15 ข้อที่ได้รู้จากการไปดู 'โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ' ครบวงจร แห่งแรกของไทย | Techsauce

15 ข้อที่ได้รู้จากการไปดู 'โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ' ครบวงจร แห่งแรกของไทย

SCG เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม เมื่อหันมาทำเรื่อง พลังงานสะอาด จึงได้เปรียบตรงที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทมาต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพให้สินค้าหรือบริการใหม่ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและร่วมลดการปล่อยคาร์บอนได้ ดังที่ทีมเทคซอสไปเยี่ยมชม โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำครบวงจร ณ บึงบ้านช้าง อ.ท่าหลวง จ.สระบุรี แหล่งน้ำที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ป้อนเข้าสู่โรงงานปูนซิเมนต์ไทย ในอำเภอท่าหลวง โดยสรุปสิ่งที่ได้รู้มาให้เข้าใจง่ายรวม 15 ข้อ ดังนี้

โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำครบวงจร

SCG Cleanergy

  1. ขณะที่ทั่วโลกกำหนดแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อมุ่งสู่ การลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภาคเอกชนถูกบังคับทางตรงและทางอ้อมให้เปลี่ยนทิศทางการใช้พลังงาน (Energy Transition) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด SCG จึงพัฒนาโซลูชันพลังงานสะอาดเอาไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุนค่าพลังงาน ร่วมกับลดการปล่อยคาร์บอน 

  2. เมื่อเกิดความขัดแย้งทั้ง Trade War, Tech War และสงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนราคาพลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทบต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรน้อยใหญ่ SCG เห็นโอกาสในวิกฤตนี้ ว่าองค์ความรู้ด้านพลังงานสะอาดที่มีอยู่สามารถทำเป็นธุรกิจได้ จึงก่อตั้ง SCG Cleanergy ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานสะอาดอัจฉริยะขึ้น เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม องค์กรเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป

  3. ตัวอย่างบริการของ SCG Cleanergy เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์และให้บริการโซลูชันเพื่อดูแลรักษาตลอดอายุการใช้งาน ทั้งโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนดินหรือบนพื้นที่ว่างเปล่า (Solar Farm) โซลาร์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) และโซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) การติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า การให้คำปรึกษาด้านการใช้พลังงานสะอาด การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

    โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำครบวงจรในบึงบ้านช้าง อยู่ไม่ไกลจากโรงงานปูนซิเมนต์ไทย อ.ท่าหลวง จ.สระบุรี 

  4. ทีมเทคซอสร่วมลงพื้นที่ดูการผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เพื่อใช้ในโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ณ บึงบ้านช้าง ซึ่งบริหารจัดการด้วยระบบ Smart Grid หรือ เครือข่ายอัจฉริยะครบวงจร โดยโซลาร์เซลล์ที่ใช้นั้นมีอายุการใช้งานนาน 25 ปี ดูแลและบริหารจัดการด้วย SCG Floating Solar Solutions 

  5. การตรวจสอบประสิทธิภาพและดูแลโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับบุคคลทั่วไป SCG จึงออกแบบโซลูชัน เช่น SCG Floating Solar Solutions เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สนใจหรือลูกค้า ตั้งแต่การสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ การติดตั้งระบบ การทำความสะอาด ซ่อมบำรุง ฯลฯ จนกระทั่งโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งาน แต่การใช้โซลาร์ในบึงแห่งนี้ เกิดขึ้นเพื่อผลิตไฟเข้าโรงงาน ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์

  6. ปกติแล้ว ขนาดพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะเป็นพื้นที่โล่งกว้างและกินอาณาบริเวณหลายไร่ การใช้กำลังคนตรวจสอบประสิทธิภาพและความผิดปกติของโซลาร์จึงทำได้ล่าช้า สำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ SCG Cleanergy ใช้ โดรน (Drone Inspector) บินสำรวจความร้อนและถ่ายภาพแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ติดตามประสิทธิภาพและความเสื่อมจากการใช้งาน โดยแสดงผลเป็นค่าสีต่างๆ บนจอมอนิเตอร์ 

    โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำครบวงจรความลึกของน้ำในบึงบ้านช้างอยู่ที่ 30 เมตร

  7. ในหนึ่งแถวที่เห็นโซลาร์เซลล์เชื่อมต่อกันนั้นนับเป็น 1 วงจร พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแต่ละวงจรจะไหลเข้าสู่ตัวแปลงไฟกระแสสลับหรือ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) อัตโนมัติ จากนั้นอินเวอร์เตอร์จะบริหารจัดการกำลังไฟอัจฉริยะ ทั้งไฟที่ได้จากโซลาร์และไฟที่มาจากการไฟฟ้าฯ ก่อนส่งไปใช้ในโรงงาน โดยกำลังไฟที่ได้จากโซลาร์จะไม่สามารถกักเก็บไว้ได้ เนื่องจากตัวกักเก็บไฟมีราคาแพง หากจะใช้งาน บริษัทต้องลงทุนอีกมาก

  8. ในด้านการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำ หากแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง นานวันเข้า น้ำก็จะค่อยๆ ระเหิดและลดลง สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในบึงบ้านช้าง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงช่วยลดการคายความร้อนของน้ำในบึงได้ ขณะเดียวกัน ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ สามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติโดยไม่ถูกรบกวน

  9. ผู้บริหาร SCG ให้ข้อมูลว่า โซลาร์เซลล์ลอยเหนือน้ำได้ด้วย ทุ่นที่ SCG Chemicals พัฒนาขึ้น ซึ่งทนความร้อนและใช้งานได้นาน 25 ปีเช่นเดียวกับโซลาร์เซลล์ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะผลิตจากวัสดุ Food Grade ดังนั้น หากทุ่นเสื่อมสภาพ ปลาสามารถกินได้

    โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำครบวงจรทุ่นสีดำที่ใช้วางโซลาร์เซลล์ในบึงแห่งนี้ พัฒนาโดย SCGC

  10. กำลังไฟที่ได้จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 1 แผ่น อยู่ที่ 525 วัตต์ ส่วนค่าเฉลี่ยกำลังการผลิตไฟต่อปีอยู่ที่ 17 ล้านกิโลวัตต์ และหลังจากดำเนินการได้ 2 ปี โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งนี้ลดค่าไฟของโรงงานท่าหลวงได้ปีละ 80 ล้านบาท และยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 8,500 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 8.5 แสนต้น

  11. ในด้านการทำความสะอาดแผงโซลาร์ลอยน้ำ SCG Cleanergy ใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดในลักษณะของ แขนกลอัจฉริยะ (Solar Robot Cleaning) เพื่อให้ทำความสะอาดแผงโซลาร์ได้อย่างรวดเร็วและเลือกจุดที่ต้องการได้

  12. หากมองในด้านธุรกิจ ลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรมร่วมเซ็นสัญญาใช้บริการโซลาร์เซลล์ของ SCG Cleanergy แล้ว อาทิ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า อาคารขนาดใหญ่ โรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเปาโล ในเครือ BDMS

    กำลังไฟที่ได้จากโซลาร์เซลล์ในบึงแห่งนี้ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ปีละ 17 ล้านกิโลวัตต์

  13. แม้ว่าโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงและผู้ประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ SCG ไม่หวั่นใจในสมรภูมินี้ เพราะเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบริษัท ว่าสามารถให้บริการได้ตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งก็คือ 25 ปี 

  14. โซลาร์เซลล์เสื่อมประสิทธิภาพลงได้ด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความชื้น การสะสมความร้อนมากและนานเกินไป การดูแลรักษาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม

  15. เมื่อไรที่วิศวกรพบว่า บนแผงโซลาร์เซลล์เกิดปัญหา ยกตัวอย่าง โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หากพบค่าสีที่แสดงผลผิดปกติ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือแก้ไขได้ตรงจุด จากการเก็บภาพของโดรนที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งยังควบคุมจากระยะไกลได้อีกด้วย 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...

Responsive image

นวัตกรรมใหม่ จะสร้างโอกาส หรือเข้ามา Disrupt ธุรกิจแบบเดิมๆ ? ส่องความเห็นจาก CEO ชั้นนำในยุคนวัตกรรม

อนาคตกำลังมาถึงเร็วขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย และกำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้? ใครคือผ...