ว่ากันว่าความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบนั้นฝังลึกอยู่ในความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนมาอย่างยาวนาน พูดได้ว่ากระบวนการการออกแบบสามารถสะท้อนความเป็นมนุษย์ในตัวเรา
นี่เป็นเบื้องหลังแนวคิดของ Thammasat Design Center (TDC) โปรแกรมฝึกอบรมภายใต้ Thammasat Design School ที่มุ่งเน้นจะสร้างนักคิด นักออกแบบ นักปฏิบัติ และผู้นำรุ่นใหม่ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมองว่านี่เปรียบเสมือน D.School สำหรับประเทศไทยเลยก็ว่าได้ และ Massimo Ingegno ผู้อำนวยการของ Thammasat Design Center (TDC) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Behavior Design และ Gamification จะมาเล่าว่าอะไรที่ยังเป็นมายาคติของผู้คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงการออกแบบ
ลองนึกดูว่าในทุกวันนี้ การออกแบบอยู่รายล้อมรอบตัวเรา เสื้อผ้าที่คุณสวมใส่ หรือสถานที่ที่คุณเรียกว่าบ้านสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกออกแบบโดยใครสักคน หรือแม้กระทั่งการที่คุณชอบหรือไม่ชอบการบริการและผลิตภัณฑ์ การใช้งานแอปพลิเคชัน ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการออกแบบ
แต่คงไม่มีใครมานั่งเถียงกันว่าของแต่ละชิ้นนั้นใครเป็นคนออกแบบ ประเด็นสำคัญที่ต้องมานั่งคิดกันน่าจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการที่เราใช้งานอยู่ในทุกวันนี้ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างดีต่างหาก
หรือนี่มาจากปัญหาของการศึกษา
ในประเทศไทยเอง ต้องยอมรับว่าการเรียนรู้ด้านการออกแบบถือว่ายังไม่เข้มขันมาก และยังรวมไปถึงความเข้าใจผิดหรือความเชื่อเดิมๆ ที่ผู้คนสร้างขึ้นมาเมื่อพูดถึงการออกแบบซึ่งมันส่งผลไปถึงการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ และสังคม ในอีกมุมหนึ่งคือถ้าเราเข้าใจการออกแบบมากขึ้น การออกแบบอาจจะเข้ามาพลิกชีวิตของผู้คนในทุกด้านเช่นกัน
เมื่อพูดถึงการออกแบบผู้คนจะมองไปที่เรื่องของสุนทรียศาสตร์ หลายคนไม่รู้ว่าความแตกต่างระหว่าง ‘ศิลปะ’ กับ ‘การออกแบบ’ คืออะไร และจบด้วยการคิดว่าการออกแบบเหมาะสมเฉพาะกับ “คนที่มีความคิดสร้างสรรค์” เท่านั้น
“การออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องของรูปลักษณ์หรือความรู้สึกต่อสิ่งนั้น แต่การออกแบบคือเรื่องของสิ่งๆ นั้นทำงานอย่างไรต่างหาก”
- Steve Jobs
ในความเป็นจริง การออกแบบคือการแก้ไขปัญหา การออกแบบคือการทำความเข้าใจ การจินตนาการ และขั้นตอนการทำงาน โดยมีพื้นฐานง่ายๆ จากสองทักษะที่มีอยู่ในมนุษย์คือ “ทักษะในการคิด” ผสานกับ “ทักษะในการสร้าง” ดั่งที่ Mauro Porcini หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ PepsiCo ได้กล่าวไว้
"ทักษะในการสร้างสรรค์ถูกใช้มาเป็นตัวกำหนดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และในจังหวะนั้นเอง เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์จากมนุษย์ เริ่มมีการสร้างสรรค์ให้มีความหมาย ปรุงแต่งด้วยวัสดุ และเทคโนโลยี นี่คือตัวบ่งชี้ยุคสมัยของมนุษย์ในแต่ละช่วง
สายพันธุ์แรกของมนุษย์คือ Homo habilis (Sub-Saharan Africa ซึ่งอยู่ในช่วง 2.5 ล้านปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นช่วงที่มีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือหินรายแรก และยังเป็นการจุดประกายยุคแห่งการพัฒนาของยุคหินไปสู่ยุคเหล็ก ตั้งแต่เรื่องการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้สำหรับการล่าสัตว์ไปจนถึงผลงานศิลปะและศาสนา นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะเห็นว่าแต่ละยุคนั้นถูกกำหนดโดยบริบทของช่วงเวลานั้นๆ"
- Mauro Porcini, Chief Design Officer at PepsiCo.
แนวคิด Design Thinking เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย แต่ว่ามันมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนกัน? ที่ผ่านมาโปรแกรมในการอบรม Design Thinking มักสอนแนวคิดกระบวนการง่ายเกินความเป็นจริง ซึ่งส่งผลทำให้การต่อยอดการทำ “Design Doing” ไม่ประสบความสำเร็จ
บวกกับเวลาในการเรียนรู้ของโปรแกรมที่สั้นมากๆ และความกลัวการล้มเหลว หรือความคิดที่ถูกจำกัดของผู้เข้าร่วมโปรแกรมว่าการ “ออกแบบ” นั้นเป็นเรื่องของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เท่านั้นที่ทำได้ จึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้การผลักดันแนวคิดนี้ไม่สำเร็จ
ซึ่งสำคัญที่สุดเลยคือคนมักคิดว่า Design และ Design Thinking คือสิ่งเดียวกัน
แต่มันไม่ใช่
การออกแบบ (Design) คือการใช้ทักษะเฉพาะทาง ประกอบกับการออกแบบภาพ การออกแบบด้าน UI และ UX รวมกับการทำการสำรวจ และอื่นๆ โดยแต่ละการออกแบบล้วนต้องผ่านการฝึกฝนและมีความสามารถเฉพาะทาง ในขณะที่สอดแทรกเรื่องของ Design Thinking เข้าไปด้วย
ในยุค digital ปัจจุบันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้
ใน 10-15 ปีก่อน การออกแบบถูกมองเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ปัจจุบันนักออกแบบกลับผันมาเป็นกำลังหลักในสร้างกลยุทธ์และช่วยออกแบบทิศทางให้กับบริษัท
นักออกแบบต่างมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการสร้างประสบการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นการปั้นไอเดียที่เริ่มต้นจากศูนย์ โดยพวกเขาต้องมีทักษะในการเล่าเรื่องและใช้ user-centered design (หลักการคิดที่มีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง) ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อสวมบทบาทประหนึ่งเป็นลูกค้าในการทำความเข้าใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
ไม่ใช่แค่ว่านักออกแบบจะเป็นตำแหน่งเนื้อหอมในทุกองค์กรทั่วโลกเท่านั้น
ทุกวันนี้นักออกแบบก็เป็นผู้ก่อตั้งด้วยตั้งเช่นกัน
หลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่าง Airbnb หรือ Pinterest บริษัทเหล่านี้ต่างถูกก่อตั้งโดยนักออกแบบ อย่างที่ Brian Chesky CEO ของ Airbnb กล่าว
"ผู้คนคิดว่า พวกเขาจะไม่มีทางอาศัยอยู่ในบ้านคนแปลกหน้าแน่ๆ มันเป็นไอเดียที่ประหลาด แต่อีกเหตุผลคือพวกเขาไม่ได้คิดว่านักออกแบบก็สามารถสร้างและทำธุรกิจได้"
- Brian Chesky CEO ของ Airbnb
แน่นอนว่านักออกแบบจำเป็นจะต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจ และเข้าใจที่มาของการสร้างรายได้ อีกทั้งยังต้องคอยนึกว่าอะไรคือส่วนสำคัญในการที่จะช่วยขับเคลื่อนกำหนดการของงานและความเร่งด่วนต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แต่มันจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลยหากเรื่องของการออกแบบยังถูกมองเป็นแค่เรื่องที่ 'แค่มีไว้ก็ดี' ซึ่งเป็นมุมมองที่แยกเรื่องการออกแบบออกจากเรื่องธุรกิจ
Massimo Ingegno กล่าวว่า นี่คือเป้าหมายของโปรแกรม Platform Business Design และ Strategy ที่เรากำลังพยายามผลักดันและพัฒนาอยู่ โดยโปรแกรมได้รวบรวม Developers UX/UI นักการตลาด และ Product manager จากหลากหลายอุตสาหกรรม
และตลอดระยะเวลาการทำงานทั้งในฐานะอาจารย์ของ Thammasat Design School และ Thammasat Business School ผนวกกับประสบการณ์ในการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่แล้วไอเดียที่พบเจอมากที่สุดก็หนีไม่พ้น ไอเดียเรื่องแพลตฟอร์มเนื่องจากเป็นลักษณะธุุรกิจเติบโตได้รวดเร็ว
ในขณะที่เทรนด์ในปัจจุบัน ข้อกำหนดของการตลาด และโมเดลธุรกิจ คือตัววัดความสามารถในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการกลับยังขาดแคลนทักษะด้านการออกแบบในการจะสร้างผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่ผู้คนอยากจะใช้งานจริงๆ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังติดภาพว่าการทำการตลาดและ Growth Hacking จะช่วยแก้ปัญหาของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่เป็นแบบนั้น
ทีม TDC จึงได้ถามตัวเองว่า เราจะสามารถสร้างความเข้าใจใหม่ๆ และมุมมองที่ผู้คนมีแต่การออกแบบได้อย่างไร เพื่อช่วยให้นักออกแบบก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ก่อตั้ง รวมถึงพาการเรียนรู้ด้านการออกแบบไปสู่อีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทย
เราพูดคุยกับ Startup องค์กรใหญ่ นักออกแบบจากหลากหลายแวดวง เราจึงได้เปิด TDC ขึ้น และนี่คือสิ่งที่ TDC มุ่งมั่นจะพัฒนาต่อไป
สะพานที่เชื่อมต่อช่องว่างระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม
เพื่อเชื่อมต่อการศึกษาเข้ากับการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ เราได้ดำเนินการแล้ว 2 เรื่องด้วยกัน ขั้นแรก เราสร้างเครือข่ายของนักออกแบบระดับผู้นำ กลุ่มคนที่เชื่อและอยากผลักดันการออกแบบในประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่อีกขั้น ซึ่งประกอบไปด้วย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่น่าสนใจทั้ง NocNoc/SCG, Agoda, Grab, และ Garena ซึ่งเข้ามาจับมือกับ TDC และสนับสุนทุนให้กับผู้เรียน เนื่องจากทุกวันนี้บริษัทต่างต้องการตามหาวิถีทางใหม่ที่จะบ่งชี้ความสามารถพิเศษ และยังอยากเห็นทักษะการออกแบบ และการปฏิบัติงานจริงในเชิงธุรกิจ
ปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหา
เราได้ทำการศึกษา และเราพบปัญหาใหญ่ในการเรียนการออกแบบในไทยถึงความไม่เข้าใจเรื่องการออกแบบของผู้คน อีกทั้งนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อเข้าใจผู้คน พวกเขาไม่ทราบว่าความคิด ความรู้สึก ของผู้คนทำงานอย่างไร และอะไรที่ช่วยขับเคลื่อนผู้คน ดังนั้นจึงควรมีการเรียนรู้พื้นฐานในเรื่องจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์
วิธีการเรียนแบบเก่ามุ่งเป้าไปที่การเรียนวิชาหลัก อย่าง Human-computer Interaction, Interior Design, Service Design และอื่นๆ พวกเราเชื่อว่ากำแพงเหล่านี้ควรถูกพังออก มันควรเป็นการหลอมรวมเอาสารพัดความแตกต่างด้านความคิด ทักษะ และอีกมากมายมาผสมผสานกัน
หลังจากพูดคุยกับ 50 กว่าบริษัทและองค์กรเพื่อทำความเข้าใจควาามต้องการที่แท้จริงของพวกเขา เราได้สร้างห้องเรียนระยะสั้น ประมาณ 4 สัปดาห์ ที่เข้าเรียนในวันหยุดขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้เรียนควรที่จะรวบรวมเอาความรู้และโครงสร้างความสามารถที่เขามีในการสร้างเส้นทางแห่งการเรียนรู้ของตัวเอง
สุดท้ายแล้ว เราต่างอยู่ในโลกที่ทุกคนออกแบบ และเราก็เชื่อว่าทุกคนที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันแค่มีใจที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ สามารถสร้างการออกแบบที่แตกต่างออกไป และยังสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ชีวิต และวัฒนธรรม
"การออกแบบสร้างวัฒนธรรม วัฒนธรรมหล่อหลอมคุณค่า คุณค่าจะกำหนดอนาคต"
- Robert L. Peters
TDC จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างเครื่องมือ แนวทางความคิดและประสบการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตจริง เพื่อการออกแบบในอนาคต ซึ่งเราเรียกมันว่า ‘Design Muscles’ หรืออาจกล่าวได้ว่าการออกแบบคือการฝึกฝน ทดลองทำซ้ำๆ เรียนรู้จนเข้าใจ เสมือนการสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรงในร่างกายนั่นเอง และยิ่งในทุกวันนี้มนุษย์กำลังเดินหน้าเข้าสู่โลกที่หมุนไปด้วยเครื่องจักรกล ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นข้อได้เปรียบสูงสุดที่คนๆ หนึ่งหรือบริษัทจะสามารถสร้างออกมาได้
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.tds.tu.ac.th/tdc
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด