NIA เผยรายงาน AgTech Startup Ecosystem เป็นครั้งแรกของประเทศไทย | Techsauce

NIA เผยรายงาน AgTech Startup Ecosystem เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในทุกภาคส่วน แต่ในภาคการเกษตรถือว่าได้รับผลกระทบน้อย และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยในประเทศไทยภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากแรงงานถึง 1 ใน 3 อยู่ในภาคการเกษตร แต่อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรของประเทศไทยยังขาดศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมชั้นแนวหน้า และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup ขึ้น เพื่อให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (change maker) และเป็นกำลังหลักในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการเกษตร สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล 

สตาร์ทอัพด้านการเกษตร...ตอบโจทย์ปัญหาที่ท้าทายด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง

ภาคการเกษตรมีปัญหาและความซับซ้อนทั้งในเชิงระบบและนโยบายที่รอให้สตาร์ทอัพเข้ามาช่วยแก้ไข โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและเอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำ “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดกรอบนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างมีทิศทาง พร้อมเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อปรับบริบทให้เหมาะกับภาคเกษตรไทย

จากผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยใน พ.ศ. 2563 มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตร จำนวน 53 ราย (กลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT มีจำนวนสูงสุด) อายุธุรกิจเฉลี่ย 4.7 ปี สามารถแบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Seed State) ร้อยละ 52.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Pre-seed) ร้อยละ 27.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 20 ซึ่งจะกระจายตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

มุมมองด้านการได้รับเงินลงทุนอยู่ในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม และพม่า แต่น้อยกว่าประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์หลายเท่าตัว เงินลงทุนมีการกระจายตัวตามกลุ่มเทคโนโลยีย่อยค่อนข้างดี โดยกลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT ได้รับเงินลงทุนมากที่สุด ขณะที่กลุ่มการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ขนส่ง และตรวจสอบย้อนกลับ ได้รับเงินลงทุนน้อยที่สุด หากเปรียบเทียบข้อมูลการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทยกับในระดับโลกพบว่า กลุ่มเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มแบบใหม่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับในระดับโลก แต่กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยได้รับการลงทุนอยู่ในลำดับที่ 6 แตกต่างอย่างมากกับในระดับโลกซึ่งเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีนี้สูงเป็นอันดับ 1 

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูล และสัมภาษณ์สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ร่วมกับศึกษาข้อมูลจากการะดมทุนจำนวน 41 ราย พบว่า มีจำนวนเงินลงทุนสูงถึง 772 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 66.7 เป็นการลงทุนภายนอก ไม่ได้รับเงินลงทุนจากหน่วยงานร่วมลงทุนที่เป็น VC CVC หรือ Angel Investor สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยการผลักดันและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนและศักยภาพของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่มีปริมาณเงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่มีการลงทุนในกลุ่มนี้สูงมาก”

ในแง่ศักยภาพของสตาร์ทอัพนั้น ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีพนักงานอย่างน้อย 1 รายที่มีวุฒิการศึกษาเกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ประเด็นที่น่าสนใจคือ อายุของผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 25-50 ปี  แสดงให้เห็นว่า ยังขาดแคลนสตาร์ทอัพในช่วงอายุ 20-25 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีความกล้าเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ และมีสมรรถภาพร่างกายสูง อีกมุมมองที่น่าสนใจยิ่งคือ การเลือกเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพด้านเกษตรมีแรงจูงใจในการตั้งบริษัทเพื่อช่วยเหลือสังคมถึงร้อยละ 82.5 ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเพียงผลกำไร แต่ยังมีเป้าหมายจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับระบบนิเวศในระยะยาวถึงแรงบันดาลใจส่วนตัวที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลร่วมกัน

อีกมุมมองและทัศนคติของภาคส่วนในระบบนิเวศ นั่นคือ การเปิดใจให้กว้างในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และพัฒนาเทคโนโลยีโดยยึดความต้องการของเกษตรกรหรือผู้ใช้งานเป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐควรปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและกิจการสตาร์ทอัพเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ ทั้งยังควรส่งเสริมการให้ความรู้ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก เพื่อได้มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ให้มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการแข่งขันในระดับโลก

แผนที่นำทางการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรของประเทศไทย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาในครั้งนี้ แบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  1. การเกิดขึ้น (Emergence) เป็นช่วงที่เริ่มมีการก่อตั้งสตาร์ทอัพเกษตร แต่ยังมีจำนวนไม่มาก และสมาชิกในระบบนิเวศยังทำงานในลักษณะที่เป็นอิสระต่อกัน 
  2. การรวมตัว (Agglomeration) เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกในระบบนิเวศเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม 
  3. โลกาภิวัตน์ (Globalization) ระบบนิเวศภายในประเทศมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากร เช่น เงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยีกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 
  4. การสอดประสาน (Harmonization) สมาชิกในระบบนิเวศทำงานสอดประสานกัน ส่งผลให้มูลค่าของระบบนิเวศเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ 

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า “การเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตรจะเห็นได้จากการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจากการสำรวจในปี 2563 มีจำนวนสตาร์ทอัพด้านเกษตรเพียง 53 บริษัท แต่ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพด้านเกษตรรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากจำนวนของสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการจุดประกายแนวคิด การพัฒนาธุรกิจ และการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตร ซึ่งคาดว่ามีอยู่เกือบถึง 70 บริษัท ดังนั้น ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะต่อไปของ NIA จึงมุ่งเน้นการเป็นสะพานเชื่อมเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคในระบบผ่านกลไกและเครื่องมือ 4 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มปริมาณ การปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มความหลากหลาย และการสร้างความร่วมมือ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ สามารถเป็นผู้นำการพลิกโฉมวงการเกษตร (Agriculture Transformation) ได้อย่างความยั่งยืน 

และหากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดาวน์โหลดสมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย ได้ที่ https://nia.bookcaze.com/viewer/2339/1/สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย หรือ E-book ที่ https://anyflip.com/zimhm/qdek/


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก LLMs’ Explainability การเข้าใจกลไกสมอง AI หนึ่งใน Tech Trends 2025 ที่จะมาเปลี่ยนโลกเอไอ

เจาะลึกเบื้องหลัง Large Language Models (LLMs) และเทคโนโลยี LLMs’ Explainability ที่ช่วยเปิดเผยกระบวนการทำงานของ AI จากกล่องดำสู่ความโปร่งใส ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนโลก AI ในอนาคต!...

Responsive image

รู้จัก AI Product Management สายงานที่ Andrew Ng ชี้มาแรง

สำรวจบทบาท AI Product Management และเหตุผลที่ Andrew Ng ยกให้เป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ AI ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการนำไปใช้งานจริง...

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...