นับว่าน่าจะโดน disrupt กันไปหลายวงการกับกรณีไวรัสโคโรนา มาถึงแวดวงการศึกษากันบ้าง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจจากประเทศจีน เมื่อทางการได้สั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อลดการแพร่กระจายของ COVID-19 อย่างไม่มีกำหนด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การศึกษาในประเทศนี้หยุดชะงัก
แม้การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาทำให้ต้องทำการเลื่อนภาคเรียนออกไป อีกทั้งยังเกิดขึ้นในช่วงที่นักเรียนต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนหลายคนจำเป็นต้องเรียนอยู่ที่บ้าน แต่ทางจีนก็ได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้โรงเรียนใช้แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกในการสอนแบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังวางแผนเปิดห้องเรียนบนระบบคลาวด์แห่งชาติ ทำการจัดหาสื่อการสอนและหลักสูตรสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยการให้คะแนนนั้นก็จะเป็นการเน้นไปที่การมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียน ซึ่งจะทำผ่านแพลตฟอร์มการประชุมทางวิดีโออย่าง Dingtalk ของ Alibaba และ Ketang ของ Tencent
แน่นอนว่าการศึกษาทางไกลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้อินเตอร์เน็ตจะช้าในบางพื้นที่ แต่การไม่สามารถร่วมชั้นเรียนผ่านทางวิดีโอก็ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะนักเรียนสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงและไฟล์งานมาทำแทนได้เช่นกัน หรือในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ทางหน่วยงานของรัฐหรือ China Education Network ก็ได้เปิดห้องเรียนออกอากาศทางทีวี ทุกวันธรรมดาตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 22.00 น. โดยครอบคลุมวิชาแกนหลักทั้งหมด อย่างวิชาคณิตศาสตร์ไปจนถึงวิชาภาษาจีน
นักเรียนบางคนได้แสดงความเห็นในการเรียนรูปแบบนี้ว่า พวกเขารู้สึก Productive มากกว่าการเรียนในห้องเรียนเสียอีก "ฉันชอบการเรียนออนไลน์มากกว่าค่ะ เพราะรู้สึกว่าการเรียนที่บ้านทำให้ฉันมีอิสระมากขึ้น"
แต่ก็ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่รู้สึกแบบนี้ นักเรียนบางคนได้ให้ความเห็นว่า "ฉันรู้สึกมีแรงจูงใจเรียนมากกว่าถ้าได้เห็นเพื่อนร่วมชั้นนั่งเรียนอยู่รอบๆ ด้วย” อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางไกลในช่วงนี้นั้นยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษา ในบางครอบครัวก็จะต้องมีการจับตามองบุตรหลาน เพื่อไม่ให้เสียสมาธิไปกับการเล่นเกมออนไลน์
อีกหนึ่งวิธีการที่ครูผู้สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหวู่ฮั่น (Wuhan University of Technology) ใช้ในการบังคับให้นักเรียนมีวินัยในการเรียน ก็คือการใช้เทคนิค Cold Call นักเรียนที่ไม่สนใจเรียนในระหว่างการถ่ายทอดสด
มาทางฝั่งผู้สอนกันบ้าง การสอนออนไลน์นั้นยังมีจุดอ่อนอยู่เมื่อเทียบกับการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว อย่างการให้ฟีดแบคได้ทันทีเมื่อเห็นนักเรียนกำลังจดหรือถามคำถาม บ้างก็ให้ความเห็นว่า การมีส่วนร่วมระหว่างครูและนักเรียนแบบออนไลน์นั้น “แทบจะเป็นศูนย์”
เพื่อเป็นการลดอิทธิพลของการแพร่ระบาดต่อการศึกษา บริษัทที่ให้บริการด้านคอร์สออนไลน์บางแห่งได้ใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส ทำการเปิดให้นักเรียนได้ใช้บริการฟรี บริษัท TAL Education ได้ประกาศใน Weibo อย่างเป็นทางการว่าจะมีการให้บริการสำหรับนักเรียนในทุกระดับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน VIPKID บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะให้บริการหลักสูตรออนไลน์ฟรี 1.5 ล้านหลักสูตรแก่เด็กอายุตั้งแต่ 4 ถึง 12 ปีเช่นกัน
นอกจากนี้ การเรียนรู้แบบออนไลน์ก็ได้เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนรู้จักกันมากขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ คุณครูท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า การศึกษาในรูปแบบนี้จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของคุณครูกับนักเรียนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เช่น "การช่วยลดการแบ่งลำดับชั้นในห้องเรียน" เนื่องจากโดยปกติแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อส่วนตัว อย่างบน WeChat แต่ตอนนี้สามารถทำได้เนื่องจากนักเรียนมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับฟีดแบคจากผู้สอน ซึ่งการทะลายกำแพงดังกล่าวก็นับว่าเป็นหนึ่งในผลพลอยได้ที่ดีจากการแพร่ระบาดของไวรัส
อ้างอิงเนื้อหาภาพและข่าวจาก South China Morning Post, The Economist, Unsplash
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด