ควอมตัมคอมพิวติ้งกับการปฏิวัติการเงิน โอกาสทอง หรือหายนะ ? ส่องแนวคิดจาก HSBC, Visa และผู้เชี่ยวชาญ | Techsauce

ควอมตัมคอมพิวติ้งกับการปฏิวัติการเงิน โอกาสทอง หรือหายนะ ? ส่องแนวคิดจาก HSBC, Visa และผู้เชี่ยวชาญ

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในตอนนี้ควอนคัมกำลังมีบทบาทสำคัญในทุกวงการแม้กระทั่งวงการเงินที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ผ่านงาน Singapore Fintech Festival 2024 โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาได้ร่วมแบ่งปันมุมมอง นำโดย Steve Suarez จาก HorizonX พร้อมด้วย Mary Ann Francis จาก Global Payments & Strategic Initiatives Advisory, Rajat Taneja จาก Visa และ Colin Bell จาก HSBC

ควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) คืออะไร ?

Rajat Taneja อธิบายว่า ควอนตัมคอมพิวติ้ง ใช้หลักการของฟิสิกส์ควอนตัม ต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปที่ใช้บิตเป็นหน่วยข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งเก็บข้อมูลเป็น 0 หรือ 1 แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์ใช้’ควอนตัมบิต’ (Qubit) ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลเป็น 0 และ 1 ได้พร้อมกัน ทำให้มีพลังการประมวลผลแบบขนานมหาศาล

ทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน เช่น การจำลองโมเลกุลยา การออกแบบวัสดุใหม่ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง รวมถึงการปฏิวัติวงการบริการทางการเงิน

แล้วทำไมอุตสาหกรรมการเงิน ถึงสนใจควอนตัมคอมพิวติ้ง?

Colin Bell ชี้ให้เห็นถึงสองด้านสำคัญ คือ โอกาส และภัยคุกคาม

โอกาสของควอนตัมในอุตสาหกรรมการเงิน

ควอนตัมคอมพิวติ้งช่วยแก้ปัญหาที่มีตัวแปรซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจจับการฉ้อโกง โดย Colin Bell ยกตัวอย่างการนำควอนตัมคอมพิวติ้งมาใช้พัฒนาอัลกอริทึมตรวจจับการฉ้อโกงที่แม่นยำยิ่งขึ้น ลดทั้งโอกาสในการตรวจจับผิดพลาดและเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า 

Mary Ann Francis เสริมว่า ควอนตัมคอมพิวติ้งมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ การชำระเงิน และการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคของการชำระเงินแบบเรียลไทม์

ภัยคุกคามของควอนตัมในอุตสาหกรรมการเงิน

Colin Bell บอกว่า อัลกอริทึมของ Shor (Shor’s Algorithm) ที่คิดค้นขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 แสดงให้เห็นว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถถอดรหัสระบบเข้ารหัสข้อมูลในปัจจุบันได้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความปลอดภัยของข้อมูลทางการเงิน 

ส่งผลให้ทาง HSBC จำเป็นต้องเร่งหาวิธีรับมือกับภัยคุกคามนี้ เช่นการทดสอบ Post-Quantum Cryptography (PQC) ซึ่งเป็นอัลกอริทึมการเข้ารหัสที่เชื่อว่าสามารถต้านทานการโจมตีจากควอนตัมคอมพิวเตอร์ และการสำรวจเทคโนโลยี Quantum Key Distribution (QKD) เพื่อสร้างช่องทางการสื่อสารที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น 

โดย Mary Ann Francis เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวติ้งให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการเงิน บริษัทเทคโนโลยี และหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อพัฒนามาตรฐานและแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในยุคควอนตัม

เมื่อไหร่ควอนตัมคอมพิวติ้งจะมา ? 

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องว่า แม้จะยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่การเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นสิ่งสำคัญ Colin Bell แนะนำให้เริ่มวางกลยุทธ์ พัฒนาบุคลากร และสร้างความร่วมมือ เพื่อให้พร้อมรับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เมื่อถึงเวลา 

Rajat Taneja เปรียบเทียบการพัฒนาของควอนตัมคอมพิวติ้งกับ AI ซึ่งค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวติ้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน

ควอนตัมคอมพิวติ้งคืออนาคต และอนาคตนั้นกำลังมาถึงเร็วกว่าที่เราคิด

ข้อมูลจาก : งาน Singapore Fintech Festival 2024 หัวข้อ The next tech frontier is here: Impact of quantum tech on financial services today

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...