ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทางธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ร่วมกับบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ (Digital Ventures) จัดงานสำคัญด้าน FinTech และการลงทุนครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่อ Faster Future SCB FinTech Forum โดยในงานมีไฮไลท์ และความรู้ต่างๆ มากมาย ที่เกิดจากการไปสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศเพื่อผลักดันระบบนิเวศด้านฟินเทคในประเทศไทย และ techsauce ไม่พลาดที่จะมาสรุปเนื้อหาทั้งหมดไว้ในบทความนี้แล้วตามสัญญา
[toc]
สถิติที่น่าสนใจและเทรนต์น่าจับตาในปี 2017
ในช่วงนี้ผู้ที่มาแบ่งปันความรู้คือ Jeffrey Paine, Managing Partner และ Co-Founder จาก Golden Gate Ventures ซึ่งเป็นกองทุนที่ทาง SCB เข้าร่วมลงทุนอยู่นั่นเอง โดยมีเนื้อหาหลายส่วนที่น่าสนใจ และเราสรุปประเด็นไว้ดังนี้
`
- เมื่อเปรียบเทียบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่นที่ใหญ่กว่าในเอเชีย Startup Ecosystem ของแถบนี้จะคล้ายๆ กับประเทศจีนในช่วงปี 2006 และอินเดียในปี 2011
- ในขณะที่การแข่งขันในภูมิภาคนี้เมื่อเทียบกับจีนและอินเดียนั้นยังถือว่าน้อยกว่ามาก อย่างจีนเองก็มีไอเดียธุรกิจที่เหมือนๆ กันราวๆ 500 - 2,000 รายเลยทีเดียว ของธุรกิจแถบนี้อยู่ที่ราวๆ 20 รายเท่านั้น โดยที่ในช่วง 18 เดือนแรกของการเกิดธุรกิจกลุ่มนั้นๆ ยังคงมีแค่ 5-7 ราย
- ขนาดของเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็น 1 ใน 4 ของจีน แม้ขนาดของประเทศจะเล็กกว่ามากๆ
- ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างในเชิงวัฒนธรรม แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็มีการผลักดันและใช้ภาษาอังกฤษกันแพร่หลายมากขึ้น
- การเติบโตของสายการบินราคาถูกในแถบนี้ ทำให้การเดินทางนั้นสะดวกและคล่องตัวขึ้น คาดการณ์กันว่าจะดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนมากขึ้นถึง 40 พันล้านเหรียญฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากถึง 650 ล้านคน
- เวียดนาม - มีการค้นหาข้อมูลผ่านโมบายสูงถึง 3พันล้านครั้งต่อวัน
- ฟิลิปปินส์ - มีการส่ง 5 พันล้านข้อความในหนึ่งวัน
- มาเลเซียใช้เวลาต่อ Session ในการออนไลน์ประมาณ 5.3 นาที
- อินโดนีเซียดู Mobile Pages ถึง 633 Pages ต่อเดือนต่อคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในโลก
- หนึ่งในปัจจัยการเติบโตคือ ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ต, การชำระเงินแบบ cashless การเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มฮาลาล (30-40% ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมุสลิม), บริษัทต่างๆ เริ่มเห็นความสำคัญของซอฟแวร์และกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาเต็มใจที่จะซื้อ และที่สำคัญคือ ภาครัฐฯ ให้การสนับสนุนและผลักดันธุรกิจ Startup รวมถึงกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ก็สะท้อนถึงการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
ความท้าทายของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เนื่องด้วยตลาดมีความแตกต่างกันไม่น้อย เรื่องของกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจที่นี่ก็เช่นกัน แม้แต่คนละเมือง อาทิ โฮจิมินห์ กับฮานอยยังไม่เหมือนกันเลย นักลงทุนที่เข้าสู่ตลาดนี้ต้องทำความเข้าใจความแตกต่างและพยายามหาคนที่ทำงานในแต่ละประเทศที่เข้าใจแต่ละตลาดให้ได้ และช่วยพวกเขาในการประสานงาน/ทำงานร่วมกับภาครัฐฯ
- มีผู้เล่นต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ที่วิ่งเข้ามาในตลาดนี้ ในขณะที่ตลาดอินเดียและจีนผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นในประเทศของตนเองเสียมากกว่า
- การมาของ Trump เรื่องนี้คงยังต้องดูกันต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคนี้บ้างหลังจาก Trump เข้ารับตำแหน่ง
คาดการณ์ 8 ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 3-5 ปีนี้
Jeffrey Paine Managing Partner และ Co-Founder จาก Golden Gate Ventures พูดต่อในหัวข้อนี้ได้อย่างน่าสนใจ และนี่คือสิ่งที่กำลังมาในแต่ละหมวด
B2B eCommerce
- eCommerce ที่เจาะไปด้าน Supply Chain Procurement
- B2B Marketplaces แบบเฉพาะทาง
- eCommerce ที่ช่วยให้ผู้ค้าปลีก แบรนด์ และผู้ผลิตสามารถยกขึ้นไปอยู่โลกออนไลน์ได้
- Differentiated eCommerce ที่เน้นในการสร้างคอนเทนท์คุณภาพ สร้างการมีส่วนร่วม และคอมมูนิตี้ที่แข็งแรง มากกว่าเพียงแค่การขายของ
FinTech
- เทคโนโลยีการพิจารณาเครดิตเพื่อปล่อยสินเชื่อ (Credit Scoring) กำลังบูม และเกิดขึ้นแล้วในอินโดนีเซีย
- One-stop Financial Platform มีแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันหลายอัน แต่สุดท้ายแล้วจะมีผู้ชนะในภูมิภาคนี้
- Bank ที่อยู่บนโมบายอย่างเดียว เกิดขึ้นที่ตลาดพัฒนาแล้ว แต่ก็มีรายที่น่าจับตาในตลาดเวียดนาม
- ระบบที่ทำให้คนสามารถซื้อประกันได้ด้วยตนเองเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ
- Blockchain Infrastructure
Entertainment
- Video blogging และ Live streaming application
- Mobile short video platform ที่สร้างการมีส่วนร่วมสูง
- In-App multi-format advertisement
- รูปแบบใหม่ๆ ของ AdTech
Automotive
- ระบบการจัดการที่จอดรถ
- B2B และ B2C car maintenance platform ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในเวียดนามและอินโดฯ
Healthcare
- Data Analytic จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในโรงพยาบาลและสถาบันดูแลสุขภาพ
- การนำ IoT และ sensor ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล
- แพลตฟอร์มการดูแลสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในตลาดที่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะไทยและสิงคโปร์
- Doctor-on-Demand และ Telemedicine Platforms ในพื้นที่ห่างไกล
Enterprise SAAS
- ซอฟแวร์ในองค์กรด้าน Cyber Security และ AI จะเติบโต อย่างระบบ Customer service และงานต่างๆ เกี่ยวกับทีมขายก็จะถูก Automated มากขึ้น
Transport
- โมเดลแบบ Uber สำหรับรถบรรทุกการขนส่งระยะไกล
- นวัตกรรมด้นา Transportation logistics supply chain อาทิเช่น การวางแผนเส้นทาง
AgriTech – finally moving forward in SEA
- การนำข้อมูล Big Data มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม
- แพลตฟอร์มการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร
- Market Linkage model ที่เชื่อมโยงให้เกษตรกรได้มีโอกาสเชื่อมโยงกับผู้ซื้อ
จีนจะกลายเป็น Silicon Valley แห่งใหม่?
ในช่วงนี้มีนักลงทุนจากจีนมาร่วมให้ความรู้ถึง 3 ท่านได้แก่
- Wei Hopeman, Managing Director แห่ง Arbor Ventures
- Oscar Ramos, Program Director แห่ง Chinaccelerator
- Grace Yun Xia, Senior Director, Corporate Strategy and Investment แห่ง Tencent
ส่วน Moderator กิตติมศักดิ์ไม่ใช่ใครอื่นคุณพอล พลภัทร อัครปรีดี Managing Director ด้าน Corporate Venture Capital แห่ง Digital Ventures นั่นเอง
- เพียงแค่ 15 ปี ตลาดการลงทุนของจีนก็กลายเป็นใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งเงินทุนนั้นไม่ได้มาจากแค่กลุ่มนักลงทุนกลุ่มเดิมๆ แต่มาจากบริษัทอย่าง Tencent, Baidu และ Alibaba ซึ่งเป็นบริษัทที่เติบโตมาจากโลกออนไลน์ทั้งสิ้น
- สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนกำลังจะเกิดขึ้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 5-7 ปีข้างหน้านี้ ประเทศในแถบนี้ยังไม่เห็นรายใหญ่ๆ อย่าง Tencent หรือ Alibaba แต่...ตลาดกำลังดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน และผู้ประกอบการในแถบนี้ที่เข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในจีนเวลานี้ จะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต
- เทรนด์ใหญ่สุดของ Startup จีนคือพยายามนำเทคโนโลยีที่พวกเขามีเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนรายอื่นๆ ในขณะที่นักลงทุนจีนก็มุ่งหน้าสู่ตลาดนี้เช่นกันและพยายามสร้างความหลากหลายใน portfolio การลงทุนของพวกเขา ไม่ใช่แค่บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนเท่านั้น แต่รวมถึงนักลงทุนจากจีนก็เช่นกัน
- ภาครัฐฯ ของจีนกำลังพยายามทำงานร่วมกับ Startup และจับมือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อจะสร้าง Framework ที่ผลักดันไปสู่นวัตกรรม
- ถ้าให้พูดถึงผู้ประกอบการจีน? ต้องบอกว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมาก และในที่สุดกลายเป็นการสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพระดับโลกนั่นเอง
- Grace Yun Xia กล่าวว่า ความสามารถของทีมวิจัยและพัฒนา การเข้าถึงแหล่งทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ Startup ต้องบอกว่าจีนนั้นแซงหน้า Silicon Valley ไปแล้ว
- ชาวโลกอาจยังไม่รู้ว่ามีเทคโนโลยีหลากหลายอย่างที่จีนพัฒนาได้เอง ประชากรของจีนก็ปรับตัวและพร้อมใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Startup ได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่คนอายุเยอะที่นั่นก็ยังมีทักษะในการใช้สมาร์ทโฟนกันแล้ว
- ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตลาดจีนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตามแต่ ถ้าคุณเป็นบริษัทต่างชาติแล้วหล่ะก็ การมี local partner เป็นสิ่งจำเป็น ให้มองหาพาร์ทเนอร์ที่เพิ่มคุณค่า (add value) ให้กับคุณได้ แต่บางทีตลาดจีนก็ใช่ว่าจะเหมาะกับชาวต่างชาติ Oscar Ramos กล่าวว่า บางทีบริษัทต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน เมื่อทำธุรกิจไปสักระยะก็อาจตระหนักว่าจริงๆ แล้วตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะเหมาะกับพวกเขามากกว่า
- Grace Yun Xia กล่าวว่า จีนมีลักษณะเฉพาะคือมีผู้เล่นรายใหญ่มากๆ อยู่อย่าง Alibaba, Tencent และ Baidu พวกเขามีความสำคัญในการขับเคลื่อน ecosystem ในจีน และบริษัทเหล่านี้กำลังก้าวจาก core product ecosystem ไปสู่ collaborative ecosystem โดยการสร้าง ecosystem นั้นต้องเข้าซื้อกิจการในธุรกิจที่แตกต่างออกไป รวมถึงการลงทุน และการทำพาร์ทเนอร์ด้วย ทุกแพลตฟอร์มดึงเอา Startup ที่มีนวัตกรรมเข้ามาเพื่อนำเสนอประสบการณ์ลูกค้าแบบ End-to-End
- หนึ่งในปรากฎการณ์หนึ่งที่ทาง Chinaccelerator เล่าให้ฟังคือ มีหลายบริษัทที่มี traction ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่สามารถหารายได้หรือเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจแบบยั่งยืนได้ในตลาดจีน แต่พอพัฒนาผลิตภัณฑ์ในจีนก่อน แข็งแรงในตลาดจีน แล้วค่อยขยายมาตลาดนี้กลับสำเร็จก็เป็นได้
อัปเดตสถานการณ์ของ Corporate Venture Capital (CVC) landscape ในไทย
ในช่วงนี้ได้รับเกียรติจากคุณพอล พลภัทร อัครปรีดี Managing Director, Corporate Venture Capital, Digital Ventures มาอัพเดตเรื่องราวที่กำลังเป็นเทรนด์ร้อนแรงในองค์กรขนาดใหญ่เวลานี้นั่นคือ Corporate Venture Capital
- ยุคของ Corporate Venture Capital ในไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน
- Wave 1: Telecom – AIA, DTAC, True, Ascend ในช่วงเริ่มแรก เราเห็นว่ามีนักลงทุนต่างประเทศ และฟากของ Telco นั้นเข้ามา เพราะในช่วงเวลานั้นโฟกัสส่วนใหญ่อยู่ที่ฟากของโมบายแพลตฟอร์ม
- Wave 2: SCB, KBank, Krungsri, Bangkok Bank 4 ปีผ่านมาเราได้เห็น FinTech และธนาคารตื่นตัว จริงๆ ไม่ใช่แค่ในแถบนี้แต่รวมถึงทั่วโลก ปี 2016 และ 2017 เราได้เห็นกิจกรรมเกิดขึ้นจากฟากของ CVC มากมาย นำโดยกลุ่มธนาคาร
- Wave 3: SCG, PTT, Ananda, Sansiri มาถึงตอนนี้เราเริ่มเห็นองค์กรอื่นๆ เข้ามาด้วยโมเดลการสร้างนวัตกรรม โครงการ Startup Accelerator และการลงทุนต่างๆ
- คุณพอลกล่าวว่าสำหรับธนาคารที่มีสินทรัพย์กว่า 80 พันล้านเหรียญฯ การลงทุนใน Accelerator และ Hackathons ถือเป็นเงินส่วนน้อยก็จริง แต่ก็หมายถึงความอยู่รอดของธุรกิจด้วยเหมือนกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเรายอมลงทุน และเป็นหนทางในการที่จะหาดีลที่มีศักยภาพด้วย
- ในแง่ของ Global Venture Capital Landscape เอเชียกลายเป็นตลาดที่สำคัญ มูลค่าการลงทุนทั่วโลกในปี 2016 คือ 127.4 พันล้านเหรียญฯ มีดีลเกิดขึ้น 13,665 ดีล โดยที่ 31% เป็นเงินที่ลงทุนในเอเชีย เป็นมูลค่า 39 พันล้านเหรียญฯ โดยมีทั้งสิ้น 1,742 ดีล ซึ่งมากกว่าเท่าตัวของการลงทุนในยุโรป
- Corporate Venture Capital มีแนวโน้มในการลงทุนใน Late Stages มากกว่าระยะ Early Stage ดังนั้นส่วนใหญ่เราจะได้เห็นเงินทุนจาก Corporate Venture Capital ที่ลงทุนในระดับ Series A หรือ Series B ใน Startup มากกว่า
- ในต่างประเทศใครเป็น Corporate Venture Capital กันบ้าง? ต้องเรียกว่ามีหลากหลายสุดๆ ทั้งสาย Health Care, Finance, Automotive, FMCG, Energy, Media ต่างก็มี VC เพื่อค้นหานวัตกรรม จากบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง Samsung, Rakuten ไปจนถึงบริษัทที่ไม่ได้มาจากโลกเทคโนโลยีด้านไอทีโดยตรงอย่าง American Express, BMW หรือแม้แต่ L’Oreal
- Venture Capital ในเอเชียไม่ใช่สิ่งที่เพึ่งมาใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ต่างหาก คุณพอล กล่าวทิ้งท้าย
พูดคุยกับหัวเรือใหญ่ Digital Ventures
ในช่วงสุดท้ายทีมงานมีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร Digital Ventures กล่าวกับ techsauce ว่า “หน่วยงาน Digital Ventures ถือว่าเป็นยูนิตที่มีความคล่องตัวสูง เราสนับสนุน Fintech Ecosystem ในแง่มุมต่างๆ
แง่การลงทุน - ตอนนี้เราลงทุนในต่างประเทศไปแล้ว 2 กองทุนคือ Golden Gate Ventures และ nyca เราได้เห็น Startup ต่างๆ ที่น่าสนใจจากทั่วโลก ซึ่งในอนาคตก็มีโอกาสได้ลงทุนเพิ่มหลังจากที่เห็นศักยภาพของ Startup กลุ่มนี้ และนอกจากนี้เรามีการลงทุนตรงใน Startup สาย Blockchain อย่าง Ripple เพื่อสร้างรากฐานและเครือข่ายธุรกิจ ในระบบนิเวศด้านฟินเทคในต่างประเทศ และความรู้ที่ได้กลับมาส่งต่อให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนลูกค้าองค์กรของธนาคารในภาคธุรกิจไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน
แง่การสนับสนุน Startup - เรามีการเปิด Accelerator เพื่อเป็นเสมือนโรงเรียนให้ความรู้กับ Startup ที่เข้าโครงการ เราช่วยดึงพาร์ทเนอร์องค์กรใหญ่ๆ เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้พวกเขาได้เติบโต ซึ่งหลังจากจบ Batch นี้ เราก็จะเปิด Batch ใหม่อีกครั้งในปีนี้
แง่การให้กับคอมมูนิตี้ - เราสร้างสื่อออนไลน์เพื่อให้ความรู้กับผู้สนใจด้านเทคโนโลยี และ FinTech นำเสนอเนื้อหาต่างๆ ที่คนกำลังให้ความสนใจอย่าง Blockchain, Machine Learning จัดงานสัมมนา Faster Future SCB FinTech Forum ให้กับลูกค้า และพาร์ทเนอร์ของทางธนาคาร ทำ Business Matching สร้างให้เกิดเครือข่ายที่แข็งแรง”