เปิดใจทีมงาน 'จับใจบอท' ผู้พัฒนา Chatbot คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า | Techsauce

เปิดใจทีมงาน 'จับใจบอท' ผู้พัฒนา Chatbot คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

สัมภาษณ์ทีมงานจับใจบอท (Jubjai Bot) แชทบอทที่ช่วยประเมินอาการซึมเศร้าของผู้ใช้งานได้ หากพบว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้ามากก็ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น ซึ่งทีมงานมีทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี นักจิตวิทยา และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ระบุอยากใช้วิทยาการทางด้าน AI ควบคู่กับหลักการทางด้านจิตวิทยาเพื่อช่วยผู้คนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา Techsauce ได้เผยแพร่บทความ "Chatbot กับ HealthTech ก็ไปด้วยกันได้ ส่อง 5 ผู้ช่วยด้านสุขภาพผ่านตัวอักษรที่น่าสนใจ" โดย 1 ใน 5 Chatbot ที่เราแนะนำให้รู้จักนั่นคือ "จับใจบอท" (Jubjaibot) โดยเป็น Chatbot ที่ให้บริการผ่าน Facebook Messenger ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าของผู้ที่ใช้งาน Chatbot ตัวนี้ได้

ปัจจุบันผู้คนมีแนวโน้มจะเกิดภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่ “โรคซึมเศร้า” ได้เป็นจำนวนมาก การมี Chatbot ในรูปแบบดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องดีและน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะที่จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าลงได้

ล่าสุดทีมงาน Techsauce ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทีมงานผู้พัฒนา Chatbot จับใจบอท เราว่าดูกันว่าจุดเริ่มต้น เบื้องหลัง เบื้องหลัง ผลตอบรับที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

 

แนะนำทีมงานจับใจบอท 'Depression Warriors'

ทีมงานผู้พัฒนาจับใจบอทเรียกตัวเองว่าเป็นเหล่า "Depression Warriors" ซึ่งทั้งหมด 4 ท่านด้วยกัน แต่ละคนมีบทบาทในโครงการ และมีหน้าที่การงานปัจจุบันดังนี้ (จากซ้ายไปขวา)

  • ท่านแรก ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Intelligent System Expert ปัจจุบันเป็น Co-Founder บริษัท พอดีคำดอทเอไอ จำกัด รวมทั้งเป็น Senior System Analyst และ Data Scientist บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
  • ท่านที่สอง ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี AI and Machine Learning Expert ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ท่านที่สาม คือ คุณพณิดา โยมะบุตร Clinical Psychology Expert ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลศิริราช เป็นว่าที่ ดร.ด้านจิตวิทยา กำลังจะสำเร็จการศึกษาเร็ว ๆ นี้
  • และท่านสุดท้าย คุณกัญธิณี กัจฉปคีรินทร์ Chatbot Expert ปัจจุบันเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการบำบัด ปีนี้วางแผนศึกษาต่อปริญญาเอก ด้าน AI อีกด้วย

จุดเริ่มต้นของการทำ 'จับใจบอท'

Photo: Twitter @aispdiary

ดร.กลกรณ์ :  เนื่องจากตัวเองเป็นอาจารย์และนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยลัยมหิดล ก็มีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง จึงเริ่มมองรอบ ๆ ตัวเราว่า ณ ปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้างในสังคม ซึ่ง ณ จังหวะนั้นก็เห็นคนรอบตัวเราที่มีอาการของภาวะซึมเศร้า รวมทั้งได้ยินข่าวศิลปินต่าง ๆ ที่มีการฆ่าตัวตายเนื่องจากโรคซึมเศร้า ซึ่งตอนแรกก็ต้องยอมรับตรงๆว่าไม่เข้าใจคำว่าโรคซึมเศร้าเหมือนกันว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร เพราะถ้าวิเคราะห์กันตามตรงคือ ก็เห็นศิลปินทำการแสดงได้ปกติ ทำไมถึงบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า

ก็เลยเริ่มมีการศึกษาพูดคุยกับนักวิจัยท่านอื่น (ดร.ยงยศ) ว่าปัญหาแบบนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะมันเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้เลย มันอยู่ข้างในจิตใจและค่อนข้าง Abstract มาก

ดร.ยงยศ: ส่วนของผมก็เกิดจากการได้เห็นคนรอบข้างเรารวมถึงคนที่เรารักมีอาการของภาวะซึมเศร้า แต่เนื่องจากบางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น หรือบางคนรู้ว่าเป็นแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นรักษายังไง ซึ่งสิงที่เราเห็นคือไม่ว่าพวกเขาจะพยายามอยากหนักเพื่อรักษาด้วยตัวของพวกเขาเองอย่างไร แต่ผลลัพธ์กลับยิ่งแย่ลงทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งต่อเมื่อพวกเขาได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างจริงจัง กลับเห็นผลดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง และเปรียบเสมือนการให้ชีวิตใหม่แก่พวกเขาและคนใกล้ชิด

ดร.ยงยศ :  พวกเราจึงเริ่มคิดอยากจะนำความรู้ทาง AI ที่เรียนมา มาทำนวัตกรรมซักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอีกมากมายที่อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกลับเรา อยากให้เขามีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นบางจากการได้เข้าสู่กระบวนการรักษาโรคซึมเศร้า พวกเราจึงไปชักชวนนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้า และมาตกผลึกความคิดกัน จนได้มาเป็นจับใจบอทครับ

ดร.กลกรณ์ : ต่อมาเราก็เลยพากันไปคุยและเชิญชวนนักจิตวิทยาคลินิค (คุณพณิดา) ก็ทำให้เริ่มรู้ปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น ประกอบกับ ณ ตอนนั้นก็ได้รู้จักเพื่อนอีกคนหนึ่ง (คุณกััญธิณี) ที่เป็นทั้งโปรแกรมเมอร์และเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย

คุณพณิดา : ตอนที่ ดร.ยงยศมาชวน ว่าอยากนำความรู้เรื่องจิตวิทยามาใช้กับ AI เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยซึมเศร้า เราก็รู้สึกสนใจและคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มาก เพราะในต่างประเทศก็มีการนำเอา AI มาใช้ในทางจิตวิทยาแล้ว ในไทยเราก็น่าจะมีบ้าง

คุณกัญธิณี : ส่วนตัวต้องบอกว่าเริ่มจากเราป่วยโดยเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราป่วย ความหมายคือ เรารู้แต่เราไม่มีความสุขนะ เรากลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันทุกข์มาก จนอยากให้ทุกอย่างในโลกหายไปให้หมด ไม่แน่ใจว่าอันนี้คือคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า แต่เราก็รู้นะว่าเราตายไม่ได้เพราะลูกมีเราแค่คนเดียว (คุณหมอบอกว่า แบบนี้ละคือคิดแล้ว) ต้องขอบคุณเพื่อนที่พาไปโรงพยาบาลให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จนอาการดีขึ้น มีสติมากขึ้น

และเริ่มเกิดความคิดว่าไม่อยากให้คนอื่น ๆ เจอแบบเรา ไม่รู้เขาจะมีเพื่อนดี ๆ มาทักเขาแบบเราไหม ก็เลยเริ่มรวมตัวกันเพื่อพัฒนาจับใจบอทคะ

ดร.กลกรณ์ : ทีมของเราค่อนข้างครบองค์ประกอบมาก มีทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี นักจิตวิทยา และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผมจึงเริ่มมาคิดงานวิจัยกันว่าเราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร เราจะเอาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างไร สุดท้ายก็มาตกผลึกกันที่การใช้วิทยาการทางด้าน AI ควบคู่กับหลักการทางด้านจิตวิทยา ทำให้เกิดตัว 'จับใจบอท' ขึ้นมา

โดยทางทีมงานจับใจบอทระบุเพิ่มเติมว่า ทีมงานหลักจะมี 4 คน และก็มีพันธมิตรที่มาช่วยดูแลเรื่อง Chatbot Framework คือทีมงานจาก Zwiz.AI ครับ ซึ่งงานวิจัยนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Innovation Hub Aging Society เพื่อตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0

สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทย

คุณกัญธิณีเล่ากับทีมงาน Techsauce ว่าสำหรับในประเทศไทยมีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2551 ประมาณการว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ในการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้าเมื่อตอนปีที่ทำสำรวจ โดยพบในวัย 25-59 ปี สูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นวัยทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า และจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บ ปี 2556 โรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุอันดับที่ 1 เลย ที่ทำให้หญิงไทยสูญเสียปีสุขภาวะ ส่วนชายไทยโรคนี้อยู่ในอันดับที่ 3

และจากสถานการณ์นี้ ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี พ.ศ.2563

เป็นที่รู้กันว่าโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาจะมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และในประเทศไทยทุก ๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า 1 คนนะ โดยที่ผู้หญิงจะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า คิดแล้วประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าความสูญเสียจากอาชญากรรมอีก

จากการศึกษาวิจัยโรคซึมเศร้าในคนไทยภายใต้แผนวิจัยบูรณาการการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อแก้ไขและป้องกันความสูญเสียจากโรคซึมเศร้า ปี 2549 พบว่าการดูแลแก้ไขโรคนี้ที่ได้ผลนั้นคือต้องพัฒนาระบบการค้นหาผู้ป่วย การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบดูแลรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดระยะเวลาเจ็บป่วย เพิ่มอัตราการหายทุเลา และลดการฆ่าตัวตายได้ โดยที่ถ้าตรวจเจอตั้งแต่แรก แค่พูดคุยบำบัดปรับมุมมองก็หายแล้ว ไม่ต้องทานยาเลยคะ แต่ถ้ามาระยะหลังจากนั้น ก็อาจจะต้องทานยาร่วมด้วย

ซึ่งระยะเวลาที่รักษาขึ้นกับระยะเวลาที่ป่วยมาอีกด้วย

ผลตอบรับเมื่อทดลองเปิดใช้ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

ดร.กลกรณ์ : ผลตอบรับในช่วงที่เปิดใช้ครั้งแรก ต้องยอมรับว่าได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด มีคนที่สนใจและเข้าร่วมการประเมินกับทางจับใจบอทเป็นจำนวนมาก และมีการแชร์เพจจับใจไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เพจจิตวิทยาคลินิคศิริราช เพจ Drama-addict และเพจอื่น ๆ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ซึ่งทางทีมงานจับใจบอทก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนในงานชิ้นนี้ด้วยครับ ส่วนเรื่องคำแนะนำ ติชม นั้น ก็มีหลายหลายมาก ซึ่งตรงนี้ทางทีมงานก็ได้มีการทดสอบโดยให้ผู้ใช้ได้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้จับใจ ซึ่งคำแนะนำตรงนี้ทางทีมงานก็รับมาพิจารณาเพื่อพัฒนาตัวจับใจให้ดีขึ้นต่อไปครับ

ผลการวิจัยของทีมงานจับใจบอทพบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่พึงพอใจการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยการคุยกับจับใจบอท มากกว่าการตอบแบบสอบถาม และพบว่า "จับใจ" สามารถประเมินและคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้ดีพอๆ กับการคัดกรองด้วยวิธีมาตรฐานอีกด้วย / Photo : Jubjai Bot Facebook Page

คุณพณิดา: เรามีการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานเปรียบเทียบระหว่างการตอบแบบสอบถาม กับการคุยกับจับใจ คนส่วนใหญ่รู้สึกดีกับการคุยกับจับใจมากกว่า มีความเห็นว่าจับใจน่ารัก น่าคุยด้วย คุยแล้วสบายใจ อันนี้เป็นเพราะขั้นตอนการออกแบบ Conversation Flow เราคิดกันเยอะมาก เราคิดเผื่อทั้งในมุมของคนทั่วไป คนซึมเศร้า และมุมของนักจิตวิทยาเลยได้ออกมาเป็นจับใจ ที่ดูเป็นมิตรกับทุกคน

ช่วงเปิดการทดลองใช้งาน มีคนใช้มากกว่าที่คาด

ดร.กลกรณ์ :  ปัญหาที่พบช่วงทดลองใช้งาน คือมีคนมาใช้งานมากเกินความคาดหมาย นี่เป็นครั้งแรกที่ทุกคนทำงาน Scale ใหญ่ และ Real-time ขนาดนี้ ขนาดคิดว่าเตรียมตัวดีแล้ว แต่พอปล่อยจริงชั่วโมงแรกๆ พวกเราก็งงๆ เหมือนกัน แต่พอตั้งหลักได้ เราก็ผลัดกัน Monitor ดูว่ามี Error ตรงไหน แทบจะไม่ได้นอนกันเลย เพราะยิ่งดึกคนยิ่งเข้ามาใช้เยอะ คนที่เข้ามาทดลองใช้ก็น่ารักมาก พวกเค้ารู้ว่าเราทำกำลังทดลองระบบกันอยู่ นอกจากมาใช้ มาช่วยแชร์แล้ว พอเจอปัญหาของระบบเขาก็เข้าใจ แล้วก็ช่วยกันแจ้งพวกเรา ต้องขอบคุณจริงๆ ถ้าไม่มีพวกเขา ก็ไม่มีจับใจวันนี้

คุณพณิดา: เรื่องนึงที่เราทำได้คือสร้างปรากฏการณ์ทาง Social Media ช่วงที่ปล่อยจับใจ เป็นช่วงทีมีข่าวศิลปินดังฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า เราลองไปดู Feedback ใน Twitter หรือ Facebook ของกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับของศิลปินนี้ จับใจบอทช่วยให้พวกเค้าได้ระวังว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือเปล่า เขามีการชักชวนกัน ให้มาคุยกับจับใจ จะได้รู้ว่าใครเสี่ยง ใครเศร้ามาก

อันนี้ถ้าจะมองว่าจับใจช่วยอะไร เราก็ถือว่าเราได้ช่วยสถานการณ์ตรงนั้น ที่เกิดขึ้นตอนนั้นพอดี ถือเป็นเรื่องที่ดีในช่วงวิกฤติ ถ้าพูดถึงสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป การปล่อยตัวจับใจบอทออกไป ทำให้คนตื่นตัวเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้น และคนสองหมื่นกว่าคนที่มาใช้ในช่วงทดลองใช้งาน ก็ได้มาประเมินสภาพอารมณ์ของตัวเอง ในเฟสนี้ เราอาจจะยังไม่ได้ลดปัญหาโดยตรง แต่เรียกว่าเพิ่มดีกว่า เพราะเราเพิ่มโอกาสให้คนตระหนัก หรือเห็นปัญหาทางอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น จากการที่เราได้ Provide เครื่องมือในการประเมินสภาวะซึมเศร้าของเขา

Privacy หรือ ความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องสำคัญ

Techsauce ถามทางทีมงานจับใจบอทว่ามีผู้ใช้งานแชทบอทแล้วไปพบแพทย์แบบจริงจังมากน้อยแค่ไหน มีข้อมูลตรงนี้หรือไม่? ทางทีมงานจับใจบอทตอบว่า

ดร.กลกรณ์ : ตรงนี้ทางเรายังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด เนื่องจากตัวจับใจในเบื้องต้นเป็นการคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งในเบื้องจะเป็นการแนะนำบทความการดูแลตัวเองให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าครับ

คุณพณิดา: ในทางจิตเวช เราจะถือเรื่องความเป็นส่วนตัวและการรักษาความลับของผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง จับใจเองก็ยึดหลักการนี้เหมือนกัน เราเลยไม่มีการ track ไปว่าหลังจากคุยกับจับใจเนี่ย คนทีมีภาวะซึมเศร้าเค้าไปรักษาหรือเปล่า แต่ก็จะมีจากการคุยกันปากต่อปาก กับคนที่รู้จักๆ เช่น เพื่อนของเพื่อนของเพื่อน ก็มีมาบอกว่ามีบางคนตัดสินใจไปพบจิตแพทย์หลังจากคุยกับจับใจแล้วจับใจบอกว่ามีภาวะซึมเศร้า ซึ่งจริง ๆ แล้วต่อให้เป็นคนหรือสองคน เราก็ถือว่าคุ้มแล้ว ในแง่ของการรักษาชีวิตเค้าไว้

กลับมาเปิดให้ใช้พร้อมฟีเจอร์ใหม่ ๆ แล้ว

Jubjai Bot screenshot

ดร.กลกรณ์ : ช่วงที่ปิดการทำงานไปนี้ ทางทีมงานได้ทำงานอย่างหนักมาก เนื่องจากเราอยากให้ 'จับใจบอท' มีความน่าเชื่อถือเรื่องของการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วย ไม่ใช่แค่ว่าการพิมพ์ถามตอบเล่น ๆ ทั่วไป ทางทีมจึงนำหลักการทางด้านสถิติมาวิเคราะห์หาความเชื่อมั่นของการประเมิน แล้วผลสรุปก็ได้ตามที่ต้องการคือ การประเมินผลภาวะซึมเศร้าของจับใจนั้นได้ผลเช่นเดียวกับการประเมินผลของการใช้แบบทดสอบคำถาม (Questionaire) ที่ใช้ทดสอบในปัจจุบัน ทั้งนี้เรายังได้เพิ่มในส่วนของการแนะนำข้อมูล (Psychologist Recommendation) ให้กับผู้ที่ร่วมทดสอบกับจับใจด้วย ทั้งนี้การแนะนำข้อมูลนี้จะไม่ใช่การบำบัดโดยตรง เรายังคงแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและบำบัดให้ถูกวิธีต่อไป

ในส่วนทางด้านเทคนิค ทางจับใจได้รับความร่วมมือจาก Zwiz.AI เข้ามาช่วยดูในส่วนของ Framework ทำให้ จับใจ มีการทำงานที่ดีขึ้นด้วย ตรงนี้ก็ต้องของคุณทีมงาน Zwiz.AI ด้วยครับ

คุณพณิดา: เราเพิ่มส่วน Psychologist Recommendation ว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้าระดับไหน ควรทำยังไง เป็นการให้ข้อมูล ให้ความรู้ และแนวทางปฏิบัติตัว แต่เรายังไม่ได้ลงไปถึงเรื่องของการบำบัด เพราะวัตถุประสงค์ของจับใจเป็นการประเมินเพือคัดกรอง ซึ่งเราคิดว่าในขั้นตอนนี้ Recommendation ที่เราให้ก็โอเคแล้ว อย่างน้อยทำให้เค้ารู้ว่าถ้ามีภาวะซึมเศร้าระดับนี้ ควรทำอย่างไรต่อไป

คุณกัญธิณี : อีกสิ่งที่เราปรับปรุงจะเป็นส่วน Infrastructure หรือ Framework ทั้งหมด เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานในปริมาณสูงได้ โดยได้รับความร่วมมือจาก Zwiz.AI ในการดูแล Framework ของ Chatbot ให้พวกเราคะ

ภาพคุณกัญธิณี ที่พัฒนาแชทบอทในเชิง Social Monitoring ที่ชื่อ TunTREND จนได้รับรางวัลในงาน Chatbot Hakathon 2017

ทิศทางของ 'จับใจบอท' ในอนาคต

ดร.กลกรณ์ : ณ ปัจจุบัน แชทบอท “จับใจ” ยังเป็นแค่เพียงการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในแต่ละบุคคลที่เข้ามาใช้งาน ซึ่งในอนาคตทางทีมก็อยากจะสร้างระบบที่ครบวงจรมากขึ้น ทั้งการคัดกรอง การแนะนำ การบำบัด รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Tele-mental health เข้ามาช่วย ซึ่งตอนนี้ทางทีมก็กำลังสร้างเครือข่ายสำหรับการพัฒนาระบบนี้ให้ครบวงจร ก็มีการพูดคุยเชิญชวนนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ให้เข้าร่วมโครงการที่กำลังจะพัฒนาขึ้นครับ

พณิดา: อาจจะมีการทำ Chatbot เพื่อการบำบัด ซึ่งคงต้องใช้ทั้งทีม ทั้งเวลาที่มากกว่านี้

ดร. ยงยศ : นอกจากนี้เรายังมีแผนที่จะพัฒนา Platform สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าผ่าน Tele-mental health ซึ่งจะทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้คนในอย่างครบวงจรมากขึ้นครับ

อยากฝากอะไรเพิ่มเติมถึงผู้อ่าน ?

ดร.กลกรณ์ : อยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าใหม่ โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง ไม่ใช่โรคเครียด ไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วคุยกับใครไม่ได้ ซึ่งความเข้าใจกับคนที่มีภาวะโรคซึมเศร้านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยในทางปฏิบัติการรักษาบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้านี้สามารถทำให้หายได้ แต่ก็จะมีกระบวนการรักษาตามหลักจิตวิทยาที่เฉพาะเจาะจงไป ก็อยากจะฝาก Chatbot ที่ชื่อว่า 'จับใจบอท' ไว้กับทุกคนเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประเมินภาวะโรคซึมเศร้าของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนรู้ตัวในเรื่องของโรคซึมเศร้าของตัวเองตั้งแต่เริ่มๆ และทำการรักษาได้ทันท่วงทีครับ

ดร. ยงยศ : อยากจะฝากบอกว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายดีได้ ถ้าเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกวิธี แล้วคุณจะพบว่า ถึงแม้โลกใบนี้จะไม่สดใสนัก แต่รับรองว่าคุณจะได้พบกับโลกใบใหม่ที่จะไม่เลวร้ายสำหรับคุณอีกต่อไปครับ

คุณพณิดา : อยากจะขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมให้งานนี้สำเร็จนะคะ อีกเรื่องคือ นอกจากจะเชิญชวนให้มาคุยกับจับใจกัน ให้ชวนเพื่อน หรือคนในครอบครัวมาคุยกับจับใจ เพื่อจะได้คอยสังเกตตัวเองว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า ก็อยากให้พยายามช่วยกันดูแลสุขภาพจิต พยายามทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตกันให้มากขึ้นด้วยค่ะ

คุณกัญธิณี : จะบอกว่าจับใจบอทเป็นผลงานที่ดิฉันทำในภาวะที่เราเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ขนาด J.K. Rowling ก็เขียน Harry Plotter เสร็จเพราะเธอเป็นโรคซึมเศร้าเช่นกัน เราแค่จะฝากว่า “ถ้าเราทำได้ เธอก็ทำได้เช่นกัน”

วันนี้เราก็กล้าจะบอกว่าเราเป็นโรคซึมเศร้านะ แอบภูมิใจนิด ๆ ด้วย เพราะโรคซึมเศร้าทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น คิดจะทำประโยชน์ให้สังคมมากขึ้น และโรคซึมเศร้าก็ทำให้เราได้เห็นสิ่งดี ๆ ในชีวิตมากขึ้น รู้จักตัวเองและมีความสุขขึ้น เราทำให้เราแอบรู้สึกนะว่าโรคซึมเศร้าทำให้เราไปหาผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยฝึกใจเราให้เข้มแข็งมากขึ้น แล้วกลับมาตอบแทนสังคมและประเทศเรา

ที่สำคัญอยากบอกว่าทุกคนมีค่า มีความหมายกับพวกเราและจับใจเสมอ สุดท้ายขอขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ และทีมที่ดี ที่ฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกัน

"ขอบคุณ Techsauce อีกครั้งที่เปิดโอกาสให้พวกเรานำเสนอผลงานหุ่นยนต์ตรวจจับภาวะซึมเศร้าด้วยภาษาไทย ผลงานคนไทย เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนคะ" คุณกัญธิณีกล่าวปิดท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สำรวจ orbix เมืองหลวงแห่งโอกาสของคริปโตเนียนและจักรวาล Digital Asset ของ Unita Capital

ทำความรู้จักแพลตฟอร์ม orbix กระดานเทรดนี้ต่างจากที่อื่นตรงไหน หัวใจสำคัญของการเปิด ‘เมืองหลวงแห่งโอกาสของคริปโตเนียน (The Capital of Kryptonian)’ คืออะไร รวมไว้ในบทความนี้แล้ว...

Responsive image

นับถอยหลัง Bitcoin Halving Month พร้อมแนวคิดการลงทุนของคนรุ่นใหม่ ในงาน Bitkub Meetup 2024: The Halving Month

กลับมาอีกครั้งกับงาน Bitkub Meetup 2024 ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ: The Halving Month ร่วมนับถอยหลังสู่เดือนแห่ง Bitcoin Halving บทความนี้จะพาไปเจาะลึกถึงประวัติศาสตร์ของ Cryptocurrency แ...

Responsive image

6 เทรนด์ Gen AI ฉบับเข้าใจง่าย จาก Accenture พร้อมเคสการใช้งานจริงในภาคธุรกิจ

รวมประเด็นน่ารู้จาก Accenture ที่จะทำให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจการนำ Generative AI ไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น 6 เทรนด์ Gen AI พร้อมเคสการใช้งานจริงในภาคธุรกิจ, ผู้บริหารระดับ C-su...