อริยะ พนมยงค์ กับภารกิจของ LINE ในการสนับสนุน Startup ไทย

อริยะ พนมยงค์ กับภารกิจของ LINE ในการสนับสนุน Startup ไทย

หลังจากที่ได้เปิดตัว LINE SCALEUP ที่มุ้งเน้นการสนับสนุน Startup ไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทั้งยังได้รับการโหวตจาก Startup ไทยให้เป็นบริษัทที่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดในปี 2017 ในบทความนี้ Techsauce ได้นั่งคุยอัพเดทกับ ‘คุณอริยะ พนมยงค์ หรือพี่บี๋ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย’ ถึงทิศทางของ LINE Thailand และความคืบหน้าในการสนับสนุน Startup ไทย

หลังจากเปิดตัวโครงการ LINE SCALEUP ได้เจอ Startup ไหนที่น่าสนใจบ้างไหม

จริงๆ ต้องบอกว่ามันกลับกันมากกว่า เหตุผลที่เรามี LINE SCALEUP เป็นเพราะเราเจอคนเยอะมาก เพราะฉะนั้นตั้งแต่แรกสิ่งที่เรารู้ตัวคือเราเป็นคอขวด ก่อนหน้านี้บางคนเราก็รู้จักกันแล้ว บางคนก็รู้จักผ่านคนรู้จักอีกที คือวงการไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น ทุกคนก็รู้จักกันหมด แต่ก็มีคนขอเข้ามาเจอ ขอเข้ามาคุยว่าสามารถทำอะไรร่วมกันได้ ซึ่งถึงจุดหนึ่งเรารองรับไม่ไหว ถึงบอกว่ามันเป็นคอขวด

ดังนั้นถ้าเราอยากจะสนับสนุน Startup ไทย เราต้องสามารถทำให้มัน scalable ได้จริงๆ ซึ่งเป็นที่มาที่ไปของ LINE SCALEUP ฉะนั้นโครงการนี้มาแก้ pain point ของเรามากกว่าว่าทำอย่างไรให้มีช่องทางที่ใครก็ได้สามารถสมัครเข้ามา และเราก็สามารถ scale asset ให้กับ API ของเรา โดยตั้งแต่เราเปิดตัวไปก็มีคนเข้ามาสมัครน่าจะเป็นหลักร้อย ซึ่งตอนนี้เรา Grant API ให้ Startup 20 ราย

นอกจากโครงการนี้แล้วยังมีโครงการไหนอีกบ้างที่จะสนับสนุน Startup

เรามีรูปแบบของการสนับสนุน Startup ที่ค่อนข้างหลากหลาย พูดถึง LINE SCALEUP ไปแล้ว ก็ยังมีหลายบริการที่เราทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น LINE MAN, LINE JOBS, LINE ดูดวง นี่เป็นตัวอย่างของบริการ ซึ่งเบื้องหลังบริการเหล่านี้ก็มี Startup อยู่ ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่าเหตุผลที่เราต้องการสนับสนุน Startup Ecosystem ไทยเพราะอะไร

“อย่างแรกคือเราต้องการสนับสนุนจริงๆ สองคือเราก็มี agenda เรารู้ตัวว่าถ้าเราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เราจะขาดความคล่องตัว สิ่งที่เรามองคือถ้าเราเปิดบริการ ก็จะมีคนมาพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้เราได้ แต่ในเวลาเดียวกันคนที่มาร่วมมือกับเราเขาก็ win-win เราได้บริการใหม่ๆ ส่วนเขาก็ได้ฐานลูกค้า ซึ่งนี่คือรูปแบบที่สองที่เราร่วมกันในการพัฒนาบริการใหม่ๆ สามคือการลงทุนก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราจะสนับสนุน Startup ของไทย แบบที่สี่คือ LINE Venture ซึ่งเป็น VC Fund ของ LINE ก็จะมาเปิดตัวที่ไทย ก็จะเห็นว่าเรามีหลายรูปแบบในการสนับสนุน”

มีบริการไหนที่ LINE กำลังมองหาอยู่บ้างไหม

จะเห็นว่ารูปแบบของบริการใหม่ ยกตัวอย่าง LINE JOBS มันดูแตกต่างจากหลายๆ บริการที่เราเคยทำ เราไม่ได้มีที่เราเจาะจงโดยเฉพาะ ซึ่งจริงๆ เราค่อนข้างเปิด จะมีแค่หลักการเดียวคือเราต้องการ scale ถ้าเราจะทำบริการคือเราไม่ได้ต้องการรองรับลูกค้าหลักแสนหรือหลักล้านต้นๆ แต่จุดประสงค์ปลายทางคือเรามีลูกค้าอยู่ในมือ 42 ล้านคน ดังนั้นตอนเรามองบริการใหม่ๆ ต้องสามารถตอบโจทย์ลูกค้าหลักสิบล้านได้ หมายความว่าบริการนั้นๆ เราต้องมองว่าความสำคัญของตลาดมันใหญ่ขนาดไหน อันนี้คือหลักที่เรามองเลย

สติกเกอร์ยังเป็นหนึ่งในบริการที่ทำรายได้ให้ LINE สูงที่สุดอยู่ไหม

ปกติเราไม่ได้เรียงลำดับว่าบริการไหนทำรายได้เยอะที่สุด แต่ธุรกิจสติกเกอร์เป็นธุรกิจที่ใหญ่ ถ้าเราเปรียบเทียบเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วที่จัดงาน LINE STICKERS AWARD เราเป็นประเทศที่อัตรารายได้เติบโตสูงที่สุด จะเห็นได้ชัดว่าตลาดสติกเกอร์เป็นตลาดที่ใหญ่มาก LINE อยู่ในประเทศไทยมา 4-5 ปี แต่สติกเกอร์อยู่มานานแล้ว เราก็ดูว่าคนจะเบื่อไหม ปรากฏว่าเขาไม่เบื่อ

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘Super App’ และเราจะเรียก LINE ว่าเป็น Super App ได้หรือยัง

ต้องมาดูกันก่อนว่าจะให้คำจำกัดความ Super App ว่าอะไร หนึ่งคือต้องเริ่มจากฐานลูกค้าที่ใหญ่เพียงพอ ซึ่ง LINE มีลูกค้าในประเทศไทย 42 ล้านคน และต้องมาจากองค์ประกอบที่สองคือต้องเป็นแอปฯ ที่คนใช้ทุกวัน ถ้าดูจากเวลาในการใช้งาน เราเป็นแอปฯ ที่คนใช้งานต่อวันเยอะที่สุด ระยะเวลา 4 ชม. ที่คนใช้สมาร์ทโฟน เราคือ 1 ใน 3 ของเวลานั้น ฉะนั้นในแง่ของฐานลูกค้าและจำนวนเวลาเราจะเห็นว่าคนไทยอยู่กับเราเยอะมาก ซึ่งอันนี้คือพื้นฐานของ Super App องค์ประกอบที่สามคือ บริการอื่นๆ เราเริ่มจากแชท แต่ถามว่าทุกวันนี้คนที่ใช้ไลน์ใช้แค่แชทไหม เขาดูวิดีโอผ่าน LINE TV อ่านข่าวผ่าน LINE TODAY สั่งอาหาร เรียกแท็กซี่ ผ่าน LINE MAN ความเป็น Super App คือสามารถแตกไลน์บริการได้หลากหลาย

“ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าเราเรียกตัวเองว่า Super App ไหม แต่ตามหลักแล้วก็คือคำจำกัดความของ Super App ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้า จำนวนลูกค้าที่ใช้ เวลาในการใช้งาน และ Ecosystem ของ แอปฯ มันต้องเป็นบริการที่คนใช้อยู่ทุกวัน แทนที่คุณจะต้องออกจากแอปฯ เพื่อไปเปิดอีกแอปฯ หนึ่ง คุณสามารถใช้ทุกอย่างได้ในที่เดียวกัน บางคนก็เรียก Super App หรือบางคนเรียกว่า App in App เราก็เรียกตัวเองเป็น Smart Portal แต่มีความหมายเดียวกัน”

ตอนนี้กำลังจะมี Startup รายใหญ่รายหนึ่งที่เป็น Ride Hailing เข้ามา มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

ถ้าเราดูแบบภาพรวม ปี 2018 การแข่งขันสูงกว่าปีก่อนๆ ที่ผ่านมา สังเกตง่ายๆ ในวงการ Digital Tech มีอยู่ไม่กี่เจ้า แต่ตอนนี้คือเจ้าใหญ่ๆ เข้ามากันเต็มไปหมด ถือว่าเป็นปีที่แข่งขันกันจริงจัง เมื่อก่อนมีแค่บริษัท Tech American ตอนนี้ จีน SEA ก็เข้ามา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการแข่งขันบางเรื่องก็เป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เพราะตอนเราทำคนเดียวมันออกแรงเยอะ แต่พอมีหลายๆ เจ้าเข้ามามันสร้างความสนใจ ความตื่นตัวให้กับทั้งประเทศ ฉะนั้นมันจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้เร็วขึ้น

ข้อหนึ่งที่อาจจะต้องระวังคือ เราแข่งกับ Tech อื่นๆ อยู่แล้ว มีคู่แข่งอยู่แล้ว เราคุ้นเคยกับการแช่งขัน แต่ธุรกิจที่จะต้องระวังตัวคือธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) ถ้าไม่ปรับตัวก็ไปไม่รอด เพราะทุกวันนี้เราไม่แข่งแค่ธุรกิจที่เป็น Traditional แล้ว แต่ต้องแข่งกับ Tech company ที่เข้ามาในประเทศไทยด้วย

เราดูแค่ ecommerce ไม่มีบริษัทไทยเลย ฉะนั้นเราจะเห็นว่าทุก vertical ต้องระวัง ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราเริ่มเห็น Tech company ที่มาจากเอเชีย LINE, Grab, Alibaba, Garena มันเริ่มมีบริษัทที่เป็น Tech ที่มาจากเอเชีย ซึ่งมองในแง่บวกคือมันสร้างความหวังว่าคนเอเชียเราทำได้ บาง Tech company ที่มาจากอเมริกาก็เริ่มถอย แต่ข้อดีที่ยังขาดอยู่คือคนไทยทำได้ไหม อันนี้คือสิ่งที่พวกเราทั้งหมดที่อยู่ในวงการอยากจะเห็น และก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราจึงอยากสนับสนุน Startup ไทยด้วย

ทิศทางของ LINE Thailand แตกต่างจาก Global หรือไม่

บริษัทส่วนใหญ่จะกำหนดทิศทางแบบ Global แต่ LINE มีความแตกต่างเพราะ Global กับ Local มีน้ำหนักไม่แพ้กัน LINE เรามีทิศทาง Global แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีจุดยืนของเราที่มีน้ำหนักไม่แพ้กัน CEO ของเราบอกเลยว่าสิ่งที่เขาไม่ต้องการเห็น คือเขาไม่อยากให้ LINE ที่ประเทศไทย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เป็นแค่สาขา หรือเป็นแค่ Office เขาอยากเห็น LINE ประเทศไทยยืนด้วยตัวเองได้ สร้างบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ คิดเองและลงมือทำเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อพูดถึงกลยุทธ์เรามีทั้งที่เป็น Global และกลยุทธ์ของ LINE ประเทศไทยในเวลาเดียวกัน จริงๆ ก็เป็นคู่ขนานแต่มีน้ำหนักพอๆ กัน

อะไรคือ Secret Sauce ที่ทำให้ LINE ประสบความสำเร็จ

ถ้าสรุปก็มีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือทีม ปี 2015 ที่เข้ามา ตอนนั้นมีพนักงาน 83 คน วันนี้เรามี 389 คน จะเห็นว่าเราเติบโตเร็วมาก มันไม่ได้สำคัญที่จำนวนคนแต่แน่นอนว่าเหตุผลที่จำนวนคนที่เพิ่มขึ้น เพราะขอบเขตหรือบริการที่เรามีมันเยอะขึ้น ซึ่งแต่ละทีมก็ใหญ่ขึ้น ทุกๆ บริการก็อยู่ในช่วงที่ scale อยู่ และเราไม่สามารถลงไปดูทุกบริการได้ด้วยตัวเอง เราจึงต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่งเพื่อมาโฟกัสและดูแลบริการนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น LINE TV, LINE TODAY, LINE MAN, Ecommerce ฉะนั้นวันนี้ที่เราได้ดีก็ต้องยกให้ทีม ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ

ข้อสองคือเราต้องมี passion และสนุกกับสิ่งที่เราทำ อย่างหนึ่งที่เราจะคุยกันอยู่เสมอและเป็นคำที่ติดปากคือ impact เพราสิ่งที่ต้องมองคือ LINE ประเทศไทยเป็นอันดับที่สองของ LINE และเป็นตลาดที่สำคัญ ฉะนั้น spotlight มันอยู่ที่เราเยอะ เราก็ได้รับการสนับสนุนจาก LINE Global แต่อีกมุมมองหนึ่งที่สำคัญคือเราทำอะไรมันมีความหมาย ฐานลูกค้าที่เรามีอยู่ในประเทศไทยสามารถสร้าง impact ได้ ซึ่งเราก็พูดกับทีมเสมอว่าบริษัทที่คุณจะมาร่วมด้วยและสร้าง impact ได้ขนาดนี้มีอยู่ไม่เยอะ และนี่คือความสนุกของคนที่มาอยู่ด้วย คือความคาดหวังที่เขามี คือสิ่งที่เขาอยากเห็นก็คือการได้สร้างอะไรขึ้นมาแล้วมันมี impact

ด้วยวิสัยทัศน์ของการสร้าง Startup Ecosystem ในไทยผ่านทางโครงการและการพัฒนาบริการต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ Startup สามารถเข้ามาร่วมสร้าง impact ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมได้ จึงเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไปว่าทิศทางของ LINE Thailand จะส่งผลกระทบต่อวงการธุรกิจในบ้านเราอย่างไรในช่วงเวลาที่บรรดา Tech Company ต่างชาติกำลังเข้ามาแข่งขันกันในตลาดอย่างเข้มข้นขึ้นทุกที

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...