สัมภาษณ์พิเศษ 'กรณ์ จาติกวณิช' กับความ (น่าจะ) เป็นไปในโลกของ 'ฟินเทค' และวิธี 'อยู่ให้เป็น' เมื่อจีนเปิดเกมรุก | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ 'กรณ์ จาติกวณิช' กับความ (น่าจะ) เป็นไปในโลกของ 'ฟินเทค' และวิธี 'อยู่ให้เป็น' เมื่อจีนเปิดเกมรุก

เราเห็นบทบาทของ 'กรณ์ จาติกวณิช' ในอดีตทั้งบทบาททางการเมืองโดยเป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  แต่บทบาทที่สำคัญมากในวันนี้คือ การสวมหมวก ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากครบรอบ 1 ปีของการก่อตั้งสมาคม  กอปรกับที่เราเห็นกันว่าเครื่องมือทางการเงินในระดับโลกนั้นเคลื่อนหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และเห็นการแข่งขันทั้งในด้านฟินเทคและเทคสตาร์ทอัพด้านอื่นๆ ซึ่งมีทั้งที่เกิดใหม่และล้มหายตายจาก เทคซอสจึงเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยกับ กรณ์ จาติกวณิช คนไทยที่มีความมุ่งมั่นปั้นโมเดลใหม่ๆ เพื่อปูทางให้ประชาชนคนไทยมีทางเลือก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทราบว่าคุณกรณ์มุ่งสร้าง Ecosystem ด้านฟินเทคในประเทศไทย หนึ่งปีที่ผ่านมา ภารกิจเป็นอย่างไร เจออุปสรรคอะไรบ้างคะ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้าง Ecosystem ให้เป็นรูปเป็นร่างและผลักดันให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการที่เรารวมตัวเป็นสมาคมก็เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมโยงกับฝ่ายกำกับดูแล ภาครัฐ ผู้ร่างกฎหมาย เพราะว่ามันมีประเด็นที่เกี่ยวกับ Ecosystem ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขค่อนข้างมาก ซึ่งนำไปสู่การร่างกฎกติกาในหลายๆ เรื่องเพื่อเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจฟินเทคสามารถดำเนินกิจการได้

เห็นว่ามี ‘National FinTech Sandbox’ ในนาม ‘F13’ ด้วย

เราเปิดตัวศูนย์ National FinTech Sandbox (NFS) หรือ ศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ ที่อาคาร KX ใกล้สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ ซึ่งเล็งไว้ว่าจะพัฒนาให้เป็น Innovative District โดยวัตถุประสงค์ของเราคือ ใช้พื้นที่ชั้น 13 หรือ F13 เป็นศูนย์กลางให้ฟินเทค สตาร์ทอัพ เข้ามาใช้บริการ Mentorship เชื่อมโยงกับแหล่ง Data และบริการต่างๆ ที่สตาร์ทอัพยังไม่มีโอกาสและกำลังเพียงพอ และจะมี Business Partner ที่เป็น IBM, Reuters, Bloomberg ให้สมาชิกของสมาคมใช้ได้ฟรีด้วย

ภาพจาก ThailandIndustry

F13 ยังให้บริการเชื่อมโยงสมาชิกกับผู้ให้บริการปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ บริษัทประกัน ทุกๆ กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งเขาเองก็เห็นความสำคัญของกลุ่มสตาร์ทอัพที่จะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนแบงก์ในอนาคต อาจจะเป็นแพลตฟอร์มให้แอปต่างๆ ที่เป็นแอปฟินเทค สามารถที่จะใช้แพลตฟอร์มให้บริการด้วยฐานลูกค้าเดิมของแบงก์ ซึ่งอยู่ในช่วงของการปรับปรุง และ F13 จะเป็นตัวเชื่อมกับแหล่งทุน ซึ่งมี VC ที่ติดต่อสมาคมมา ก็จะมีโอกาสพบปะในเชิงลึกกับกลุ่มแหล่งทุน ไม่ว่าจะเป็น Family Money หรือ VC ในอนาคต ส่วนภาครัฐเอง หากต้องการจะมีพื้นที่พบปะกับกลุ่มสตาร์ทอัพก็สามารถใช้ F13 เป็นพื้นที่ส่วนกลางได้

F13 มีโมเดลต้นแบบไหม?

รูปแบบของ F13 ที่น่าสนใจอีกรูปแบบคือที่อังกฤษ ซึ่งลอนดอนถือว่าเป็นศูนย์กลางของฟินเทคอยู่แล้ว และเรามีโอกาสไปเยี่ยมพื้นที่หนึ่งในลอนดอนที่มีลักษณะโครงสร้างคล้าย F13 เขาเรียกว่า Level 39 ซึ่งอยู่ในตึกท่ามกลาง Financial District ของลอนดอน ในโซนที่เรียกว่า Canary Wharf ที่น่าสนใจคือ Level 39 ห้อมล้อมโดยสำนักงานธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ เช่น J.P. Morgan, HSBC

ภาพจาก EastLondonAdvertiser

และที่ Level 38 ใต้ชั้น 39 ยังเป็น Business School คือ University College London (UCL) ซึ่งก็ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดย UCL ย้ายไปเพื่อจะอยู่ใกล้ Level 39 เพราะเขาเห็นประโยชน์จากการเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการทางพาณิชย์กับผู้ประกอบการ และนอกจากนี้ Level 42 ยังเป็นพื้นที่ Co-working Space รองรับสตาร์ทอัพที่มาบ่มเพาะตัวเองในชั้น 39 ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจาก Accelerator น้อยลง โดยเขาอยากให้อยู่ใน Ecosystem เดียวกัน ซึ่งตึก KX ก็มีพื้นที่แบบนั้นรองรับ และมีบริษัทสตาร์ทอัพไปเช่าใช้พื้นที่อยู่แล้ว โดยผสมผสานระหว่างสมาคม พันธมิตร และภาควิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเขามาทางนวัตกรรม การออกแบบ และผู้ประกอบการอยู่แล้ว เราจึงไปตั้งศูนย์ที่ตึกของเขา

แล้วในต่างประเทศมีสมาคมแบบสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทยหรือเปล่า

ต้องถือว่าการรวมตัวสตาร์ทอัพเป็นสมาคมนั้น เราทำก่อนคนอื่นนะ ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีแบบนี้ ตอนที่สมาคมเราไปเยือนมาเลเซีย สิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เขาก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยจัดตั้งสมาคมตามเราขึ้นมา และตอนนี้ก็มีการสื่อสารระหว่างสมาคมด้วย

ภาพจาก ThaiFintech

ถามถึงความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับฟินเทคในไทยและในต่างแดนบ้าง

เม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาในเซกเมนต์นี้ของกลุ่มสตาร์ทอัพ ปีที่แล้วน่าจะเป็นปีที่ทำลายสถิติของทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ อย่างที่อังกฤษ ปีที่แล้วมีการก่อตั้ง Pure Internet Bank ขึ้นมา เป็นธนาคารที่ไม่มีสาขาเลย ให้บริการ Internet Bank ล้วนๆ ส่วนประเทศไทยเอง ทางสมาคมก็ร่วมนำเสนอความคิดที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายที่จะเปิดทางให้แก่ธุรกรรมฟินเทคที่มีความสำคัญมากที่สุดธุรกรรมหนึ่ง ที่เรียกว่า P2P Lending (Peer to Peer Lending - ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์) เพื่อตอบโจทย์ความเจ็บปวดหรือ Pain Point ของคนไทยมากที่สุด

บ่อยครั้งที่ได้ยินคุณกรณ์ออกมาบอกว่า ‘คนไทยขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุน’ เราจึงต้องโฟกัสสิ่งที่เกี่ยวกับการเงิน หรือทำฟินเทคก่อน?

ถามว่าทางการเงิน ประชาชนคนไทยเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้าง เขาก็จะบอกว่าโอกาสในการกู้ยืมเงินในระบบด้วยเงื่อนไขที่มีความเป็นธรรม การชำระคืนทั้งในแง่ของอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง P2P Lending ก็จะช่วยทำให้ประชาชนมีแหล่งกู้ยืมเพิ่มเติมที่มีเงื่อนไขการกู้ยืมที่เป็นธรรมกับเขามากขึ้น เทียบกับการไปกู้ยืมนอกระบบ

ภาพโดย Patrick Brinksma on Unsplash

แต่ทัศนคติและระเบียบของไทยเรายังไม่เอื้อต่อ ก็ต้องบอกว่าไม่เอื้อต่อการใช้นวัตกรรมเท่ากับบางประเทศ ไม่ใช่เฉพาะฟินเทค สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าระบบเศรษฐกิจของเรามีการพัฒนาพอสมควร ในที่นี้หมายความว่า เราจึงมี ‘ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาแนวทางการให้บริการแบบใหม่’ ยกตัวอย่างกรณีที่เห็นชัด ประเด็นความขัดแย้งระหว่างแท็กซี่และ Uber ซึ่งแท็กซี่มีผู้ประกอบการเดิมเป็นหลักแสน

ซึ่งในยุค 4.0 เป็นยุคของ Sharing Economy การกันหมายถึงการฉุดไม่ให้พัฒนา เราต้องปรับทัศนคติตรงนี้ และเอาประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง แล้วจะก้าวข้ามอุปสรรคได้หลายเรื่อง คือจะเอาประโยชน์ของแท็กซี่บางกลุ่มที่ไม่ยอมให้บริการในระดับที่ควร หรือจะเอาประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการเป็นที่ตั้ง ที่ผ่านมาชัดเจนว่ารัฐบาลเอาประโยชน์ของผู้ให้บริการเป็นที่ตั้ง ก็เลยไม่เกิดการพัฒนาในแนวทางที่ผมอยากจะเห็น หรือในส่วนของฟินเทค ระบบธนาคารของเราเข้มแข็งมาก ถ้าเทียบกับต่างประเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง เมียนมา กัมพูชา ระบบธนาคารอ่อนแอ จึงเป็นช่องว่างให้ฟินเทคเติบโตได้เร็ว

เพราะประเทศเขาไม่มีผู้ประกอบการเดิมยึดครองพื้นที่?

อะไรแบบนั้น… ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องโดยธรรมชาติ แต่ในส่วนผู้ประกอบการเดิม ผมคิดว่าไม่มีใครไม่ตระหนักในเรื่องของการพัฒนา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แน่นอนที่สุด เขาเองก็ต้องการเวลาปรับตัว แต่ในขณะเดียวกัน เขาเองก็อยากเป็นผู้ให้บริการแนวใหม่เอง คือไม่ได้ต้องการให้คนอื่นมาใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้บริการแทนเขา เขาเองก็คิดว่ามีความได้เปรียบอยู่ในมือ ซึ่งก็จริง นั่นคือสาเหตุที่ผู้ประกอบการที่ดีที่สุดมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงที่สุดในไทยคือ ผู้ประกอบการต้องทำงานร่วมกับธนาคาร

นี่คือเป้าหมายของสมาคมและ F13 ที่ต้องการจะเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน และผมรวมถึงธนาคารของรัฐด้วย โดยเฉพาะเรื่องความยืดหยุ่น มีความพร้อมที่จะพัฒนาจากภายในของเขาเองซึ่งมันจำกัดอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ข้างนอกกลับมาศึกษาประเด็นที่เป็น Pain Point หรือปัญหาของผู้ใช้บริการธนาคารของรัฐ และอาจจะมีการสร้างแอปขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหานั้นและเชื่อมโยงในภายหลังได้ ซึ่งมันมีหลายตัวอย่างปรากฏให้เห็น ทั้งในส่วนของธุรกิจประกันด้วย

เมื่อมี Pain Point อยู่ในทุกๆ ภาคส่วน สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทยก็ยิ่งต้องวางเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนเพื่อช่วยแก้ปัญหา

ระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เราต้องมี Innovation บางอย่างที่เข้ามาช่วยในด้านการทำงานของธนาคารรัฐ ในการสร้างเครื่องมือในรูปของแอปพลิเคชัน เช่น ตอบโจทย์ความต้องการของ ธ.ก.ส. ในการที่จะให้บริการเกษตรกรที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และหลายคนเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ มีรายได้น้อย มีความเสี่ยงสูงในการประกอบอาชีพของเขา ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลและปัจจัยที่ทำให้เขาไม่สามารถใช้บริการทางการเงินในระบบได้อย่างคล่องตัว

ภาพโดย rawpixel.com on Unsplash

หรือธนาคารออมสินที่มีหน้าที่ดูแลคนจนในเมือง หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่มีหน้าที่ทำให้คนไทยมีบ้านและที่อยู่อาศัยของตนเอง เอสเอ็มอีก็มีปัญหามากมายในการประเมินความเสี่ยงในอดีต เหล่านี้ล้วนเป็น Pain Point ซึ่งรอที่จะมีคำตอบ และที่ผ่านมา เขาจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาจากภายในด้วยความลำบาก

พูดถึงเป้าหมายระยะยาวละคะ

ความเป็นไปได้แรก เราอาจจะเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพเพื่อไปแข่งขันในระดับเอเชียและในตลาดโลก ความเป็นไปได้ที่สอง กรณีของฟินเทค สตาร์ทอัพ อาจจะร่วมมือกับธนาคารไทย ใช้ฐานทุนกับเครือข่าย โครงข่ายของธนาคารเป็นแพลตฟอร์มที่จะขยายฐานไปต่างประเทศ แต่ต้องอย่าลืมว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยถ้าเปรียบธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์ มาเลเซีย เราไม่มีความทะเยอทะยานเท่ากับเขา

สิงคโปร์เขามานะ DBS, UOB มาเลเซียมี Maybank ทางหลักทรัพย์ก็มีเข้ามา แต่ของเรา เราไม่ไป ธนาคารหารายได้ในตลาดบ้านเรา หรือเรามีปัญหาอะไรบางอย่างในการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้

ถ้าธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน จะสร้างฟินเทคขึ้นมาเอง เพื่อแข่งขันในระดับสากลได้ เขาเองก็ควรต้องเปลี่ยนทัศนคติ

แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ สุดท้ายอาจเป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการไทย สตาร์ทอัพไทย กับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งอาจจะหมายถึงแบงก์ต่างประเทศหรือ Non Bank ต่างประเทศก็ได้ เช่น Alibaba หรือ WeChat ที่เขามีเจตจำนงอยู่แล้ว แหล่งทุนเขามากกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยรวมตัวกันด้วย แนวโน้มโอกาสที่จะเข้ามาให้บริการทางการเงินแก่คนไทยสูงมาก และวันนี้เขามาแล้ว!

ภาพจาก MarketingToChina

มองว่าจีนจะเข้ามาในรูปแบบไหนบ้าง?

เขามาให้บริการกับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ก้าวต่อไปไม่ใช่ก้าวที่ยากลำบากที่เขาจะหันมาให้บริการกับคนไทยโดยตรง ซึ่งแน่นอนที่สุด เขาคงจะเข้ามาในรูปของ Non Bank และเนื่องจากเขาเป็นบริษัทเทคโนโลยี แนวโน้มก็คือจะเข้ามาให้บริการทางการเงินในรูปของฟินเทค ซึ่งเขาอาจจะพัฒนาขึ้นมาเอง หรืออาจจะจับมือกับฟินเทคไทย หรือธนาคารพาณิชย์ไทยแล้วพัฒนาฟินเทคขึ้นมาก็เป็นไปได้

ถ้าจีนเข้ามามากๆ น่ากลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อคนไทย ประเทศไทย

ต้องถามว่าน่ากลัวสำหรับใคร เอาเป็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องคิดทั้งในแง่มุมด้านการแข่งขัน ประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ ทั้งในแง่มุมของความเสี่ยงต่อระบบทางการเงินและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมันมีหลายมิติ ประเด็นก็คือมันเกิดขึ้นแน่

ถ้าเปรียบเทียบกัน ลองดูอุตสาหกรรมสื่อ ความนิยมโฆษณาที่ผ่านดิจิทัลนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งผ่านพื้นที่ของบริษัทต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google สองเจ้าก็น่าจะปาเข้าไป 80% แล้วนะของงบโฆษณาทั้งหมด ปัญหาคือ รายได้นี้ในอดีตที่สื่อไทยเคยได้รับ รัฐเคยมีส่วนเก็บภาษีได้ แต่ตอนนี้เก็บไม่ได้เลย ปัญหาคือแม้แต่ผู้ซื้อโฆษณาก็ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายนี้มาหักภาษีได้ ผมจึงบอกว่ามันเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยได้

สกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นในหลายประเทศ จีนก็ทำ คุณกรณ์มองเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องฟินเทคเป็นเรื่องระดับประเทศ ไม่ใช่แค่เด็ก 40-50 คนที่ไม่อยากทำงานบริษัทแล้วออกมาประดิษฐ์ สร้างเนื้อสร้างตัวในแพลตฟอร์มใหม่ๆ แต่เป็นเรื่องที่กระทบคนไทยทุกคน กระทบเศรษฐกิจ และกระทบความมั่นคงของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ นี่ยังไม่ได้พูดถึง Blockchain ที่มีต่อสกุลเงินที่ใช้ เรื่องของ Digital Money, Bitcoin หรือสกุลเงินอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น สิงคโปร์ออกเงินดิจิทัลของเขาเอง นั่นเขาเห็นอะไร วันนี้ดูเหมือนเราอาจจะยังไม่เห็น แล้วเราต้องมีความคิดในแนวทางแบบนั้นหรือไม่

ภาพจาก Fortune

ในอดีตแบงก์ชาติเป็นผู้กำหนดเงินในระบบเพียงผู้เดียว แต่ตอนนี้มี Minor สร้าง Server ขึ้นมาผลิตสกุลเงินต่างๆ โดยไม่มีฝ่ายกฎหมายกำกับดูแล ตรวจสอบหรือควบคุม หลายคนก็บอกว่าเป็นระบบที่ดีกว่า ซึ่งผมมองว่าไม่ควรจะไปปิดกั้น

ผมชอบนวัตกรรมนะ เช่น Bitcoin คนคิดริเริ่มต้องการตอบโจทย์เรื่องต้นทุนการชำระเงิน ที่สูงเกินไป ที่เอื้อต่อนายทุน นายธนาคาร ซึ่งก็เป็นอุดมการณ์ที่ดีและสมควรได้รับการ ส่งเสริม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องปรับตัว ระบบใหม่นี้เรียกว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยทางการเงินที่เสรีที่สุด ใสสะอาดที่สุด และหลายคนบอกว่าปลอดภัยที่สุด’ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทำให้ระบบปัจจุบันสั่นคลอนได้

แต่ข้อดีตลาดไทยคือ เจาะยาก ไม่หมูที่คนขายบริการจะทำได้ แต่ยักษ์ใหญ่จีนทำได้ กรณีฟินเทคก็คงไม่ต่าง แต่เราก็ยังมีโอกาสที่จะสร้างพื้นที่ให้ผู้ประกอบการไทยไขว่คว้าไว้ จึงเป็นสาเหตุที่ผมเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มโอกาส

ถ้าอย่างนั้น การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลจะส่งผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านใดบ้าง?

ผมมั่นใจว่าแชร์ของเพย์เมนต์ที่จะเกิดด้วยเงินดิจิทัลก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เงินดิจิทัลยิ่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้น พิสูจน์ได้ว่าสะดวก มีต้นทุนธุรกรรมที่ต่ำลง คนก็หันมานิยมใช้มากขึ้น ถามว่าคนยอมรับว่าเป็นเงินเหรอ

อะไรที่คนยอมรับว่าเป็นเงิน มันก็เป็นเงินนั่นแหละ เหมือนกับที่คนยอมรับทอง ผมจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกัน ถ้าคนยอมรับเงินดิจิทัล Bitcoin ว่าเป็นเงิน มันก็เป็นเงิน

ถ้าเราดูความนิยมของสกุลเงินต่างๆ สกุลที่นิยมมากคือ ดอลลาร์ เยน ยูโร และก่อนหน้านี้ก่อนสงครามอาจจะเป็นเงินปอนด์ ในแต่ละยุค สกุลเงินที่ได้รับความนิยมเป็นสกุลเงินของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่และเข้มแข็ง เพราะเมื่อเข้มแข็ง การค้าขายไม่ว่าสินค้าและบริการที่ประเทศอื่นมีกับคุณก็จะสูงมาก ความจำเป็นก็จะมากตามไปด้วย ค่าของเงิน ความนิยมของสกุลเงิน ปริมาณการค้าทั้งในเรื่องสินค้าและบริการก็มีมาก

ภาพจาก Pixabay

เงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin มีส่วนคล้ายกับอะไรไหม แล้วที่มาของความเชื่อมั่นอยู่ตรงไหน

ถ้าถามผมว่า Bitcoin คล้ายอะไรมากที่สุด ผมว่าคล้าย ‘ทอง’ ทองคำเป็นสกุลเงินที่ไม่ได้มีการค้าการขายมาเป็นตัวค้ำประกันเหมือนระบบเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ดำเนินอยู่ แต่คนก็นิยมและให้มูลค่ากับมัน เพราะทองเป็นสิ่งที่หายาก มีประวัติยาวนานเป็นพันๆ ปี ในแง่ของการยอมรับ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทองกับเงินเป็นวัตถุที่คนยอมรับว่าเป็นสิ่งของที่มีค่า Bitcoin ก็เหมือนกัน คือคนต้องเชื่อใน ‘อัลกอริทึม’ ไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีจะมีคนผลิต Bitcoin ขึ้นมาเป็นแสนๆ หน่วยได้โดยไม่มีการควบคุม

ต้องเชื่อว่าระบบอัลกอริทึมจะเป็นตัวกำหนดกติกาและจำกัดปริมาณ Bitcoin ที่ออกมา ในท้องตลาด และสุดท้ายจำนวน Bitcoin จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ Bitcoin ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น อีกส่วนคือปริมาณการค้าที่ทำให้มีเหตุในการชำระเงิน เพียงแต่ว่ามันไม่ได้อิงกับเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่ง มันเป็นสกุลเงินสำหรับประชากรโลก ที่สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างไม่มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

แล้วคนไทยจะปรับตัวอย่างไรให้ทันความเปลี่ยนแปลงในโลกการเงินยุคนี้และอนาคต

ในด้านฟินเทค แนวโน้มโอกาสที่ดีของประเทศไทยคือ คนไทยมีความพร้อมในการยอมรับและปรับสู่การใช้เทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ ได้สูงมาก คือ คนไทยชอบของใหม่ แล้วอะไรที่สะดวก อะไรที่ถูก ไม่ต้องโฆษณามาก คนไทยพร้อมใช้เสมอ ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นความได้เปรียบของผู้เสนอบริการแนวทางใหม่

นอกเหนือจากนั้นก็ในแง่ของฮาร์ดแวร์ ประเทศไทยเราก็เป็นประเทศที่มีการใช้สมาร์ทโฟน การเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่สูงมากอยู่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และที่สำคัญคือ คนยากคนจนก็มีสมาร์ทโฟนกันหมด ถ้ามีของดีจริงยากไหมที่จะทำให้คนไทยหันมาใช้บริการ...ไม่ยาก

ภาพจาก Igor Ovsyannykov on Unsplash

รัฐบาลเองก็มีการส่งเสริมในเรื่องของฟินเทค นั่นคือพร้อมเพย์ ซึ่งถ้ารัฐไม่ดันก็ไม่มีทางเกิดเพราะมันจะไปกระทบผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเดิมค่อนข้างมาก และทำให้เขาสูญเสียรายได้ค่าโอนไปพอสมควร ผู้ได้รับประโยชน์คือ ผู้มีรายได้ต่ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปริมาณและความเชื่อมั่นในระบบ นับวันก็มีสูงมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมในแนวทางนี้ก็จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการไทยละคะ

ผู้ประกอบการไทยอยู่นิ่งไม่ได้ แต่เราก็จะเห็นว่าที่ผ่านมามีนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้บริการอยู่เสมอ เช่นเรื่องของ Mobile Banking มีการแข่งขันชัดเจน มีอยู่แบงก์หนึ่งคือ กสิกรไทย ด้วยความที่เขาเอาจริงก่อนแบงก์อื่นๆ ทำให้เขาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้อย่างมหาศาล และเป็นบทเรียนให้กับทุกแบงก์ว่ามันมี First Move Advantage ในเรื่องแบบนี้ ซึ่งถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญ คุณอาจจะสูญเสียฐานลูกค้าไปได้อย่างมาก

ภาพจาก Redlab

หนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มลูกค้าธนาคารในอดีตคือ มุ่งขยายสาขาให้มากที่สุด แต่ยุคนี้กลับ ‘ปิดสาขา’ มากที่สุด และมุ่งทำเรื่องดิจิทัลแทน นั่นหมายความว่า แบงก์จะทำ Develop หรือ Improve ไม่ได้แล้ว แต่ต้อง Transform?

ต้อง Transform นะครับ ที่ผ่านมานี่คือความต่าง Mobile Banking ของกสิกรนั้นเขาสร้างขึ้นมาใหม่ แต่แบงก์อื่นนั้นทำเสริมระบบเดิม ซึ่งมันต่างกันในแง่ของ User Interface ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กสิกรช่วงชิงพื้นที่ตลาด สุดท้ายคือฝ่ายกำกับดูแลของภาครัฐต้องปรับตัวอย่างมาก ซึ่งมันต้องเริ่มด้วย ‘ทัศนคติ’

ถ้าคุณมีทัศนคติว่าคุณอยากที่จะส่งเสริมของใหม่ๆ โดยยึดประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นที่ตั้ง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง และคุณต้องคิดด้วยว่า ถ้าคุณไม่รีบทำเพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้คนไทยกันเองได้ปรับตัวหรือพัฒนาโดยเร็ว แนวโน้มโอกาสที่ผู้ประกอบการต่างประเทศจะยึดครองพื้นที่หมดเลยก็จะสูงมาก นี่คือเรื่องจริง เพราะคนที่อยู่ต่างประเทศไม่ต้องไปกำกับอยู่แล้ว เขาไม่ต้องแคร์ คนที่เสียเปรียบคือคนที่ขยับไม่ได้เพราะกฎหมายไม่รองรับ สุดท้ายแล้วก็จะสูญเสียพื้นที่นี้ไปหมด ดังนั้นผู้ที่ต้องปรับตัวมากคือ ภาครัฐ เพียงแต่ว่าการรู้และการปรับยังไม่ไปด้วยกันเสมอไป

นอกเหนือจากธนาคาร คุณกรณ์เห็นฟินเทคไทยที่มีคุณภาพหรือมีความโดดเด่นหรือไม่ อย่างไร

มีบางเจ้าอยู่ในระดับเวิลด์คลาส อย่าง Omise ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ โดยนวัตกรรมทางความคิดของเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในต่างประเทศและแข่งขันได้ บุคลากรของเขาก็อยู่ในระดับมาตรฐานโลก ผมเชื่อว่าเขาเป็นตัวอย่างที่ดีของฟินเทคจากประเทศไทย ส่วนฟินเทคใหญ่ที่เหลืออยู่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง และมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจเขาได้ ว่ามีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย โดยที่อาจจะยังไม่มีความชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรกของเขาว่า จะสเกลหรือจะขยายฐานไปต่างประเทศเมื่อไร อย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นทัศนคติที่ต่างกับสตาร์ทอัพในประเทศที่พัฒนากว่าเรา

ภาพจาก Slideshare

โอกาสที่สตาร์ทอัพไทยจะไปสยายปีกในต่างแดน ณ วันนี้จึงมีน้อยมาก

เปรียบเทียบกับสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดเล็ก ตั้งแต่วันแรกเขาก็คิดว่าจะไปแข่งขันในต่างประเทศอย่างไร ส่วนแหล่งทุนก็สนใจที่จะสนับสนุนทุนให้สตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มโอกาสที่จะสเกลในต่างประเทศหรือในระดับโลกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสตาร์ทอัพไทยยังจำกัดตัวเองว่าจะอยู่ในตลาดไทย แนวโน้มโอกาสที่จะโต แนวโน้มที่จะดึงดูดแหล่งทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้ก็จะจำกัด อย่างไรก็แล้วแต่ ก้าวแรกก็คงต้องเป็นอย่างนี้ ส่วนแนวโน้มในอนาคตว่าพัฒนาไปทางไหน ยังไม่ชัดว่าจะออกหัวหรือออกก้อย สตาร์ทอัพไทยอาจจะสยายปีกด้วยตัวเองไปต่างประเทศได้ แต่ต้องพัฒนาอีกมาก ทั้งในแง่ของคุณภาพ เทคโนโลยีที่เราจะต้องมีนวัตกรรมของเราเอง ซึ่งตรงนี้อาจจะยังขาด รวมไปถึงบุคลากรที่เราต้องมีในจำนวนที่เพียงพอ ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นปัญหาในวงการสตาร์ทอัพ

สรุปได้ไหมว่า อุปสรรคที่ทำอุตสาหกรรมฟินเทคไม่เติบโตเท่าที่ควรคือเรื่องกฎหมาย, ทัศนคติคนไทยในบางเรื่อง และยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ

ความรู้ความสามารถด้วยครับ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษา ผมเห็นสถิติจากเทคซอสเรื่องสัดส่วนสตาร์ทอัพต่อจำนวนประชากรของประเทศเรา 1 สตาร์ทอัพ ต่อประชากร 120,000 คน ถ้าผมจำไม่ผิดที่อิสราเอล 1 สตาร์ทอัพ ต่อประชากร 2,000 คน มันต่างกันเยอะมาก เพราะฉะนั้นของเขาล้มเหลว 10 ครั้ง ประสบความสำเร็จ 1 ครั้งก็เยอะแล้ว ส่วนเรื่องความสามารถ ผมคิดว่ามันสะท้อนเรื่องของบุคลากร ระบบการศึกษาของเรา ซึ่งมันเป็นเรื่องนานๆ ทีที่เราจะฟลุคได้แชมป์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา ซึ่งถ้าทุกอย่างยังเหมือนเดิม จะคาดหวังอะไรก็เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ มากกว่า

แล้วนอกจากฟินเทค ในทัศนะของคุณกรณ์ เทคสตาร์ทอัพกลุ่มใดที่ประเทศไทยควรมี ควรสร้างเป็นอันดับต้นๆ 

กลุ่มที่ตอบโจทย์ประเทศเราคือ AgTech คือการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเกษตร ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นบทบาทที่ชัดเจนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมเพิ่งไปดูงานที่ออสเตรเลียและได้ไปดู Incubator ของ AgTech ในเมลเบิร์น ที่น่าสนใจคือ เขาผูกโยง AgTech กับฟินเทคเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด

ถามว่าทำไมถึงอยู่ด้วยกัน เขาบอกว่าส่วนสำคัญของการช่วยเหลือเกษตรกรคือ ต้องการที่จะตอบโจทย์ Pain Point เรื่องการลดความเสี่ยงทางการเงินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะเรื่องประกันพืชผล การเข้าถึงแหล่งเงินแหล่งทุน ซึ่ง AgTech ของเขาหลายเจ้าตอบโจทย์ Pain Point เกษตรกรที่มีความเสี่ยงทางการเงิน ทำให้เห็นภาพว่าเชื่อมโยงกันได้ และอีกกลุ่มที่คิดว่ายังไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาเท่าที่ควรคือ EdTech เทคโนโลยีด้านการศึกษา

ถามว่า Pain Point ของประเทศคืออะไร เรื่องแรก 'การเงิน' การเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยตอบโจทย์ด้วย 'FinTech' เรื่องที่สอง 'ภาคเกษตร' เกษตรกรยังยากจนด้วยเหตุผลร้อยแปดพันเก้า ก็ต้องมี 'AgTech' และเรื่องที่สาม 'คุณภาพการศึกษา' ก็ต้องมี 'EdTech'

ผู้สนใจฟังประเด็นด้านฟินเทคที่ลึกขึ้นและเคสฟินเทคที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในต่างแดน ซึ่งแน่นอนว่ามีความเกี่ยวพันกับภาครัฐ คุณกรณ์ จาติกวณิช จะมาเป็น Speaker บนเวที Techsauce Global Summit โดยจะมาพูดในหัวข้อ ‘Global success case: How government can help support startups’ 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ข่าวและเทรนด์ด้านฟินเทคที่เทคซอสรวบรวมไว้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...