KRUNGSRI FINNOVATE เผย 6 Startup Technology Trends สุดปังในปี 2021 | Techsauce

KRUNGSRI FINNOVATE เผย 6 Startup Technology Trends สุดปังในปี 2021

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังคงไม่จางหายและอาจจะวนเวียนอยู่ในชีวิตของพวกเราอีกพักใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้นกลับได้รับอานิสงส์อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะธุรกิจ Startup Digital ที่มาแรงแซงทุกโค้ง มีความจำเป็นและเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกๆ ธุรกิจไปโดยปริยาย ดังนั้นหากต้องการที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อเกาะขบวนรถไฟนี้ไปด้วยกัน จึงควรต้องรู้และทำความเข้าใจกับเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังหมุนไปในทิศทางใด ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุน สร้างและต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้อย่างแม่นยำ

หลายสำนักคาดการณ์ว่าปี 2021 จะเป็นปีที่ร้อนแรงมากขึ้นไปอีกสำหรับวงการ Startup ในประเทศไทย สังเกตได้จากพขอฤติกรรมงผู้บริโภคในยุคนี้ที่เปิดใจรับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท สอดรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายเหมือนใจสั่ง ไม่จำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้านก็ยังสามารถทำทุกอย่างได้ผ่านเทคโนโลยีที่เป็นตัวช่วยสำคัญ เหมือนอย่างบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID : NDID) เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล 

(e-KYC) ซึ่งมาตอบโจทย์บริหารจัดการ Digital ID เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง ให้สามารถยืนยันตัวตนเพื่อรับบริการต่างๆ จากทางภาครัฐและเอกชน เช่น เปิดบัญชีเงินฝาก บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ บัญชีกองทุน ผ่านโมบายแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปแสดงตัวตน ณ สถานที่ทำการนั้นๆ

6 Startup Technology Trends in 2021

ในเมื่อยังมีโอกาสทองซ่อนอยู่ในภาวะวิกฤติเสมอ กรุงศรี ฟินโนเวต Corporate Venture Capital (CVC) ในเครือกรุงศรี จึงได้ออกมาวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Startup ของไทยที่จะโตสวนกระแสและครองใจผู้บริโภคในปีนี้ได้อยู่หมัด กับ 6 Startup Technology Trends in 2021 ต่อไปนี้

1. Robo-Advisory Wealth Management แพลตฟอร์มขายกองทุนผ่านออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากสามารถซื้อขายได้ทุกกองทุนในประเทศ แล้วยังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เปิดบัญชีก็ทำได้ง่าย และมีระบบแนะนำการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้าเป็นรายบุคคล ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีขายกองทุนผ่านออนไลน์นั้นได้รับความสนใจมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ก็มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับและใช้อย่างแพร่หลายเป็นพิเศษในปีนี้อย่างแน่นอน

2. Peer to Peer Lending (P2P lending) การกู้ยืมเงินผ่านแพลตฟอร์มให้บริการทั้งกู้เงินส่วนบุคคลและ SME โดยไม่ผ่านธนาคาร เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของผู้ให้กู้ โดยในปีนี้จะมี startup หลายรายจากทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง SME ผู้กู้ และผู้ให้กู้รายย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มนี้มาในจังหวะที่ดีที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย เพราะ SME ที่มีศักยภาพหลายรายที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่สามารถขอกู้ธนาคารหรือได้รับอนุมัติยากมากนั่นเอง ในทางตรงกันข้าม startup อาจพบอุปสรรคในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน เลยทำให้ผู้ปล่อยกู้ไม่มั่นใจไปด้วย  

3. Data Management Platform จะเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งธุรกิจ SME และบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) กำลังพุ่งความสนใจมาที่แพลตฟอร์มนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกบริษัทต่างก็มีข้อมูลมากมายที่ยังไม่สามารถจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี หรือไม่สามารถวิเคราะห์และเอามาต่อยอดได้ รวมทั้งถ้าจะเลือกใช้บริการเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Salesforce ก็มีราคาสูงเกินไป จึงเป็นโอกาสสดใสของ startup ไทยขนาดกลางและเล็กที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยมากกว่า 

4. e-Logistic เป็นเทคโนโลยีที่กำลังแข่งขันอย่างดุเดือดจากทั้ง startup ไทย และจีน เพื่อแย่งชิงตลาดการซื้อขายออนไลน์หรือ E-Commerce ที่เติบโตอย่างมหาศาล ซึ่งเราจะเห็นได้จากราคาขนส่งที่จะลดลงเรื่อย ๆ จากที่เคยมีผู้เล่นในตลาดน้อยจึงทำให้ราคาสูงถึง 50 บาทต่อชิ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ในขณะที่ตอนนี้ผู้เล่นกลุ่ม e-Logistic มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ค่าส่งเหลือต่ำกว่า 20 บาท ผ่านการใช้เทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด

5. InsurTech เทคโนโลยีด้านประกันที่มาแรงตั้งแต่ปีก่อน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระตุ้นให้เรื่องของสุขภาพและการใส่ใจในเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีกลายเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก เติบโตพร้อมๆ กับการขายประกันโควิด-19 ในรูปแบบออนไลน์ และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองหรือประกันง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็น startup หลายรายเข้ามาร่วมมือกับ บริษัทประกันแบบดั้งเดิม ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ในสัดส่วนที่มากขึ้น หรือนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการขายไม่ว่าจะผ่านสาขา หรือ ตัวแทนภายใต้รูปแบบดิจิทัล

6. Cryptocurrency Exchange ตั้งแต่ ก.ล.ต. ออกใบอนุญาตให้ startup ทำกระดานขาย digital currency ก็มีผู้เล่นเข้ามาหลากหลายจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมีจุดขายที่การนำเสนอแบบไม่มีค่าธรรมเนียมในการเทรด และมีผลิตภัณฑ์ที่ฝากเหรียญแล้วให้ดอกเบี้ยสูงถึง 16% ต่อปี สังเกตได้จากความคึกคักในปีนี้ก็มาจากราคาของ Bitcoin ที่ทะยานสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อเหรียญไปแล้ว

และนี่คือ 6 Startup Technology ที่โดดเด่นที่สุดผ่านมุมมองและประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพของกรุงศรี ฟินโนเวต ซึ่งสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นเทรนด์แห่งออนาคตที่พร้อมจะเปลี่ยนโฉมใหม่ให้ประเทศไทย และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันเทรนด์นี้ยังช่วยกระตุ้นให้เหล่า startup มีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของตนเองตามความรู้ประสบการณ์ และผลักดันให้เกิด startup ใหม่ ๆ ช่วยกันเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทยให้เติบโต





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...