(ภาพจาก thebln.com)
ในช่วงนี้ Startup หลายคนอาจได้ยินคำว่า "Lean Startup" ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ตาม Facebook Groups หรือ Pages ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Startup ในบ้านเรา และหลายคนก็อาจสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่จะมีผู้มาช่วยไขความกระจ่างให้กับเรา นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างกรณีศึกษา และแหล่งข้อมูลที่สามารถหาอ่านเพิ่มเติมอีกด้วย
Editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษที่เราเรียกว่า Guest Post จาก คุณอรรถพร ชาญประโคน (ออฟ) หรือหลายคนที่เล่น twitter อาจคุ้นเคยในนาม @ojazzy แห่ง wearcase และคลุกคลีอยู่ในแวดวงของ Startup ไทยมาโดยตลอด โดยส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup อ่านโดยเฉพาะ สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของคุณอรรถพร
บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน ซึ่งมี thumbsup เป็น ผู้เผยแพร่เดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากต้องการนำบทความไปใช้กรุณาให้เกียรติด้วยการอ้างอิงชื่อผู้เขียนและลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับ
Lean คืออะไร
Lean คือแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น หลักการของ Lean นั้นจะมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้าง คุณค่า ให้กับผู้บริโภคหรือผู้ใช้ให้มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แนวคิดเรื่อง Lean นี้มีพื้นฐานมาจากระบบการจัดการการผลิตของโตโยต้า (Toyota Production System) อันมีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่นำพาโตโยต้าสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในวงการยานยนต์ เมื่อผู้คนเห็นว่าหลักการนี้ใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพจริง แนวคิดเรื่องลีนก็เริ่มแพร่หลายและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายวงการ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องของการผลิตเท่านั้น
แล้ว Lean มาเกี่ยวข้องกับ Startup ได้อย่างไร
คำว่า Lean Startup ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดย Eric Ries ผู้ร่วมก่อตั้ง IMVU บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กแนว Second Life เขานำแนวคิดเรื่องลีน มาประยุกต์ใช้ในบริบทของการสร้างบริษัทสตาร์ทอัพและได้ผ่านการบ่มเพาะแนวคิดและวิธีปฏิบัติกับบริษัทของเขาเอง เมื่อใช้กับ IMVU ได้ผล Eric จึงนำเอาเคสของ IMVU ที่ใช้หลัก Lean Startup ในการบริหารไปเผยแพร่ในคลาสที่เขาสอนใน Harvard Business School และเวิร์คชอปต่างๆ รวมถึงเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Lean Startup ออกมาจนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
Eric Ries ผู้ริเริ่มหลักการ Lean Startup (ภาพจาก Wired)
แนวคิดของ Lean Startup
Lean Startup คือการสร้างสตาร์ทอัพโดยให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้จะได้รับและมุ่งเน้นการลดขั้นตอนที่ไม่สำคัญหรือสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ออกไป การสร้างผลิตภัณฑ์ในแบบของลีนสตาร์ทอัพนั้นจะเริ่มจากการทำความเข้าใจ insight ของผู้บริโภคก่อนเพื่อลดเวลาและทุนในการออกแบบฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็น ซึ่งวิธีการออกแบบในลักษณะนี้จะช่วยลดปัญหาที่สตาร์ทอัพจำนวนมากมักพบ คือ ลงทุนลงเวลากับผลิตภัณฑ์ไปเสียมากมายแต่ท้ายที่สุดแล้วกลับไม่มีคนใช้ สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด
Validated Learning เรียนรู้ให้แน่ใจว่าลูกค้าต้องการอะไร
เมื่อความต้องการของผู้ใช้กลายเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่แล้ว การเรียนรู้จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้ไอเดียตั้งต้นของสตาร์ทอัพจะมาจากผู้ก่อตั้ง แต่ไอเดียนั้นจะสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการได้หรือไม่นั้น ข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ดังนั้นกระบวนการของ Lean Startup จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ผู้สร้างสรรค์ต้องออกจากสถานที่ทำงานของตนเองเพื่อไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มลูกค้าจริง เช็คดูว่าความต้องการของพวกเขากับสิ่งที่ตนคิดนั้นตรงกันหรือไม่ นอกเหนือจากความเข้าใจผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้สร้างสรรค์อาจได้ข้อมูลใหม่ๆที่ไม่เคยรู้มาก่อนมาเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปด้วย
หนังสือThe Lean Startup ของ Eric Ries (ภาพจาก lean.st)
Build, Measure, Learn กระบวนการเพื่อการเรียนรู้ของ Lean Startup
ในการเรียนรู้เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของไอเดียนั้น Lean Startup จะทำอย่างเป็นระบบโดยใช้ Build-Measure-Learn Feedback Loop ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้
สร้าง (Build) : เมื่อมีไอเดียแล้วให้ลงมือสร้างให้เร็วที่สุด แต่การสร้างในที่นี้ไม่จำเป็นว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราจะต้องมีฟีเจอร์ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนจึงค่อยปล่อยสู่สาธารณะ อาจจะเริ่มจากการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) หรือขอเพียงแค่ฟีเจอร์หลักที่จำเป็นจริงๆ เสร็จก็ถือว่าใช้ได้ สำคัญคือไม่ควรใช้เวลาในการสร้างมากเกินไป ทำเสร็จให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะเราต้องการนำเสนอสู่สาธารณะเพื่อเก็บข้อมูลและความคิดเห็นของผู้ใช้ให้เร็วที่สุด สร้างเพื่อเรียนรู้
วัดผล (Measure) : หลังจากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างเอาไว้ในขั้นแรกถูกปล่อยสู่สาธารณะเรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อมาคือการวัดผล โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดต่างๆขึ้นมาและคอยดูว่าตัวเลขเหล่านั้นเป็นไปตามที่คาดคิดหรือไม่ นอกจากนี้ความคิดเห็นของผู้ใช้ก็เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ให้พยายามพูดคุยและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ให้มากที่สุด
เรียนรู้ (Learn) : นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสรุปเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการต่อไป
กระบวนการเหล่านี้ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ (Loop) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางที่ให้คุณค่าผู้คนได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
สร้างเพื่อวัดผล วัดผลเพื่อเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อสร้าง (ภาพจาก Platan.us)
แล้วใครใช้หลักการของ Lean Startup บ้าง
ปัจจุบัน Lean Startup ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงการสตาร์ทอัพทั่วโลกและทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายมองเห็นทิศทางการพัฒนาของตัวเองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างบริษัทที่รู้จักกันดีและมีแนวทางในการเริ่มต้นสอดคล้องกับ Lean Startup เช่น
Drop Box บริการพื้นที่เก็บไฟล์อันแสนโด่งดังเริ่มต้นจากการทำวิดีโอจำลองหน้าตาและอธิบายการใช้งานของบริการขึ้นมาและนำไปเผยแพร่ในกลุ่มผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลความคิดเห็น ผลลัพธ์คือมีผู้ลงทะเบียนแสดงความสนใจอย่างล้นหลาม ทำให้ผู้ก่อตั้งเห็นชัดเจนว่าบริการของเขามีผู้ใช้แน่นอนโดยไม่จำเป็นต้องลงมือสร้างตัวผลิตภัณฑ์จริงเลย
Zappos ธุรกิจร้านขายรองเท้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ มีจุดเริ่มต้นจากการทดสอบไอเดียโดยการไปถ่ายรูปรองเท้าตามร้านต่างๆและนำมาโพสต์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อมีคนสั่งจึงค่อยไปซื้อของมาจากร้านเพื่อส่งให้ผู้สั่ง
Groupon ผู้บุกเบิกธุรกิจเว็บดีล เริ่มต้นทดสอบไอเดียจากการสร้างระบบง่ายๆด้วย WordPress และส่งคูปองส่วนลดให้กับลูกค้าเป็นไฟล์ PDF ผ่าน Mail.app
วิดีโอที่ Drew Houston ผู้ก่อตั้ง Dropbox ใช้นำเสนอไอเดียในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์จริง
แหล่งความรู้เกี่ยวกับ Lean Startup
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาหลักการของ Lean Startup เพิ่มเติม หนังสือ The Lean Startup ของ Eric Ries เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำความเข้าใจองค์รวมของ Lean Startup เป็นอย่างยิ่ง หรือจะเรียนรู้ออนไลน์จากคอร์สของ Udemy ก็ได้ และถ้าหากสนใจจะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่มีความสนใจด้านนี้ ปัจจุบันก็มีกลุ่ม Lean Startup Thailand ใน Facebookด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด