ในระยะหลังๆ มานี้ระบบธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่ากฎหมายทางภาษีก็คงจะต้องปรับตัวตามเช่นกัน ล่าสุดปลายปีที่ผ่านมาทางภาครัฐออกมาผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับการเสียภาษีของระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น e-wallet หรือ การใช้จ่ายเงินออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดย สนช. ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ. แก้ไขกฏหมายภาษีซึ่งมีประเด็นหลักอยู่ที่การให้สถาบันผู้ให้บริการทางการเงินส่งข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ตรงตามเงื่อนไขเฉพาะให้กับกรมสรรพากร สร้างกระแสดราม่าในสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มของคนขายออนไลน์ โดยเฉพาะคำถามที่เกิดขึ้นมาว่าร่างกฏหมายฉบับนี้มุ่งเน้นการเข้าถึงข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีในกลุ่มคนขายออนไลน์โดยเฉพาะหรือไม่
วันนี้เราชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจในเรื่องของภาษีและพูดคุยถึงประเด็นการชำระภาษีของร้านค้าออนไลน์ รวมถึงปัญหาภาษีที่เกิดขึ้นในไทย กับ คุณถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ Taxbugnoms และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและยังเป็นนักตรวจสอบภาษีชำนาญการอีกด้วย
ถ้ามองในแง่ประชาชน เขาไม่ค่อยเข้าในใจเรื่องของภาษี ถ้ามองในแง่ของกฎหมายคือเรื่องที่เข้าใจยากอยู่แล้ว ถ้ามองในแง่ของรัฐในเรื่องกำลังคนที่จะมาช่วยให้ความรู้ในเรื่องการเก็บภาษีมันก็น้อย ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนในแต่ละเรื่องแต่ละมุมมองไป อยู่ที่เราจะมอง ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไปเราก็จะบอกว่าเราไม่เคยรู้เรื่องภาษีเลย ทำไมถึงเข้าใจยาก แล้วจะไปเรียนรู้จากไหน ถ้ามองในแง่ของภาครัฐคือเขามีคนแค่นี้และเขาก็พยายามทำเต็มที่ ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาพยายามสร้างระบบขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้ดีขึ้น โดยที่สื่อก็อาจจะพูดถึงเรื่องนี้น้อยและบางครั้งการพาดหัวข่าวก็ทำให้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปได้เลย พอคนอ่านเห็นพาดหัวข่าวก็ตีความเป็นคนละเรื่อง รวมทั้งข่าวลือต่างๆ ในโซเชียล มันไปเร็วซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องจริง
กฎหมายนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซอย่างเดียวแต่เกี่ยวกับข้อมูลของทุกคนที่มี transaction กับสถาบันการเงิน หรือธนาคาร ผู้ให้บริการ e-wallet ทั้งหลาย ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าทั้งสามฝ่ายนี้ต้องส่งข้อมูลของลูกค้าหรือคนที่ใช้ บริการให้กรมสรรพากรเมื่อมีเกณฑ์ตรงตามเงื่อนไข โดยเงื่อนไขแรกคือมี transaction ต่อปีตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป เงื่อนไขที่สองคือมีการทำรายการตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหมายความว่าจะต้องเกินทั้ง 2 เกณฑ์จึงจะส่งให้กรมสรรพากร สมมุติว่ามียอดทำรายการเข้ามา 500 ครั้งแต่ยอดไม่ถึง 2 ล้าน ก็ไม่ต้องส่ง
บางคนก็ใช้วิธีกระจายบัญชีธนาคาร แต่ในความเป็นจริงแล้วมีปัญหาอีกอย่างคือกฎหมาย ไม่ได้บังคับให้ส่งเพื่อเอาไปตรวจสอบภาษี แต่เขาต้องการข้อมูลเพื่อไปทำ data คือไปวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่เสียภาษีหรือพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะข้อมูลที่ส่งจะมีแค่ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน จำนวนครั้ง จำนวนเงิน ถ้ากรมสรรพากรได้ข้อมูลเหล่านี้ไปก็คงเก็บภาษีไม่ได้ในทันที ก็คงต้องเอาไปรวมกับเรื่องอื่นด้วย มันมีข้อบ่งชี้ว่าคนๆ นี้เสียภาษีไม่ถูกต้องหรือไม่
สิ่งที่ต้องเข้าใจอีกเรื่องคือไม่ใช่ว่ากระจายบัญชีแล้วจะจัดการได้ สิ่งที่ควรมีคือข้อมูลข้อเท็จจริงในการนำไปชี้แจงได้ในวันที่อาจจะโดนตรวจสอบ
อย่างที่บอกคือไม่รู้ว่าเป็นรายได้ และสรรพากรไม่มีสิทธิ์ไปประเมินตรงนี้ เพราะไม่มีข้อมูลไปบ่งชี้ว่าคนนี้เสียภาษีไม่ถูกต้อง มันต้องมีข้อมูลอื่นที่สำคัญกว่านั้นและเห็นได้ชัดว่าคนนี้เสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะรวมข้อมูลเป็นสิบ ๆ และมาจากหลาย ๆ แหล่ง มันเป็นไปไม่ได้ว่าจะเอาข้อมูลแค่นี้ไปเก็บภาษี และคนที่ขายของออนไลน์เอง สิ่งที่ต้องรู้คือเขามีหน้าเสียภาษีตั้งแต่แรกแล้วไม่ว่าเขาจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม ถ้าถึงเกณฑ์เขาก็ต้องเสีย
เท่าที่อ่านมา มันไม่ได้เกี่ยวกับการ trade off การเสียภาษี เท่าที่เข้าใจคือคนไม่อยากเสียภาษีกันอยู่แล้ว ซึ่งเข้าใจได้ มีเหตุผลว่าไม่อยากเสียภาษีเพราะไม่คุ้ม แต่ก็มีประเทศที่บอกว่าเสียภาษีแล้วคุ้มก็ยังมีคนที่หนีภาษีมันก็มีกรณีที่บริษัทยักษ์ใหญ่หรือนักบอล เขาก็มีกรณีที่เลี่ยงภาษี ในความเป็นจริงแล้วทุกคนไม่ได้อยากจะเสียภาษี แต่ประเด็นคือกฎหมายที่บังคับให้เสียหรือกฎหมายที่ลงโทษมันรุนแรงพอที่จะทำให้คนปฏิบัติตาม ซึ่งหลักการควรจะเป็นแบบนั้น เราไปบอกว่าคนเราควรจะมีจิตสำนึกที่ดีแต่จริงๆ แล้วคนเราควรจะทำตามกฎหมายมากกว่า ในใจคุณอาจจะไม่อยากเสีย แต่มันเป็นหน้าที่ก็ต้องเสีย
ถ้าให้วิเคราะห์คือในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้กับทุกคนในทันที เช่น ผมมาบรรยายและมีรายได้ ผมเสียภาษีหมดเลย เพื่อนผมขายของออนไลน์ ซื้อรถเงินสด ไม่ต้องเสียอะไรเลย ผมคิดว่าต้องทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการเสียภาษีและในแง่ของความรับผิดชอบ พอเป็นแบบนี้ทุกคนก็จะรู้ว่ามีหน้าที่อะไร มีหน้าที่เสียภาษีก็ต้องเสีย
ถ้าถามว่าร่างกฎหมายนี้เกี่ยวไหม? ถ้าข้อมูลมีผลในการเสียภาษีจริง หรือสรรพากรใช้ข้อมูลในการเชื่อมโยงได้ มันก็ทำให้คนเท่ากันมากขึ้น
ในร่างกฎหมายจะเขียนว่าให้ส่งข้อมูลครั้งแรก 31 มีนาคม 2563 นั่นหมายความว่าข้อมูลที่ส่งเป็นรายปีต้องส่งในปี 2562 แต่ถ้าหากว่าโฆษกของกรมสรรพากรหรือแหล่งข่าวทั้งหลายบอกว่าน่าจะบังคับใช้ปี 63 ก็มีความขัดแย้งกันว่าสรุปจะบังคับใช้เมื่อไร ก็คงต้องรอให้กฎหมายนี้บังคับใช้จริงๆ ก่อน ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่ถ้าอิงตามร่างนั้นก็คาดว่าน่าจะเริ่มปี 63
ถ้าอิงตามหลักการเลยสิ่งที่ควรพิจารณาอันดับแรก คือเขามีกำไรเท่าไร ถ้าจดบริษัทเขาประหยัดภาษีไปเยอะไหม ต้นทุนที่จดบริษัทกับภาษีที่ประหยัดไปมัน make sense กันไหม เพราะบางคนบอกว่าจดบริษัทประหยัดภาษีไปได้ 1 แสน แต่ต้องไปจ่ายค่าทำบัญชีกับค่าอื่นๆ อีก ปรากฏว่าบัญชีติดลบ แต่ถ้าเอาง่าย ๆ คือ ถ้ามั่นใจว่าธุรกิจเติบโตมีรายได้ 10-20 ล้าน ต้อง scale ไปเรื่อย ๆ ถ้าแบบนี้ก็จดเลย แต่จะมีปัญหากับคนที่อยู่ในช่วงกลางๆ ถ้าเป็นข้อมูลที่สรรพากรเป็นข้อมูลจริงไหม เพราะเวลาจดบริษัทต้องมีการส่งข้อมูลที่มีหลักการชัดเจน
ถ้ามองโดยทั่วไปรายได้ 4-5 ล้านก็น่าจะคิดเรื่องจดทะเบียนได้แล้ว แต่ถ้าดูรายได้ 4 ล้านแล้วขาดทุนอาจจะไม่ต้องจดอะไรเลยก็ได้ ก็กลับไปหลักการแรกคือดูกำไรก่อน และต้องดูอย่างอื่นด้วย มันวิเคราะห์ไม่ได้ แต่ถ้ามั่นใจว่าจะต้องโต ก็จดไปเลย
มันเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องเสียภาษี ถามกลับไปสำหรับคนที่ต่อต้านแน่นอนว่าอาจจะยังไม่เคยเสียภาษี เข้าใจว่ากฎหมายนี้บังคับให้เขาต้องเสียภาษี แต่สิ่งหนึ่งคือเขาต้องรู้ก่อนว่าเขาต้องเสียภาษี ไม่ใช่ว่าเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะต่อให้ไม่มีกฎหมายนี้ ถ้าสรรพากรสงสัยหรืออยากรู้ข้อมูล จริง ๆ เขาก็สามารถดูได้อยู่แล้ว ถ้าโดนตรวจจริง ๆ ไม่ต้องรอธนาคารส่งข้อมูล เพราะฉะนั้นต้องสนใจเรื่องนี้เพื่อจัดการตัวเอง ไม่ใช่ว่ากฎหมายจะมาเก็บภาษีแล้วเราไม่อยากให้เก็บ คำถามคือคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน เขาทำอะไรผิด? ที่ต้องเสียภาษีให้คุณ ในขณะที่รายได้น้อยกว่าอีก เราไม่ได้บอกว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่ถูกหรือผิด คุณมองในมุมว่าคุณเป็นใครยังไงก็ไม่เท่าเทียม
อันดับแรกคือตัดเรื่องภาษีทิ้งไปก่อน แล้วตั้งหลักคิดว่าวันนี้ธุรกิจเรามีกำไร รายได้ ค่าใช้จ่าย พวกนี้รู้ข้อมูลหรือยัง ข้อมูลจริงๆ มันเท่าไร เพราะคุณยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรเท่าไร รู้แค่ว่ามันขายดี มียอดเพิ่ม มีทรัพย์สินเพิ่ม แต่ไม่รู้จริงๆ ว่ารายได้หรือค่าใช้จ่ายเท่าไร คำนวณรายได้ ต้นทุนได้ แล้วมานั่งคิดต่อว่ากำไรเท่านี้ต้องเสียภาษียังไง ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาคำนวณแบบนี้ ถ้าจดบริษัทคำนวณแบบนี้ รายได้ถ้าเกิน 1,800,000 มีหน้าที่ต้องเสีย VAT ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาเพิ่มได้
ต่อมาคือแล้วจะทำอย่างไรให้ประหยัดภาษี ต้องวางแผนดี ๆ เพราะเทคนิคในการวางแผนประหยัดภาษีส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนแฝงตามมา บางทีแพงกว่าภาษีที่ประหยัดเสียอีก บางคนไป take course เรียน 40,000 แต่เสียภาษีจริงๆ 3,000 หรือ 5,000 แต่ไปเรียนเพื่อวางแผนอะไรก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้และบางทีไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรมากด้วย พี่มีความเชื่อมาตลอดว่าเรื่องภาษีมันยาก แต่คนที่ทำธุรกิจให้รอดมันยากกว่าเรียนเรื่องภาษีเสียอีก ดังนั้นคุณสามารถเรียนรู้เรื่องภาษีได้ ถ้าคุณจะเรียน
มีความเชื่อมาตลอดว่าเรื่องภาษีมันยาก แต่คนที่ทำธุรกิจให้รอดมันยากกว่าเรียนเรื่องภาษีเสียอีก
สำหรับคนที่ไม่เคยเข้าระบบเสียภาษีอย่างถูกต้อง หากจะตั้งต้นเข้าระบบแล้วจะต้องโดนเสียภาษีย้อนหลังไหม? กรมสรรพากรเองก็มีแนวทางให้คนเข้าระบบอย่างถูกต้อง ถ้าไปนั่งอ่านวิสัยทัศน์ของสรรพากร คือเดินหน้าเก็บภาษีอย่างยั่งยืน เขาไม่ไล่บี้เพื่อเก็บภาษีย้อนหลัง เพราะถ้าเขาทำแบบนั้นกับทุกคน ก็คงไม่มีใครเข้าระบบ นึกภาพคนที่ถูกตรวจสอบแล้วเข้าระบบกับยังไม่เข้าระบบ ใครมีอำนาจต่อรองมากกว่ากัน
กฎหมายในอนาคตมันจะตามเทคโนโลยี มันต้องมีกฎหมายใหม่ ๆ ออกมาอีกเยอะ เพื่อที่จะมาจัดการเรื่องนี้ พรบ. ดิจิทัลทั้งหลายเขาไม่ได้บอกว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนกัน เพียงแต่เป็นเงินอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง ถามว่าช่วยได้ไหม? ถ้าทุกอย่างมันเข้าสู่ระบบก็ช่วยได้หมด จริงๆ อาจจะเข้าสู่ระบบตั้งแต่บัญชีธนาคาร หรือ e-wallet ถ้าเกิดว่ารัฐดูข้อมูลได้หรือเชื่อมโยงข้อมูลได้หมด พวกนี้จะน้อยลง เราพูดกันเองว่ากลัวธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร แต่จริง ๆ แล้วในพรบ. นี้มีข้อมูลเรื่องอื่นอีก เรื่องเกี่ยวกับการเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การเก็บค่าใช้จ่ายที่เป็น tax ต่อไปเอกสารทั้งหลายจะเป็นออนไลน์หมด จะมาช่วยให้ระบบมันลงตัวมากขึ้น ตรวจสอบง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น คนก็หลบเลี่ยงได้ยากขึ้น
ส่วนตัวมองว่าภาครัฐใจดีมาก ถ้าตามข่าวจริง ๆ ระบบเหล่านี้ต้องเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 61 หรือ 62 แต่ทุกวันนี้เขายังไม่บังคับ เขาไม่ได้ประกาศกฎหมายรุนแรงเลย หรือแม้แต่ร่าง พรบ. จำนวนครั้งที่ต้องส่ง เดิมคือ 200 ครั้งถ้าอ่านในร่างกฎหมายจริง ๆ สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก แปลว่าไม่มีขยับลง สามารถเพิ่มได้ตามความเหมาะสมตามกฎกระทรวง รู้สึกว่าภาครัฐประนีประนอมมากแล้ว
ถ้าเราตั้งโจทย์การเสียภาษี ทุกอย่างที่เราเสียภาษีเราไม่โอเคหรอก ถ้าจะมาเก็บภาษีเพิ่มและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่มีทางที่เราจะรู้สึกแฟร์เลย แต่ถ้าเราตั้งโจทย์กลับไปว่าเรามีหน้าที่ต้องทำอะไรให้ประเทศนี้ แล้วเราทำ อันนี้โจทย์จะเปลี่ยนไปอีกแบบ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายก็จะเป็นอีกโจทย์ แล้วแต่ว่าแต่ละคนมองโจทย์นี้อย่างไร ซึ่งจริง ๆ มันอ้างไม่ได้ว่าไม่เสียภาษีเพราะไม่ชอบนโยบายรัฐบาลชุดนี้ คุณมีหน้าที่แต่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ก็แสดงว่าทำผิดกฎหมาย
ถ้าเราตั้งโจทย์การเสียภาษี..จะมาเก็บภาษีเพิ่มและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่มีทางที่เราจะรู้สึกแฟร์เลย แต่ถ้าเราตั้งโจทย์กลับไปว่าเรามีหน้าที่ต้องทำอะไรให้ประเทศนี้ แล้วเราทำ อันนี้โจทย์จะเปลี่ยนไปอีกแบบ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายก็จะเป็นอีกโจทย์ แล้วแต่ว่าแต่ละคนมองโจทย์นี้อย่างไร
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด