เราทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก จากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไปจนถึง Big Data อีกทั้งตอนนี้สมาร์ทโฟนก็แทบจะเข้าถึงคนได้ในทุกพื้นที่ การแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่หลายคนต่างให้ความสนใจ แต่มันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้พัฒนาและใช้มัน แน่นอนว่าเราต่างมีความหวัง และต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จะดีไหมที่เราจะหันมาโฟกัสในการสร้างเทคโนโลยี และใช้มันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่ต้องการมันมากที่สุด
นี่เป็นสิ่งที่น้อง 'ใบเตย - อิรวดี ถาวรบุตร' สาวน้อยวัย 16 ปี ได้ดำเนินกิจการเพื่อสังคม 'Sandee for Good' ซึ่งเป็น Online Marketplace การช่วยเหลือสามารถเข้าถึงผู้คนได้ในทุกพื้นที่ เปิดให้ผู้บริจาคสามารถสั่งซื้อ จัดส่งของบริจาคตรงไปยังมูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
ชื่อ Sandee มาจาก Sandee (แซนดี้) เปรียบเสมือนอเล็กซานเดอร์มหาราชเวอร์ชั่นผู้หญิง (อเล็กซานเดอร์มหาราช หมายถึงผู้พิทักษ์ของมนุษยชาติ) ซึ่งมีเสียงเหมือนคำว่า‘ แสนดี’ ในภาษาไทย ดังนั้นมันจึงเหมือนเป็นการผสมผสานที่ลงตัวในสิ่งที่เธอต้องการทำเพื่อบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้คน
จึงเกิดเป็นเว็บไซต์แสนดีขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างมูลนิธิและผู้ให้ โดยเว็บไซต์แสนดีจะรับฟังว่ามูลนิธิและองค์กรเพื่อสังคมต้องการสิ่งของอะไรมากที่สุด จากนั้นก็จะนำรายการนั้นๆ ขึ้นแสดงในเว็บไซต์ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปบริจาคได้ง่าย ๆ เพียงแค่เลือกสิ่งของที่ต้องการบริจาค โดย 'แสนดี' จะทำหน้าที่เจรจาติดต่อกับซัพพลายเออร์ต่างๆ รวมถึงดูแลในเรื่องการขนส่งให้กับซัพพลายเออร์ที่ไม่มีบริการด้านนี้ด้วย
น้องใบเตยเล่าว่าสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำแพลตฟอร์มนี้มาจากการที่เธอได้ทำงานกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรในพื้นที่ และพบว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง ไม่สามารถรับความช่วยเหลือได้มากเท่าที่ควรจะเป็น
"ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปที่นั่นได้ ทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรนอกพื้นที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่ากับองค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในเมือง ดังนั้นเลยตัดสินใจที่จะจัดการกับความท้าทายนี้ และสร้างวิธีที่ความช่วยเหลือจะสามารถเข้าถึงผู้คนได้ในทุกพื้นที่"
"เป้าหมายของเราคือ ทุกคนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ การมอบพื้นที่ให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน ดังนั้นระยะทางจึงไม่ส่งผลต่อปริมาณความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับ"
การช่วยสังคมนั้นเป็นการช่วยเหลือตัวเราเองด้วยเช่นกัน เพราะการที่เราช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรอบข้างให้ดีขึ้น ชุมชนรอบๆ ก็จะพัฒนาไปด้วย ผลตอบแทนคือคุณภาพชีวิตของเราก็จะดีขึ้นด้วย
สำหรับเป้าหมายในระยะยาวคือ ต้องการให้เข้าถึงผู้ที่ต้องการแบ่งปันทั่วโลก โดยขณะนี้กำลังแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และรัสเซีย
น้องใบเตยมีความชื่นชอบเทคโนโลยีมาแต่ไหนแต่ไร เธอเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคในโรงเรียน ตั้งแต่การแข่งขันหุ่นยนต์ ไปจนถึงการสร้างรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์
แต่จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ประกอบการของเธอจริงๆ แล้วไม่ได้เริ่มจากในโรงเรียนซะทีเดียว เมื่อสองปีก่อน เธอได้ลงสมัครตำแหน่งประธานสโมสรของ LaunchX ซึ่งเป็นโปรแกรมผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ โดยจะมีการจัดสื่อการเรียนการสอนด้านผู้ประกอบการให้กับนักเรียนมัธยมทั่วโลก ผู้ที่สมัครเป็นประธานสโมสรจะต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ แล้วนำไปบอกต่อให้สมาชิกชมรมในโรงเรียน ซึ่งเป็นสโมสรที่นำโดยนักศึกษา
โดยเริ่มเธอเริ่มจากการบริหารสโมสรผู้ประกอบการที่โรงเรียนก่อน จากนั้นได้ร่วมก่อตั้งบริษัทร่วมกับเพื่อนในทีม จนได้เดินทางไป pitch ไอเดียแข่งขันระดับเอเชียที่ LaunchX Asia Regional Demo Day Finalist (2018) จากนั้นได้กลายเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายของเอเชีย เดินทางไปแข่งต่อที่ MIT Global Demo Day (2018) และได้จัด Launch X Club Demo Day ขึ้นที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นครั้งแรกในเอเชีย
"LaunchX ทำให้ใบเตยออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ทำให้รู้ว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการเห็นในโลกนี้ได้ ส่วนตัวชอบเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยรวมเรื่องเทคโนโลยีและการประกอบธุรกิจเข้าด้วยกัน แต่ตอนนี้ใบเตยรู้แล้วว่าเราสามารถทำได้ทั้งสองอย่าง"
ส่วนตัวไม่มีความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการมาก่อน และไม่รู้ว่าการเป็นผู้ประกอบการก็มีไว้สำหรับเด็กเช่นกัน LaunchX ได้สอนทักษะของผู้ประกอบการ สอนให้กล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ และทำให้รู้ว่าคอมฟอร์ตโซนนั้นไม่มีอยู่จริง
เมื่อนึกถึงคนที่ประสบความสำเร็จในสายเทคโนโลยี ชื่ออันดับต้นๆ ที่มักจะปรากฏคงเป็น Bill Gates ไม่ก็ Elon Musk ซึ่งนี่ก็บุคคลที่เป็นแบบอย่างของเธอมาตลอด
"Elon คือสุดยอดนักคิด ใบเตยชอบความคิดของเขาที่ทำอะไรแบบไม่มีข้อจำกัด นั่นคือสิ่งที่ใบเตยยึดในการใช้ชีวิต เขาเริ่ม Paypal เขาจะหยุดอยู่แค่นั้นก็ได้ คนอื่นอาจจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่เขายังทำงานต่อทั้งกับ SpaceX และ Tesla"
ใครจะไปรู้ว่าการสนทนากับคนแปลกหน้าที่สนามบินจะนำไปสู่การทำให้ได้เจอ Elon Musk ที่งานแข่งขันพัฒนา Hyperloop หรือ Hyperloop Pod Competition ในปีที่ผ่านมา
"ใบเตยไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ไปซิลิคอนวัลเลย์ จนกระทั่งได้คุยกับคนที่เข้าร่วมการแข่งขัน Hyperloop Pod ที่สนามบินในชิคาโก เขาเลยชวนให้ไปชมการแข่งขัน Hyperloop ที่รัฐแคลิฟอร์เนียด้วย ซึ่งนี่เป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นที่สุดเท่าที่เคยเจอ!"
"การที่มีโอกาสได้ยืนอยู่ท่ามกลางผู้คนเก่งๆ และได้พูดคุยกับผู้ที่มีวิสัยทัศน์อย่าง Elon นั้นเป็นอะไรที่เกินจินตนาการ เขาจะไม่ปล่อยให้คนมากำหนดลิมิตว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่เขากำหนดเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ใบเตยยึดในการทำสิ่งต่างๆ มาตลอด นั่นคือการพัฒนาตัวเองอย่างสุดความสามารถ"
ไม่นานหลังจากกลับมาถึงประเทศไทย เธอก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้กับวิศวกรและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่สนใจในการเริ่มต้นการสร้างทีม Hyperloop อีกด้วย
ตอนนี้เราภูมิใจที่จะประกาศว่าทีมแข่งขัน Hyperloop Pod ทีมแรกของประเทศไทย กำลังเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในปี 2020!
เธอบอกว่าคงจะดีไม่น้อย ที่จู่ๆ เราสามารถมองเห็นคำถามพันล้านจากคนทั่วโลก ว่าคำถามที่พวกเขาต้องการหาคำตอบคืออะไร มีคำถามไหนบ้างที่ยังไม่ได้รับคำตอบ มันน่าจะง่ายขึ้นสำหรับทุกคนที่จะช่วยกันหาวิธีแก้ และทำให้โลกนี้ดีขึ้น
หากเราสามารถเห็นคำถามพันล้านจากคนทั่วโลก ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการหาคำตอบคืออะไร มีคำถามไหนบ้างที่ยังไม่ได้รับคำตอบ มันน่าจะง่ายขึ้นสำหรับทุกคนที่จะช่วยกันหาวิธีแก้ และทำให้โลกนี้ดีขึ้น
เมื่อเราถามว่าคำถามที่เธอมีอยู่ตอนนี้ ที่กำลังหาคำตอบอยู่คืออะไร เธอตอบอย่างมีความหวังว่า "เราจะรับมือกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ Climate Change อย่างไร เพราะไม่มีอะไรจะสำคัญเลย ถ้าเราไม่มีโลกใบนี้ให้อาศัยอยู่ ใบเตยเลยต้องการที่จะหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเรื่องนี้"
มาร่วมค้นหาคำตอบในการสร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับโลกใบนี้ที่งาน Techsauce Global Summit 2019 ส่วนเธอจะมาพูดเรื่องอะไรนั้น ต้องมาฟังด้วยตัวเอง! ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://summit.techsauce.co
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด