สัมภาษณ์พิเศษ Shane Owenby ถึงการตั้งสำนักงาน Amazon Web Services (AWS) ในประเทศไทย | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ Shane Owenby ถึงการตั้งสำนักงาน Amazon Web Services (AWS) ในประเทศไทย

Amazon Web Services Thailand (AWS Thailand) ได้เปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ วันนี้นอกจากจะได้รับทราบข่าวแบบสดไวแล้ว เรายังได้มีโอกาสสัมภาษณ์ต่อเนื่องกับคุณ Shane Owenby ซึ่งเป็น Managing Director ประจำ Asia Pacific เพื่อเล่าถึงการเข้ามาในประเทศไทยของ AWS

aws thailand interview

ที่มาที่ไปของการจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย

AWS ได้เริ่มมีการให้บริการมาตั้งแต่ปี 2006 ตอนนี้เราครบรอบ 10 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตั้งแต่ปี 2006 แล้วที่เรามีลูกค้าชาวไทยให้การสนับสนุนใช้งานเรา ดังนั้นลูกค้าไทยเองก็มีที่ใช้บริการของเรามาเป็น 10 ปีแล้ว การที่เรามีทีมในพื้นที่ ก็จะเป็นการเข้าช่วยเหลือลูกค้าของเรา

สำหรับผม หน้าที่ของคนเหล่านี้ไม่ใช่การ Sales แต่เป็นการ Educate ที่ต้องเรียกแบบนี้ เพราะ AWS ของเราให้คุณจ่ายแค่เท่าที่คุณใช้ (Pay as you use) แม้จะกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับงานขาย แต่สิ่งสำคัญคือการช่วยสนับสนุนคุณให้สำเร็จด้วย ถ้าหากคุณใช้งานแล้วพบว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คุณหวังไว้ แน่นอนว่าคุณก็จะพร้อมหยุดใช้บริการของเราในทันที

เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด

ก่อนอื่นผมอยากจะขอพูดแบบชัดๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดนะครับ

เราจัดตั้งสำนักงาน ซึ่งหมายความว่าเรานำทรัพยากรจำนวนหนึ่งไปปักหลักอยู่ในพื้นที่ การจัดตั้งสำนักงาน ถือเป็นก้าวใหญ่สำคัญ ในการดูแลลูกค้าชาวไทย แต่ยังไม่ใช่เรื่อง Data center ในเมืองไทยนะครับ นอกจากนี้การตั้งสำนักงาน AWS ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ Amazon.com ด้วย ซึ่งเป็นคำถามที่คนมักจะเข้าใจผิดและถามผมบ่อยๆ

เล่าถึงการจัดตั้งสำนักงานในไทยหน่อยค่ะ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ประเทศไทยจะทีมที่ทำหน้าที่ช่วยดูแลลูกค้าในประเทศ โดยหลักๆ แล้วเราจะมีทีมต่างๆ ดังนี้

  • ทีม Solution architects หรือเรียกง่ายๆ ว่า Pre-sales ซึ่งเข้าไปทำการอธิบายและช่วยสอนให้ลูกค้าเข้าใจ Best practices การนำเทคโนโลยีไปใช้ เพื่อช่วยให้งานของคุณประสบความสำเร็จ
  • ทีม Channel & Alliance สำหรับงานด้าน Partnership
  • ทีม Technical account managers ซึ่งทำหน้าที่ดูแลลูกค้าหลังการขาย (Post-sales) ซึ่งนอกจากนี้ AWS ก็มีศูนย์ดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นศูนย์แบบทั่วโลก ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง อย่าง call center และ chat ที่คุณสามารถติดต่อได้เช่นกัน (ยังไม่มีบริการภาษาไทย)
  • ทีม Professional services ซึ่งทำหน้าที่ดูแลลูกค้า ในแง่ของการสอนติดตั้ง และลงมือใช้งานจริงๆ
  • Country manager (โดย Country manager ของประเทศไทย เปิดเผยแล้วว่าคือ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์)

สำหรับทีมต่างๆ นี้ จะให้บริการเป็นภาษาไทย จะมาช่วยลดปัญหาเรื่องการสื่อสาร นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับ System Integrator รายต่างๆ ที่ ดร.ชวพล ได้มีการพูดคุยไปบ้างแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณากันอยู่ ที่เข้าร่วมกับเราแล้วมี 5 เจ้า เช่น Accenture, G-Able, TRUE

ศักยภาพของตลาดภายในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เราพบว่า Startup และบริษัททั้งหลายในประเทศไทย มียอดการใช้งาน AWS เพิ่มสูงมาก และเราได้เห็นว่า Startup ไทย ไม่ได้โฟกัสแต่ในประเทศไทย แต่เติบโตได้ทั้งในภูมิภาค SEA และระดับโลก AWS จะช่วยให้พวกเขารัน Infrastructure บน Data center ที่กระจายอยู่ทั่วโลกได้ และเราก็มักได้รับคำถามและอีเมลต่างๆ จากกลุ่มลูกค้าชาวไทยเข้ามาไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้เรายังเคยได้จัดอีเวนต์ AWSome Day Thailand อีเวนต์นี้เป็นการสอนเรื่องผลิตภัณฑ์ของเราแก่คนจำนวนมากๆ 400 - 800 คน เราได้รับการตอบรับที่ดีมาก

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องราคา ลูกค้าไม่ค่อยสนใจหรอกว่าคุณเป็นใคร เขาสนใจเรื่องราคามากกว่า ราคาต้องถูก การที่คุณขยายฐานลูกค้า ก็เป็นการทำ Economy of Scale ราคาก็จะถูกลงได้ ดังนั้นการขยายฐานลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ

shane owenby

AWS มีความช่วยเหลือกลุ่ม Startup อย่างไรบ้าง

เรามีอีเวนต์และกิจกรรมมากมายเพื่อกลุ่ม AWS Startup (แต่สำหรับ AWS Pop-up Lofts จะยังไม่มีให้บริการในประเทศไทยในเร็วๆ นี้) เรามีโปรแกรมที่ชื่อว่า AWS Activate ภายในโปรแกรมเรามีการให้ฟรีเครดิตสำหรับการใช้งาน AWS, เราให้ส่วนลดสำหรับการอบรมเทรนนิ่ง, เราเปิดโอกาสให้เข้าถึง Solution architects ของเรา ที่จะช่วยไกด์ไลน์คุณให้ประสบความสำเร็จในการสร้างโซลูชั่นส์ และนอกจากนี้แพคเกจในโปรแกรมนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของการใช้งาน แต่ยังมี Benefits ต่างๆ ที่ Startup สามารถร่วมได้ อย่างโอกาสการเข้าถึง Acceleration Program หรือ Funding ต่างๆ

โดยปกติแล้ว เรายังมีแผนก Business Development ที่โฟกัสกลุ่ม Startup โดยเฉพาะด้วย ซึ่งต่อไปในประเทศไทย เราก็คงมองเรื่องการเข้ามาร่วมช่วยสนับสนุน Startup ด้วยกัน ปกติเราเองก็ร่วมกับ Venture Capitalist และ Incubation Program ต่างๆ อยู่แล้ว ในการให้ความรู้ Startup ในเครือข่ายของเขา

Startup เป็นกลุ่มที่สำคัญมากทีเดียวสำหรับเรา พวกเขา active มาก และมีส่วนช่วยเราสร้างสรรค์ทิศทางที่ AWS จะไปต่อ ได้มากทีเดียว เราไม่ได้สร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ เองจากความต้องการของเรา แต่ 90 - 95% ของสิ่งที่เราทำ มาจาก Feedback และพฤติกรรมของลูกค้า

นอกจาก Startup มองเรื่องการเข้าถึงกลุ่มอื่นๆ อย่างบริษัทใหญ่ หรือองค์กรรัฐบ้างไหมคะ และมีวิธีการเข้าถึงอย่างไร

เรามองว่า AWS เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับทุกองค์กร ก็เหมือนตะปู ไม้ ค้อน ที่นำไปสร้างสรรค์อะไรได้หลากหลาย ความจริงแล้วทีม Sales ของเรา จะมีความเป็น Specialist อยู่ด้วย เรามี Sales ที่เชี่ยวชาญกับสิ่งที่ Startup ต้องการ Sales ที่เชี่ยวชาญกับกลุ่ม Enterprise และ Sales ที่เชี่ยวชาญกับการคุยกับองค์กรภาครัฐ

อะไรเป็นจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าเลือกใช้งาน AWS

มีสองเรื่องใหญ่ๆ ที่ไปด้วยกัน คือเรื่อง Cost และเรื่อง Speed to market เรามีบริการที่ช่วยให้เขาผลิตงานได้เร็ว และ Scale ได้มหาศาลในเวลา Peak time ที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ระบบการเลือกตั้งออนไลน์ที่อินเดีย ซึ่งต้องรองรับคนมากถึง 13 พันล้านคน ยังมี Case study อีกมาก เช่น การ Stream ถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิก AWS ก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ในการเติบโตอย่างรวดเร็วของ AWS นี้ มีอะไรบ้างเป็นเรื่องที่คุณเป็นห่วง

Challenge ของเรา มาจากการที่ตัวเราเอง Innovate เร็วมาก ปีที่แล้วเราเพิ่มฟีเจอร์และบริการใหม่ๆ มากถึง 722 อย่าง ซึ่งนั่นก็เป็น Challenge ของเราเหมือนกันว่าเราจะอัปเดตข่าวสาร และสอนลูกค้าของเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมายนี้ได้อย่างไร เราช่วยลูกค้าของเราเรื่อง Innovation เพราะฉะนั้นเราเองก็เลยมุ่งเรื่อง Innovate ด้วยความเร็ว แต่ที่นี้ลูกค้าของเราอาจจะไม่สามารถย่อยความรู้ใหม่ๆ อย่างรวดเร็วได้ เรื่อง Education จึงจัดเป็นเรื่องสำคัญมาก แน่นอนว่าการจัดตั้งสำนักงานก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คนของเราจะไปหาคุณแล้วช่วยอธิบายว่าเรื่องที่คุณต้องเข้าใจ มีอะไรบ้าง

ล่าสุดที่เราให้บริการ AWS Lambda ซึ่งเป็น Serverless Compute Service เราก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ทุกๆ งานจะเหมาะกับเรื่องนี้ อย่างความต้องการด้าน Database หรือ Mail server แต่ก็จะมีเคสบางเคสที่ถ้าใช้งานแล้ว จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมหาศาล มีลูกค้ามาหาผม บอกว่าต้องการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งการใช้ Lambda Serverless ก็ช่วย เพราะคุณสามารถ re-architect ไม่ต้องรันบน server ก็ได้ ลูกค้าก็บอกว่าต้องปรับตัวเยอะเลย ซึ่งนั่นก็เป็นความท้าทายของเราที่ต้องสอนให้เขาปรับตัวเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเคสที่เราช่วยให้เขาเติบโตขึ้นนะครับ ผมมีลูกค้าที่เกาหลีทำเกมออนไลน์ ตั้งแต่เขาเพิ่ม Real time Analytics ลงไป ที่เช็คได้ว่าผู้เล่นกำลังจะหยุดเล่นเกม ก็จะส่งแคมเปญพิเศษ ณ ตอนนั้นเลย เพื่อกระตุ้นให้เล่นต่อซัก 5 นาที 5 นาทีฟังดูน้อย แต่เมื่อคูณกับผู้เล่นเป็นแสนๆ นั่นถือเป็นโอกาสมหาศาล

ในการเข้ามาในไทยครั้งนี้ คุณตั้งเป้าหมายตัวเลขไว้อย่างไรบ้าง

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการขยายฐานผู้ใช้ ก็จะมีเรื่องของการทำให้ AWS เป็นแพลตฟอร์มที่ดียิ่งๆ ขึ้น ความสามารถที่มากขึ้น และราคาที่จะถูกลง

สำหรับการมาในประเทศไทย เป้าหมายที่ผมตั้งคือ ทำให้คนไทยรับทราบว่า เขามี Amazon Web Services คอยให้บริการเขาอยู่ เราเป็นองค์กรที่โฟกัสความพึงพอใจของลูกค้า เราต้องการให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่า เขาได้รับบริการที่ดีกว่าเดิม ได้รับเทคโนโลยีที่เข้ามาเติมเต็ม นั่นคือสิ่งที่ผมแคร์ แน่นอนว่าถ้าทำเรื่องนี้ได้ดี ยอดผู้ใช้งาน ยอดรายได้ จะตามมาเอง

ผมบอกกับทีม บอกกับ ดร.ชวพล ว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับผม คือคุณต้องใส่ใจลูกค้า


นับเป็นอีกหนึ่งข่าวสารที่น่าสนใจ ต่อไปเราคงได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็น Cloud solutions ในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

AmazonWebservices_Logo.svg

ตัวอย่างลูกค้าปัจจุบันในประเทศไทย

Advanced Info Service (AIS), Ascend Group (True Money, iTruemart, Weloveshopping), Centara Hotels and Resorts, Digital Ventures ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารไทยพาณิชย์ Dohome Company Limited, MONO Group, บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), Toyota Tsusho Electronics Thailand, Thai Public Broadcasting Services (Thai PBS), 2C2P, aCommerce, Computerlogy, Eatigo, Eko Communications, eUnite, FlowAccount, HotelQuickly.com, Magic Box Asia, Omise, Ookbee, Playbasis, Pocket Playlab, Primetime, Prizeza.com, QueQ, Sinoze, Stamp, Super Scores, Sellsuki, Wongnai ฯลฯ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...