จาก Genome สู่ Mobile Phone : นวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลในอนาคต | Techsauce

จาก Genome สู่ Mobile Phone : นวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลในอนาคต

สรุป Key Takeaways จากงาน MEGA TECH FORUM 2022 by Techsauce ในหัวข้อ Personalized Healthcare - From the Genome to the Mobile Phone กับ Farid Bidgoli, General Manager ของ Roche ประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา

จะดีกว่าไหม “ถ้ามนุษย์สามารถทำการรักษาได้ตรงจุดแบบเฉพาะบุคคล” จะดีกว่าไหม “ถ้าการเข้าถึงการดูแลทางสุขภาพดีมากขึ้น” จะดีกว่าไหม “ถ้านวัตกรรมสามารถช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้น” และจะดีกว่าไหม “ถ้าค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ได้สูงจนเกินไป” หาคำตอบ และทางออกของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่จะนำเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยให้เกิดแนวทางการรักษาแบบใหม่อย่าง Personalized Healthcare

ประเทศไทย อยู่จุดไหนของการก้าวเข้าสู่ Personalized Healthcare

จากการศึกษาของ FutureProofing Healthcare พบว่า ประเทศไทย มีคะแนนด้านนโยบาย (Policy Context) สูงที่สุดของประเทศในอาเซียน โดยมีการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ทั้งเงินทุน กลยุทธ์และอื่น ๆ แต่ในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยตกไปอยู่ที่อันดับที่ 7 ของการมี Personalized Healthcare เนื่องจาก ถึงแม้ว่าจะมีการออกนโยบายต่าง ๆ มาสนับสนุนมากมาย แต่ในทางปฏิบัติ ประเทศไทยยังไม่ดีพอ ยังไม่สามารถดึงเอานโยบายเหล่านั้นมาใช้ได้จริง

Genome - จุดเริ่มต้นของการสร้าง Personalized Healthcare

ต้องเริ่มต้นรู้จักกันก่อนว่า Genome หรือจีโนมนี้คืออะไร 

Genome คือ สารพันธุกรรม ซึ่งรวมไปถึงดีเอ็นเอทั้งหมดที่มีอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีความแตกต่างกัน ซึ่งมนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างของจีโนมอยู่ที่ประมาณ 0.1% แต่เมื่อมองลึกไปถึงระดับ DNA จะพบว่า ความต่างของจีโนมนี้ ทำให้ DNA ของมนุษย์มีความแตกต่างกันกว่า 3 ล้านจุด และ DNA ที่แตกต่างกันนี้ทำให้มนุษย์มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน

ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับจีโนมนี้ ถูกมองว่า เมื่อมนุษย์จำเป็นจะต้องรักษา การรักษาที่เป็นไปแบบเฉพาะบุคคล การรักษาที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคนจึงควรเกิดขึ้นในโลกของ Healthcare 

และปัจจุบันนี้ในประเทศไทย ก็มีหน่วยงานที่ชื่อว่า Genomics Thailand เป็นหนึ่งในนโยบายของประเทศในการรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลระดับจีโนมของคนไทย เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการประยุกต์เพื่อหาทางรักษาผู้ป่วยแต่ละคนได้ตรงจุด 


ยกตัวอย่างเช่น การประยุกต์ข้อมูลจากการทดสอบเซลล์มะเร็งในผู้ป่วย ผ่านการตรวจจากผลเลือด และเนื้อร้าย โดย Genomics Thailand จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการทำการวิจัยต่อ ไปจนถึงออกแบบการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล และหากประเทศไทยสามารถพัฒนาฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้ทาง Genomics Thailand สามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ได้ ก็จะส่งผลดีอย่างมหาศาลให้กับประเทศ เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้มีผลมาจาก โรคมะเร็งนั้น เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระดับจีโนม หรือในระดับ DNA ดังนั้น เนื้อร้ายของมะเร็งนี้มีโอกาสที่จะสามารถกลายพันธุ์ได้นั่นเอง

Advanced Technology - ตัวช่วยยกระดับ Personalized Healthcare

นอกจากการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ในการทำการวิจัยเพื่อค้นหาแนวทางในการพัฒนาสู่การมี Personalized Healthcare ของแต่ละบุคคลแล้ว การพัฒนาอย่างก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างเช่น AI ก็ได้เข้ามาเป็นตัวช่วยที่ดีให้กับนักวิจัย และแพทย์ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้อย่างแม่นยำ

โดย Farid Bidgoli ได้กล่าวถึง การดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ รวมไปถึง Roche เองในการนำเอา Data จากหลากหลายแหล่ง ทั้ง ข้อมูลจากการวินิจฉัยโรค ข้อมูลจากการทดสอบทางการแพทย์ ไปจนถึง RWD หรือ Real World Data มาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI เพื่อให้ได้ผลไปใช้ในการวิจัยต่อยอด หาทางรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง รวมทั้งหาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น Startup ที่มีชื่อว่า WELALA ที่จะนำข้อมูลระดับ DNA ของแต่ละบุคคลไปวิเคราะห์ เพื่อหาว่า อาหาร การออกกำลังกาย และการดูตัวเองแบบไหนที่เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละคนมากที่สุด โดย WELALA จะร่วมมือกับร้านอาหาร ด้วยการส่งข้อมูลโภชนาการที่แต่ละคนต้องการไปที่ร้านอาหาร และหากเราเข้าไปรับประทานที่ร้านอาหารดังกล่าว อาหารจะเป็นไปตามโภชนาการที่ร่างการเราต้องการ

COVID-19 - ผลกระทบที่ทำให้คนขาดการเข้าถึงการรักษา

การระบาดของ COVID-19 นี้นอกจากจะส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปรักษาระยะห่าง ทำงานทางไกลแบบออนไลน์ ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพในแง่ของการไปเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลอีกด้วย จากการศึกษาของ Roche พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งมากมายที่ตัดสินใจไม่ไปเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 ระบาด ในขณะเดียวกัน WHO เองก็ออกมารายงานว่า 42% ของ 163 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาผู้ป่วยไม่เข้ารับบริการรักษามะเร็ง และ 58% ของประเทศรายได้น้อย กำลังขาดการให้บริการรักษามะเร็ง ซึ่งผลจากการระบาดของ COVID-19 นี้จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3500 รายในช่วงการระบาด หรือเทียบเท่ากับ 60,000 รายต่อปี

ดังนั้นทางเลือกใหม่ของการรักษาอย่าง Telemedicine ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่า ถึงแม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ผู้คนก็จะยังคงใช้ชีวิตตามวิถีใหม่เช่นเดิม ส่งผลให้เกิดทางเลือกของการรักษาที่ต้องนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย

To the Mobile Phone - เก็บข้อมูลผ่านการใช้งานมือถือแบบล้ำยุค หาดัชนีทางชีวภาพบนระบบดิจิทัล

และการจะก้าวเข้าสู่อีกขั้นของการออกแบบ Personalized Healthcare สำหรับบุคคลนั้น ได้มีการคิดค้น ออกแบบการเก็บข้อมูล การตรวจวัดสุขภาพผ่านการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชัน การสวมใส่อุปกรณ์ อย่างเช่น Smart Watch รวมไปถึงการเล่นเกม ซึ่งสิ่งนี้ เรียกว่าเป็น Digital Biomarkers หรือ การบ่งชี้ดัชนีทางชีวภาพแบบดิจิทัล

จากรูปแบบการเข้ารับการรักษาแบบเก่า ที่ผู้ป่วยจะต้องมีอาการก่อนถึงจะเข้าไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และกลับมารักษาตัวที่บ้าน ก่อนที่จะกลับเข้าโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลา เสียค่าเดินทาง และเสียค่ารักษาจำนวนมาก ดังนั้น การออกแบบให้ผู้ป่วยสามารถรับรู้อาการเบื้องต้นผ่านโทรศัพท์มือถือ (บางครั้งอาจจะพบเจออาการที่ไม่คาดคิดมาก่อน) และส่งข้อมูลเหล่านี้ตรงถึงมือคุณหมอ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง

ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน ที่ช่วยในการวัดผลการมองเห็น โดยเมื่อทำการทดสอบ ผลดังกล่าวจะส่งถึงแพทย์เพื่อวินิจฉัยซ้ำ และแพทย์จะมีการออกแบบการรักษาให้ นอกจากนี้ ยังมีการวัดผ่านแว่น VR ที่จะผลให้คุณหมอแบบอัตโนมัติเช่นกัน ซึ่งแว่น VR นี้คาดว่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้

โดยจากการศึกษา พบว่า หากมีการรักษาที่ทันท่วงที ผ่าน Digital Biomarkers นี้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมได้ถึง 25% และช่วยให้พวกเขาได้รับการรักษาที่ทันเวลา นอกจากนี้ การรักษาในรูปแบบนี้ยังส่งผลดี โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทั้งลดความเสี่ยงของแพทย์และผู้ป่วยในการใกล้ชิดกัน และยังรวมไปถึงความสะดวกรวดเร็วในการวินิจฉัย ที่จะทำให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาไม่ต้องเสียเวลา และค่ารักษาในจำนวนมาก


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...