดัง Ashton Kutcher เขาเป็นทั้งนักลงทุน และมีกองทุนที่จัดตั้งกับเพื่อนๆ ที่ลงทุนในธุรกิจ Startup อย่าง A-Grade Investments และมีหลายบริษัทที่อยู่ใน Portfolio ที่น่าสนใจของเขามากมาย อาทิ Spotify, Airbnb, Fab, Dwolla และ Uber ล่าสุด Ashton ออกมาเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ atrium Startup ตัวใหม่ของ Justin Kan (อดีต Partner ของ Ycombinator ที่เคยมาพูดในงาน Techsauce Summit ปี 2016) ว่าเหตุใดเขาถึงเลือกลงทุนในธุรกิจสายเทคโนโลยี ซึ่งบทความนี้เป็นคำแนะนำดีๆ กับนักลงทุนสามารถนำมาปรับใช้ได้ ในขณะที่ตัว Startup เองก็จะได้เข้าใจว่านักลงทุนเขามีมุมมองต่อคุณอย่างไร เราไปดูบทสรุปการลงทุนแนว Ashton Kucher กัน
รูปแบบการลงทุน
สำหรับ Ashton เขาไม่ได้เน้นว่าการลงทุนในธุรกิจ Startup นั้น ต้องอยู่ใน Stage ไหน ธุรกิจไหน แต่เน้นการลงทุนในธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหายากๆ ที่จะช่วยให้อนาคตเราดีขึ้น และนี่เป็นเป้าหมายพื้นฐานของเข
สูตรสำเร็จการลงทุน
เขากล่าวว่า กองทุนต่างๆ พยายามเน้นเรื่องทำอย่างไรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุง มีการใช้โมเดลที่มีความซับซ้อน ซึ่งแน่นอนผลสุดท้ายก็มีทั้งที่ได้ผลตอบแทนที่ดี และก็อาจจะไม่ สำหรับเขาแล้วไม่ได้มองในรูปแบบนั้นเสียทีเดียว เขาให้น้ำหนักกับ 2 สิ่ง คือ ผลตอบแทนให้กับ Limited Partner ของเขา : เงินกองทุนนี้สามารถทำผลตอบแทน 6-10 เท่าในระยะเวลา 5,8,10 ปีไหม แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเดียว อีกสิ่งหนึ่งคือ ความสุข ทั้งความสุขที่ทำงานร่วมกับคนเก่งๆ ที่กำลังแก้ปัญหาที่ท้าทาย เมื่อการทำงานแล้วมีความสุข เขาก็เชื่อว่ามันจะสะท้อนให้ผลลัพธ์ในการลงทุนที่ดีเช่นกัน โดยกองทุนแรกของเขามีผลตอบแทนอยู่ที่ 8-9 เท่า อย่างไรก็ตามตัวเขาเองก็เคยผิดพลาดจากการลงทุน แต่นั่นก็ทำให้เขามีประสบการณ์มากขึ้นไปด้วย สำหรับบริษัทที่เขาลงทุนนั้น บริษัทหลายแห่งคงไม่ได้ทำให้เกิดผลตอบแทนได้ถึง 100 เท่า แต่ก็ให้ผลตอบแทน 5-6 เท่าแต่เน้นที่การแก้ปัญหาสำคัญๆ ในสังคม
รู้ตัวเองว่าไม่รู้อะไร
ในช่วงที่ลงทุน มันเป็นเรื่องที่ยากจะรู้ว่าอนาคตของผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอย่างไร และจะสร้างรายได้เยอะแค่ไหน สิ่งสำคัญก็คือการดูที่คุณค่าของสิ่งที่ผลิตภํณฑ์นั้นมอบให้กับลูกค้านั้นนั้นดีมากพอไหม ถ้าใช่มันจะมีหนทางของพวกเขาในการสร้างรายได้เอง แต่ถ้าลงทุนโดยใช้โมเดลตามสูตรตัวเลขมาตรฐานแล้ว การลงทุนในลักษณะนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น เขาจำได้ว่าเมื่อ 8 ปีก่อนเขานั่งคุยกับที่ปรึกษาของเขาเอง และโดนถามว่า “จงเรียงลำดับบริษัท 10 บริษัทนี้บนกระดาษ โดยเรียงลำดับว่าบริษัทไหนที่คิดว่าจะมีมูลค่ามากที่สุด และเรียงลำดับบริษัทไหนที่ทำรายได้มากที่สุด” ปรากฎว่าผลคือ สิ่งที่เขาลองเรียงดูนั้นบริษัทที่เค้าคิดว่าทำรายได้น้อยที่สุดกับมีมูลค่าสูงสุง และบริษัทที่สร้างรายได้มากที่สุด กลับมีมูลค่าน้อยที่สุด (อ่านถึงตรงนี้แล้วบทความของ Ashoton อาจย้อนแย้งในการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม และเสี่ยงมาก แต่สำหรับโลก Startup มุมมองของนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี มองหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าเพียงแค่ดูที่ปัจจุบัน)
เทคนิคการมอง founder
สำหรับ Ashton แล้วเขากล่าวว่าตัวเเองก็ไม่ได้มีสูตรพิเศษอะไรในนี้ แต่มีปัจจัย 4 อย่างที่พิจารณา ได้แก่
- Domain Expertise : เขาเชื่อว่า founder ที่ดีนั้นต้องมี insight ของภาคธุรกิจนั่นๆ เขาดูจาก ความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในธุรกิจนั้นๆ อย่างลึกซึ้งไหม มี historical insight ไหม หรือมีเดต้าเฉพาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เขามั่นใจมากขึ้นเมื่อจะลงทุนใน founder กลุ่มนี้ว่ามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในภาคธุรกิจนั้นๆ
- ต้องมีความอดทนเข้มแข็ง : เวลาที่ผ่านเรื่องหนักๆ เขาไม่เคยได้ยินว่าใครสร้างบริษัทแล้วทุกอย่างเป็นไปได้สวยตลอด สำหรับผู้ประกอบการยามที่เจอปัญหาขึ้นมา จะมีความสามารถ และพยายามที่จะฝ่าฟันไหม ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะดูออกในตอนแรก อาจต้องใช้สัญชาติญาณในการตัดสินใจเมื่อเจอผู้ประกอบการ
- เป้าหมาย : สิ่งที่เขากำลังสร้างอยู่นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เขาเป็นและเชื่ออย่างไร เพราะระบบความเชื่อเหล่านั้นจะไม่หายไป เมื่อต้องเผชิญปัญหา และความท้าทายยามที่ทำธุรกิจ
- คุณสมบัติพิเศษในการดึงดูดใจ : สำหรับคนที่จะเป็น CEO เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะเขาต้องทำหน้าที่ทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เขาทำ ดึงดูดคนมาร่วมงานด้วยวิสัยทัศน์ ดึงดูดนักลงทุน
อะไรที่ต้องพึงระวังในตัว founder
- ขับเคลื่อนด้วยหลักการ : เขาออกตัวว่าเขาเป็นคนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยหลักการ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันทางเพศ ความเสมอภาค และการทำงานร่วมกับคนดี คนที่เคารพผู้อื่น ซึ่งเขาอยากทำงานกับคนที่มีแนวคิดและหลักการที่สอดคล้องกับเขา ซึ่งเขายึดถือเป็นเรื่องสำคัญ
- ขาด domain expertise : เขาจะลงรายละเอียดในธุรกิจที่ founder คนนั้นทำงานอยู่ ถ้าคนคนนั้นไม่รู้เกี่ยวกับตัวเลขในธุรกิจเขา ขนาดของตลาด เป็นเรื่องที่อันตราย แม้ธุรกิจนั้นจะฟังแล้วไอเดียดี น่าตื่นเต้น แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วก็ต้อง make sense ด้วยเช่นกัน ถ้าคนคนนั้นไม่รู้เรื่องนี้ ว่าอะไรคือตัวขับเคลื่อนในธุรกิจนั้นๆ เป็นการบอกได้ค่อนข้างชัดว่าพวกเขาไม่มี domain expertise
- ไม่เคารพเวลา : คนที่ฉลาดจะเข้าใจเรื่องเวลาที่ใช่และวิธีการที่ถูกที่จะเชื่อมโยงกับผู้อื่น เขาเคยตอบเมลคนที่ไม่รู้จัก, เคยฟัง pitch จากหลายๆ คน และนัดประชุมกับคนแปลกหน้า แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานของการเคารพเวลาซึ่งกันและกัน และรู้ว่าเขากำลังสนใจเรื่องอะไร
หน้าที่ของนักลงทุนในธุรกิจ Startup
การสนับสนุน Startup นั้นนอกเหนือจากเงินทุนแล้ว บริษัทก็ต้องการความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายด้วย สำหรับเขาการลงทุนในแต่ละช่วงสิ่งที่เขาจะ Validate ดูมีดังนี้
- ช่วง Early Stage
- มีไอเดียอย่างไร
- ทำออกมาเป็น MVP (Minimum Viable Product)
- นำ MVP สู่ผู้ใช้
- ช่วงเก็บ feedback
- จงแน่ใจว่าผู้ใช้ชอบผลิตภัณฑ์ของคุณแน่
- พัฒนาให้เกิด feedback loop จากลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อ
- ช่วงสร้างบริษัท
- จ้างคนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมทีม
- ทำให้เกิด product market fit
- ทำตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายทั้งหมด
- สร้างทีม
- ช่วงระดมทุน
จากการเป็นนักลงทุนมาตลอด 12 ปีมานี้เขาเห็น life cycle ข้างต้นมาโดยตลอด แต่ละรายมีความท้าทายที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญของ founder คือควรอยู่ล้อมรอบด้วยคนที่เคยเผชิญสิ่งนั้น เข้าใจในแต่ละช่วงของการทำธุรกิจ เพื่อให้เห็นภาพ เขายกตัวอย่าง เช่นช่วงกำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ เลย founder หลายคนมักพลาดตรงนี้โดยการจ้างคนที่คล้ายๆ กัน แทนที่จะไปจ้างคนที่นำมาซึ่งความหลากหลาย มีความเชี่ยวชาญและเสริมสิ่งที่พวกเขาขาดเข้ามาในทีมหลังจากนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจาก micro managing เป็น macro managing มีแผนกที่ช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทขยาย เหมือนการสร้าง Startup ใน Startup อีกทีหนึ่ง นักลงทุนที่เคยช่วยบริษัทในช่วง transition แบบนี้ได้ จะสามารถช่วยคุณหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของ Startup ในช่วง Early Stageนอกจากนี้การเข้าสู่ Growth Stage ที่เร็วเกินไปและการระดมทุนก็เป็นเรื่องที่อันตราย คุณต้องมีจุด checkpoint ถึงทิศทางที่จะไปและการระดมทุนเพิ่มนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับแผน Execution ที่ชัดเจน และไม่ว่าจะออกสู่ตลาด IPO หรือ ถูกซื้อกิจการ ก็เป็นสิ่งที่ founder ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมรับมือในเรื่องนี้แต่ละบริษัทจะเจอสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ถ้าคุณเป็นทีมขนาดเล็ก เขาแนะนำว่าควรหากลุ่มนักลงทุนที่มีประสบการณ์ที่หลากหลายจากหลายๆ บริษัทหรือความหลากหลายในส่วนบุคคลด้วย founder หลายคนอยากได้องค์กรขนาดใหญ่มาลงทุน แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาต้องการคือคนที่เข้าใจว่าธุรกิจพวกเขาขาดอะไร ต้องการอะไร ความท้าทายคืออะไร และช่วยแนะนำพวกเขาได้ต่างหาก
ทั้งหมดนี้กลับมาสู่เรื่องของเป้าหมายและหลักการ
เขาย้ำปิดท้ายว่าไม่ใช่ว่าเขาละเลยเรื่องของตัวเลขแบบที่นักลงทุนอื่นๆ ทำหรอกนะ เขายังดูเรื่องของ TAM, IRR, NPV อยู่ แต่เขาให้ความสำคัญกับคนค่อนข้างมาก อยากทำงานกับคนดีที่สามารถแก้ปัญหายากๆ ได้จริงๆ
ล่าสุด Ashton พึ่งบริจาคเหรียญ Crypto (XRP : สกุลเงินของ Ripple) มูลค่ากว่า 4 ล้านเหรียญฯ ให้กับ Ellen Degenere นักจัดรายการชื่อดังสำหรับกองทุนเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าอีกด้วยนะ ทำเอา Ellen อึ้งกันไปเลยทีเดียว
แปลจาก: Atrium's blog
ภาพ : Gettyimages