Decarbonization เทรนด์แห่งอนาคต ต่างธุรกิจ เป้าหมายเดียว | Techsauce

Decarbonization เทรนด์แห่งอนาคต ต่างธุรกิจ เป้าหมายเดียว

เมื่อการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน แล้วภาคธุรกิจจะเดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจได้อย่างไร ?

บทความนี้เป็นสรุปสาระสำคัญจากงาน Decarbonization: The Huge Upcoming S-Curve มุ่งสู่ S-Curve ธุรกิจใหม่ ไร้คาร์บอน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Techsauce และ PTT  ExpresSo ที่มีเป้าหมายในการลงทุนในนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในยุคที่โลกเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล

ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก โดยเป็นผลกระทบมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอน หรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงยานพาหนะทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมถอยลง ซึ่งทาง PTT  ExpresSo ได้มองเห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ และวิธีแก้ปัญหาในการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ รวมถึงยังเป็นช่องทางในการสร้างธุรกิจแบบใหม่ ภายใต้แนวคิดการร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หรือ Decarbonization 

ใน Virtual Event ครั้งนี้ เราได้มีโอกาสรับฟังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่าง Speakers จากองค์กรชั้นนำระดับประเทศจากหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ 

  • ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ PTT Public Company Limited
  • คุณนิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships, PTT ExpresSo

  • ดร.วิชัย ณรงค์วณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

  • คุณวิสุทธ จงเจริญกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน)

รับชมย้อนหลังได้ที่นี่ LINK

Decarbonization สำคัญอย่างไร?

ในช่วงการกล่าวเปิดงาน ภายใต้หัวข้อ Decarbonization, Why and How ทิศทางสำคัญเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ PTT Public Company Limited ได้เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันของโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส ภายใน 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าถ้ายังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหา อุณหภูมิโลกก็อาจเพิ่มขึ้นถึง 2-5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ซึ่งเป็นระดับที่โลกเราไม่สามารถรับได้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เกิดจากการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 2 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ถ้าหากยังใช้ชีวิตโดยไร้วิธีการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตภาวะโลกร้อนร้ายแรง โดยทาง UNEP (โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ) ตั้งเป้าในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50% ภายในปี 2030 และรวมถึงหลายประเทศที่ให้ปฏิญาณร่วมกันในการประชุม COP26 เพื่อตั้งเป้าหมายในการเป็น Carbon Neutrality ภายใน 2050 นับว่าเป็นวาระสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

ทำไมประเทศไทยถึงควรให้ความสำคัญกับ Decarbonization?

“ประเทศไทยไม่ได้อยากเป็นเพียงแค่ Good Citizen”

การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่การเป็น Good Citizen แต่ยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงลดผลกระทบทางด้านเกษตร ลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมระดับไม่ให้สูงหรือแห้งแล้งจนเกินไป อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทย

ทาง PTT Group ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านพลังงานมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกิด Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และเป็น Net Zero ภายในปี 2060  รวมถึงการมุ่งเน้นในการเป็นธุรกิจใหม่และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นการขับเคลื่อนทุกชีวิตโดยใช้พลังงานของอนาคตตามวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัท 

โดยมีการลงทุนในด้านของพลังงานทดแทน การสร้างระบบ EV Value Chain การสร้างระบบกักเก็บพลังงาน และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพลังงานจาก Hydrogen รวมไปถึงการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหลุมขุดเจาะ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต, Advanced Material, AI & Robotics ,การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, การลดการปล่อยของเสียออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ, Logistics, Mobility & Lifestyle ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ที่ PTT Group ริเริ่มและทำแล้วนั้น แสดงให้เห็นว่า Decarbonization ไม่ใช่แค่การสร้างประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการพัฒนานวัตกรรมและวิถีชีวิตของคนในประเทศไทย ไปสู่สังคมแห่งคาร์บอนต่ำและเติบโตยั่งยืน

Decarbonization จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? 

 ต่อมาในช่วง Keynote Speech ภายใต้หัวข้อ ExpresSing our Solutions สรรค์สร้างทางแก้ด้วย 2 หัวใจหลัก คุณนิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships, PTT ExpresSo พูดถึงสิ่งที่ PTT ExpresSo ดำเนินการอยู่ และการขยายเข้าไปในองค์การภาคเอกชน เพื่อที่จะเร่งให้เกิด Decarbonization ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก รวมไปถึงการคว้าโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ

2 หัวใจหลัก ที่จะทำให้เกิด Decarbonization

เบื้องต้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับ Decarbonization หรือ Sustainability จะเห็นคำว่า Green Premium ซึ่งเป็นต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นเมื่อมีการดำเนินการเกี่ยวกับการรักษ์โลก ไม่ว่าจะเป็นมุมของผู้ผลิตที่จะต้องลงทุนสูงขึ้น เพื่อที่จะให้เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือมุมของผู้บริโภคที่หากต้องการเลือกใช้สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในราคาสูง ซึ่งในอนาคตธุรกิจจะเริ่มทยอยกำจัด Green Premium (ต้นทุนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบหรือพลังงานสะอาดที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น) จากการคิดค้น Technology หรือ Solution ใหม่ ๆ ที่ใช้แก้ปัญหาได้โดยไม่เพิ่มต้นทุน

ซึ่งการทำแบบนี้ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ ที่แต่ละองค์กรสร้างการแข่งขันเพื่อให้เป็นเจ้าตลาดในการทำให้เป็น Net-Zero ซึ่งนวัตกรรม ถือว่าเป็นใจความสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถเอาชนะในการเเข่งขันสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ  Race to Net-Zero

2 หัวใจหลักสำคัญที่จะให้เกิด Decarbonization คือ Technology และ Collaboration 

Technology คือตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนในการกำจัด Green Premium โดยการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ  ซึ่งการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะทำให้หลากหลายองค์กร เจอโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ 

มากกว่านั้น Decarbonization ยังเปรียบเหมือน Digitization หรือการทำให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล ที่เป็นเทรนด์ที่นิยมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง Digitization ไม่ได้มีผลกระทบเเค่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่สามารถส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม และ Decarbonization ก็จะเป็นสิ่งที่มีผลกับทุกๆอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้ ในลักษณะเดียวกับ Digitization

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิด  Decarbonization คือ  Collaboration หรือความร่วมมือ ที่ผ่านมาองค์กรขนาดใหญ่ที่มี Tech Platform เป็นของตัวเอง สามารถควบคุม Value Chain ได้ทั้งหมด คัดเลือกซัพพลายเออร์ได้ตามคุณสมบัติ และการทำงานบน Value Chain ง่ายต่อการเชื่อมต่อโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี 

แต่สำหรับ Decarbonization ตนกลับมองว่าวิธีการทำงานดังกล่าวจะเปลี่ยนไป เพราะการที่องค์กรแยกระบบทำงานไม่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญ หรือทรัพยากรเข้ามาผนวกร่วมมือกัน ก็จะทำให้ Decarbonization ไม่เกิดขึ้นเร็วตามที่คาดหวัง

รวมไปถึงการที่องค์กรขนาดใหญ่ควรที่จะกำหนดแผนการทำ Decarbonization ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจะสามารถสร้างประโยชน์ทั้งด้านนโยบายสนับสนุนที่ออกมาจากภาครัฐ การเชื่อมต่อ Value Chain แบบที่มีรูปธรรม  และการลงทุนที่มีความชัดเจนโดยที่รู้ว่าจะไปลงทุนกับสินทรัพย์ประเภทไหน

ดังนั้น PTT Group ต้องการความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรเพื่อที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยทาง PTT Group เป็นองค์กรแรกที่ก้าวไปก่อน เพื่อช่วยลดความหวาดกลัวในการตัดสินการลงทุน Decarbonization และคำมั่นสัญญาที่จะให้องค์กรอื่นเข้ามาร่วมการทำ Decarbonization กับ PTT Group

ในมุมของ PTT ExpresSo กำลังพัฒนาโครงการเพื่อที่จะเป็น Decarbonization Accelerator ทำการเร่งการลดคาร์บอน โดยจะขับเคลื่อน Technology ที่เหมาะสมในการสร้าง Decarbonization ด้วย Venture Capital Activity  ที่ทาง Venture Capital จะบ่งชี้ได้ว่า Technology ที่สมควรเป็น Winner นำมาปรับใช้ในประเทศ เพื่อที่จะมาขับเคลื่อนนวัตกรรม

ส่วนด้าน Collaboration องค์กรก็มีความต้องการที่จะเชิญองค์กรที่หลากหลายเข้าร่วม Decarbonization Accelerator พูดคุยถึงเป้าหมายหรือไอเดียในการสร้าง Decarbonization ของแต่ละองค์กร เพื่อชี้หาความชำนาญหรือทรัพยากรที่แตกต่าง และสังเกตบริบทของประเทศไทยว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสพิเศษในธุรกิจ Decarbonization โดยทาง PTT ExpresSo จะทำหน้าที่คล้ายกับ Management Consulting  แนะนำโอกาสทางธุรกิจ บ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยควรมีธุรกิจประเภทไหน และองค์กรที่หลากหลายควรมาร่วมมือกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์กร และประเทศไทย เพื่อสร้าง New S-Curve ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเมื่อมีการรวมตัวขององค์กรต่างๆ ผ่าน Decarbonization Accelerator แล้ว จะทำให้เกิดอุปสงค์ (Demand) ในการทำ Decarbonization เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนของตลาดที่จะช่วยดึงดูดสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนจากต่างประเทศ (Foreign decarbonization startups) มาในประเทศไทยได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายระยะสั้นของ PTT ExpresSo ที่มุ่งเป้าจะดึงดูดสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้นถึง 5 เท่าภายในปี 2025 และในขณะเดียวกัน ก็คาดการณ์ว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการตั้งสตาร์ทอัพท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอน (Local decarbonization startups) ให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 5 เท่าภายในปี 2025 ได้เช่นเดียวกัน 

รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นว่าสามารถนำเป้าหมายเหล่านี้ไปใช้ได้จริง ทั้งยังมีเป้าให้องค์กรที่เป็นส่วนร่วมใน Decarbonization Accelerator นี้ เป็นองค์กรที่มี GDP นับรวมมากกว่า 25% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถขับเคลื่อนไปได้ในระดับประเทศ

PTT กับบทบาทการเป็นผู้นำเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน

คุณนิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships, PTT ExpresSo ได้กล่าวถึงบทบาทและเหตุผลที่ PTT Group จะเข้ามาเป็นผู้นำในการสานต่อเป้าหมายดังกล่าว เพราะว่า PTT Group เอง ได้มีการทำและพัฒนาในด้านนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะด้าน Future Energy ทำให้มีความเชี่ยวชาญสูง 

นอกจากนั้น  PTT ExpresSo ก็ยังมีประสบการณ์ในด้าน Cleantech กว่า 5 ปีในไทย นอกจากนั้นกิจกรรมการลงทุนมากกว่า 90 % ก็ยังอยู่ในอุตสาหกรรมด้าน Cleantech ทั้งหมด และยังมีความสัมพันธ์อันดีที่เชื่อมโยงกับ Innovation Ecosystem อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรจากภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ Startup และท้ายที่สุด PTT ExpresSo  มีการริเริ่มทำเกี่ยวกับ Decarbonization อยู่เป็นทุนเดิม 

ท้ายที่สุดนั้นคุณนิชฌาน กล่าวว่า หากองค์กรไหน สนใจที่จะเข้ามาร่วมกับ PTT ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น 

  • ทีมของ PTT จะเข้าไปพูดคุยให้การแนะนำว่าองค์กรถึงการวางกลยุทธ์ Decarbonization    

  • แนะนำและแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับองค์กรนั้นๆ 

  • นำสมาชิกของ Trial Service มาคุยกันเพื่อหาโอกาสร่วมมือ และต่อยอดธุรกิจ Decarbonization ขนาดใหญ่ได้ในอนาคต 

โดยทั้งหมดที่กล่าวไปไม่มีค่าใช้จ่าย และทาง PTT จะปกป้องความลับทางธุรกิจของธุรกิจที่จะมาร่วมมือด้วยกัน ด้วยการให้เซ็นสัญญาร่วมกันแบบ NDA (ความตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล) ทำให้เชื่อมั่นในการร่วมมือกันได้อย่างเต็มที่

Exclusive Roundtable: Accelerating decarbonization in Thailand

ในเซสชั่นสุดท้ายนี้จัดขึ้นในรูปแบบ Roundtable ภายใต้หัวข้อ Accelerating Decarbonization in Thailand โอกาสธุรกิจจากการลดการปล่อยคาร์บอน เริ่มวันนี้ด้วยกัน  ที่เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ และแนวทางของผู้บริการจากบริษัทชั้นนำในภาคธุรกิจได้แก่

  • ดร.วิชัย ณรงค์วณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

  • คุณนิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships, PTT ExpresSo 

  • คุณวิสุทธ จงเจริญกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มธุกรกิจทรัพยากรหมุนเวียน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 

ภาพรวมของ Decarbonization ในประเทศไทย

คุณนิชฌานเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของการลดการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบัน ซึ่งตนรู้สึกดีใจที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากขึ้น การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

แต่ความท้าทายสำคัญคือ เราจะทำให้ธุรกิจ Decarbonization ให้เกิดเป็นวงกว้างได้ยังไง โดยสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดคือ เทคโนโลยีและการร่วมมือกันของแต่ละองค์กร และต้องเริ่มจากการที่ทดลองในสเกลเล็กๆ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม และเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปถึงการเป็นผู้นำทางธุรกิจด้านนี้

สำหรับคุณวิสุทธกล่าวว่า ในมุมมองธุรกิจการก่อสร้าง มีการตื่นตัวมาสักพัก โดยมีองค์กรรัฐช่วยตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตอนนี้สามารถทำได้ถึง 3 แสนตันต่อปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 และในปี 2565 มีความท้าทายใหม่เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายใหม่คือ การลดคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันต่อปีให้ได้ ซึ่งเป็นการร่วมมือขององค์กรธุรกิจ รวมถึงองค์กรราชการในการผลักดันของเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังร่วมมือในการลดพลังงานกับองค์กรนานาชาติอีกด้วย

ในส่วนของดร.วิชัย ได้เน้นย้ำว่าประเด็นเรื่อง Decarbonization เป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจธนาคารตื่นตัวมาสักพักแล้ว โดยมีการคุยกับนักลงทุนก่อน ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารนั้นถือเป็นประเด็นสำคัญ 

โดยหากขยายความให้เข้าใจมากขึ้นว่ากลุ่มธนาคารจะเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร ดร.วิชัย อธิบายว่า การที่ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจต่าง ๆ และธุรกิจของ ลูกค้าเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการทำสินเชื่อกับธนาคาร

โดยหลังจากการที่ได้มีการค้นคว้าและวิจัยในเชิงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคาร สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 

ส่วนแรก: การปล่อยจากธนาคารเอง จากกระบวนการดำเนินงานภายในต่างๆ เช่น การใช้รถยนต์ เป็นต้น 

ส่วนที่สอง: การปล่อยจากลูกค้าที่ทำสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าส่วนแรกถึง 700 เท่า 

ซึ่งได้เริ่มคิดหาวิธีการจัดการ โดยจะมุ่งเน้นหาว่าธุรกิจของลูกค้าแบบไหนที่มีการปล่อยก๊าซมากที่สุดก่อน ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับไฟฟ้าและการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ทางธนาคารจะให้การแก้ไขในส่วนนี้ก่อน โดยการที่หาทางเพื่อเข้าร่วมทำงานกับลูกค้ากลุ่มเหล่านี้ในการ Decarbonization ให้ไปเป็นไปตามทิศทางกลยุทธ์ของธุรกิจลูกค้า นอกจากนั้นธนาคารยังมีแผนปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในหมวดหมู่ Sustainability 

ธุรกิจพลังงานกับบทบาทสู่เป้าหมาย Net Zero

คุณนิชฌานกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ว่าธุรกิจพลังงานนั้นเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบให้กับโลกเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสในการลดการปล่อยคาร์บอนในบรรยากาศได้เช่นกัน เช่น เริ่มการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานใหม่ โดยในขั้นแรกเพิ่มคุณภาพในการคัดกรอง อุปกรณ์ และการผลักดันในเรื่องใช้พลังงานฟอสซิลที่สะอาดให้มากขึ้น  การลงทุนสร้างแผงโซลาร์เซลล์ทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นการทดแทนพลังงานฟอสซิลในอนาคต อีกส่วนคือ Electric Vehicle หรือรถยนต์ไฟฟ้า  โดยรัฐบาลให้การผลักดัน EV transition ของ PTT ให้คนมาใช้รถ EV เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีการริเริ่มที่จะตั้งฐานการผลิตรถ EV ในไทยให้เป็นฐานการผลิตเพื่อเป็นการกอบกู้เศรษฐกิจ และยังมีการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับ EV หรือสเกลอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนามุมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานใน ไม่ว่าจะธุรกิจ Decarbonize รถโลจิสติก และอื่นๆ เพื่อขยายไปในทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับ Decarbonization ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง  

แผนของ SCG กับเป้าหมาย Net Zero 

คุณวิสุทธกล่าวว่ากลุ่มธุรกิจผู้ผลิตซีเมนต์และคอนกรีตได้ทำ Net Zero Pathway ไว้อย่างชัดเจน และได้นำไปเสนอในองค์กรนานาชาติแล้ว โดยถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆ ที่มีแนวทางชัดเจน 

เช่นเดียวกัน SCG เองก็ได้มีแผนที่ตั้งใจจะทำให้สอดคล้องกัน โดยมีเป้าหมายการลดคาร์บอนที่คาดว่าจะทำให้ได้ภายในปี 2050 และมีการตั้งเป้าหมายระยะกลางที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 

ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นจะดำเนินนโยบายตาม ESG ไม่ว่าจะเป็น Net Zero การทำธุรกิจแบบ Go Green เพื่อตอบโจทย์ Low carbon economy การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจเพื่อให้ไปทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ธนาคาร เป็นต้น โดยคุณวิสุทธได้ขยายความในแต่ละเป้าหมาย ดังนี้ 

  • Net Zero: ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและการวัตถุดิบที่ดีมากขึ้น สืบเนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกลและทันสมัย
  • การใช้พลังงานสะอาด : มีการนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลไปมากแล้ว เช่น เปลี่ยนรถโม่ปูน หรือรถที่ใช้ในเหมืองให้เป็นรถ  EV
  • Low carbon product: มีการลดการใช้วัตถุดิบที่ก่อให้เกิดคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดให้ได้ 1 ล้านตัน เช่น ใช้ปูนไฮโดรลิกแทนเพื่อลดการเผา
  • Carbon capture: มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงต้องหาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการลดการใช้ เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
  • Natural climate solution: การปลูกป่าทั้งบนบกและในทะเล และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็น Low carbon footprint

ความคิดเห็นต่อเเผนงานของ PTT ExpresSo

ดร.วิชัยกล่าวว่าทิศทางของ PTT ExpresSo ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น มีการปรับเปลี่ยนโดยใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องการใช้พลังงานจากฟอสซิล ถ้าหากไม่สามารถเลี่ยงการใช้ฟอสซิลได้ก็ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ มาช่วยและต้องคุ้มกับค่าใช้จ่าย เพราะค่อนข้างมีต้นทุนสูงและต้องมีการทดลองก่อน เพื่อให้มีการลดการใช้ค่าใช้จ่าย รวมทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จึงต้องขอความร่วมมือกันและกันในการทำงาน ก่อนที่จะเกิด Decarbonization ต้องมีการวัด และมีแผนในการผลักดันพลังงาน Renewable ในอนาคต จะต้องดูเส้น Reference ระหว่างความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อพลังงานที่มีการผลิตออกมา ค่อย ๆ ลดลงให้ได้ และการที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ต้องมีการใช้พลังงาน ทางธนาคารก็จะมีการทำกราฟเพื่อดูก่อนว่าหากปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ทางธุรกิจจะช่วยลดการใช้พลังงานหรือไม่ให้เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ธนาคารจะช่วยประเมินว่าในอนาคต ธุรกิจนั้นจะมีพลังงาน Renewable มากแค่ไหน เพื่อจะเป็นกฎเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร จึงเป็นวิธีหนึ่งในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคาร

คุณวิสุทธแสดงความเห็นว่าการร่วมมือเป็นหนึ่งองค์ประกอบของ ESG ที่ SCG ใช้ดำเนินการ ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้เพราะต้องมีการใช้เทคโนโลยีและมีการใช้เงินทุนที่ค่อนข้างสูง จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรมาช่วยในการพัฒนาให้เร็วขึ้น โดยยกตัวอย่างจากกลุ่มผู้ผลิตซีเมนต์มีความในการพัฒนา Carbon Capture แต่มากกว่านั้นก็จะมีเรื่อง Carbon Utilization โดยการนำคาร์บอนมาทำเป็นคอนกรีตและสามารถเพิ่มความเเข็งเเรงของคอนกรีต แต่ก็ยังไม่สามารถจับคาร์บอนได้หมด อาจมีบางส่วนหลงเหลือ ทาง SCG ก็ต้องการธุรกิจที่มีการใช้คาร์บอนมาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการใช้งานได้ทั้งหมด หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้ประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการแข่งขันของธุรกิจได้ทั้งในประเทศและระดับโลกอย่างยั่งยืน

มุมมองการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

คุณนิชฌานได้แสดงความเห็นว่า เเรงขับเคลื่อนอันดับแรกมาจากภาคประชาชนที่สนใจในเรื่องนี้ โดยแต่ละคนจะเริ่มจากการบริโภคสิ่งที่ลดคาร์บอน เพื่อสนับสนุนให้องค์กรให้เข้าใกล้เป้าหมายของการ Decarbonization ส่วนเเรงขับเคลื่อนที่สองคือนโยบาย ซึ่งในอนาคตเทรนด์ที่จะทำให้เกิดสินค้าที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมคือการขับเคลื่อนจากองค์กรซึ่งเป็นโอกาสในการสร้าง S-Curve และลงทุนในการสร้างธุรกิจใหม่ขององค์การให้ยั่งยืน ดังนั้น การ Decarbonization จะเป็นการเริ่มต้นจาก Private Sector มากขึ้น

คุณวิสุทธได้เเสดงความเห็นเสริมว่าในอดีต ผู้บริโภคมักจะไม่ค่อยลงทุนในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเพราะผู้บริโภคจะรู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้สินค้ามากกว่า 10% ดังนั้น การสร้างความรับรู้ต่อผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกใช้และสร้างให้มาตรฐานให้กับสิ่งเหล่านี้ ส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและให้มาให้ความสนใจกับการลดคาร์บอนได้ 

ดร.วิชัยกล่าวว่า มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์รักษ์โลก โดยมีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ประมาณ 75% เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น 20% สำหรับผลิตภัณฑ์รักษ์โลก แต่ทั้งนี้ ผู้บริโภคก็ต้องคำนึงถึงความสามารถในการซื้อหรือค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน เพราะถ้าหากเป็นสินค้า Green โดยมีราคาที่เหมาะสม ทางผู้บริโภคก็เต็มใจที่จะอุดหนุนสินค้านั้น

จับตาธุรกิจไทย ใครจะเป็นผู้ริเริ่มลดคาร์บอน

คุณนิชฌานได้ยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจที่จะสามารถเป็นกลุ่มผู้ริเริ่มการทำธุรกิจแบบไร้คาร์บอน เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะเป็นธุรกิจ agriculture (ภาคเกษตรกรรม) ในประเทศไทย เพราะเริ่มมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านนี้บ้างแล้ว เช่น ธุรกิจ BioChar การใช้พลังงานจากกากถ่าน ถ้านำกากพวกนี้ไปใส่ไว้ในดินก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร รวมทั้งช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย

ธนาคารจะได้อะไรจาก Carbon Credit หรือการลด Carbon Footprint

ดร.วิชัยกล่าวว่า Carbon Credit จะเป็นสินทรัพย์ของลูกค้าได้ สามารถนำไปเทรดในตลาดได้เพื่อเป็นการลดคาร์บอนได้ จึงเป็นตลาดที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ และหากมีการพัฒนาในตลาดมากขึ้นจนสามารถเทรดได้ในระดับต่างประเทศ ก็คงจะทำให้เป็นสินทรัพย์ที่มูลค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ได้

สำหรับคุณวิสุทธเห็นว่าการลด Carbon Footprint เป็นการช่วยทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะการที่ธุรกิจก่อสร้างมีการปล่อยคาร์บอนในจำนวนมาก จะส่งผลเสียได้ จึงต้องมีการขอความร่วมมือจากธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากการปล่อยคาร์บอนได้ และต้องยกระดับเพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืนไปได้ในอนาคต ส่วน Carbon Credit ถ้ามีกลไกที่ชัดเจน จะเกิดการสนับสนุนที่มีธุรกิจที่เอื้อต่อการทำ Carbon Credit ทำให้เกิดธุรกิจแบบใหม่มากขึ้นในลักษณะนี้

และสุดท้าย คุณนิชฌานได้กล่าวถึงธุรกิจใหม่ของ ExpresSo ที่มีการผลิตพลังงานและนำพลังงานเหล่านั้นไปให้องค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการมาเป็นลูกค้า และการนำ Carbon Credit นี้ก็นำมา offset กับ Carbon Emissions โดยมีชื่อว่า ReAcc เเพลตฟอร์มซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบบล็อกเชน

และสุดท้ายอยากขอเชิญชวนผู้อ่านที่สนใจให้ติดต่อพูดคุยโดยตรงกับทาง PTT ExpresSo หรือติดตามข่าวสารน่ารู้เกี่ยวกับ Decarbonization และ Innovation อื่นๆ ผ่านทาง https://www.facebook.com/expresso.ptt

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...