ชิปขาดตลาด วิกฤตสินค้าไอทีทั่วโลกจะอยู่กับเราถึงเมื่อไหร่ ทางออกของปัญหาคืออะไร ? | Techsauce

ชิปขาดตลาด วิกฤตสินค้าไอทีทั่วโลกจะอยู่กับเราถึงเมื่อไหร่ ทางออกของปัญหาคืออะไร ?

ชิปขาดตลาด ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมาเราคงได้ยินปัญหานี้กันอยู่บ่อย ๆ  เพราะเมื่อไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการใช้ โดยเฉพาะในสินค้าไอทีทุกชนิด ที่ความต้องการของผู้บริโภคเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดผลกระทบกับหลายธุรกิจเป็นวงกว้าง

Semiconductor คือ

ชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) เป็นเหมือนมันสมองสำคัญที่ทำงานร่วมกับวัสดุอื่น ๆ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สังเกตจากคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ สมาร์ทโฟนที่เราซื้อ ต่างมีเครื่องหมายกำกับว่าประกอบด้วยเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อชิปขาดแคลนในระดับวิกฤต สิ่งที่ควรให้ความสำคัญต่อจากนี้คือ บริษัทไหนได้รับผลกระทบ แล้วผลกระทบเหล่านั้นส่งมาถึงตัวเราได้อย่างไรบ้าง แล้วเหตุใด ชิปถึงมีความสำคัญมากถึงเพียงนี้?

เซมิคอนดักเตอร์ หัวใจของทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เรียกได้อีกอย่างว่า “สารกึ่งตัวนำ” เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าอยู่ระหว่างตัวนำและฉนวน โดยในเซมิคอนดักเตอร์จะประกอบด้วยสสารเช่น Germanium Selenium และ Silicon ซึ่งสสารดังกล่าวมีผลให้เซมิคอนดักเตอร์มีขนาดเล็กและเบา ประมวลผลได้รวดเร็ว ควบคุมพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีราคาที่จับต้องได้กว่าชิปรุ่นก่อน ๆ 

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ เซมิคอนดักเตอร์จึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ให้ดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แบบ สังเกตได้ว่าอุปกรณ์ที่มีชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์จะอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟ กล้องดิจิทัล คอมพิวเตอร์ รถยนต์ จนไปถึงระบบที่อาศัยเครือข่ายขนาดใหญ่อย่าง ตู้ ATM ของธนาคาร ระบบรถไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต ระบบขนส่ง โครงข่ายสาธารณูปโภค และบริการด้านสาธารณสุข 

ทั้งนี้ เซมิคอนดักเตอร์ก็เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญในยุคโควิด-19 โดยรายได้รวมของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2020 อยู่ที่ 425,960 ล้านดอลลาร์ โตกว่าปี 2019 ถึง 3% และเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่หลายประเทศต้องการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยบริษัทรายใหญ่ที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่ในขณะนี้อาทิ Intel, Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. Ltd (TSMC), Qualcomm, NVIDIA Corp, SK Hynix, Samsung, Broadcom จะเห็นได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในประเทศสหรัฐฯ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ

โควิด-19 และสงครามการค้าจีน-สหรัฐ : ต้นกำเนิดวิกฤต ชิปขาดตลาด

ดังที่กล่าวไปว่าหลายประเทศรวมไปถึงบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาแข่งขันผลิตชิปกันมากขึ้นโดยเฉพาะในปี 2021 นี้ แต่เหตุใดกระแสข่าวเรื่อง ชิปขาดตลาด ถึงหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ และอุตสาหกรรมที่พึ่งพาชิปเริ่มออกมาโอดครวญถึงวิกฤตนี้อย่างมากมาย

ต้องท้าวความไปยังช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ในเดือนมี.ค. ปี 2020 เมื่อคนต้องอาศัยอยู่บ้าน ไม่ใช้พาหนะเดินทาง ยอดขายรถยนต์ก็ตกฮวบ ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ตัดสินใจลดปริมาณการสั่งซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายใน ซึ่งรวมไปถึงเซมิคอนดักเตอร์ที่ทำงานในส่วนหน้าจอทัชสกรีนและระบบป้องกันการชนของรถ 

กระทั่งพอเข้าไตรมาส 3 ของปี 2020 ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และบริษัทรถยนต์หลายแห่งเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นหลักอย่างต่อเนื่อง จากที่เห็นในยักษ์ใหญ่ EV อย่าง Tesla, GM Motors, Toyota แต่ทว่าบริษัทเหล่านี้ชะล่าใจ คาดการณ์ปริมาณการใช้งานเซมิคอนดักเตอร์ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้เมื่อต้องการจะใช้เซมิคอนดักเตอร์จริง ๆ นั้น บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ก็ส่งมอบชิ้นส่วนให้ไม่ทันต่อความต้องการของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ จึงทำให้บริษัทดังกล่าวขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญที่จะไปผลิตรถยนต์

ผนวกกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปี 2020 คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งมาตรการจำกัดปริมาณการขายเซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัทจีนอย่าง Huawei Technologies, ZTE, ทำให้นอกจากบริษัทเหล่านี้จะเริ่มกักตุนเซมิคอนดักเตอร์อย่างมหาศาลแล้ว รัฐบาลจีนก็ตอบโต้โดยตัดกำลังผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้คู่ค้าบริษัทสหรัฐฯ ผลที่เกิดขึ้นคือบริษัททั้งฝั่งสหรัฐฯ และจีนที่อาศัยเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตต่างเจ็บปวดจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ยังไม่รวมไปถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ Renesas Electronics โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมี.ค. ปี 2021 ซึ่งโรงงานนี้ครอบคลุมปริมาณการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในสัดส่วนเกือบ 20% เลยทีเดียว

ผลกระทบจากวิฤกตที่เกินกว่าจะรับมือไหว

เมื่อ Supply ไม่สามารถตอบสนอง  Demand ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วินาทีได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือยอดขายที่ลดลงของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยเหตุที่ไม่สามารถใช้เซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตอุปกรณ์ได้ตามที่วางแผนไว้

เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากถึง 50-150 ชิ้น Alixpartners บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตชิปว่าส่งผลให้มูลค่าตลาดรถยนต์หายวับไปถึง 110,000 ล้านดอลลาร์ โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2021 จะลดลง 3.9 ล้านคัน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2021 เสียอีก นอกจากนี้มีแนวโน้มสูงที่ยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์จะปรับตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021นี้

เช่นเดียวกันกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้า Apple ก็ได้พูดคุยกับสื่อ CNN ว่ารายได้ในไตรมาสที่ 2 ลดลง 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ได้ส่งผลต่อกำลังการผลิตสินค้าหลักอย่าง iPad และ Mac อย่างมีนัยยะสำคัญ 

นอกจากนี้ Samsung ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีเกาหลีใต้ก็กล่าวกับสื่อ CNBC ว่าการที่เซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้นทำให้ตนนั้นอาจจะต้องเลื่อนการเปิดตัวสมาร์ทโฟน Galaxy Note รุ่นต่อไป 

นอกจากนี้ผู้ผลิตโครงข่ายกระแสไฟฟ้าหรือระบบรถไฟ อย่าง Siemens ก็ได้กล่าวกับ CNN ว่าขณะนี้การผลิตไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตก็จริง แต่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงทิศทางในอนาคต

ปริมาณชิปที่น้อยลง กดดันราคาสินค้าสูงขึ้น

ไม่ใช่เพียงแต่ธุรกิจต่าง ๆ ที่เผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่จากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แม้แต่ตัวเราในฐานะผู้บริโภคย่อมไม่พ้นที่จะเจอผลเสียที่ตามมาเป็นทอด ๆ จากวิกฤตครั้งนี้ หนึ่งในนั้นก็คือราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

จากรายงานของ JD Power ราคารถยนต์โดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2021 ได้ดีดตัวขึ้น 8.4% จากปีก่อน อยู่ที่ราว 37,200 ดอลลาร์ต่อคัน ทั้งนี้ สถาบัน Goldman Sachs ได้คาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่าปริมาณการผลิตที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลักจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1-3% 

วิกฤตจะอยู่กับเราถึงเมื่อไร แล้วมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง

เบื้องต้น นักวิเคราะห์จากสถาบัน Goldman Sachs ได้ประเมินว่าสถานการณ์วิกฤตชิปจะดีขึ้นในไตรมาสล่าสุดนี้ เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ต่างก็เร่งกำลังการผลิตให้ทันต่อความต้องการได้เร็วขึ้น ในไม่ช้าสถานการณ์จะคลี่คลายลง 

ทางฝั่งของ Glenn O’Donnell รองประธานฝ่ายวิจัยของ Forrester บริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจกลับมองว่าปัญหาชิปขาดแคลนจะยืดระยะเวลาไปจนถึงปี 2023 โดยให้เหตุผลว่า ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์จะเพิ่มขึ้นอีก สวนทางกับปริมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด คนต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนและการทำงาน รวมไปถึงการตั้งศูนย์ data center ของบิ๊กเทคหลายแห่งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งต้องใช้ปริมาณเซมิคอนดักเตอร์อย่างมหาศาลเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ Patrick Armstrong CIO ของ Plurimi Investment Managers ได้พูดในรายการ Street Signs Europe ของ CNBC ว่าปัญหาขาดแคลนชิปจะกินเวลาไปอีก 18 เดือน เพราะทุกอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ล้วนใช้เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นกว่าที่เคยมีมา

เมื่อนึกถึงทางออกจากวิกฤตนี้ก็อาจพอได้เห็นอยู่บ้าง จากกรณีที่ทางกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เรียกร้องให้คณะบริหารรัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มเติม

และทาง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้กล่าวว่าตนจะลงทุนงบประมาณในการผลิตและสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอีก 28,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งจะบรรเทาวิกฤติไปได้อย่างน้อย 5 ปี ต้องมาดูกันต่อว่าหากโควิด-19 บรรเทาลง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะรอดพ้นจากวิกฤติหรือไม่ และบริษัทต่าง ๆ จะแทนที่เซมิคอนดักเตอร์ด้วยชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่นได้อย่างไร 

อ้างอิง






ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Jurassic World ตำนานแฟรนไชส์ภาพยนตร์ยอดนิยม สู่ประสบการณ์จริงสุดอิมเมอร์ซีฟในกรุงเทพฯ

บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโลกของ Jurassic World โลกภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล ก่อนสัมผัสประสบการณ์จริงอันน่าเหลือเชื่อในไตรมาสที่สองของปี 2025...

Responsive image

KBTG เผย ‘Horizontal Core Banking’ บิ๊กโปรเจกต์ขยายระบบหลังบ้าน KBank รองรับการเติบโตได้ถึงปี 2031

เจาะอินไซด์การขยายระบบหลักของธนาคารกสิกรไทย เพื่อรองรับการเติบโตของลูกค้ายาวถึงปี 2031 ใน ‘Core Banking Horizontal Scale Project’ โดยทีม KBTG และทีม KBank รวมแล้วพันคน มาร่วมแรงร่ว...

Responsive image

DeepSeek และ Qwen: เมื่อ AI ราคาถูกเปลี่ยนโฉมโลก

DeepSeek และ Qwen จาก Alibaba กำลังเปลี่ยนแปลงวงการ AI ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และระบบนิเวศ AI ทั่วโลก สุภาวดี ตันติยานนท์ วิเคราะห์ผลกระทบและแนวทางที่ประเทศไทยค...