ทำความรู้จัก LiVE แพลตฟอร์มระดมทุนสำหรับ Startup ในประเทศไทย | Techsauce

ทำความรู้จัก LiVE แพลตฟอร์มระดมทุนสำหรับ Startup ในประเทศไทย

หากพูดถึงการสนับสนุน Startup ไทย เรียกได้ว่าช่วง 2-3 ปีมานี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน ทั้งโครงการบ่มเพาะ การลงทุน หรือการจัดงาน Tech Conference เป็นต้น แต่ก็ยังมีส่วนที่ขาดในการเชื่อมโยงระหว่าง Startup กับนักลงทุน เพื่อให้ Startup ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงการระดมทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงมีผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ที่ออกแบบเพื่อ Startup และ SME ในประเทศไทยโดยเฉพาะคือ LiVE แพลตฟอร์มระดมทุน ซึ่ง Techsauce จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักคุณสมบัติเบื้องต้นของ LiVE แพลตฟอร์มระดมทุนนี้กัน

LiVE คืออะไร

LiVE ย่อมาจาก Launchpad and investment Vehicle for Enterprise คือเครือข่ายอิเลคทรอนิคที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อระดมทุนและซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับ SME และ Startup โดยเฉพาะ โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมทั้งกับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน

จุดเด่นของ LiVE อยู่ที่แพลตฟอร์ม LiVE Crowdfunding ซึ่งรองรับการลงทุนแบบ Equity Crowdfunding สำหรับการลงทุนรายโครงการ เหมาะกับบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังไม่มีประวัติประกอบการ (Track Record) หรือ Startup Series A และ LiVE ETP (Electronic Trading Platform) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นแบบ OTC โดยมี เหมาะกับบริษัทที่กำลังขยายการเติบโตหรือ Startup Series B เป็นต้นไป ก่อนจะเข้าสู่การ IPO  โดย LiVE ดำเนินการโดยบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

LiVE กำหนดคุณสมบัติบริษัทต่างจาก SET และ MAI อย่างไร

แม้จะรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของ LiVE กับ SET และ MAI ต่างกัน แต่การทราบรายละเอียดที่ชัดเจนก็จะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

  • คุณสมบัติการจดทะเบียนต่างกัน
        • LiVE กำหนดเงื่อนไขเพียงบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์
        • ไม่กำหนดทุนชำระแล้วและกำไรสุทธิ
        • ไม่กำหนดการกระจายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป
  • วิธีการซื้อขายต่างกัน
        • ใช้วิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนนอกตลาด (OTC)
        • การซื้อขายในตลาดรองเป็นแบบเจรจาต่อรอง ขณะที่ SET และ MAI เป็นแบบจับคู่อัตโนมัติ
        • เวลาชำระเงินเร็วกว่า (T+1)
        • การห้ามขายหุ้นขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นโดยตรง
  • คุณสมบัติเพิ่มเติมเมื่อระดมทุนเกิน 20 ล้านบาท
        • ต้องมีประวัติระดมทุนอย่างน้อย 5 ล้านบาทหรือมี Sponser
  • คุณสมบัติเพิ่มเติมเมื่อระดมทุนเกิน 100 ล้านบาท
        • มีงบการเงินรับรองโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตจาก กลต.
  • คุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐาน
        • ผ่านการตรวจสอบงบการเงินจากผู้สอบบัญชี
        • ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารไม่มีประวัติทำผิดทางกฏหมายหรือ Bad Credit จากสถาบันการเงิน

ผู้ประกอบการต้องชำระค่าบริการประกอบด้วย ค่าสมาชิกรายปี ค่าธรรมเนียมเสนอขายหลักทรัพย์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม

ใครสามารถลงทุนใน LiVE ได้

เนื่องจากการลงทุนใน Startup และ SME มีศักยภาพการเติบโตสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูง จึงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนในกลุ่มนี้ต้องมีฐานะการเงินที่มั่นคงและมีความรู้ในการลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งผู้ลงทุนต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • นักลงทุนสถาบันตามนิยามของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แก่ ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน กองทุน เป็นต้น
  • กิจกรรมเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)
  • นิติบุคคลร่วมลงทุน (Private Equity)
  • ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตามนิยามของ ก.ล.ต.
        • ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
        • มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท
        • มีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีประสบการณ์ลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี

สำหรับผู้ลงทุนดังกล่าว จะไม่มีการจำกัดเงินวงเงินลงทุนและสัดส่วนการลงทุนในบริษัท

ส่วนบุคคลทั่วไปยังไม่สามารถลงทุนใน LiVE ได้ในขณะนี้ แต่มีการกำหนดเงื่อนไขเงินลงทุนไว้แล้ว ต้องลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท สามารถลงทุนสูงสุด 50,000 บาทต่อโครงการ และไม่เกิน 500,000 บาท ต่อปี และมีสัดส่วนการลงทุนในบริษัทรวมกันไม่เกิน 20 ล้านบาท

นักลงทุนทุกรูปแบบต้องชำระค่าบริการประกอบด้วย ค่าสมาชิกรายปี ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้การลงทุนใน LiVE จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนเกิน

วิธีการระดมทุนบน LiVE

การระดมทุนแบบ Equity Crowdfunding บน Platform ของ LiVE มีขั้นตอนดังนี้

  • นำเสนอข้อมูลโครงการที่จะระดมทุน
        • ระบุค่าเงินที่ต้องการจะลงทุน
        • ระบุวัตถุประสงค์การระดมทุน
        • ระบุสัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุน
        • ระบุแผนธุรกิจและความเสี่ยงของโครงการที่ขอเงินระดมทุน
        • ระบุสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
        • เปิดเผยงบการเงินและงบกระแสเงินสด
  • สร้างโครงการ โดยนำเสนอข้อมูลข้างต้นแก่ผู้สนใจ
  • สามารถระดมทุนสำหรับโครงการในระยะเวลา 30-60 วัน
  • โครงการจะสิ้นสุดเมื่อได้รับเงินครบตามจำนวน หรือยกเลิกโครงการ
  • จดทะเบียนเพิ่มทุนกับกระทรวงพาณิชย์ และนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจตามเป้าหมายของโครงการ

จุดแข็งของ LiVE ต่อ Startup และนักลงทุนเป็นอย่างไร

จุดแข็งสำคัญใน ของ LiVE แพลตฟอร์มระดมทุน คือมีระบบยืนยันความน่าเชื่อถือของทั้งนักลงทุนและ Startup กับ SME ตามเงื่อนไขของ กลต. ทั้งยังสามารถใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อหาผู้ลงทุนหรือบริษัทที่สนใจจะลงทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในแง่ของ Startup การเข้าร่วม Platform LiVE ช่วยเพิ่ม Connection และความน่าเชื่อถือในฐานะบริษัทที่มี Profile ในตลาด ด้วยมาตรฐานของ LiVE ยังเป็นเหมือนการบ่มเพาะ Startup และ SME ให้พร้อมก้าวสู่การ IPO ในอนาคต

ส่วนผู้ลงทุนเองก็สามารถให้เงินลงทุนกับบริษัทได้ตั้งแต่ระดับเริ่มพัฒนาแนวคิด ทั้งนี้ บน Platform ของ LiVE ยังเปิดให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างนักลงทุนด้วยกันได้ จึงมีสภาพคล่องมากกว่า รวมถึงความโปร่งใสบนเทคโนโลยี Blockchain และสามารถทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นับว่าเป็นช่องทางการระดมทุนที่ Startup ไทยรอมานาน ได้ทั้งเงินและโอกาสสำหรับเตรียมพร้อมสู่การเติบโตเพื่อ IPO ต่อไป แต่ทั้งนี้ Techsauce เพียงแต่นำ LiVE มาให้รู้จักเท่านั้น ซึ่ง Platform ดังกล่าวเป็นเพียงช่องทางเพื่อทำความรู้จัก Startup และ SME การลงทุนยังคงมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนเสมอ

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.live-mkt.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...