สัมภาษณ์พิเศษ GO-JEK กับการตัดสินใจบุกตลาดไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ GO-JEK กับการตัดสินใจบุกตลาดไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Startup ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง GO-JEK เริ่มจากการเป็นแอปพลิเคชันเรียกรถมอเตอร์ไซค์ และขยายบริการจนครอบคลุมทุกอย่าง แม้กระทั่ง บริการจองบัตรคอนเสิร์ต บริการทำความสะอาด รวมไปถึง digital payment จึงทำให้ GO-JEK กลายเป็น Unicorn ที่ให้บริการในกว่า 50 เมืองทั่วอินโดนีเซีย และล่าสุด วางแผนขยายสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยด้วย โดยที่ในไทยจะให้บริการด้วยแบรนด์ท้องถิ่น GET ขณะที่ในเวียดนามจะให้บริการโดย GO-VIET

Techsauce มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ Andre Soelistyo ประธานกรรมการของ GO-JEK กับวิสัยทัศน์ของเขาต่อการบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้ และความเห็นต่อการแข่งขันบริการ Ride-hailing ในไทย พร้อมเผยกลยุทธ์ที่ GO-JEK จะนำมาพิชิตตลาด

GO-JEK ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการหลากหลาย ไม่ใช่เพียง ride-hailing อย่างเดียวเท่านั้น อะไรคือความท้าทายสำหรับการขยายไปสู่บริการใหม่ และ GO-JEK มีวิธีจัดการกับมันอย่างไร?

GO-JEK เป็นแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของทุกคน เราเริ่มจากจุดเล็กๆ และตอนนี้เรามีบริการมากมายถึง 18 อย่างในประเทศอินโดนีเซีย ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ บริการเรียกรถ บริการ payment ไปจนถึง บริการเสริมสวย เราจึงมีความท้าทายในเรื่องของการขยายและพัฒนาตัวแอปพลิเคชัน ให้สามารถรองรับความหลากหลายของบริการเหล่านี้ ซึ่งเราสามารถรับมือกับมันด้วยสุดยอดเทคโนโลยีที่เรามี และทีมที่มีศักยภาพ

จนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้ในแต่ละบริการของ GO-JEK อยู่จำนวนเท่าไหร่?

ไม่สามารถบอกตัวเลขชัดๆ ได้ แต่เราบอกได้ว่า ตั้งแต่ปี 2015 ในประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ดาวน์โหลดแอป GO-JEK แล้วกว่า 98 ล้านครั้ง

GO-JEK กำลังขยายสู่ต่างประเทศ คุณมองตลาดไทยและเวียดนามไว้อย่างไร? ทำไมถึงเลือกขยายมาสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

เราเลือกตลาดที่คิดว่า GO-JEK จะสามารถตอบโจทย์ได้มากที่สุด เราเห็นว่าผู้คนและธุรกิจต่างๆ ในเวียดนามและประเทศไทย เผชิญปัญหาการจราจรเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราก่อตั้ง GO-JEK ขึ้นมาในทีแรก

ผู้บริโภคต่างมีความสุขเมื่อพวกเขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ หรือ ฟิลิปปินส์ คือ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือกมากพอ สำหรับบริการ ride-hailing เราจึงหวังว่าเมื่อเราเริ่มให้บริการในประเทศเหล่านี้ เราจะกลายเป็นแอปที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของทุกคน

ตอนนี้มีบริการ Ride-hailing ในไทยอยู่หลายเจ้า เช่น Grab และ Line รวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างท้องถิ่น คุณคิดว่า GO-JEK จะเข้ามาตีตลาดนี้ได้อย่างไร?

การแข่งขันคือสิ่งจำเป็นสำหรับทุกๆ ตลาดที่จะเติบโต และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเติบโตในทุกๆ ประเทศที่เราจะเข้าไปให้บริการ กลยุทธ์ของเราคือการผสมผสานระหว่างสุดยอดเทคโนโลยีที่เรามี เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของตลาดแต่ละแห่งจากทีมท้องถิ่น เพื่อสร้างบริการที่เหมาะสมและเข้าใจผู้บริโภคมากที่สุด และสำหรับประเทศไทย เราจะโฟกัสไปที่การให้บริการที่ดีที่สุด

GET จะให้บริการอะไรบ้าง ในประเทศไทย?

ตามที่บอกไปคือ แอปของเราจะต้องปรับให้เข้ากับตลาดของประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ เราจะเริ่มจากการให้บริการ ride-hailing และบริการ delivery หลังจากนั้นค่อยมาดูว่าจะสามารถขยายการบริการแบบไหนเพิ่ม ตามความต้องการของตลาด

ทำไมถึงใช้ GO-VIET และ GET ในเวียดนามและไทย แทนที่จะใช้ GO-JEK เช่นเดียวกับในอินโดนีเซีย?

เราเห็นตรงกันกับผู้ร่วมก่อตั้ง GO-VIET และ GET ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของแอปที่เข้ากับประเทศนั้นๆ จริงๆ เราเชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้จะเหมาะสมกับแต่ละตลาดมากกว่า

คำแนะนำต่อ Startup ที่อยากขยายสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจแต่ละตลาดอย่างลึกซึ้ง ต้องไม่มองเพียงความท้าทายและโอกาสที่จะได้รับเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นด้วย

สำหรับ GO-JEK เราไม่เพียงมองหาทีมที่มีความรู้และประสบการณ์เพื่อทำธุรกิจให้สำเร็จเท่านั้น แต่เรายังต้องการทีมที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือ มีความต้องการสร้างผลกระทบในแง่บวกต่อสังคมและทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

สังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร? และคุณคิดว่ายังเหลือพื้นที่สำหรับผู้เล่นรายใหม่อยู่หรือไม่?

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของคนทั่วไป อย่างเช่น คนขับรถ หรือ ผู้ประกอบการ SME ซึ่งคนเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งใน ecosystem ของ GO-JEK ด้วย

เราคิดว่ามันมีพื้นที่สำหรับผู้เล่นรายใหม่และการพัฒนานวัตกรรมอยู่เสมอ และ GO-JEK ก็สนับสนุนการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เมื่อปัจจุบัน ผู้บริโภคในประเทศไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ รู้สึกว่าพวกเขามีทางเลือกไม่มากพอ เราจึงหวังว่าการเข้ามาของเราจะช่วยให้การแข่งขันในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเติบโตมากยิ่งขึ้น

ความเห็นกองบรรณาธิการ

GO-JEK เป็น Ride-hailing ที่มีบริการที่หลากหลายอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้มอเตอร์ไซต์ให้บริการในด้านต่างๆ ซึ่งบางบริการคู่แข่งอย่าง Grab ยังไม่มี ความโดดเด่นในจุดนี้ทำให้ GO-JEK น่าถูกจับตามองว่า จะสามารถเข้ามาช่วงชิงผู้ใช้บริการจาก Grab ได้ ในที่สุดแล้วการที่ทั้งสองบริการมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือผู้ใช้บริการ เพราะจะมีตัวเลือกหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ผูกขาดกับรายใดรายหนึ่ง ในขณะที่ฟากของนักลงทุนที่สนับสนุนGO-JEK นั้นมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Tencent , JD.com ด้วย ซึ่งน่าจะเสริมกลยุทธ์การขนส่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ครบวงจรมากขึ้นอีก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จากเทคโนโลยี AI สู่ IA เพื่อมนุษย์ ในมุมมองของ “Pattie Maes”

เทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาชีวิตได้อย่างไร? มาดูแนวคิดในการออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปกับคุณ Pattie Maes นักวิจ...

Responsive image

สนามบินคันไซ 30 ปีไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย ตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่ 1994 จนปัจจุบัน

30 ปีไม่มีพลาด สนามบินนานาชาติคันไซของญี่ปุ่นรักษาสถิติ ‘ไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย’ เลยสักครั้ง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 1994 จวบจนปัจจุบัน...

Responsive image

DeFi เกิดมาเพื่อทำลายระบบธนาคารจริงหรือไม่

เก็บตกประเด็นน่าสนใจจากงานเสวนาในหัวข้อ he Rise of Decentralized Finance (DeFi): Disruption or Distraction? จาก Money 20/20 Asia...