ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ขณะที่งานกลุ่มอาชีพ Blue-collar กำลังค่อย ๆ เสียอำนาจให้กับโลกโลกาภิวัฒน์และระบบอัตโนมัติที่เข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้ชีวิตบัณฑิตจบใหม่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกต่อไป งานส่วนใหญ่ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติไม่ก็กลายเป็นทักษะที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็เพิ่มมูลค่าให้งานที่ต้องใช้กระบวนการคิดซับซ้อนซึ่งมักเป็นงานของบัณฑิตปริญญาตรีหรือสูงกว่า ในอนาคตอันใกล้การมีดีกรีปริญญายังสำคัญอยู่หรือไม่?
มาร์ติน ฟอร์ด (Martin Ford) ผู้ชนะรางวัลหนังสือธุรกิจแห่งปี 2015 จาก Financial Times & McKinsey Business, ผู้เขียนหนังสือขายดีติดอันดับของ The New York Times, Top Business Book 2015 จากนิตยสาร Forbes เขาได้เผยคำตอบของอนาคตที่หลายคนข้องใจ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะพามนุษย์ไปอยู่ในจุดไหน? หุ่นยนต์จะมาแย่งงานเราไหม? เราจะมีวิธีเตรียมตัวรับมืออย่างไร? ทั้งหมดนี้อยู่ใน 'Rise of the Robots' หนังสือที่รวบรวมข้อมูล บทวิเคราะห์ และชุดความคิด เพื่อคนที่พร้อมก้าวไปยังโลกอนาคตอย่างแท้จริง
ใครก็ตามที่ต้องการก้าวเข้ามาเป็นชนชั้นกลางจะต้องมีการศึกษาอย่างน้อยในระดับปริญญาตรี อย่างไรก็ตามในอนาคตชีวิตของผู้ที่มีการศึกษาสูงก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นกัน เทคโนโลยีจะก้าวล้ำกวาดล้างอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝนอย่างยาวนาน ไม่เว้นแม้กระทั่งอาชีพทนาย นักรังสีวิทยา นักออกแบบซอฟต์แวร์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่บัณฑิตจบใหม่ต้องมีทักษะในการเอาตัวรอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทักษะในคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา การมีความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีม อีกทั้งพร้อมรับทักษะใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ความสามารถของหุ่นยนต์นับวันมีแต่จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แทบทุกอาชีพที่ทำงานส่งรับข้อมูลโดยไม่ยึดกับสถานที่ หรือไม่ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว ต่างเสี่ยงต่อการย้ายไปต่างแดน อีกทั้งเสี่ยงต่อการแย่งงานจากระบบอัตโนมัติ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วกับพนักงานคอลเซ็นเตอร์ที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีตอบรับเสียงอัตโนมัติ
การที่หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน และระบบคมนาคมที่พัฒนา ทำให้การเกิดการ Offshoring งานจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังจีน อินเดีย ลุกลามไปยังอาชีพ White-Collar มากขึ้น ไม่เพียงแต่คนทำงานต้องเผชิญกับความท้าทายด้านค่าแรงเท่านั้น ยังรวมไปถึงความสามารถด้านความรู้คิดด้วย จากสถิติชี้ว่า ประชากรจีนและอินเดียมีจำนวนคนฉลาดมากกว่าในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การไร้ทักษะภาษาอังกฤษและภาษายุโรปอื่น ๆ ของคนจีนเป็นอุปสรรคสำคัญที่กั้นไม่ให้คนที่มีทักษะสูงเข้าไปทำงานในต่างแดน หากในอีกไม่กี่ปีมี 'ระบบแปลภาษาสากล' ที่สามารถใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ ความเสี่ยงของการตกงานของแรงงานคอปกขาวในหลายประเทศทั่วโลกก็ยิ่งรุนแรงขึ้น สุดท้ายแล้วคนที่ฉลาดที่สุดก็จะได้เปรียบมาก เพราะพวกเขาจะมองไปไกลกว่าประเทศของตน
งานที่ดูเหมือนจำเป็นในการใช้ทักษะมนุษย์ อย่างด้านความคิดสร้างสรรค์นั้นก็ไม่รอดเช่นกัน ได้มีการพัฒนาทักษะนี้ในระบบอัลกอริธึมมากขึ้น เช่น การทำ Genetic Programming หรือการโปรแกรมให้เขียนโค้ดสลับไปมาเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ แบบไร้ขีดจำกัด การให้คอมพิวเตอร์ตรวจเรียงความของเด็กมหาวิทยาลัย หรือให้ลองแต่งเพลง เขียนภาพ Abstract และเขียนบทความ ซึ่งบางครั้งผลลัพธ์ที่ได้มันก็สามารถทำได้ดีกว่าผลงานที่มนุษย์ผลิตเสียอีก ฟอร์ดยังระบุอีกว่า ภายในหนึ่งทศวรรษ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของข่าวและบทความต่าง ๆ จะถูกเขียนโดยคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีที่การสอนและการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนดิจิตัล การเรียนรู้ร่วมกันในโลกออนไลน์ เทคโนโลยี VR และ AI ที่ได้เข้ามามีผลต่อระบบการเรียนการสอนแบบห้องเรียนทั่วโลกและจะมีมากขึ้นไปอีกในอนาคต
อินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิธีการรับข้อมูลข่าวสารช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการเรียนรู้ในโลกอนาคตอันใกล้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันได้มีคอร์สออนไลน์เกิดขึ้นจำนวนมาก ห้องเรียนดิจิตัล หรือ MOOCs (Massive Open Online Courses) เป็นระบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าใช้ไม่จำกัด
หุ่นยนต์ได้เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลมหาศาล แผนกยาที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโก (UCSF) ได้นำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดการยาหลายพันชนิด ทำงานตั้งแต่จัดเก็บยา ไปจนถึงจ่ายยาและนำเม็ดใส่บรรจุภัณฑ์
วิทยาการหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ แม้ในปัจจุบันจะมีราคาแพงและไม่มีความสามารถมาก แต่ก็มีบางที่ได้พัฒนาเริ่มทดลองไปบ้างแล้ว นักวิจัยที่จอร์เจียสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถเช็ดตัวผู้ป่วยได้อย่างอ่อนโยน นวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุที่น่าสนใจที่สุดคือ Hybrid Assistive Limb (HAL) เป็นโครงไฟฟ้าสำหรับสวมใส่ของญี่ปุ่น โดยผู้ที่สวมจะสามารถยืนหรือเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว
นอกจากนี้ในอนาคตเรายังจะได้เห็นการพัฒนาขาจักรกลเพื่อช่วยการเคลื่อนที่ หรือหุ่นยนต์ราคาไม่แพงช่วยหยิบยา หรือสิ่งของต่าง ๆ อีกทั้งช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้จากระยะไกลมากขึ้น
การจำกัดความมั่งคั่งให้คนเพียงไม่กี่กลุ่มนั้น อาจฟังดูไม่สามารถปฏิบัติได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์และทางชีววิทยา แต่มนุษย์ต่างจากหุ่นยนต์ตรงที่ยังคงต้องการอาหาร การดูแลสุขภาพ และความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งมักมาจากการทำงานหรือการทำกิจกรรมรูปแบบอื่น ๆ โดยฟอร์ดได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องมีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 10,000 ดอลลาร์ต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราว 317,000 บาท) แม้ว่านี่อาจไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามไม่มีเงินจำนวนใดสามารถชดเชยการมีส่วนร่วมที่จะเป็นการสร้างความหมายของการมีชีวิตอยู่
ความเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุดคือ เราอาจต้องเผชิญกับพายุสถานการณ์ของคนว่างงานอันเนื่องมาจากเทคโนโลยี อีกทั้งผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นลูกคลื่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่มาช่วยกันแก้ปัญหา สร้างความตระหนัก และปรับตัวพร้อมรับกับพายุที่จะเข้ามา ก็อาจจะช่วยในการหาทางออกและอาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีขึ้น
ความท้าทายที่สุดในตอนนี้คือ การร่วมมือกันเจรจาหาทางออกของอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ล้วนกระทบกับเราทุกคน มันไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นสิ่งที่เราทุกคนร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า
หุ่นยนต์จะส่งผลต่องานและอนาคตของเราอย่างไร? เราจะมีวิธีเตรียมรับมือกับมันอย่างไร? มาร่วมหาคำตอบและพบกับ Martin Ford ผู้เขียน 'Rise of the Robots' ได้ที่งาน Techsauce Global Summit 2019 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://summit.techsauce.co
อ้างอิงข้อมูลจาก:
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด