หากพูดถึงเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ก็คงจะหนีไม่พ้น AI เทคโนโลยี AR และ VR หรือแม้กระทั่งวัคซีน mRNA เอง ซึ่งหลายบริษัทเทคยักษ์ใหญ่หันมาแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมด้านนี้มากขึ้น และนักลงทุนเองก็หันไปทุ่มเงินให้กับธุรกิจด้านนี้กันเพิ่มขึ้น
ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เองจัดว่าอยู่ในเทคโนโลยีประเภท “DeepTech”
และหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า DeepTech และยังคงสงสัยกันว่า DeepTech คืออะไร มีอะไรอีกบ้างที่จัดเป็น DeepTech และเพราะอะไรมันถึงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้มากมายถึงเพียงนี้
วันนี้ Techsauce จะพาไปทำความรู้จัก DeepTech ผ่านผู้คร่ำหวอดในวงการ Startup และ DeepTech อย่าง ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่จะมาเล่าถึงการเดินหน้าพัฒนา DeepTech ในประเทศไทย และงานดี ๆ ที่จัดเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ
DeepTech คือเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีความซับซ้อน มีพื้นฐานจากการค้นคว้าวิจัยและคิดค้นขึ้นใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ นับเป็น ‘ความก้าวหน้า’ อีกขั้น ด้วยประสิทธิภาพและมูลค่า โดย DeepTech นี้จะประกอบไปด้วย เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), การพัฒนาเครื่องจักรกลขั้นสูง (Robotics), เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนสำหรับบุคคล (Immersive), เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกอุปกรณ์ (Internet of Things หรือ IoT), เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านพลังงาน (EnergyTech)
ซึ่ง DeepTech Startup นั้นมีความแต่กต่างจาก Tech Startup ทั่วไป อยู่ 4 ประการ คือ
เป็น Startup ที่มีความสามารถในการวิจัยด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยในกลุ่ม Startup เพราะปกติแล้ว Startup จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมากกว่าสร้างเทคโนโลยี แต่ในทางกลับกัน ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามียูนิคอร์นเยอะเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มนี้จะทำวิจัยเองในบริษัท หรือต่อยอดสร้างเทคโนโลยีจากการทำวิจัยเสียมากกว่า
ใช้เงินเยอะไปกับการทำ R&D ทำทรัพย์สินทางปัญญา นำมาประเมินมูลค่าทางเทคโนโลยี (Technology Valuation) และจากมูลค่าทางเทคโนโลยีที่ประเมินออกมานี้ อาจจะทำให้ DeepTech Startup บางรายกลายเป็นยูนิคอร์นเลยทีเดียว
ใช้เวลานานในการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา จนกว่าเทคโนโลยีจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง
จะมีการสร้าง Market Value หรือ Market Proposition หลังจากที่มั่นใจแล้วว่าเทคโนโลยีที่ศึกษา และพัฒนามาจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมไหน
ดร.พันธุ์อาจ ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า DeepTech มีความสำคัญมากอยู่ 3 ประการกับประเทศไทย คือ
DeepTech จะเป็นสะพานเชื่อมผู้ที่มีความต้องการสร้างสรรค์เทคโนโลยี กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการทำการวิจัย เช่น ห้อง Lab ในมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในทุกภูมิภาค ทุกจังหวัดทั่วไทย ดังนั้น หากมี DeepTech Startup เกิดขึ้นในประเทศเรา ก็จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน และให้มีการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่
DeepTech จะช่วยยกระดับนักวิจัยไปสู่ระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักวิจัยด้าน AI, Robotic, การแพทย์ รวมทั้งด้านอวกาศ นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถต่อยอดไปเป็นนักวิจัยเพื่อทำธุรกิจอีกด้วย
DeepTech เปิดโอกาสให้กลุ่มนักวิจัยได้ทำงานร่วมกับบริษัทเทคขนาดใหญ่ รวมทั้งนักลงทุนที่สนใจในด้านนี้
หากสรุปภาพรวมของ 3 ข้อนี้ คือ การสร้าง DeepTech Startup จะเข้ามาส่งเสริมการทำงานร่วมกับภาครัฐ (Lab ในมหาวิทยาลัย) ภาคเอกชน (บริษัทขนาดใหญ่ และกลุ่มนักลงทุน) และยังสามารถต่อยอดความสามารถไปสู่ระดับนานาชาติ โดยการปั้นธุรกิจ ปั้นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัท และพัฒนาจนเกิดเป็นยูนิคอร์นรายใหม่ได้เลยทีเดียว
ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2010-2016 การลงทุนในธุรกิจ Startup ที่เป็น e-Commerce หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้ในปี 2016-2020 การลงทุนเพื่อขยายขนาดธุรกิจจาก Pre-Series A ไป Series A หรือ จาก Series A ไป Series B ของธุรกิจกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อธุรกิจในกลุ่มนี้เติบโตมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วงปี 2016-2017 ก็มีนักลงทุนบางส่วนที่หันมาให้ความสนใจกับ Startup ที่สามารถสร้างเทคโนโลยีได้เอง ตัวอย่างเช่น การลงทุนด้าน Blockchain และต่อมาก็เพิ่มเติมมาสู่วงการอาหาร การเกษตร การแพทย์ ทำให้เห็นว่า การลงทุนในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้นตั้งแต่ช่วย 2018 เป็นต้นมา
และไม่เพียงแต่ธุรกิจที่เป็น Digital Technology เท่านั้น กลุ่มธุรกิจที่เป็น Non-Digital Technology อย่างเช่น Quantum Computing, เทคโนโลยีอวกาศ, เทคโนโลยีอาหาร และเทคโนโลยีด้านการเกษตร ก็มีกลุ่มนักลงทุนหันไปลงทุนในด้านนี้ไม่น้อยเช่นกัน และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จัดได้ว่าเป็น DeepTech
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจ DeepTech Startup จากทั่วโลก โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มี DeepTech มากถึง 65 บริษัท ในขณะที่ประเทศไทยเองมีเพียง 1 บริษัทเท่านั้น
ทำให้ NIA เล็งเห็นว่า จะต้องเร่งเพิ่มจำนวน DeepTech ที่มีประสิทธิภาพในไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยจะต้องเน้นส่งเสริมไปที่การทำวิจัย และหลังจากเริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าไปร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ รวมทั้งบริษัทที่สนใจ Non-Digital Technology และเร่งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานแก่ DeepTech ทำให้ปัจจุบันนี้ มีธุรกิจด้าน DeepTech ในประเทศไทย ในสาขาต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการเกษตร (AgTech) ด้านอาหาร (FoodTech) ด้านการแพทย์ (MedTech) ด้านสุขภาพ (HealthTech) ด้านอวกาศ (SpaceTech) ด้านการป้องกัน (DefendTech) นอกจากนี้ยังมี AI, Robotic และ Immersive IoT (ARI-Tech) อีกด้วย ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วมีธุรกิจด้าน DeepTech อยู่ประมาณ 60 รายแล้วในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับ Early-stage
ต้องบอกว่าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนให้ความสนใจในด้าน DeepTech กันพอสมควร แต่เนื่องจาก DeepTech มีความแตกต่างจากเทคโนโลยีแบบเดิม และแตกต่างไปจากเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย จึงเกิดเป็นความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน เช่น
หลาย ๆ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ DeepTech ยังขาดความเข้าใจ โดยประเทศไทยจะต้องเร่งให้กลุ่มบริษัทและนักลงทุนก็ต้องมีความเข้าใจตรงกันว่า เทคโนโลยีในกลุ่ม DeepTech นี้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังใช้เงินทุนในจำนวนที่มากกว่าในการค้นคว้าวิจัย
ประเทศไทยยังมีบริษัท DeepTech น้อยเกินไป หรือมีไม่เพียงพอให้ทุกคนเข้าใจรูปแบบการทำงาน มีไม่พอให้บริษัทเล็ก ๆ เห็นเป็นตัวอย่าง ดังนั้น NIA จึงตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนธุรกิจด้านนี้เป็น 100 ราย เพื่อสร้างให้เกิดรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลก รวมทั้งจะช่วยสร้างทักษะให้กับนักคิด นักประดิษฐ์ และนักวิจัยให้เข้ากับการทำธุรกิจอย่าง Startup ได้ และนอกจากนี้จะช่วยสร้างตลาดการลงทุนให้เติบโตขึ้น โดยการที่กระตุ้นให้นักลงทุนหันมาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น
DeepTech ต้องการ Global Citizen / Global Talent หรือกล่าวง่าย ๆ คือ ประเทศไทยต้องดึงเอาความสามารถของ Startup ทั่วโลกบวกกับ Ecosystem ของคนไทยที่ทำธุรกิจเก่งกันอยู่แล้ว มาร่วมกับสายวิจัย เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ เกิด Connection ให้ต่างชาติรับรู้ว่าบ้านเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และเพียงพอ ให้เข้ามาใช้ประโยชน์กับ Ecosystem ที่มีอยู่ของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตามที่กล่าวมาข้างต้น NIA ได้เริ่มต้นจับมือกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Space-F ไทยยูเนี่ยน รวมทั้ง ThaiBev เพื่อส่งเสริมธุรกิจสาย DeepTech ด้านอาหารโดยเฉพาะ อย่างเช่น การผลิตโปรตีนทางเลือกแบบใหม่ การวิจัยเกี่ยวกับ Biotechnology ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของการเกษตร ก็มีการจับมือกับ Kubota บริษัทอื่น ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อทำด้าน Urban Farming ทำ AI ด้านการเกษตร และทาง NIA ยังมีความหวังที่จะส่งเสริมให้น้อง ๆ นักศึกษาสามารถสร้างธุรกิจ DeepTech Startup ได้ เพราะฉะนั้นจึงมี Incubator และ Accelerator ในมหาวิทยาลัยในทุก ๆ ภูมิภาค
ในอีกส่วนหนึ่งที่หลายคนพูดถึงเสมอ คือ หากไม่มีกฎหมายดี ๆ จะมีคนเข้ามาสนใจลงทุนหรือทำธุรกิจได้อย่างไร แต่ในทางกลับกันก็สามารถมองได้ว่า ถ้าไม่มีธุรกิจเกิดขึ้นอย่างจริงจังแล้วจะมีกฎหมายออกมาได้อย่างไร โดยประเด็นนี้ ดร.พันธุ์อาจ มองว่า หากมีการเกิดขึ้นของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในจำนวนที่มากขึ้น ภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะหันมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้กันมากขึ้น และเป็นผลให้เกิดกฎหมายหรือข้อบังคับที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ NIA ยังสนับสนุนให้เกิด Angel Investor เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และหากภาคเอกชนหันมาทำด้าน DeepTech มากขึ้น จะทำให้กรุงเทพฯ สามารถเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีได้ ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะได้เห็นทั่วประเทศไทยมีเทคโนโลยีใช้ มีการลงทุนเข้าถึงในทุก ๆ ธุรกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายออกไปอย่างเท่าเทียม สามารถดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจ และยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศเราได้
ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า ในสหรัฐอเมริกา และอิสราเอลเป็นประเทศที่มีธุรกิจด้าน DeepTech อยู่เยอะที่สุด และส่วนใหญ่ที่พวกเขากำลังแข่งขันกันเองในประเทศ จะเน้นไปที่ AI และในประเทศไทยเอง เรากำลังมุ่งไปที่การส่งเสริมธุรกิจกลุ่ม AI, Robotic และ Immersive หรือ ARI-Tech เพราะในตอนนี้ประเทศไทยยังมีการสร้างเทคโนโลยีในส่วนนี้น้อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นการนำเอา AI มาต่อยอดใช้งานมากกว่าสร้างขึ้นมา ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีอย่าง DefendTech และ SpaceTech ก็เป็นที่นิยมอย่างมากในอิสราเอล สหรัฐอเมริกา รวมทั้งสิงคโปร์ ส่วนไทยยังมีการทำ DefendTech น้อยมาก แต่ SpaceTech กลับมีการค้นคว้าวิจัยในประเทศไทยอยู่เยอะ เป็นด้านดาราศาสตร์ และดาวเทียม เป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ยังมีด้าน BCG ที่ต้องยอมรับว่าเป็นดาวเด่นของไทย เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้ความสนใจ และต้องการจะลงทุนใน Startup ด้านนี้ของไทย เช่น FoodTech, AgTech แต่ AgTech กลับแทรกซึมได้ยากในตลาดบ้านเรา
และยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสามารถจะเติบโตได้ แต่กลับโตยากในประเทศไทย คือ HealthTech และ MedTech เนื่องจากตลาดด้านสาธารณสุขของไทยยังเปิดไม่เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะมีคนเก่งอยู่จำนวนมาก แต่ตลาดกลับยังไม่เปิดกว้างให้ธุรกิจเข้าไปเติบโตได้
หากให้สรุปภาพรวมทั้งหมด ดร.พันธุ์อาจ มองว่า FoodTech คือกลุ่มที่จะเติบโตได้ดีที่สุดในประเทศไทย รองลงมาเป็น AI, Robotic และ Immersive IoT หรือ ARI-Tech นั่นเอง
อย่างที่เราเห็นว่า เทรนด์โลกตอนนี้กำลังมุ่งไปที่เรื่องของ DeepTech และมันได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยจะต้องพัฒนาให้ DeepTech ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถไปแข่งขันบนเวทีโลกได้ และเพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก นวัตกรรมแนวหน้าแห่งอนาคตที่จะมาขับเคลื่อนประเทศโดยจะยกนวัตกรรมจากห้องทดลองสู่โลกพาณิชย์ ผ่านงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 (SITE 2021) ภายใต้แนวคิด “DEEP TECH RISING : The Next Frontier of Innovation”
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานแสดงนวัตกรรมด้าน DeepTech การเข้าเยี่ยมชมงานก็ต้องมีความแตกต่างจากรูปแบบทั่วไป โดยความน่าตื่นตาตื่นใจของงานนี้คือ การสร้างประสบการณ์เสมือนจริงในการเข้าถึงไอเดีย องค์ความรู้ มุมมองระดับโลกเกี่ยวกับ DeepTech ได้แก่
Seamless actual & virtual experience / 360 Virtual exhibition ออกแบบแพลตฟอร์มให้ผู้เข้าร่วมงานและชมนิทรรศการแบบออนไลน์ สร้างการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เข้า ชมงานกับผู้ประกอบการ เสมือนการได้สัมผัสเทคโนโลยีขั้นสูง ณ สถานที่จริง ก้าวข้ามรูปแบบงานที่เคยจัดอย่างไร้พรมแดน
Avatar profile display ดึงเทคโนโลยี VR มาสร้างประสบการณ์ชมงานแบบใหม่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมกับนิทรรศการในโลกเสมือนระหว่างการเข้าชมงานบนแพลตฟอร์มผ่านตัว Avatar
Smarter AI / Data analytics รวบรวมและนำเอาข้อมูลทั้งจากแต่ละการจัดงาน, จัดกิจกรรม, และความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน ผสานกับเครื่องมือส่วน Social listening เพื่อฟังเสียงของผู้ที่สนใจแวดวงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั่วโลก รวบรวมข้อมูลผ่านกระบวนการ Data analytics เพื่อประเมิน ประสิทธิภาพงานที่จัดขึ้นและทิศทางของ Trend & Content อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ได้มีเพียงแต่รูปแบบการร่วมงานที่แตกต่างเท่านั้น กิจกรรมต่าง ๆ ในงานยังมีความน่าสนใจ และต้องยอมรับว่างานนี้เป็นเวทีสำหรับ Startup และนักลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งในงานจะมีการจัดกิจการรม ดังนี้
เปิดเวทีที่รวมสุดยอด Startup นวัตกรชั้นนำของเมืองไทย รวมทั้งวิทยากรชั้นนำจากต่างประเทศ มาร่วมเสวนาออนไลน์ในกว่า 50 เซสชั่น จากกว่า 60 Speakers ที่จะมาร่วมอัพเดทเทรนด์ในอนาคต ให้ความรู้ ไอเดียด้านเทคโนโลยี การแก้ไขปัญหา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจ ครบถ้วนด้วยกรณีศึกษา เพื่อนำไปสู่การใช้จริง
เปิดโอกาสให้เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ได้จับคู่กับนักลงทุนคุณภาพ เพื่อต่อยอดธุรกิจใน Virtual Marketplace ตลาดแนะนำสินค้าและบริการแบบเสมือนจริง ที่จะเป็นช่องทางแนะนำสินค้านวัตกรรมของ Startup และผู้ประกอบการไทยรวมกว่า 200 บูธ ทั้งการชมสินค้าผ่านวิดีโอ และพูดคุยกันโดยตรง
เปิดเวที Online Business Consulting ให้คำปรึกษาจากสุดยอดผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในกว่า 10 สาขา ร่วม 30 คน
จัดกิจกรรม Business Matching จับคู่ธุรกิจให้เกิดการลงทุนและต่อยอดทางธุรกิจในธุรกิจระดับเริ่มต้น (Early-stage) หรือผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมกับนักลงทุนและผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่จำนวนกว่า 30 บริษัท
สำหรับท่านที่สนใจเข้าชมงานที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต และต้องการจะสร้างประสบการณ์ใหม่ร่วมกับนวัตกรรม DeepTech สามารถลงทะเบียนเข้าชมงาน ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 งานสตาร์ทอัพและอินโนเวชันไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน นี้
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด