เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยกับงาน “Inclusive Growth Days Empowered by OR” ที่จัดขึ้น ณ Bangkok Convention Centre ชั้น 22 Centara Grand Hotel at CentralWorld ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2565 วันนี้ Techsauce นำส่วนหนึ่งจาก Speaker ที่มาแชร์เรื่อง Impact Innovation ประสบการณ์และเคล็ดลับในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับเหล่าสตาร์ทอัพและนักลงทุนมาสรุปให้ชมกัน
ในช่วงที่ผ่านทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อทิศทางหรือมุมมองในการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ทิศทางของสตาร์ตอัพในอนาคต ความคาดหวังในตลาดไทยและต่างประเทศ ความท้าทายของสตาร์ตอัพในการนําพาให้ตัวเองเติบโตในขณะเดียวกันที่ต้องสร้างตลาดใหม่โดยต้องคำนึงเรื่องการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับ Session นี้คุณกระทิง พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks และผู้บริหารกองทุน ORZON Ventures ซึ่งได้มาแชร์ความรู้ในหัวข้อ “Impact Innovation สตาร์ตอัพยุคต่อไป สร้างตลาดใหม่โดยแก้ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม”
Impact Innovation คือการสร้างนวัตกรรมที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงสร้างกำไรแต่ยังมีผลต่อสังคมและต่อโลกของเรา
คุณกระทิงกล่าวว่า “แม้ว่าเราจะดูเหมือนอยู่ในช่วงเวลาที่เผชิญวิกฤตสักแค่ไหน แต่ในตอนนี้ถือว่า เราอยู่ในช่วงที่ดีที่สุดในเวลาที่ดีที่สุด” เนื่องจากตอนนี้ Southeast Asia ของเรากำลังเข้าสู่ยุคทอง จากการคาดการณ์ของ Asia Partner กองทุน VC ขนาดใหญ่ของเอเชีย ได้ทำนายไว้ว่าในอีก 6 ปีข้างหน้าภูมิภาคนี้จะมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 ราย เนื่องจากว่าบริบทของการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนตอนนี้มีรูปแบบการเติบโตที่คล้ายกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงยุคเริ่มแรกของการเติบโต ซึ่งจะทำให้ต่อจากนี้ในทุก ๆ ปีจะมีสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นตัวใหม่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ไตรมาส
ตอนนี้กองทุน Venture Capital อันดับหนึ่งของโลกที่เคยลงทุนใน Alphabet (Google) หรือ Apple ต่างเห็นศักยภาพในภูมิภาค SEA และเปิดกองทุนขนาด 850 ล้านเหรียญเพื่อลงทุนในภูมิภาคนี้ โดยคุณกระทิงกล่าวว่า ไม่ใช่แค่การลงทุนแบบธรรมดา เพราะว่าในภูมิภาคนี้มี “Unique Opportunity” สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตเพื่อหวังกำไรแบบเดิม แต่เป็นโอกาสของยูนิคอร์นที่สร้างอิมแพคให้กับสังคมและต่อโลกอีกด้วย
ตอนนี้กว่า 77% ของเยาวชนในเอเชียต่างให้ความสนใจและต้องการเป็นส่วนหนึ่งต่อเรื่องของระบบเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น (เมื่อเทียบกับประมาณ 50% ในโซนยุโรปและอเมริกา) นอกจากนี้ยังมีโอกาสจากปัจัยด้านการเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่ง 75% ของประชากรใน SEA สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ประมาณ 60% ในขณะที่เงินทุนที่ลงทุนทางด้านการสร้างอิมแพคต่อสังคมเติบโตขึ้น 26% ท่ามกลางช่วงโควิด สิ่งนี้สะท้อนถึงโอกาสของการสร้าง Impact Innovation
ตอนนี้สตาร์ทอัพไม่เพียงต้อง Repeatable-Scalable-Growth Profitable แต่ต้อง Responsible และ Sustainable ด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กองทุนระดับโลกต่างก็มองหาจากสตาร์ทอัพหน้าใหม่ เป็นผลทำให้ตอนนี้หลากหลายธุรกิจหน้าใหม่เข้ามามีบทบาทด้านการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ธุรกิจ EV , Plant-based Food ,Sustainable Energy ,Smart and Green Supply chain , Social Innovation ธุรกิจต้องขยับขึ้นมาจากการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมที่มุ่งหวังสร้างกำไรสูงสุดไปสู่รูปแบบที่สามารถทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างผลกำไรให้กับตัวเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงต่อ Stakeholders หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างคาดหวังให้ธุรกิจเข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมองว่าธุรกิจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะรักษาโลกได้
สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดจะต้องมีการขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและสร้างอิมแพคให้กับสังคม ในขณะเดียวกันตอนนี้ Talent กว่า 80% ไม่ได้มองขนาดของธุรกิจว่าต้องใหญ่เติบโตได้ แต่ยังต้องตอบคำถามให้ได้ว่าธุรกิจนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับโลกได้บ้าง คนรุ่นใหม่อยากเป็นส่วนหนึ่งในของการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้น
เรื่องต่อมาก็คือ Capital Efficient นักลงทุนไม่เพียงมองหาสตาร์ทอัพที่มีการระดมทุนสูง ๆ มากแต่ต้องใช้เงินทุนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องของความหลงใหลในความต้องการของลูกค้า (Customer-Obsessed) และเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจ
ในภาพรวมของภูมิภาค SEA มี 3 เทรนด์ใหญ่ที่ได้รับความสนใจและมีการระดมทุนจำนวนมาก คุณกระทิงกล่าวว่า ภายในปี 2021 กว่า 28 จาก 47 สตาร์ทอัพยูนิคอร์นเป็นสตาร์ทอัพด้าน Climate Tech Global ที่เกิดขึ้นภายในปีเดียว นอกจากนี้ในภูมิภาค SEA จะมีมูลค่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมกว่า 2 ล้านล้านเหรียญในอีก 10 ปีข้างหน้า
เทรนด์ต่อมาคือเรื่องของการพัฒนามนุษย์และการศึกษา ซึ่งในปัจจุบัน VC ลงทุนในภูมิภาคนี้มูลค่ากว่า 480 ล้านเหรียญภายในปี 2015-2020 ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าภายในปีเดียว เทรนด์สุดท้ายคือเรื่องของ Wellness & Healthcare เพราการเข้าสู่สังคมสูงวัยของทั่วโลก จุดนี้จะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคได้
ประเทศไทยมีโอกาสอีกมาก เราต้องต้องผนึกพลังกันเพื่อสร้างอิมแพค เวลานี้ถือเป็นโอกาส สิ่งที่เราต้องการสร้างคือเรื่องของการสร้าง Ecosystem และเรื่องของ Movement ที่จะสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและกับโลกอย่างยั่งยืน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด