ธุรกิจ Startup กับการประหยัดภาษี และอะไรคือสิ่งที่ภาครัฐควรใส่ใจอย่างแท้จริง? | Techsauce

ธุรกิจ Startup กับการประหยัดภาษี และอะไรคือสิ่งที่ภาครัฐควรใส่ใจอย่างแท้จริง?

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดยคุณ ถนอม เกตุเอม 

เมื่อพูดถึงคำว่าธุรกิจ Startup คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเรื่องของเทคโนโลยี การลงทุน การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ฯลฯ แต่ในฐานะคนทำงานด้านภาษีอย่างผู้เขียน กลับนึกถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนี้ว่ามีอะไรบ้าง?

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ Startup ในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งฝั่งของธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน) และทางฝั่งของนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ว่านั้นสรุปออกมาได้ตามรูปด้านล่างนี้

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของผู้ที่ลงทุนและทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

ถ้าดูจากทางฝั่งขวาของภาพ จะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของภาคธุรกิจที่ได้รับ คือ การยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 5 รอบบัญชี โดยต้องเป็น ธุรกิจที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

คำว่า อุตสาหกรรมเป้าหมาย หมายถึง อุตสาหกรรม 10 ประเภทที่ได้รับการรับรองจากสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) ดังต่อไปนี้

  1. อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
  2. อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
  3. อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
  4. อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
  5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  6. อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า  
  7. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ
  8. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
  9. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
  10. อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม

นอกจากนั้น ยังต้องจดทะเบียนจัดตั้งในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2561 โดยมีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ประกอบกับเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ว่า รายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ว่านั้นต้องไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ หรือพูดง่ายๆว่า รายได้ส่วนใหญ่ทั้งหมดนั้นต้องมาจากการทำธุรกิจที่ผ่านการรับรองจากทาง สวทช. นั่นเอง

หากลองมองย้อนกลับไปที่ด้านซ้ายของภาพบ้าง จะเห็นว่าทางนักลงทุนเอง (บุคคลธรรมดาที่ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) ก็ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยสามารถนำ เงินลงทุนมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Startup โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องจ่ายเงินลงทุนภายในวันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 เพื่อเป็นการเพิ่มทุนหรือจดทะเบียนจัดตั้ง และต้อง ถือครองหุ้นที่ได้รับไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปีหลังจากที่ได้รับจ่ายเงินลงทุนนั้นไป ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีครบถ้วน โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมดนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อธุรกิจ Startup ที่เริ่มต้นจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มด้วยการจูงใจในการลงทุนของบุคคลธรรมดาในปีปัจจุบัน และให้ผลตอบแทนในการลดหย่อนภาษีเป็นของแถม แต่คำถามที่ผู้เขียนตั้งคำถามต่อตัวบทกฎหมายนี้ คือ กฎหมายดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับการทำธุรกิจ Startup หรือไม่?

หรือว่า.. สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง?

ถึงแม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ Startup และนักลงทุนก็ตาม แต่สิ่งที่ผู้เขียนยังไม่เคยได้รับคำตอบจากเรื่องนี้ คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ Startup จริงหรือไม่?

ถ้าลองเริ่มต้นจากคำถามแรกว่า ทุกวันนี้ธุรกิจ Startup ไทยมีกำไรที่ต้องเสียภาษีแล้วหรือยัง?

จากการศึกษาข้อมูลในเรื่องประสิทธิภาพของ Startup พบว่า Startup ไทยต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการสร้างรายได้ โดยมีจำนวนถึง 64% ของกลุ่มตัวอย่างที่สามารถสร้างรายได้ได้ในปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาลงลึกไปถึงรายละเอียดของข้อมูลจะพบว่า มีเพียงแค่ 1% ของกลุ่มตัวอย่างที่สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้ดังกล่าวยังไม่ได้หักรายจ่ายที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจ

ดังนั้นถึงแม้ว่าธุรกิจ Startup จะมีกำไรจริง แต่นั่นยิ่งกลับหมายความว่ามีธุรกิจเพียงไม่กี่รายในประเทศไทยเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และกลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจที่เติบโต กับธุรกิจที่ไม่เติบโต เพราะถ้าหากในวันนี้ ธุรกิจ Startup ยังไม่มีกำไรที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นโยบายการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ฟรีๆจำนวน 5 ปีย่อมไม่มีความหมายใดๆ

หากลองมองในมุมของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กตามประมวลรัษฏากรประกอบกัน จะเห็นว่ากฎหมายได้มีการกำหนดอัตราภาษีสำหรับ ธุรกิจนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยธุรกิจที่เข้าเงื่อนไขทุนและรายได้ในกลุ่มนี้ จะได้รับสิทธิยกเว้นกำไร 300,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี หลังจากนั้นจะเสียในอัตรา 15% ในส่วนของกำไรที่เกิน 300,000 บาทแต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท และเสียในอัตรา 20% เมื่อมีจำนวนกำไรมากกว่า 3,000,000 บาท โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีรายได้จากการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพในอัตราส่วน 80% ของรายได้ทั้งหมด

เมื่อเปรียบเทียบในมุมมองของการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะเห็นว่า กลุ่มธุรกิจ Startup ที่ไม่ได้มีรายได้สูงนัก อาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจ Startup เนื่องจากการเป็นธุรกิจกลุ่มที่ได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดนั้น อาจจะคุ้มค่าและคล่องตัวกว่าในการประกอบธุรกิจก็เป็นได้ เพราะไม่จำเป็นต้องคงสัดส่วนของรายได้ของธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย

คำถามที่สองที่ตามทันทีหลังจากที่เกิดคำถามแรก นั่นคือ ทุกวันนี้การยกเว้นภาษีเงินได้สำคัญแค่ไหนต่อการตัดสินใจลงทุน? ซึ่งถ้าหากการลดภาษีไม่มีแรงจูงใจต่อการตัดสินใจลงทุนจัดตั้งธุรกิจ Startup การเลือกใช้นโยบายด้านนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่าใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถหาคำตอบข้อนี้ได้อย่างชัดเจน จึงทำได้เพียงอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัย ภาษีสำคัญแค่ไหนต่อการลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ ที่ระบุไว้ว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่สำคัญมากนักต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูง (High-tech firms) โดยผู้วิจัยพบว่าในการเลือกประเทศลงทุนของบริษัท High-tech นั้น ปัจจัยภาษีไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และยังมีขนาดความสำคัญต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท Low-tech โดยการศึกษาพบว่าบริษัท High-tech ได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยากง่ายในการทำธุรกิจ ความต่อเนื่องของนโยบาย และคุณภาพของกฎระเบียบต่างๆ มากกว่าปัจจัยด้านภาษีอย่างชัดเจน

ดังนั้น ถ้าหากภาครัฐต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจ Startup เจริญเติบโต ควรพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้ Startup สามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และมีนโยบายที่ส่งเสริมต่างๆให้สะดวกและคล่องตัวต่อการทำธุรกิจมากกว่าเรื่องภาษีหรือไม่? หรืออย่างน้อยควรช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ไว

ผู้เขียนจึงพออนุมานได้ว่า การทำธุรกิจ Startup ที่ต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลักนั้น ย่อมต้องการความ “ง่าย” ในการทำธุรกิจ โดยต้องการให้รัฐลดความวุ่นวายของกฎระเบียบลง ซึ่งข้ออนุมานดังกล่าวนี้ตรงกับมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่มองว่ากฎระเบียบและนโยบายของรัฐ เป็นปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกัน

และจากคำถามทั้งสองข้อข้างต้นที่กล่าวมา ทำให้เกิดคำถามข้อสุดท้ายที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ในหัวข้อของบทความว่า อะไรคือสิ่งที่ภาครัฐควรจะใส่ใจอย่างแท้จริง? หากทุกฝ่ายล้วนต้องการให้ธุรกิจ Startup เติบโตอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

แต่น่าเสียดายตรงคำถามนี้ ผู้เขียนไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง...

 

ภาพ cover โดย rawpixel

อ้างอิงข้อมูลจากกฎหมายต่อไปนี้

  • นักลงทุน (บุคคลธรรมดา) กฎกระทรวงฉบับที่ 337  และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 330)
  • ธุรกิจ (นิติบุคคล) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 602, 637 และ 658)
  • รายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากรายได้จากการสินค้าและบริการตามปกติ ยังหมายความรวมถึง รายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย เช่น รายได้จากการจําหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสําเร็จรูปในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ รายได้จากการจําหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สิน บรรดาที่ใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป
  • อ้างอิงจากเอกสาร บทสรุปของสตาร์อัพไทยในปี 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยรวบรวมข้อมูลจากธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวน 437 รายในประเทศไทย
  • พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 530) แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 583) และ (ฉบับที่ 603)
  • ภาษีสำคัญแค่ไหนต่อการลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ โดยอธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อ้างอิงจาก บทสรุปของสตาร์อัพไทยในปี 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยรวบรวมข้อมูลจากธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวน 437 รายในประเทศไทย ในหัวข้อปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจมาก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...