ส่องกฎหมายและนโยบายที่ดึง Silicon Valley มาลงทุนในอินโดนีเซีย | Techsauce

ส่องกฎหมายและนโยบายที่ดึง Silicon Valley มาลงทุนในอินโดนีเซีย

หากย้อนเวลากลับไปสัก 30 ปีก่อน ถ้าพูดถึงศูนย์กลางเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนคงนึกถึงสิงคโปร์ขึ้นมาทันที เมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วย VC, โปรแกรม Accelerators ที่ช่วยผลักดัน Startup Ecosystem ของสิงคโปร์ให้แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน

แม้ปัจจุบันก็ยังคงเป็นสิงคโปร์อยู่ แต่ถ้ามองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ประเทศอื่น ๆ เริ่มก้าวมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น และหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดตอนนี้ก็คือ ‘อินโดนีเซีย’

ประเทศนี้กำลังเป็นที่สนใจของบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Apple ที่ลงทุนกว่า 2 พันล้านบาทในโครงการพัฒนาบุคลากร หรือ Microsoft ที่ทุ่มเงินกว่า 5.6 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Cloud และ AI ในอินโดนีเซีย

แล้วอินโดนีเซียทำได้อย่างไรถึงดึงดูดความสนใจบิ๊กเทคฯ ได้ขนาดนี้ ? ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะลึกกับ 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อินโดนีเซียได้รับความสนใจจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในช่วงเวลานี้ !

ภาพรวมการลงทุนของ ‘Big Tech ในอินโดนีเซีย’

อินโดนีเซีย ประเทศหมู่เกาะนี้กำลังพัฒนาให้เป็นจุดสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้อินโดฯ กำลังเปิดประตูต้อนรับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจาก Silicon Valley พร้อมเสนอโอกาสทางการลงทุนในตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 270 ล้านคน

ซึ่งนั่นทำให้ตั้งแต่หลัง Covid (2021-2024) มีผู้นำจากบริษัทเทคฯระดับโลกมากมายเร่เข้ามาขายขนมจีบให้อินโดนีเซียไม่ขาดสาย แค่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย ก็ช่วยนำเงินเข้าประเทศประมาณ 408,300 ล้านบาทแล้ว อาทิ

Amazon

กันยายน 2022 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ตั้งเป้าลงทุนประมาณ 1.6 แสนล้านบาทในอีก 15 ปีข้างหน้าในอินโดนีเซีย ซึ่งการลงทุนนี้จะใช้สร้างศูนย์ข้อมูล อุดหนุนบริการจากธุรกิจท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซีย

Tesla

พฤษภาคม 2022 เจ้าพ่อ Elon Musk ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Tesla Motors และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Joko Widodo ได้มีการเจรจากันเกี่ยวกับการสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย โดยการไปเยือนของ Musk ในครั้งนั้น Tesla ได้ลงนามในสัญญามูลค่าราว 1.77 แสนล้านบาท เพื่อซื้อวัสดุสำหรับแบตเตอรี่จากบริษัทที่แปรรูปนิกเกิลในอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศนี้เป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุด ซึ่งนิกเกิลถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ของยานพาหนะไฟฟ้า (EV)

Apple 

เมื่อเดือนเมษายน 2024 ที่ผ่านมา Tim Cook ซีอีโอของ Apple ประกาศตั้ง Apple Developer Academy แห่งที่ 4 ที่บาหลีมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท หลังจากก่อตั้งสถาบันแห่งแรกที่จาการ์ตาในปี 2018 และตามมาด้วยที่สุราบายาและบาตัม โดยสถาบันนี้มุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเขียนโค้ดและการออกแบบ สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในตลาดแอป iOS ที่กำลังเติบโตในอินโดนีเซีย

Microsoft

Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ก็ได้เดินทางไปยังอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 เพื่อร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Microsoft Build: AI Day การไปเยือนครั้งนั้น Nadella ก็ได้ประกาศลงทุน 6.2 หมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้เพื่อสร้าง Data Center เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Cloud และ AI 

Nvidia

ในช่วงเมษายน 2024 ผู้ผลิตชิปเจ้าใหญ่ของโลกอย่าง Nvidia จับมือกับ Indosat Ooredoo Hutchison ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของอินโดนีเซีย วางแผนตั้ง AI Center เพื่อวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ณ สุราการ์ตา เมืองในจังหวัดชวากลางของอินโดนีเซีย มูลค่าประมาณ 7.3 พันล้านบาท

5 เหตุผลที่ทำให้อินโดนีเซียดึงดูด BIG TECH

อินโดนีเซียเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยประชากรกว่า 279 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.73 ล้านคน ในช่วงปี 2020 - 2060 ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเติบโตตามไปด้วย กลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจต่าง ๆ

แม้จำนวนประชากรและการบริโภคที่มากขึ้นจะเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุน แต่สิ่งที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่จับตามองของบิ๊กเทคฯ ทั่วโลกคือ บทบาทสำคัญของรัฐบาล 

จากการศึกษาของ Oxford Business Group อินโดนีเซียมีตลาดเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลผลักดันกฎหมายใหม่ ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน การจ้างงาน และการจัดการทางธุรกิจ นโยบายเหล่านี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่

และนี่คือ 5 นโยบายของรัฐบาลที่ช่วยดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ: รัฐบาลอินโดนีเซียได้ขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลผ่านโครงการ Palapa Ring เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้พัฒนาเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการขยายเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

โดยจะสร้างเครือข่ายใยแก้วนำแสงยาวกว่า 13,000 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2562 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและเชื่อมต่อหมู่เกาะต่าง ๆ ซึ่งโครงการนี้ครอบคลุมกว่า 63,862 หมู่บ้าน หรือประมาณ 76.74% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ นอกจากนี้โครงการนี้ยังรวมถึงการพัฒนาเครือข่าย 5G ในเมืองหลัก ๆ โครงการเหล่านี้ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมต่อพร้อมรองรับการเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ

นอกจากนี้อินโดนีเซียยังได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น สายไฟเบอร์ออปติกที่เชื่อมต่อประเทศกับสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนศูนย์ข้อมูลลงทุนในพื้นที่ต่างๆ เช่น บาตัม, จาการ์ตา, เบคาซี, สุราบายา และบาหลี เป็นต้น

2. อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ 

อินโดนีเซียได้ปรับปรุงนโยบายเพื่อให้การทำธุรกิจสะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะการพัฒนาระบบ Online Single Submission (OSS) ซึ่งช่วยให้การขอใบอนุญาตทางธุรกิจง่ายและรวดเร็วขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ

ระบบ OSS เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Omnibus Law (กฎหมายว่าด้วยการสร้างงาน) ที่ประกาศใช้ในปี 2020 โดยออกแบบให้เป็นศูนย์กลางสำหรับการออกใบอนุญาตออนไลน์ สามารถเชื่อมโยงกับระบบของกระทรวงต่างๆ ได้โดยตรง ทำให้ลดการวิ่งส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานที่เคยเป็นปัญหาในอดีต โดยเฉพาะเมื่อมีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ระบบนี้ยังช่วยลดปัญหาการทุจริตจากการขอ "สินบนใต้โต๊ะ" ที่เคยเกิดขึ้นในการขอใบอนุญาตในอดีตอีกด้วย

3. การสนับสนุนการสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center)

เนื่องจากพื้นที่จำกัดในสิงคโปร์ ทำให้ไม่สามารถสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ได้ในขณะนี้ บริษัทหลายแห่งจึงหันมามองหาทางเลือกในประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยอินโดนีเซียมีศักยภาพในการสร้างพื้นที่สำหรับศูนย์ข้อมูลได้มากกว่า 500,000 ตารางฟุต ภายในปี 2028 ส่งผลให้ประเทศนี้กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อสนับสนุนการสร้างศูนย์ข้อมูล รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ออกกฎและมาตรการใหม่ๆ เช่น การทำให้กระบวนการขออนุญาตลงทุนง่ายขึ้น การลดภาษีเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี ขึ้นอยู่กับมูลค่าการลงทุน และการจัดหาที่ดินสำหรับการสร้างศูนย์ข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Google, Amazon, Tencent และ Microsoft ตัดสินใจสร้างและดำเนินการศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซีย

4. ความมุ่งมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

อินโดนีเซียได้ประกาศใช้กฎหมาย Personal Data Protection (PDP) ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับกฎระเบียบ General Data Protection Regulation (GDPR) ของสหภาพยุโรป เพื่อกำหนดมาตรฐานในการเก็บรักษา การใช้งาน และการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองอินโดนีเซีย

กฎหมายนี้กำหนดให้ทั้งธุรกิจในประเทศและต่างประเทศที่ดำเนินการในอินโดนีเซียต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต้องปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการละเมิดข้อมูล (Data Breach)

ความพยายามในการพัฒนาความปลอดภัยไซเบอร์นี้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศสามารถดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยกฎระเบียบและมาตรการความปลอดภัยที่ชัดเจนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการละเมิดข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศ

5. การสนับสนุน Startup 

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Centers) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของ Startup ด้านเทคโนโลยีในประเทศ ตัวอย่างสำคัญคือโครงการ IndigoSpace ของ Telkom Indonesia ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Indigo Incubation and Acceleration ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจของ Startup

ศูนย์ IndigoSpace ตั้งอยู่ในหลายเมือง เช่น บาหลี ทำหน้าที่เป็นศูนย์นวัตกรรมสำหรับ Startup โดยให้คำปรึกษา การสนับสนุนด้านการตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการสนับสนุนด้านการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่าง Startup และนักลงทุนเพื่อเชื่อมโยง Startup ในประเทศกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่าอินโดนีเซียสามารถดึงดูดความสนใจจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย นโยบายที่ส่งเสริมการเติบโต และความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐและเอกชน สิ่งเหล่านี้ทำให้อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเทคโนโลยีที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นที่จับตามองของบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการเติบโตทางดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศนี้

อ้างอิง: lowyinstitute.org, benarnews.org, techcollectivesea

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SpaceX : ทำไม Starship และ Europa Clipper ถึงเป็นภารกิจสำคัญที่อาจเปลี่ยนโลกอวกาศ ?

SpaceX บริษัทด้านอวกาศของ Elon Musk กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการสำรวจอวกาศ ด้วยโครงการ Starship และการมีส่วนร่วมในภารกิจ Europa Clipper สองโครงการที่เปี่ยมไปด้วยความท...

Responsive image

ONNEX by SCG Smart Living รุก 'ตลาดโซลาร์' รับโลกเดือด ดันโมเดลธุรกิจ EPC+ 5 รูปแบบ

ONNEX by SCG Smart Living เปิดแผน EPC+ Business Model 5 รูปแบบ ทั้งโมเดลสำหรับผู้ประกอบการ, เจ้าของโครงการ, นักลงทุน, บริษัทในเครือข่าย และตัวแทนอิสระ...

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...