พบกับ Pattie Maes ศาสตราจารย์ด้าน Media Arts และ Science จาก MIT Media Lab ผู้นำกลุ่มวิจัย Fluid Interfaces สาขาที่วิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่งาน Techsauce Global Summit 2024
กับหัวข้อการบรรยาย From AI to IA: Empowering Individuals Through Technology ร่วมหาคำตอบว่า เราจะใช้ประโยชน์จาก AI เพิ่มศักยภาพให้มนุษย์ได้อย่างไร สร้างความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร โดยดึงจุดแข็งของทั้งคู่มาผสานกัน
ขณะที่เป้าหมายของการพัฒนา AI คือการทำให้ เครื่องจักรมีสมรรถนะทัดเทียมหรือเหนือกว่ามนุษย์ IA คือการ พัฒนาสมรรถนะของมนุษย์โดยใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นทักษะความจำ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) สร้างแรงจูงใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการเรียนรู้ และด้วยศักยภาพของ AI สามารถช่วยมนุษย์ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดได้
ในเซสชั่นนี้ Maes ได้ยกตัวอย่างการใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพและช่วยให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น โดยเป็นผลงานวิจัยจาก MIT Media Lab ห้องปฏิบัติการวิจัยของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งถือสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกมาให้พวกเรารับชมกัน
Memoro เป็นอุปกรณ์สวมใส่ ที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ช่วยจำส่วนตัว’ โดยใช้ไมโครโฟนที่ติดตั้งในตัวเครื่อง บันทึกสิ่งที่ผู้สวมใส่พูด ได้ยิน หรือบทสนทนาในแต่ละวัน และด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำให้มันสามารถอนุมานความต้องการข้อมูลของผู้ใช้งาน ค้นหาข้อมูล และให้ข้อมูลกับผู้ใช้งานได้ทันที
ผู้ใช้สามารถถามข้อมูลเกี่ยวกับบทสนทนาที่ผ่านมากับตัว AI ได้ เหมือนที่เราคุยกับ Siri ของ iPhone ซึ่ง Maes เผยว่าทีมวิจัยฯ ตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะทำให้ Memoro ไม่สร้างความรำคาญหรือรบกวนผู้ที่สวมใส่ โดยเมื่อผู้ใช้ต้องการทราบข้อมูล เพียงใช้คำสั่งเสียงหรือสัมผัสแหวนที่นิ้วมือ
อุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งมีชื่อว่า Mempal พัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตหรืออยู่บ้านคนเดียว โดย Mempal เป็นชุดอุปกรณ์ที่มีหูฟังและกล้องพร้อมระบบ AI ทำให้ไม่ว่าผู้สูงอายุจะทำอะไร กล้องจะบันทึกไว้ พร้อมระบบช่วยจดจำรวมถึงแจ้งเตือนสิ่งที่ผู้สูงอายุทำ
ไม่ว่าจะเป็น วางของไว้ที่ไหน กินยาหรือยัง เปิดแก๊สทิ้งไว้หรือเปล่า ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุที่อาศัยคนเดียวแล้ว ครอบครัวยังอุ่นใจได้มากขึ้น และข้อมูลที่เก็บไว้นั้นก็ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุได้ด้วย
ในแต่ละวันมีข้อมูลมหาศาลที่เราต้องใช้สมองบันทึก จดจำ ประมวลผล และถ่ายทอด Maes เผยว่า MIT Media Lab ได้ทำการค้นคว้ามาสักระยะว่าจะใช้ AI ช่วยให้มนุษย์คิดอย่างลึกซึ้งและมีวิจารณญาณมากขึ้นได้อย่างไรจากข้อมูลที่พวกเขาได้รับ
มีการพัฒนาแว่นตาที่สามารถได้ยินสิ่งที่ผู้สวมใส่ได้ยิน พร้อมค้นหาข้อมูลชุดนั้นและบอกได้ว่า สิ่งที่ผู้สวมใส่ได้ยินนั้นเป็นจริงหรือเท็จ และยังมีอีกเวอร์ชันที่ให้คำอธิบายได้ข้อมูลชุดนั้นถูกหรือผิดอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถาม และไตร่ตรองถึงการพิสูจน์ความเชื่อของตนเองและข้อโต้แย้งของผู้อื่น
โดยจากการทดลองพบว่า เมื่อผู้สวมใส่ได้รับคำแนะนำจาก AI แบบ Real-time พวกเขาเปลี่ยนความเห็นที่มีต่อข้อโต้แย้งได้ตามความเห็นที่ AI ให้ แต่ผู้สวมใส่ก็ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง หากไม่ได้รับคำอธิบาย ว่าสิ่งที่ถูกหรือผิดนั้นมีเหตุผลอะไร
ในการทดลองครั้งที่สอง มีการตั้งสมมติฐานว่าจะเป็นอย่างไรหาก AI หลอกลวงและให้คำแนะนำไม่ดีกับผู้ใช้งาน แต่ให้เหตุผลที่ดูน่าเชื่อถือ ผู้คนจะเปลี่ยนความคิดของพวกเขารึเปล่า ? โดยการใช้พาดหัวข่าว 1,000 เรื่องให้ผู้ทดสอบอ่านและครึ่งหนึ่งเป็นข่าวปลอม พบว่าระบบที่พูดความจริงทำให้มนุษย์มีความแม่นยำมากขึ้นกว่ามนุษย์ที่ไม่ใช้ AI ขณะที่ระบบหลอกลวง ก็ให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือเช่นกัน และลดความแม่นยำของมนุษย์ จึงสรุปได้ว่ามนุษย์พึ่งพา AI มากเกินไป หาก AI ให้ข้อมูลพวกเขาแบบ Real-time
มาสู่การทดลองครั้งที่ 3 เริ่มจากการสร้างระบบ AI ที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการคิดก่อน เมื่อผู้ทดสอบเริ่มคิดเกี่ยวกับพาดหัวข่าวที่อ่านและคำถามที่ได้รับแล้ว จึงค่อยนำ AI มาช่วยให้คำอธิบายว่าพาดหัวข่าวไหนเป็นจริงหรือเท็จ ปรากฎว่ามันช่วยได้
ระบบดังกล่าวใช้วิธีตั้งคำถามแบบโสกราตีส ช่วยให้ผู้ทดสอบคิดวิเคราะห์มากขึ้น ไตร่ตรองก่อนจะใช้คำแนะนำจาก AI
สมมติฐานอีกข้อหนึ่งคือ AI จะสามารถกระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้มากขึ้นได้หรือไม่ MIT Media Lab ได้ทดลองโดยการสร้าง Virtual Character ของ Elon Musk ขึ้นมาแทนอาจารย์ที่สอนออนไลน์ พบว่านักเรียนที่ชื่นชอบ Elon Musk มีแรงกระตุ้นจูงใจอยากเรียนรู้มากกว่า แม้จะรู้ว่านั่นไม่ใช่ของจริง
Maes ยกตัวอย่าง Future You การวิจัยของ ‘พีพี’ พัทน์ ภัทรนุธาพร ที่ทำร่วม Hal Hirschfeld และธนาคารกสิกรไทย เพื่อค้นหาวิธีว่าจะช่วยเยาวชนเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจแต่การสร้างพฤติกรรมระยะสั้น แทนที่จะมุ่งเน้นในระยะยาว
ด้วยการสร้างระบบที่ให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดรูปถ่ายของตัวเอง พร้อมใส่ข้อมูลเป้าหมายชีวิต เพื่อดูว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร ในอีก 30 ปีข้างหน้า พร้อมระบบแชทบอตให้เราคุยกับตัวเราในวัยผู้ใหญ่ได้ด้วย โดยระบบ AI จะให้ข้อมูลแบบละเอียดกับเรา เช่น ถ้าเราเลือกเป็นครูที่กรุงเทพหรือชนบท ชีวิตจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
จากการทดสอบพบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ผู้ใช้งานระบบ Future You มีความวิตกกังวลน้อยลงเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง มีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะทำอะไรเพื่อเป้าหมายในระยะยาว และมีการพัฒนา Future Self-continuity หรือวิธีที่ผู้คนรับรู้ตัวตนในอนาคตว่าเป็นส่วนขยายของตัวตนในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
อีกการทดลองหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การใช้ AI สร้าง Virtual Persona เพื่อช่วยเหลือฝึกและพัฒนาทักษะการบริหารความขัดแย้ง กล่าวคือตัวระบบสามารถจำลองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้พัฒนากลยุทธ์การสื่อสารของตัวเอง
จากการทดลองพบว่าช่วยพัฒนาความความเห็นอกเห็นใจ ความมั่นใจ ความสบายใจ ให้ผู้ร่วมทดลองมากขึ้น หากพวกเขาต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน เช่น การขอขึ้นเงินเดือน เป็นต้น
เราสามารถออกแบบและใช้ AI เพื่อเสริมศักยภาพของผู้คน ช่วยเหลือผู้คน และช่วยให้พวกเขากลายเป็นคนที่พวกเขาอยากเป็นได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด