เจาะกลยุทธ์ BRILLIANT BASICS จาก KBTG กลจักรสำคัญสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค | Techsauce

เจาะกลยุทธ์ BRILLIANT BASICS จาก KBTG กลจักรสำคัญสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค

ในสมัยก่อนปัญหาโอนเงินไม่ผ่านหรือโอนแล้วต้องรออาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันที่ชีวิตของเราต้องการความรวดเร็วและให้ความสำคัญกับเวลาอย่างมาก ปัญหาที่เกิดจากการทำธุรกรรมออนไลน์ในยุคนี้จึงอาจจะหมายถึงโอกาสสำคัญของคนหรือธุรกิจ เพราะหลายคนพกเงินสดติดตัวน้อยลง ขณะที่บางคนต้องพึ่งพารายได้แบบวันต่อวัน ทำให้คนหันมาพึ่งพา Mobile Banking ในการใช้ชีวิตมากขึ้น 

สำหรับ KBTG ในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้กับธนาคารกสิกรไทย มองปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ธรรมดา และมุ่งมั่นพัฒนาระบบให้มีเสถียรภาพเพื่อสร้างความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า จนเป็นที่มาของการวางกลยุทธ์ Brilliant Basics

K PLUS ธุรกรรม 1 ใน 3 ของประเทศ

การที่ระบบ Mobile Banking ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนต่างธนาคาร ทำให้เกิดธุรกรรมเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันมีเงินมากถึง 23 ล้านล้านบาท หมุนผ่านระบบของ KBTG หรือคิดเป็น 33% ของธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดของประเทศไทย

คุณกระทิง - เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KBTG กล่าวว่า ปัจจุบัน K PLUS มีลูกค้า 18.6 ล้านคน มีการเติบโตของธุรกรรมมากที่สุด มีธุรกรรมวิ่งผ่านระบบถึง 2.9 หมื่นล้านครั้ง โดยเป็นธุรกรรมทางการเงินถึง 7.78 พันล้านครั้ง โตขึ้น 3 เท่ากว่าใน 4 ปี แต่ธนาคารกสิกรไทยยังเป็นธนาคารที่มีเสถียรภาพมาก เราถือว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติ (Incident) น้อยมาก ในระยะเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ที่แบงก์ชาติเริ่มวัดสถิติ

“เราภูมิใจกับงานที่ทำ เพราะหากระบบของธนาคารกสิกรไทยมีปัญหา หมายความว่าหัวใจหรือเส้นเลือด 1 ใน 3 ของร่างกายเป็นอัมพาต” คุณกระทิง กล่าว

จุดเริ่มต้นสู่กลยุทธ์ Brilliant Basics

แต่กว่าจะมาเป็น KBTG ที่มีเสถียรภาพนั้นไม่ง่าย ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019 วันที่เปิดตัว คุณกระทิง - เรืองโรจน์ พูนผล อย่างเป็นทางการ หลังมาร่วมงานกับ KBTG ได้ 1 เดือน

คุณกระทิง เล่าว่า “วันนั้นมีสื่อท่านหนึ่งถามผมว่า K PLUS จะล่มหรือไม่ ผมตอบกลับไปว่าไม่ล่มแน่นอน จากนั้นมีสายโทรมาทันทีทันใด และบอกว่า K PLUS มีปัญหา”

การเกิดปัญหานั้น ทำให้ KBTG ต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ให้ได้มองย้อนกลับมา และสะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริง และช่วยกันแก้ไข ซึ่ง ณ วันนั้น KBTG มีเวลาเพียง 28 วัน เพื่อแก้ไขทุกอย่าง เพราะคนที่อยู่ในวงการธนาคารจะรู้ว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่มีธุรกรรมมากที่สุดของปี ทุกคนจะโหมการทำธุรกรรมของ 4 วันใน 1 วัน

หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นทำให้ KBTG กลับมาคิดใหม่ เปลี่ยนระบบการจัดการทั้งหมดใหม่ ให้พนักงานทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหาโดยไม่ได้สนว่าใครมาจากแผนกไหน ตั้งทีม KBTG Month-End Avengers Team เข้ามาเฝ้าระวังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นผ่าน War Room โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนกับสิ้นเดือนที่มีธุรกรรมสูง ใช้ผู้บริหารระดับ CIO และ MD รวมไปถึงหัวหน้าทีมต่างๆ เข้ามาช่วยกันดูแลระบบ K PLUS ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เซิร์ฟเวอร์ โครงข่าย ต่างๆ ให้มีเสถียรภาพ เมื่อพบปัญหาก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที

ป้องกันให้ดี รู้ให้เร็ว แก้ให้ไว

สำหรับการเตรียมการของ KBTG เพื่อป้องกันเหตุการณ์ผิดปกตินั้นจะทำทุกเดือน โดยมีกระบวนการรีวิวความสามารถของระบบ ตรวจสอบปริมาณธุรกรรมที่เข้ามา และมองว่าจะปรับปรุงอะไรได้บ้างเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกรรมในอนาคต โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้

  • Scale Vertically ขยายช่องทางเดิมให้รองรับปริมาณธุรกรรมได้มากขึ้น เหมือนกับการขยายถนนหรือขุดคลองให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้รองรับธุรกรรมที่เข้ามาได้มากขึ้น
  • Scale Horizontally เพิ่มช่องทางใหม่ให้รองรับปริมาณธุรกรรมได้มากขึ้น เทียบได้กับการตัดถนนเส้นใหม่หรือขุดคลองสายใหม่
  • Control Veracity เป็นตัวกรองธุรกรรม เพื่อจำกัดธุรกรรมต่างๆ ที่วิ่งเข้ามาไม่ให้เกินปริมาณที่รับไหว
  • Control Volume ใช้หลักการแบบแก้มลิง เป็นการรับเงินมาก่อนแต่ยังไม่โอนเข้าบัญชีปลายทางในทันที แต่ใช้การรวบรวมเป็นก้อนใหญ่และทยอยเข้าบัญชีลูกค้า สามารถลดธุรกรรมที่เข้ามาจาก 1 ล้านครั้ง เหลือเพียง 10 ครั้ง
  • Detective Ability ตรวจจับปัญหาใหม่ๆ โดยการเก็บ Log มาวิเคราะห์ ทำให้แก้ปัญหาได้ไว เข้ามาแก้ปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน
  • Rehearsal ความพร้อมรับมือตลอดเวลา ทำให้เมื่อต้องแก้ปัญหาจริงไม่เกิดความผิดพลาด

พี่ตู่ - สาธิต ไกรญาณสม Executive Chairman, KBTG กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกรรมสูงสุดอยู่ที่ 900 ครั้งต่อวินาที หากระบบมีปัญหาแค่นิดเดียวก็แย่แล้ว ซึ่ง KBTG มองการแก้ปัญหาตอนนี้เป็น 3 เรื่อง คือ การป้องกันให้ดี รู้ปัญหาให้เร็ว และแก้ปัญหาให้ไว เพราะถ้าลูกค้ารู้ก่อนเราก็จะเดือดร้อน การตรวจจับได้เร็วก็จะบรรเทาปัญหาให้ลูกค้าได้

“เราใช้วิธีเก็บ Log ทั้งหมดของแต่ละระบบ นำมาวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาหรือไม่ ส่วนที่เป็นปัญหาจะถูกดึงขึ้นมาที่มอนิเตอร์ และจะมีทีมงานเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราใช้วิธีทำสคริปต์ไว้ล่วงหน้า และซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด” พี่ตู่ กล่าวเสริม

จะแก้ปัญหา ต้องแก้อย่างยั่งยืน

ซึ่ง KBTG ไม่ได้มองเพียงการแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างรวดเร็ว แต่ยังมองถึงความยั่งยืนในการแก้ปัญหา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมของระบบให้ดี และยังหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอว่าโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอกับการเติบโตในอนาคตหรือไม่ ทันสมัยหรือไม่ (Modernization) และ ได้มาตรฐานสากลหรือไม่ (Open Standard)

พี่ตู่ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องรีวิวระบบอยู่เสมอว่า เพราะสิ่งที่ดีอยู่แล้วมันอาจจะเป็นกับดัก อาจจะดีไม่พอสำหรับอนาคต ในอีก 3 ปีอาจจะไม่ทันสมัย สำหรับด้านมาตรฐาน ต้องเป็น Open Standard เพราะ KBTG อยู่คนเดียวไม่ได้ ทำเองไม่ได้ทั้งหมด ถ้าทำอะไรนอกเหนือจากมาตรฐาน ไม่เหมือนกับสิ่งที่บริษัทในโลกใช้กัน ก็จะใช้ไม่ได้ หรือต้องปรับแก้ระบบเยอะมาก

อีกส่วนหนึ่งคือความเสถียร (Stable) จะทำระบบอย่างไรให้ไม่มีข้อผิดพลาด (No Single Point of Failure) ซึ่งวิธีแก้ของ KBTG คือ ให้ทุกคนที่มีส่วนรับผิดชอบกับระบบ ดูว่าตัวเองมีจุดอ่อนหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องแจ้ง เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าตรงไหนคือจุดอ่อน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ง่าย นอกจากนี้ยังต้องออกแบบระบบให้ทำงานอัตโนมัติ (Automate) ให้ทันกับการแก้ปัญหา ใช้เวลาสั้นที่สุด

“ทั้งหมดนี้คือ One Step Ahead Forward เราต้องเดินนำหน้าขึ้นไปเสมอ เราวางสถาปัตยกรรมล่วงหน้า 3 ปี สิ่งแรกคือจะต้องเป็นบริษัทในระดับภูมิภาค รองรับธุรกรรมในระดับแสนล้านต่อปี จะต้องวางแผนไป 1 ขั้นเสมอ ซึ่งจะต้องออกแบบให้ระบบเป็น Automation First Design เพราะคนไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้ทัน” คุณกระทิง กล่าวเสริม

KInfra Transformation

แต่การพัฒนาระบบให้เสถียรในระยะยาวทั้งฝั่ง สถาปัตยกรรม (Architecture) และ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเกิดจากการปรับโครงสร้างการทำงานทั้งระบบ ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของ พี่ตะวัน จิตรถเวช Chief Technology Officer, KBTG ผู้ดูแล KInfra ที่ดูแลโครงสร้างและองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที รวมไปถึงการทำงานของระบบต่างๆ ให้กับธนาคารกสิกรไทย

ซึ่งพี่ตะวัน แบ่งการทรานส์ฟอร์มองค์กรออกเป็น 5 ด้านดังนี้

1. Destroy Silos: 2 ปีที่ผ่านมา พี่ตะวัน ล้มการทำงานแบบ Silo และเปลี่ยนให้ทำงานแบบ Agile มากขึ้น รวมบริษัทที่ดูแลฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเน็ตเวิร์ก เข้ากับบริษัทที่ดูเรื่อง Incident และสร้างให้เป็นทีมที่ทำงานข้ามสายกันได้ (Cross Functional Team) ทำให้งานทั้ง 2 ฝ่าย เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และยังทำให้พนักงานมีสกิลมากขึ้น เติบโตมากขึ้น และมี Career path กว้างขึ้น

หลังจากยุบ Silo สำเร็จ ก็เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างการทำงานทุกอย่างให้เป็น End-to-end Service โดยดูว่าการฝากเงิน โอนเงิน ถอนเงิน ต้องเชื่อมกับระบบอะไรบ้าง ตรงไหนที่มีจุดบกพร่อง ตรงไหนที่สมรรถนะไม่เพียงพอ ก่อนจะวางแผนเพื่อขยายระบบให้รองรับกับงานในอนาคต

2. Transformation: ตั้งแต่การเปลี่ยนพนักงานให้มีแนวคิดทรานส์ฟอร์มตัวเองอยู่เสมอ เมื่อทุกคนในองค์กรมีแนวคิดเช่นนี้ จะสามารถพาองค์กรไปสู่ High Performance Culture ได้ และให้บุคลากรแต่ละฝ่ายทั้ง ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม กับ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถสเกลและรองรับลูกค้าได้

ด้านการทรานส์ฟอร์มระบบ KBTG สร้าง On-Premise Cloud ที่สามารถสเกลได้ ให้ทั้ง 2 Data Center (ราษฎร์บูรณะ และ แจ้งวัฒนะ) ทำงานพร้อมกันทั้ง 2 ที่ สามารถรองรับซึ่งกันและกัน เมื่อระบบที่หนึ่งมีปัญหาอีกที่จะเข้ามารองรับได้ทันที

3. Preventive: เก็บ Log ของทุกแอปพลิเคชัน ทุกระบบ มาไว้ในที่เดียวกัน ทำให้สามารถติดตาม (Track) จากหน้าบ้านจนถึงหลังบ้าน รู้ว่าแต่ละกระบวนการใช้เวลาเท่าไร ทำให้สามารถตรวจจับปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อข้อมูลมารวมกันเป็น Big Data ก็สามารถใช้ Machine Learning เข้ามาดู Pattern ต่างๆ เพื่อตรวจสอบปัญหา ทำให้เกิด Early Detection ส่งผลให้ระบบเกิด Incident น้อยลงเพราะสามารถป้องกันได้อย่างรวดเร็ว

4. AIOps: ตรวจจับความปลอดภัย โดยดูจากดูพฤติกรรม เมื่อเห็นอะไรที่ผิดแปลกระบบจะตรวจจับทันที ซึ่งการใช้ AIOps ทั้งในด้าน Operation และ Security นอกจากจะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วยังช่วยให้พนักงานทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 

5. War Room Operation: มี Realtime Dashboard แสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์ ที่ทีมงานคอยเฝ้าอยู่ตลอด 24 ขั่วโมง ว่ามีใครโจมตีระบบหรือมีอะไรที่แปลกปลอมเข้ามาหรือไม่ โดยมีหัวเรือในการรับผิดชอบ คือ พี่แก้ว แก้วกานต์ ปิ่นจินดา Assistant Managing Director – Incident and Problem Management

ทีมหมอเวร กู้ชีพระบบให้พ้นวิกฤต

จากแนวคิดของคุณกระทิง ที่เคยกล่าวว่า “เราทุกคนจะต้องโตขึ้นทุกวัน เก่งขึ้นกว่าวันที่ผ่านมา” ทำให้พี่แก้วตัดสินใจปรับปรุงระบบการทำงานของ War Room ใหม่ โดยที่โฟกัสอยู่ที่ 3 เรื่อง ดังนี้

  • People หรือ ทีมงานที่ทำหน้าที่มอนิเตอร์เหตุการณ์ต่างๆ ถูกจัดให้ทำงานเป็นกะ ตลอด 24 ชั่วโมง จะต้องเห็นคุณค่าของงานที่ทำ พี่แก้ว เปรียบเทียบทีม War Room Operation กับ หมอเวร ที่ทำงานห้องฉุกเฉิน คอยประจำอยู่เพื่อแก้เหตุวิกฤต เวลาที่มีคนไข้เข้ามาในยามฉุกเฉิน หมอเวรจะทำหน้าที่กู้ชีพผู้ป่วยให้พ้นวิกฤต ก่อนจะส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางเยียวยารักษาต่อไป เช่นเดียวกับธนาคาร พนักงานเหล่านี้มีหน้าที่กู้ชีพระบบต่างๆให้กลับมาทำงานได้ปกติ ขณะเดียวกันก็คอยสอนให้ทีมงานเข้าใจการทำงานของแอปพลิเคชันแต่ละตัว เพื่อให้มองเห็นปัญหาได้ไว และเข้าไปแก้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
  • Process การแก้ปัญหา กระชับ ลดขั้นตอนการทำงาน โดยลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากกระบวนการทำงาน ทำ pre-approved ให้ทีมงานสามารถจัดการกับเรื่องยากๆ ได้ด้วยตนเอง เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน เช่นการขอรีสตาร์ท ที่ปกติจะต้องได้รับการอนุมัติจากหัวหน้าหรือ MD
  • Centralized Dashboard & Tools นำระบบต่างๆ ที่มีความสำคัญ ขึ้นมาโชว์เป็น Single View มี Main Dashboard เพื่อให้ทุกคนเห็นว่ามีระบบใดบ้างที่มีปัญหา และเข้าไปแก้ไขได้

“เราเรียกทีมนี้ว่าหมอเวรเพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่คนเฝ้า แต่เป็นผู้เยียวยา ผู้แก้ไขวิกฤตให้กับธนาคารกสิกรไทย” พี่แก้ว กล่าว

“ที่ KBTG มีแอปพลิเคชันประมาณ 500 ตัว มีการเชื่อมต่อกันมากกว่า 1 แสนเส้นเชื่อม เหมือนกับการสแกนเส้นเลือดฝอยในร่างกาย การนำมาแสดงผลให้ทีมงานได้เห็นเพื่อสามารถเข้าไปแก้ไขได้ ทำให้เราเป็นหมอเวรที่เก่งที่สุด เพราะเรารู้ระบบร่างกายของตัวเอง” คุณกระทิง กล่าวเสริม

สำหรับก้าวต่อไปของทีมหมอเวร คือ การลดเวลาแก้ปัญหาให้สั้นลงอีก ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะลดเวลาแก้ปัญหาจากปีที่แล้วได้ 33%

เดินหน้าสู่ผู้นำใน SEA

กลยุทธ์ Brilliant Basics ในครั้งนี้จะเป็นตัวผลักดันให้ KBTG เดินหน้าสู่ ONE KBTG ไปอีกขั้น เป็นอาวุธลับที่เกิดจากการทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างแท้จริง

คุณกระทิง กล่าวว่า Brilliant Basics มันคือ All for one ทุกคนร่วมมือกันเพื่อหนึ่งภารกิจ ทำอย่างไรเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุด ทำธุรกิจทำได้อย่างไม่สะดุด และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้า การเงินมันคือ Trust ซึ่งการที่จะใส่ความมั่นใจให้ลูกค้าได้ทุกคนจะต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้นอาวุธลับของ KBTG คือทีมงาน พนักงานทั้งหมด 1,800 คน สู้ด้วยการรวมกันเป็นหนึ่ง เรียกว่า One for all

ด้าน พี่ตู่ กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยต้องการจะเป็นที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลูกค้า 100 ล้านราย มี 1 แสนล้านธุรกรรม แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ต้องขยายไปในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันซอฟต์แวร์หรือโครงสร้างพื้นฐานจะต้องตอบสนองกับความสามารถในการสนับสนุนลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น ระบบจะต้องใช้ซ้ำ (Reuse) ได้กับประเทศที่บริษัทกำลังจะไปลงทุน ขณะเดียวกันจะต้องดูว่าสามารถดึงข้อมูลเข้ามาอยู่ในส่วนกลางทั้งหมดได้หรือไม่ เพื่อการบริหารจัดการในอนาคต

ล่าสุด KBTG ได้ลงระบบ Core Bank กับ K PLUS ที่เวียดนาม ซึ่งเป็นการ Reuse แพลตฟอร์มเดิม ใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น

“เราขึ้น Core Bank ในประเทศเวียดนามใช้เวลาแค่ 8 เดือน สามารถรองรับคนเวียดนามได้ 100 ล้านคน ซึ่ง Scalability มันคือสิ่งนี้ ถ้าจะขยายธุรกิจต้นทุนจะถูกลงไปอย่างมหาศาล และประหยัดเวลาไปมาก เมื่อเทียบกับการสร้างใหม่จากศูนย์” คุณกระทิง กล่าวเสริม

ปัจจุบันที่เวียดนามมีลูกค้า K PLUS 1 แสนคน คาดว่าอีกไม่นานจะมีลูกค้าแตะ 1 ล้านราย ซึ่งเป้าหมายต่อไปของ KBTG คือ ทำให้ K PLUS ใช้ได้ทั่วภูมิภาค รวมจีน และสามารถรองรับธุรกรรมถึง 1 แสนครั้งต่อวินาทีได้

ซึ่งการที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วนั้น องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการออกแบบ Application และ Infrastructure ของ KBTG คิดแบบ Regional ตั้งแต่วันแรก เมื่อนำไปใช้กับประเทศอื่นก็จะแก้เพียงเล็กน้อยและสามารถใช้ได้เลย ซึ่งปัจจุบัน KBTG มีศูนย์พัฒนา (Development Center) อยู่ 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย เวียดนาม และ จีน สำหรับแผนต่อไปที่ KBTG จะไปลงทุน คืออินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากร 260 ล้านคน และเต็มไปด้วยความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ภาษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย

“อินโดนีเซียเหมือนมี 16 ประเทศย่อยอยู่ในนั้น แต่ถึงแม้จะยาก แต่ KBTG ก็จะก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวอยู่เสมอ เพื่อไปสู่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตภัณฑ์ของเราได้รางวัลระดับโลก 2 รางวัล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไทยผลิตภัณฑ์แรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลระดับโลก ซึ่งขีดความสามารถของเราปัจจุบันอยู่ในระดับโลกแล้ว” คุณกระทิง กล่าว

“จากปี 2019 ที่ผมเข้ามาทำงานจนถึงวันนี้ บริษัท KBTG เปลี่ยนแปลงจากวันนั้นไปอย่างสิ้นเชิง และเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า เราก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากวันนี้อย่างสิ้นเชิงเช่นกัน ถึงตอนนั้นเมื่อเราเดินไปในภูมิภาคนี้ เมื่อถูกถามว่าบริษัทไหนที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย KBTG จะเป็นบริษัทที่อยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน” คุณกระทิง กล่าวในตอนท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...