แค่แบ่งกลุ่มก็เข้าใจ Startup มากขึ้น แล้วคุณคือกลุ่มไหน? | Techsauce

แค่แบ่งกลุ่มก็เข้าใจ Startup มากขึ้น แล้วคุณคือกลุ่มไหน?

ในวงการตลาดหุ้น ถ้าพูดถึงวิธีการแบ่งประเภทของหุ้นแล้ว วิธีของ Peter Lynch มักจะถูกยกขึ้นมาบ่อยๆ ตามสไตล์ของ Lynch เขาได้แบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภท คือ หุ้นโตช้า หุ้นแข็งแกร่ง หุ้นโตเร็ว หุ้นวัฏจักร หุ้นฟื้นตัว และหุ้นทรัพย์สินมาก แล้วเราจะแบ่งประเภทของหุ้นเพื่ออะไรกันล่ะ ก็เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ว่าหุ้นแต่ละกลุ่มควรจะรับมือกับมันอย่างไรน่ะสิ

ในยุคที่ธุรกิจ Startup ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด Steve Blank บิดาแห่ง Startup ก็คิดว่าเราควรจะแบ่ง Startup ออกเป็นกลุ่มๆ เช่นกัน เขาเห็นว่า Startup แต่ละกลุ่มมีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อเป้าหมายต่างกัน ก็ต้องใช้กลยุทธ์ แผนการ วิธีการสนับสนุนที่ต่างกันออกไปด้วย

Steve Blank ได้แบ่ง Startup ออกเป็น 6 ประเภท มาดูกันว่าแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง

  • Lifestyle Startup : ทำงานเพื่อ passion ของตัวเองล้วนๆ

Blank อาศัยอยู่แถวๆ ชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ที่นั่นเขาเห็นพวกนักโต้คลื่นและคนพวกนี้แแหละก็ถือว่าเป็น Lifestyle entrepreneur

พวกนักโต้คลื่นรักการโต้คลื่นเป็นชีวิตจิตใจ อะไรที่ทำให้พวกเขาได้โต้คลื่นพวกเขาก็พร้อมทำงานเพื่อแลกกับมันมา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก พวกเขาไม่ได้ทำงานเพื่อใครนอกจากตัวพวกเขาเอง พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไล่ล่าหา passion

พวกนักโต้คลื่นรับสอนโต้คลื่นก็เพราะว่ามันเป็นงานที่ตรงกับ passion ของพวกเขา เมื่อพวกเขาทำงาน พวกเขาก็มีเงินมาโต้คลื่นกันอีก ที่ซิลิคอนวัลเลย์ เราอาจจะเห็นผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในรูปแบบของนักเขียนโปรแกรมที่รักการท่องเที่ยว หรือนักออกแบบเว็บไซต์ที่รักเทคโนโลยีและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนโปรแกรม ออกแบบ U/I พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องการทำเงินเป็นพันล้านเพราะนั่นอาจจะทำลายไลฟ์สไตล์ของพวกเขาไป

  • Small Business Startup : ทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

ในอเมริกาก็เหมือนประเทศไทยที่เต็มไปด้วยธุรกิจขนาดเล็ก ตัวอย่างของ Startup กลุ่มนี้ก็เช่น ร้านขายของ ร้านทำผม ธุรกิจให้คำปรึกษา บริษัทนำเที่ยว ช่างไม้ ฯลฯ

ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็ทำงานหนักไม่ต่างจากพวกที่อยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ โดยปกติพวกเขามักจะจ้างคนในท้องที่หรือไม่ก็คนในครอบครัว ธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่เป็นเจ้าของต้องการที่จะเก็บธุรกิจเอาไว้ที่ตัวพวกเขาเอง

เงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่มาจากเงินเก็บ เงินกู้ยืม Blank กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถกลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้และจะไม่ได้ขึ้นปกนิตยสารบ่อยนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะพวกเขาเพียงแค่ต้องการเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น

  • Scalable Startup : เกิดมาเพื่อที่จะโต

คิดว่าน่าจะเป็นประเภทที่ Blank ชอบมากที่สุด ธุรกิจประเภทนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการในซิลิคอนวัลเลย์และนักลงทุนปรารถนาที่จะสร้างขึ้นมา ตัวอย่างธุรกิจประเภทนี้ก็เช่น Google, Skype, Facebook และ Twitter

เหล่าผู้ก่อตั้งเชื่อว่าซักวันหนึ่งวิสัยทัศน์ของพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนโลกได้ ความคิดของคนกลุ่มนี้ไม่เหมือนกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ความสนใจของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่การทำเงินไปวันๆ แต่เป็นการสร้างบริษัทให้สามารถเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นหรือถูกซื้อกิจการและทำเงินเป็นจำนวนหลายๆล้าน

Scalable Startup ต้องใช้เวลาในการลองผิดลองถูกจนกว่าจะหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม ในการนี้จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนที่พร้อมรับความเสี่ยงไปด้วยกัน และกลุ่มคนที่พร้อมจะรับความเสี่ยงนี้ก็คงหนีไม่พ้นพวก Venture Capitalist

ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเล็งเอาคนที่เก่งที่สุดและฉลาดที่สุดมาร่วมงานกับพวกเขา งานของพวกเขาก็คือการหาโมเดลธุรกิจที่จะสามารถทำซ้ำและขยายตัวได้ และเมื่อพวกเขาพบ พวกเขาก็จะต้องทุ่มสมาธิไปกับการขยายกิจการซึ่งเงินทุนที่ได้จาก Venture Capital สามารถกระตุ้นให้เกิดการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

  • Buyable Startup : สร้างเพื่อขาย

Startup ที่เข้าข่ายกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะทำพวกแอปพลิเคชั่นบนมือถือหรือเว็บไซต์ เพราะตั้งแต่สมัยก่อนแล้วที่ธุรกิจพวกนี้ตกเป็นเป้าการซื้อกิจการของบริษัทขนาดใหญ่

ยิ่งยุคนี้ที่ต้นทุนในการสร้างผลิตภัณฑ์ก็ลดลงอย่างมาก อีกทั้งการส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดก็ทำได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากมายในการช่วยเหลือธุรกิจประเภทนี้ ทำให้ Startup ที่ทำแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ และนักลงทุนก็ทำกำไรกันได้มากขึ้น

เป้าหมายของธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ใช่การสร้างธุรกิจพันล้าน แต่เป็นการขายกิจการให้กับบริษัทขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ประมาณ 5-50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ผู้ก่อตั้งสามารถทำเงินล้านจากธุรกิจประเภทนี้ได้ แต่คงไม่ใช่ระดับพันล้าน

  • Social Startups : ขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง 

เหล่านักธุรกิจเพื่อสังคมก็ไม่ได้มีความทะเยอทยานน้อยไปกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่น แต่ความต่างของกลุ่มนี้ก็คือพวกเขามีเป้าหมายที่จะทำให้โลกมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม พวกเขาไม่แสวงหาส่วนแบ่งการตลาดหรือสร้างความมั่งคั่ง เราอาจจะพบผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทั้งในองค์กรที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร

  • Large Company Startups : สร้างนวัตกรรมเพื่ออยู่รอดหรือไม่ก็ตายไป

พวกบริษัทขนาดใหญ่ก็ถือว่าเป็น Startup ได้ถ้าลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยปกติธุรกิจประเภทนี้ใช้เวลาหลายปีไปกับการมุ่งหน้าลดต้นทุน แต่ตอนนี้การโฟกัสอยู่แค่โมเดลธุรกิจที่เป็นอยู่นั้นไม่พออีกต่อไป เพราะพวกเขาจะต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ๆ กฎเกณฑ์ใหม่ๆ คู่แข่งหน้าใหม่ เหล่านี้ล้วนสร้างความกดดันแก่บริษัทขนาดใหญ่

บริษัทขนาดใหญ่ก็จำเป็นจะต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด โดยปกตินวัตกรรมที่เกิดในบริษัทขนาดใหญ่จะเป็น Sustaining Innovation หรือมุ่งเน้นพัฒนาสินค้าหรือบริการของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดเดิม แต่ถ้าอยากจะอยู่รอดจริงๆ พวกเขาก็จำเป็นจะต้องสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดหรือ Disruptive Innovation บ้าง

วิธีการสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดที่บริษัทขนาดใหญ่ใช้ก็คือซื้อกิจการหรือพยายามสร้างนวัตกรรมก้าวกระโดดขึ้นมาโดยอาศัยความสามารถของบุคลากรของตน แต่ก็ใช่ว่าทุกบริษัทจะทำได้ เพราะสิ่งที่คอยขัดขวางไม่ให้มีการเกิดนวัตกรรมก้าวกระโดดในบริษัทขนาดใหญ่ก็คือขนาดของตัวบริษัทและวัฒนธรรมองค์กร

Steve Blank ทิ้งท้ายไว้ว่า Startup ทั้ง 6 ประเภทมีความต้องการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเป้าหมายทางการเงิน ทีมงาน กลยุทธ์ที่ใช้ขยายตัว ฉะนั้นการที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของ Startup และให้การสนับสนุนที่ไม่ตรงจุดอาจจะทำให้ Startup ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

บทความนี้เป็น Guest Post โดย ชาญณรงค์ จันทร์โส

อ้างอิงข้อมูลจาก: steveblank.comdeclara.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Semiconductor ทำไมทุกประเทศต้องแย่งชิง?

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรวจ Semiconductor เทคโนโลยีที่อยู่ทุกที่ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนถึง AI ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญหรือผลกระทบต่อโลกอย่างไร ไปทำความรู้จักกัน!...

Responsive image

อินเดียทะยานสู่ $25 ล้านล้าน กับเส้นทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วย Digital Supercycle

การเดินทางของอินเดียในฐานะเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม จากเป้าหมายเศรษฐกิจมูลค่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สู่วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบรรลุ 25 ล้านล้า...

Responsive image

ควอมตัมคอมพิวติ้งกับการปฏิวัติการเงิน โอกาสทอง หรือหายนะ ? ส่องแนวคิดจาก HSBC, Visa และผู้เชี่ยวชาญ

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในตอนนี้ควอนคัมกำลังมีบทบาทสำคัญในทุกวงการแม้กระทั่งวงการเงินที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ผ่านงาน Singapore Fintech F...