สรุปการเสวนา India's Economic Blueprint อินเดียมีแนวคิดแบบไหนถึง ‘เศรษฐกิจโตไวสุดในโลก’ | Techsauce

สรุปการเสวนา India's Economic Blueprint อินเดียมีแนวคิดแบบไหนถึง ‘เศรษฐกิจโตไวสุดในโลก’

ในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอสปีนี้ อินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นจุดสนใจของเวทีโลกในฐานะดาวรุ่งทางเศรษฐกิจดวงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ที่มุ่งมั่นผลักดันให้อินเดียเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2047 

การเสวนาในหัวข้อ “พิมพ์เขียวเศรษฐกิจอินเดีย” ได้รวบรวมผู้นำทางความคิดและผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

นำโดย Ashwini Vaishnaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมวลชนของอินเดีย, Sultan Ahmed bin Sulayem ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ DP World องค์กรโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก, Sanjiv Bajaj ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ Bajaj Finserv กลุ่มบริษัททางการเงินยักษ์ใหญ่ของอินเดีย และ Shobana Kamineni ประธานบริหารของ Apollo Health Co Limited เครือโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย มาร่วมแบ่งปันมุมมองและวิเคราะห์เส้นทางสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของอินเดีย

กลยุทธ์ 4 เสาหลักสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนของอินเดีย

เริ่มต้นด้วยรัฐมนตรี Ashwini Vaishnaw ได้เผยถึง "กลยุทธ์ 4 เสาหลัก" ที่รัฐบาลอินเดียใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า ด้วยเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยแต่ละเสาหลักมีความสำคัญ ดังนี้

1. การลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน

รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง โดยทุ่มเม็ดเงินลงทุนมจำนวนมหาศาลใน 3 มิติหลัก ได้แก่

  • โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ: มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั่วประเทศ เช่น การขยายโครงข่ายทางรถไฟกว่า 5,300 กิโลเมตรในปีที่ผ่านมา เทียบเท่ากับโครงข่ายรถไฟทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การเพิ่มจำนวนท่าอากาศและท่าเรือเป็นสองเท่า รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายถนนและทางหลวงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล: มุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงแล้วกว่า 6.5 ล้านกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการเร่งติดตั้งเสาสัญญาณ 5G กว่า 450,000 ต้น เพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล
  • โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม: ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการลงทุนในด้านการศึกษาและสาธารณสุข เช่น การสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนใหม่ และการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วมีมหาวิทยาลัยใหม่เกิดขึ้นเกือบทุกสัปดาห์

2. ส่งเสริมเทคโนโลยี การผลิต และนวัตกรรม: 

อินเดียมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 130,000 ราย และมีบริษัทยูนิคอร์น กว่า 120 ราย รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในหลากหลายสาขา เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์เฉพาะทาง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

3. มุ่งเน้นการเติบโตแบบมีส่วนร่วม:

รัฐบาลอินเดียตระหนักถึงความสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำ และมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จ เช่น การเพิ่มจำนวนบัญชีธนาคารให้กับผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงระบบการเงินมาก่อนกว่า 510 ล้านบัญชี การขยายโครงข่ายน้ำประปาให้ครอบคลุม 130 ล้านครัวเรือน และการให้บริการก๊าซหุงต้มแก่ประชาชนกว่า 110 ล้านคน

4. ลดความซับซ้อนของกฎหมายและระเบียบ: 

เพื่อสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ รัฐบาลได้ดำเนินการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยกว่า 1,500 ฉบับ และปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้ทันสมัย เช่น การปรับปรุงกฎหมายโทรคมนาคม จากกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1885 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ในปี 2023 เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ

ความเห็นจากนักลงทุน: ปรับกลยุทธ์การค้าเพื่อเน้นการส่งออก

Sultan Ahmed bin Sulayem ประธานและซีอีโอของ DP World มองว่าอินเดียคือหนึ่งในตลาดสำคัญที่สุด ด้วยทำเลที่ได้เปรียบและประชากรจำนวนมาก เขาชี้ว่า แม้จะมีศักยภาพมหาศาล แต่การค้าตู้คอนเทนเนอร์ของอินเดียยังอยู่ที่ 15 ล้านตู้ เมื่อเทียบกับ 100 ล้านตู้ของจีน ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสการเติบโตในภาคการส่งออก

เพื่อปิดช่องว่างนี้ DP World ไลงทุนในท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงอินเดียกับตลาดในแอฟริกา โดยมีจุดกระจายสินค้ากว่า 48 ประเทศ ซึ่งช่วยให้การส่งออกสินค้าจากอินเดียมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ โครงการ India-Middle East-Europe Economic Corridor ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่เชื่อมอินเดียเข้ากับตะวันออกกลางและยุโรป แม้ว่าโครงการนี้จะต้องเผชิญกับอุปสรรค เช่น ความไม่สงบในตะวันออกกลาง แต่ Sulayem มองว่า ศักยภาพระยะยาวของเส้นทางนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อการลงทุน

Sulayem ยังแนะนำให้อินเดียส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น เพราะแม้ตลาดในประเทศจะใหญ่ แต่การพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจจำกัดการเติบโตในระยะยาว เขาเน้นว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนจาก DP World อินเดียมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้

ความเห็นจากภาคเอกชน: 

ต้องดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

Sanjiv Bajaj ประธานและกรรมการผู้จัดการของ Bajaj Finserv หนึ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำของอินเดีย มองว่า การตั้งเป้าหมายให้อินเดียเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2047 เป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญ และมีความเป็นไปได้ด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น นโยบาย Production Linked Incentives (PLI) ที่กระตุ้นการลงทุนในภาคการผลิต และการเติบโตของสตาร์ทอัพที่มีมากกว่า 130,000 ราย

อย่างไรก็ตาม Bajaj ชี้ว่าการเติบโตที่ระดับ 6-6.5% ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประชากร 1.5 พันล้านคน อินเดียต้องเพิ่มการเติบโตเป็น 7.5-8% ผ่านกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

  1. การเชื่อมโยงนโยบายการค้าและภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและดึงดูดการลงทุน
  2. การจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์-รัฐ คล้าย GST Council เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน แรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน

Bajaj ยังมองว่า AI และเทคโนโลยี จะเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ถึง 25% หากมีการพัฒนาทักษะแรงงานที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคในประเทศและขยายตลาดส่งออก

เขาทิ้งท้ายว่า อินเดียมีทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเติบโต แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานร่วมกันอย่างมุ่งมั่นระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคตอันใกล้

อย่าลืมเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต

Shobana Kamineni ประธาน Apollo Health Co Limited กล่าวถึงความท้าทายสำคัญของอินเดียในอนาคต คือการเตรียมความพร้อมให้ประชากรวัยทำงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านคนในปี 2030 โดยเธอมองว่านี่คือโอกาสทองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากอินเดียสามารถพัฒนาทักษะและความรู้ของคนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน หากการพัฒนานี้ล่าช้า ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น

Shobana เล่าประสบการณ์จากการเข้าร่วมการประชุม CEO ระดับโลกในสหรัฐฯ ซึ่งเผยให้เห็นว่าองค์กรระดับโลกมองเห็นศักยภาพของอินเดียในฐานะศูนย์กลางด้านบุคลากรและการบริการ โดยหลายบริษัทในสหรัฐฯ พึ่งพาแรงงานชาวอินเดียในสัดส่วนที่สูง ด้วยเหตุผลจากต้นทุนที่ต่ำ ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี และจำนวนประชากรวัยทำงานที่มหาศาล

อย่างไรก็ตาม อินเดียยังต้องเร่งสร้างความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ AI ที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานทั่วโลก เธอเน้นย้ำว่าการพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้ประชากรอินเดียสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานโลก

นอกจากนี้ Shobana ยังแนะนำให้รัฐบาลและภาคธุรกิจส่งเสริมการกระจายความเจริญไปสู่เมืองรอง และสร้างงานในอุตสาหกรรมที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ชนบท การลดความเหลื่อมล้ำนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในวงกว้าง

สุดท้าย Shobana ฝากแนวคิดสำคัญว่า การสร้าง "คุณค่า" ในงานที่ทำ จะช่วยให้คนรู้สึกภาคภูมิใจและมีส่วนร่วมในสังคมอย่างแท้จริง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเพียงเงินช่วยเหลือ แต่ต้องการงานที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ความต้องการในชีวิต การสร้างงานที่มีคุณค่าและมีความหมายจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้อินเดียเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

อ้างอิงจากการเสวนาในหัวข้อ India's Economic Blueprint จากการประชุม World Economic Forum 2025

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

เปิดลิสต์ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC สนใจมากที่สุดในปี 2025

ค้นพบ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC ให้ความสนใจในปี 2025 ตั้งแต่โซลูชัน AI เฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐาน AI ไปจนถึงระบบที่น่าเชื่อถือและยืดหยุ่น พร้อมโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจที่...

Responsive image

วิเคราะห์บทบาท AI ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญจาก AI House ที่ดาวอส

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ Davos นั้นหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุยถึง...