คุยกับคุณนก มณีรัตน์ CEO หญิงแห่ง Garena Thailand ยูนิคอร์นแห่ง SEA กับเรื่องราวการบริหารทีมงานนับพันคน | Techsauce

คุยกับคุณนก มณีรัตน์ CEO หญิงแห่ง Garena Thailand ยูนิคอร์นแห่ง SEA กับเรื่องราวการบริหารทีมงานนับพันคน

ผู้หญิงในวงการ Tech ว่ามีไม่มากแล้ว แถมถ้าต้องถือบทบาทผู้บริหารระดับสูงด้วยยิ่งน้อยใหญ่ พวกเราจึงรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยเลย ที่ได้มาพูดคุยกับพี่นก มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO ของบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) โดย Garena เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นยูนิคอร์นแห่ง SEA เราพูดคุยกันในห้องทำงานของพี่นก ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง นี่คือเรื่องราวชีวิตส่วนตัวและเรื่องราวการทำงานที่พี่นกแชร์ให้พวกเราฟัง

nok-ceo-garena

พี่นก กับการเข้าสู่โลก Startup

พี่นก: จบวิศวกรรมอุตสาหการ จากจุฬาฯ ค่ะ พอจบปุ๊บ ด้วยความที่เลือดวิศวะแรง ก็ไปทำงานแบบสาย Manufacturing ทำได้แค่ปีกว่าๆ ผู้ใหญ่ในบริษัทเขาคงรู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงอยู่ในโรงงานอาจจะไม่ค่อยเหมาะมั้ง ลองทำสายอื่นไหม ลองทำฝั่ง Marketing ไหม? Engineer ไปทำ Marketing เนี่ยนะ? ตอนแรกก็ตั้งคำถาม แต่ก็ไม่เป็นไร ก็ลองดู เหมือนกับว่าผู้ใหญ่ให้โอกาสมาเราก็ลอง พอทำ Marketing ก็ได้พบลูกค้า มีโอกาสได้ดีลงานกับลูกค้าหลายชาติ เหมือนกับได้เปิดหูเปิดตาเรา ถึงจุดนึงเราก็รู้สึกว่าการไปเรียน MBA อาจจะเป็นอะไรที่ช่วยเปิดโลกทัศน์เราขึ้นอีก เพราะว่าเราอยู่ในวงของวิศวะเราจะมองทุกอย่างเป็น Logic มากเกินไป จริงๆ ในโลกปัจจุบันมัน Logic อย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีทั้ง Hard Skill ทั้ง Soft Skill ก็เลยไปเรียน MBA โชคดีที่ได้ไปเรียนมหาลัยที่ตัวเองอยากจะไปเรียนด้วย ซึ่งก็คือที่ Stanford ที่อเมริกา

เราได้อยู่ใน Silicon Valley ซึ่งเป็นศูนย์กลางในเรื่องของ Tech เลยได้ไปเรียนรู้จากตรงนั้นมาเยอะ ก็เริ่มรู้สึกว่าเออ เราก็สนใจแนวนี้นะ โชคดีว่าเจอเพื่อนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน จนได้ทำ Startup ที่นั่นด้วย  ทำเกี่ยวกับ Healthcare ซึ่งตอนนั้น Healthcare cause ในอเมริกามันใหญ่มาก Startup ในอเมริกามันก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างฮิตมาก Ecosystem ทุกอย่างก็เหมือนตอนนี้ของเมืองไทย แต่ย้อนไป 10 ปีที่แล้วที่อเมริกา

ได้ไปเรียนรู้ว่าเขียนโปรแกรมเขาทำยังกันไง ส่วนเราในฐานะ MBA ก็เข้าไปในแง่ของทำ Market analysis อยู่ในลูปนั้นก็รู้สึกว่ามันได้ Feel ของ Startup แบบว่านั่งทำกันในบ้าน ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรมากมาย ทุกอย่างต้องประหยัดแล้วก็ใช้ทรัพยากรของโรงเรียนให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ต้องไปคุยกับ VC, Angel จนกระทั่งได้เงินทุนมา ตอนนั้นเราสนุกมาก แต่ว่าพอเรียนจบ ก็ตัดสินใจกลับมาบ้าน สุดท้ายก็ขาย Startup และ Exit ไป ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆตอนนั้น

เส้นทางสู่การเป็นผู้บริหารการีนา ประเทศไทย

พี่นก: พอเรียนจบมาก็สั่งสมประสบการณ์ เข้าไปทำ Investment banking และไปทำ Consult ซึ่งมันก็ตอบโจทย์เพราะว่าแบบมันได้เห็นหลายๆ ธุรกิจ แล้วก็เปิดมุมมองของเราอีกแบบนึง มองเรื่องของกลยุทธิ์บริษัท เขาทำยังไงกัน ในระหว่างนั้นก็คุยกับฟอเรสต์ (Forrest Li) เพื่อนที่เป็น Founder ของ Garena ที่เรียนมาด้วยกันที่ Stanford ตั้งแต่ตอนเรียนจบ เขาก็มีไอเดียอยู่แล้วแหละว่าอยากจะทำบริษัทเกมเพราะเค้ามีใจรัก ชอบเล่นเกม มี Passion  เขาก็เริ่มทำแพลตฟอร์มของเขาก่อนที่สิงคโปร์ ส่วนเราก็ช่วยเขาเป็นที่ปรึกษาเรื่องตลาดเมืองไทย จนปี 2012 ที่ Garena เข้าตลาดไทย จากตอนแรกที่ให้คำปรึกษา สุดท้ายก็รู้สึกว่าเออ มันก็ Passion เนอะ มันเป็นเรื่องที่เราชอบอยู่แล้ว เรื่องของ Internet product ด้วย Culture ของ Garena ที่มันเป็นลักษณะของ Startup ด้วย ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่เราคิดถึงมากเหมือนกัน ก็เลยแบบตัดสินใจมาร่วมกับเขาแบบเต็มๆ ตัวจนถึงทุกวันนี้

ประเทศไทย กับบทบาทตลาดสำคัญสำหรับ Garena

พี่นก: ในเมืองไทยตอนนี้เรามีพนักงานประมาณ 1,000 คน ในออฟฟิศมี 400 คน อีก 600 กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ที่เมืองไทยเรามีครบทุกผลิตภัณฑ์ของ Garena เลยค่ะ อย่าง AirPay เนี่ยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มเมืองไทยที่แรกเลยด้วย และก็ขยายออกไปที่อินโดนีเซีย กับเวียดนามแล้ว

อย่างนี้แสดงว่าการีนา ประเทศไทย เป็นถือเป็นหัวเรือสำคัญของ Garena เลยรึเปล่าคะ

พี่นก: ใช่ค่ะ ไทยเป็นตลาดที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในหลายๆ แง่นะคะ เวลาเรามีอะไรใหม่ๆ ออกมา เราจะมาเทสที่เมืองไทยก่อน แล้วพอเริ่มอยู่ตัว ก็ขยายไปที่ประเทศอื่น

พี่นกคิดว่าปัจจัยที่ทำให้ตลาดไทยโดดเด่นคืออะไรบ้างคะ

พี่นก: เราทราบอยู่แล้วว่าเด็กไทยชอบเล่นเกม แต่ที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบคือ ทักษะการปรับตัวการเรียนรู้ของใหม่ๆ ของเด็กไทย คือเวลาที่เราเอาเกมแนวใหม่เข้ามา เราพบว่าเด็กไทยปรับตัวเข้าหาได้เร็วมาก รับอะไรค่อนข้างเร็วแล้วก็ตอบสนองเร็ว ว่าชอบหรือไม่ชอบ ทำให้เราสามารถเทสตลาดได้เร็ว ดังนั้นเวลาเรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือมีอะไรใหม่เข้ามา เราจึงมักจะเอามาเทสที่ตลาดเมืองไทยค่ะ

และในมุมของการีนาเอง เราเข้ามาด้วยมุมของการสร้าง Community ของเกมเมอร์กลุ่มลูกค้าเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ต่างคนต่างเล่น ไม่ได้มีแพลตฟอร์มที่มีการ Sharing เกิดขึ้นจริง พอเราสร้างส่วนนี้ เกมเมอร์ก็ชอบ เราผลักดันกีฬา eSports (การแข่งขันเกมที่เหมือนกับการแข่งกีฬาทั่วไป) ซึ่ง eSports นี้เป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป ในฝั่งเอเชียยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่คนในวงการนี้จะรู้จักและสนใจกันมาก จากส่วนนี้ของฝั่งเกม ทำให้เรามีฐานผู้ใช้งาน และ Operation ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ซึ่งพอเราใส่ผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าไป ต่อยอดเข้าไปมันก็ทำได้ง่ายขึ้น

รู้จักกับ Products ต่างๆ ของ Garena

ธุรกิจของ Garena จริงๆ ถ้าเกิดให้แบ่ง มันก็คือ สามส่วน คือ Digital Content, Payment, และ eCommerce

โดยส่วนแรกคือ Digital content คือ PC games, Mobile games, Entertainment platforms ที่เราให้บริการ แล้วเรายังมีโปรแกรมช่วยบริหารจัดการ Internet cafe ด้วย ทำให้เรามีโอกาสทำงานร่วมกับร้าน Internet cafe หลายๆ ร้านในเมืองไทย ตอนนี้ประมาณเกือบ 20,000 เจ้า ที่ใช้โปรแกรมของเรา สิ่งที่เราบริการก็เช่น ในเรื่องระบบบิล ระบบการอัพเดทเกมที่อัพเดทได้อัตโนมัติ (เวลาที่ออก Patch ใหม่) ไม่ต้องมาไล่ทำทีละเครื่อง เราช่วยบริหารจัดการให้ นอกจากนี้การีนาก็มีบริการเจ้าหน้าที่ให้กับร้านอินเทอร์เน็ตเวลาที่เขาต้องการ Support สามารถโทรศัพท์มาหาเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้ามีปัญหาเราก็จะมีช่างที่เข้าไปช่วยแก้

garena games ส่วนที่สองของ Garena ก็คือ Payment ให้บริการจัดงานด้านการเงิน ซึ่งก็คือ AirPay ซึ่งจุดประสงค์จริงๆ ตอนเริ่มต้น เนื่องจากว่าเราต้องการบริการลูกค้าเกมเมอร์ของเรา เขาเติมเงินในเกมได้ไม่สะดวก เราก็มองว่าเพื่อความสะดวก ทำไมเราไม่ทำบริการการชำระเงินด้วย และเราก็เป็น Tech company นี่ เราก็เลยขอใบอนุญาตทำ Payment แล้วก็เริ่มเข้ามา พอทำได้ถึงจุดนึงเราก็รู้สึกว่า ทำไมถึงต้องลิมิตอยู่แค่เกม? เราก็เลยค่อยๆ ขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปด้วย ซึ่งตอนนี้เรามองว่ามันควรจะเป็นแพลตฟอร์มที่สะดวกสบายที่สุด ปัจจุบันใน AirPay ทำได้ทั้งเติมเงินเกม เติมเงินมือถือ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จ่ายบิลต่างๆ ซื้อตั๋วหนัง ซื้อตั๋วเครื่องบินก็ได้ แม้แต่การบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลก็ทำได้ในแอป แล้วเราก็จะคงเดินหน้าต่อไปที่ทำให้ AirPay รองรับบริการต่างๆ มากขึ้น

airpay-screenshot

 

ส่วนที่สามก็คือ Shopee จริงๆ มันต่อยอดจาก AirPay ไปอีก ตอนนั้นที่เริ่มมอง E-commerce น่าจะซัก 2 ปีที่แล้ว ที่เริ่มมองเพราะว่า Payment มันก็เชื่อมโยงกับ E-commerce ถูกไหมคะ และในระดับภูมิภาคเองพวกเราก็เริ่มเห็นว่ามันมีโอกาสของ M-commerce เพราะว่าส่วนใหญ่ตอนนั้นยังเป็น Web-based E-commerce ยังไม่ได้มีใครที่พัฒนา Mobile-based เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งบนเว็บมันยัง Convert มาเป็น Mobile ไม่ได้ 100% เราก็มองว่าเราน่าจะทำตรงนี้ เลยเกิด Shopee ที่เป็น C2C mobile marketplace ขึ้นมา แล้วเราก็ดูว่ามันมีช่องว่างอะไรที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เราสามารถให้บริการได้ ตัวอย่างเช่น บริการการันตี ว่าถ้าผู้ซื้อไม่ได้สินค้า คุณจะได้รับเงินคืน ตรงนี้ที่เราช่วยจัดการให้ เป็นต้น

shopee-mockup2

 

อยากทราบว่า Garena แต่ละประเทศมีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้างคะ

พี่นก: Nick Nash เขาก็จะดูในส่วนของ Strategy รวม ร่วมกับ Forrest และ Top management team ประมาณ 10 คน ที่เราคุยกันอยู่เรื่อยๆ เป็นประจำอยู่แล้วว่าทิศทางบริษัทจะเป็นยังไง แต่ในส่วนของการดำเนินงาน เรามี Headquarter อยู่ที่สิงคโปร์ เขาก็จะเป็นศูนย์กลาง และเราจะทำงานร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิดในทุกๆ วัน ว่าตอนนี้มีอัปเดตอะไร แล้วก็ในทุกๆ ไตรมาส จะมีการประชุมที่เรียกทีมที่เป็น Operation ในแต่ละออฟฟิศมาเจอกันเพื่อมีการแชร์กันว่าตอนนี้มันเกิดอะไร ในตลาดไหน แล้วมันเป็นยังไง อย่างปัจจุบันตอนนี้ที่ AirPay เกิดในประเทศไทย เรากำลังเอาผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไปที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ก็จะทีมไทยเราบินไปค่อนข้างบ่อยเพื่อที่จะไปแชร์ว่าควรเริ่มยังไง

บทบาท CEO หญิง กับมุมมองและข้อคิดในการทำงาน

ในความคิดของพี่นก อะไรคือความท้าทายที่การีนาเจอบ้างคะ

พี่นก: เรากำลังทำผลิตภัณฑ์ที่เน้นกลุ่มคน Gen Y เพราะฉะนั้นคนในบริษัทเราจึงค่อนข้างเป็นคนรุ่นใหม่เยอะ (อายุเฉลี่ยของพนักงานที่การีนา ประเทศไทย คือ 27 ปี) การที่พนักงานเราเป็น Gen Y ที่สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อคน Gen Y  ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือเขาเข้าใจตลาด รู้ว่าคนในวัยเขามองหาอะไร อยากได้อะไร แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานที่โชกโชน เพราะฉะนั้นในเรื่องของการประเมินว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง และจะป้องกันอย่างไร มันก็เป็นความท้าทายที่เราต้องคอยพยายามโค้ชเขา แล้วก็หาจุดบาลานซ์ระหว่าง Passion ในการขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จ กับเรื่องของ Control ว่าสิ่งที่เรากำลังดำเนินไปมันถูกต้อง มันตามกฎระเบียบนะ

มีพนักงานเป็นพันคนแบบนี้ พี่นกมีหลักการบริหารคนอย่างไรบ้าง

พี่นก: พี่คิดว่าสิ่งที่พี่โฟกัสกับน้องๆ มาตลอด คงแบ่งได้ 3 อย่างหลักๆ

อย่างแรก พี่คิดว่าเราอยู่กันแบบครอบครัวมากนะคะ ทุกอย่างเป็นพี่เป็นน้องกันหมด คนที่ทำงานตรงกับพี่นี่ จะรู้เลยว่าสามารถเข้าถึงพี่ได้ เวลามีปัญหา เราคุยกันได้ พี่สนับสนุนวัฒนธรรมอย่างนี้ในบริษัท และไม่ใช่เพียงแต่ตัวพี่คนเดียว แต่พี่จะบอกกับน้องๆ ทุกคนที่ดูแลทีมงานตัวเองเหมือนกันว่า มันต้องอยู่แบบพี่น้อง ให้มันมีความรู้สึกสบายใจคุยกันได้

ถึงแม้ตอนนี้บริษัทเราจะเป็นพันคนในไทย หรือ 5,000 กว่าคนแล้ว สำหรับทั่วภูมิภาค แต่วัฒนธรรมที่เรานับถือ และยังคงใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็คือวัฒนธรรมแบบ Startup ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบก็คือความใกล้ชิดแบบพี่น้อง เราไม่ต้องการให้องค์ประกอบนั้นหายไปจากบริษัทเรา ถึงแม้บริษัทจะมีขนาดใหญ่แล้วก็ตาม

อย่างที่สองคือ Respect (ความเคารพซึ่งกันและกัน) อยู่ด้วยกันมันก็ต้อง Respect กันและกัน มันไม่ใช่ว่าฉันเป็นหัวหน้าเธอแล้วทุกอย่างที่ฉันคิดจะถูกต้อง แม้จะเป็นคนตำแหน่งเล็ก ถ้าเขามีไอเดีย เขามีความคิดเห็น เราก็ต้องฟังเขา แล้วเราก็มาคุยหารือกัน เพราะคนที่อยู่หน้างานเห็นอะไรที่เราไม่เห็น เราก็ต้องฟังเขา เพราะบางทีเราดูภาพรวม มันต้องมีทั้งคนที่ดูภาพรวม กับคนที่ดูลงรายละเอียด สองฝั่งต้องคุยกัน ไม่งั้นคุณจะไม่มีทางคาดการณ์ ป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาได้

อย่างที่สามคือ Empowerment ถ้าเรา Respect เขา พี่ก็จะเชื่อใจเขา ลองให้เขาทำ จากนั้น Empowerment ก็คือการให้อำนาจการตัดสินใจ ให้ลองผิดลองถูก ซึ่งธรรมชาติของ Startup เอง คุณไม่มีทางรู้ว่า Product ใหม่ หรือ Process ใหม่ที่ออกมา มันจะใช่หรือไม่ใช่ คุณจึงไม่ควรดึงอำนาจการตัดสินใจมาอยู่ที่คนแค่ไม่กี่คน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เราอยู่ ทุกอย่างมันไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราต้อง Empower ให้เขาลอง แล้วเราก็เพียงแต่ไกด์เขา ช่วยเขาให้ไปในทิศทางเดียวกัน และส่วนสุดท้ายที่คิดว่าสำคัญมากๆ เลย คือเรื่องของ Sincere (ความจริงใจ) การีนาเนี่ยเราอยู่กันแบบครอบครัว เราต้องจริงใจกับเขา เราก็ต้องอยากให้เขาได้ดี เพราะฉะนั้น บริษัทเราลงทุนค่อนข้างมากในเรื่องของ เทรนนิ่ง Coaching  การพัฒนาคน ให้โอกาสคนทำงาน เรามีความปรารถนาดีและอยากเห็นเขาประสบความสำเร็จในบริษัทของเรา พี่คิดว่าตรงนั้นเป็นองค์ประกอบที่พี่ยึดถือในการดูแลคนนะ

garena family1

garena family2ดูเป็น working woman ขนาดนี้ บาลานซ์เรื่องไลฟ์สไตล์กับการทำงานอย่างไรบ้าง

พี่นก: อันนี้ก็เป็นความท้าทายส่วนตัว เพราะว่ามีลูกแล้วด้วย กับความเป็นผู้บริหารก็ Full time กับหน้าที่คุณแม่ ก็ Full time โดยเฉพาะหน้าที่คุณแม่ ห้ามลา ห้ามขาด ห้ามป่วย ห้ามอะไรทั้งสิ้น ตอนนี้พี่รู้สึกว่าพี่ต้องทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองมีประสิทธิภาพมากที่สุดในระยะเวลาที่จำกัด พี่จะหาโมเมนท์ของตัวเองในทุกวันตอนเย็นก่อนนอน เป็นครึ่งชั่วโมง-หนึ่งชั่วโมง ที่อยู่กับตัวเอง มันเหมือนรีเซ็ตความคิดตัวเองว่า มันจะเห็นมุมมองว่า ฉันกำลังทำอะไรนะ ฉันต้องทำอะไรในวันพรุ่งนี้ แล้วพี่จะแบ่งทุกๆ วันเลย มีตารางที่ค่อนข้างแน่นอนทีเดียวว่าชั่วโมงนี้จะทำอะไร วันนี้จะทำอะไรบ้าง แล้วถ้ามีการล็อคเวลาไว้แล้วว่าเวลาตรงนี้คือให้ที่บ้านให้ครอบครัว พี่ก็จะล็อคจริงๆ ไม่ให้มีเรื่องงานเข้ามา ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ณ โมเมนท์นี้เราอยากได้อะไร เรากำลังจะทำอะไร พี่รู้สึกว่าพี่โชคดีที่พี่มีทีม ที่บ้านพี่มีคุณยายที่ช่วยดูลูก ส่วนของบริษัท พี่คิดว่าน้องๆ ในบริษัทเป็นทีมที่ดีมาก เราทำงานกับเขาอย่างใกล้ชิด มันถึงจุดที่เขาเข้าใจแล้วว่าเราอยากได้อะไร เพราะฉะนั้นมันง่ายขึ้นเวลาคุยกัน เพราะทีมดีด้วย พี่ก็เลยบาลานซ์ได้

สิ่งที่อยากจะบอกกับกับน้องๆ เรื่องความกล้าในการเป็นผู้นำองค์กร

พี่นก: พี่ชอบพูดกับน้องๆ ทุกคนเวลาเจออะไรยากๆ พี่จะบอกว่า “ถ้ามันง่าย ใครๆ ก็ทำได้ไปแล้ว” เพราะฉะนั้นบางทีถ้าเรารู้สึกว่าเรากำลังเผชิญอะไรที่มันยาก มันอยู่ที่ Mindset ข้างใน ให้มองว่ามันคือโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมา พอเจออุปสรรคปุ๊บ อย่าเพิ่งบอกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่เอาละ ทุกคนล้มอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือ ล้มแล้วคุณลุกขึ้นมาได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในบริษัทใหญ่ ทำ Startup เอง หรืออะไรก็ตาม ถ้ามีอะไรที่เป็น Challenge เข้ามา เราควรจะคิดบวกกับมัน แล้วก็มองว่ามันคือโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง ลองทำดู ผิดไม่เป็นไร แต่คุณเรียนรู้กับมัน พอเจออย่างนั้นเรื่อยๆ ร่างกายก็เหมือนมีภูมิคุ้มกันใช่ไหมคะ มันจะแบบ “เฮ้ย ฉันเคยเจอมาแล้ว” พี่คิดว่าถ้าอยู่ด้วย Mindset อย่างนี้ เต็มใจที่จะลอง เต็มใจที่จะลุย ก็จะสามารถเป็นผู้ใหญ่ในองค์กร ใครเห็นเราก็มองว่าเรามีศักยภาพที่จะไปเลเวลถัดไปได้ เขาจะให้โอกาสมากขึ้น ให้อะไรที่มันท้าทายมากขึ้น และคุณก็รับมือกับความท้าทายที่ใหญ่ขึ้น คุณจะเติบโต ไม่ว่าจะเป็นในแง่องค์กร ในแง่ธุรกิจ หรือกับตัวคุณเอง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...