เรียนเขียนโปรแกรมกับหนังสือภาพของ Linda Liukas | Techsauce

เรียนเขียนโปรแกรมกับหนังสือภาพของ Linda Liukas

โปรแกรมกับคอมพิวเตอร์เป็นของคู่กัน สมมติถ้าเราต้องฝึกทักษะการเขียนโปรแกรม ก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องเปิดคอมฯแล้วลงมือทำ แต่เด็กที่ฟินแลนด์สามารถเรียนการเขียนโปรแกรมได้โดยไม่ต้องใช้คอมฯซักเครื่อง แค่หนังสือเล่มเดียวก็สามารถเข้าสู่โลกการเขียนโปรแกรมได้แล้ว

วันที่ 23 มกราคม 2014 Linda Liukas โปรแกรมเมอร์สาวชาวฟินแลนด์ได้ระดมทุนจาก Kickstarter เพื่อทำหนังสือที่มีชื่อว่า "Hello Ruby" ชื่อหนังสืออาจจะทำให้ผู้ใหญ่เมิน แต่ถ้าได้รู้ถึงเนื้อหาข้างในแล้วอาจจะต้องหันกลับ เพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึงพื้นฐานการเขียนโปรแกรมที่แม้แต่เด็ก 4 ขวบก็สามารถเรียนได้

Liukas ต้องการระดมเงิน $10,000 เพื่อเริ่มโปรเจ็คนี้ แต่ผ่านไปเพียงวันเดียวกลับมีเงินเข้ามาถึง $100,000 และเข้ามาเรื่อยๆ จนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2014 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการระดมทุน เธอสามารถระดมทุนได้ถึง $380,747

Hello Ruby เป็นหนังสือภาพที่วาดโดย Liukas เหมาะสำหรับเด็กอายุ 4-7 ขวบ หนังสือเล่มนี้พูดถึงการผจญภัยของสาวน้อยมากจินตนาการที่ชื่อว่า Ruby ในการผจญภัย เธอจะได้เรียนรู้ถึงพลังและความน่าอัศจรรย์ของสิ่งที่โปรแกรมสามารถทำได้ เธอจะได้พบกับเพื่อนๆอย่าง หุ่นแอนดรอยด์ช่างพูด เสือดาวหิมะ จิ้งจอกผู้รักสนุก เพนกวินผู้ชาญฉลาด

Hello Ruby ไม่ได้มีแต่เนื้อหาให้อ่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีแบบฝึกหัดให้เด็กๆได้ฝึกทำ อย่างเรื่อง "การทำงานของคอมพิวเตอร์" เด็กๆก็สามารถเรียนรู้การประกอบคอมพิวเตอร์ได้โดยตัดชิ้นส่วนที่ทำจากกระดาษแล้วแปะลงไปให้ถูกที่ หรือในการเรียนเรื่องคำสั่งวนลูปที่พูดถึงการทำงานแบบวนซ้ำตามเงื่อนไขที่กำหนด เด็กๆก็เรียนรู้โดยการทำท่าทางตามที่ครูกำหนด เช่น ตบมือ-ตบมือ- กระทืบเท้า-กระทืบเท้า-กระโดด! แม้แต่การถักนิตติ้งในชั่วโมงศิลปะก็เรียนเรื่องคำสั่งวนลูปได้ เพราะใช้หลักการเดียวกัน

ถ้าถักแบบเดิม ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม แต่ถ้าเปลี่ยนวิธี ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนไป

"ฉันบอกให้เด็กๆสร้างคอมพิวเตอร์จากกระดาษ หรือออกแบบแอพลิเคชั่นโดยใช้มือทั้งสองข้าง เทคโนโลยีมันเป็นเรื่องของจินตนาการ" Liukas กล่าว

Hello Ruby ของ Liukas สามารถกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้การเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุน้อยตามแนวทางที่รัฐบาลฟินแลนด์อยากให้เป็น แต่จริงๆแล้วโปรเจ็คนี้ก็เกิดขึ้นโดยบังเอิญ จุดเริ่มต้นของความบังเอิญก็มาจากชายที่ชื่อว่า Al Gore

ย้อนกลับไปปี 2001 ในช่วงที่ Liukas อายุ 13 ปี ในช่วงนั้นเธอติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด นั่นก็เพราะเธอตกหลุมรักชายที่ชื่อว่า Al Gore ผู้ซึ่งเป็นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ เธอตกหลุมรักขั้นหนัก เธอพยายามเรียกร้องความสนใจจาก Gore ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความปรารถนาอย่างแรงกล้า และดูเหมือนเธอจะมีหัวทางด้านการเขียนโปรแกรม เธอจึงลองสร้างเว็บไซต์ที่พูดถึงตัว Gore ล้วนๆ เธอค้นคว้าและเขียนทุกอย่างเกี่ยวกับ Gore เธอศึกษาด้วยตัวเอง ค่อยๆพัฒนาฝีมือ จนในที่สุดเธอก็สามารถสร้างเว็บไซต์สำหรับฮีโร่ของเธอได้สำเร็จ

แต่น่าเสียดายที่เขาไม่สังเกตเห็น...

หลังจากนั้นเธอเว้นว่างจากการเขียนโปรแกรมไปร่วม 10 ปีและหันไปศึกษาปรัชญา ธุรกิจ วิศวกรรม ฯ แต่การเขียนโปรแกรมยังอยู่ในใจเธอตลอดมา จนเธออายุ 23 ปี Aalto University เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปศึกษาที่ Stanford University เป็นเวลาหนึ่งปี Liukas จึงตัดสินใจไปเรียนเรื่องออกแบบผลิตภัณฑ์

ที่นั่นเธอได้กลับมาเรียนเรื่องการเขียนโปรแกรมอีกครั้ง และเธอได้พบกับภาษา Ruby ที่ทำให้เส้นทางอาชีพของเธอเปลี่ยนไป เธอศึกษาเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์อย่าง tryruby.org และ codeacademy.com เธออ่านหนังสือเป็นตั้งๆ เธอค้นพบว่าเธอรักการเขียนโปรแกรมและอยากให้คนอื่นได้รู้ถึงความยอดเยี่ยมของมัน เธอจึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนตั้ง Rail Girls ขึ้นมา

"เมื่อฉันกลับมาเขียนโปรแกรม ฉันรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นและความสุขเหมือนตอนที่เขียนเว็บไซต์ครั้งแรก และที่สร้าง Rail Girls ขึ้นมาก็เพราะอยากที่จะแบ่งความสุขนั้นให้ผู้คนทั้งหลาย" Liukas กล่าว

Rail Girls มีเป้าหมายที่จะจัดหาเครื่องมือและเป็นแหล่งชุมชนสำหรับผู้หญิงในการเรียนพื้นฐานการเขียนโปรแกรมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เธอคิดว่าการเขียนโปรแกรมไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ ผู้หญิงทั้งหลายก็มีจินตนาการที่กว้างไกล ถ้านำจินตนาการเหล่านั้นมาใช้ จะสร้างประโยชน์ได้มหาศาล

ปัจจุบัน Rail Girls ไม่ได้มีแค่ที่ฟินแลนด์เท่านั้น แต่มันขยายตัวไปหลายประเทศเช่น อิสราเอล เยอรมนี อเมริกา ฯลฯ จากผู้หญิง เธอเริ่มคิดขยายที่จะไปสอนกลุ่มอื่นที่มีจินตนาการไม่แพ้กัน นั่นก็คือ เด็ก

สำหรับการสอนเด็ก เธอคิดไว้แล้วว่าการสอนนั้นต้องไม่เหมือนวิธีที่บริษัททั้งหลายใช้ อย่างการให้เด็กเรียนผ่านวีดิโอเกมหรือหุ่นยนต์ แต่เธอต้องการที่จะสอนเด็กโดยผ่านตัวอักษร "ฉันคิดว่าพลังของการเล่าเรื่องนั้นถูกมองข้ามไป เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยแอพลิเคชั่นที่ทำให้เด็กต้องอยู่หน้าจอและพอกดปุ่มนู่นนี่ก็มีอะไรออกมา"

Mari-Liis Lind ผู้ฝึกสอนที่ Rail Girls กล่าวว่า "การสอนเรื่องการเขียนโปรแกรมกับเด็กโดยใช้วิธีการเล่าเรื่องเป็นวิธีที่ถูกต้อง เด็กทุกคนชอบเรื่องราว เรื่องที่ดีจะทำให้เด็กสนใจ และเด็กที่สนใจก็คือเด็กที่กำลังเรียนรู้กับเรา"

เรื่องราวที่จะนำมาเล่าให้เด็กฟังก็มาจากช่วงที่ Liukas เรียนภาษา Ruby เป็นเรื่องปกติที่เธอไม่เข้าใจทั้งหมด แต่วิธีแก้ของเธอก็ดูแปลกกว่าคนทั่วไป ทุกครั้งที่เธอไม่เข้าใจ เธอจะไม่คิดว่า Ruby คือภาษาคอมพิวเตอร์ แต่เธอจะเปลี่ยน Ruby ให้มีตัวตนเป็นคนและเธอจะถามกับตัวเองว่า "Ruby จะอธิบายเรื่องนี้กับฉันยังไง"

Liukas ไม่หยุดแค่นั้น เธอเริ่มวาด Ruby ให้มีตัวตนชัดกว่าเดิม Ruby กลายเป็นเด็กสาวผมแดงที่มีความอยากรู้อยากเห็น เธอกำลังผจญภัยเพื่อตามหาอัญมณี Liukas วาดไปเรื่อยๆเพื่อสนุกไปกับการเรียนรู้ของเธอ แต่บังเอิญเพื่อนของเธอเห็นเข้าจึงถามว่า ทำไมไม่ลองทำเป็นหนังสือล่ะ

ตอนนี้เอง Hello Ruby จึงได้กำเนิดขึ้นมา

"หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของ Linda อย่างแท้จริง ทุกอย่างในหนังสือสะท้อนถึงเส้นทางการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมของเธอ" Mari-Liis Lind กล่าว

Liukas ไม่ได้สร้าง Hello Ruby ที่ให้เด็กๆเท่านั้นได้เรียนรู้ แต่เธอยังสร้างคู่มือให้กับพ่อแม่เพื่อที่เรียนรู้ไปกับลูกๆของพวกเขา ปัจจุบันเธอทำงานร่วมกับครูในฟินแลนด์และกลุ่ม Early Adopters (กลุ่มหัวก้าวหน้า) ในสหรัฐอเมริกา และปี 2018 เธอยังเป็นหนึ่งบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ใน 50 ผู้หญิงยอดเยี่ยมของวงการ Tech อีกด้วย

ตอนนี้บางที Al Gore ก็น่าจะสังเกตเห็นเธอบ้างแล้ว

บทความนี้เป็น Guest Post โดย คุณชาญณรงค์ จันทร์โส

อ้างอิงภาพและเนื้อหา SDTimes, Telegraph, The Atlantic


รู้หรือไม่? คุณสามารถพบกับ Linda Liukas ที่ได้งาน Techsauce Global Summit 2019 หลังจากที่เธอได้ยืนยันมาร่วมเป็นหนึ่งใน speaker แล้ว! เธอจะมาพูดเรื่องอะไร? ต้องไปฟังด้วยตัวเองในงาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://summit.techsauce.co/

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Translucia เผยแผนพัฒนา Metaverse โลกเสมือนที่ใช้ Gen AI ขยายตลาดและการเติบโต

บทสัมภาษณ์ คุณพิมสาย ชี้เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Translucia (ทรานส์ลูเซีย) ทั้งในด้านมุมมอง โอกาส ความท้าทาย ไปจนถึงแผนพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส (Metaverse) ในยุค Generative AI...

Responsive image

เชื่อมทุกช่องทางสื่อสารกับลูกค้า ต่อยอดข้อมูลธุรกิจด้วย MarTech

ทำความรู้จัก True CPaaS แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อทุกแอปพลิเคชันการสื่อสารไว้ในที่เดียว เพื่อรองรับการตลาดแบบ Omni-channel และสามารถเก็บข้อมูล (Data) ลูกค้า เพิ่มยอดขายได้ในแบบ MarTech...

Responsive image

รู้จัก “AI ผู้ช่วยด้านการเงิน” งานที่ AI agents จะเข้ามาช่วยทำในอนาคต

พบกับอนาคตของ AI Agents ที่ช่วยจัดการชีวิตการเงิน ตั้งแต่การชำระเงิน จองตั๋ว ไปจนถึงการค้าอัตโนมัติ พร้อมความเชื่อมั่นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น Blockchain และ Authentication Too...